ประสพสุข เผย ผบ.ทบ.-พันธมิตรฯ ตอบรับเจรจาแต่ไม่เกี่ยว หมัก หลังสภาให้สวมหมวกคนกลาง

"ประสพสุข" เผย ผบ.ทบ.-พันธมิตรฯ ตอบรับเจรจา ไม่เกี่ยว "หมัก" หลัง 3 ฝ่ายในสภาสวมหมวกคนกลางให้เจรจาพธม.-รบ. กกต.เผยประชามติใช้เวลา 6-7เดือน ชี้ออกพ.ร.ก.ไม่ได้ คาดใช้งบ 2 พันล้าน "มาร์ค"บอกอาจสร้างความขัดแย้ง ลุกลาม ชี้คืนอำนาจให้ปชช.ดีกว่า "จรัญ" ถ้ายังมีความรู้เรื่องดังกล่าวไม่พอก็จะสร้างปัญหาไม่สิ้นสุด "พีเน็ต"ค้านทำประชามติ เชื่อยุบสภาดีกว่า

"ประสพสุข" เผย ผบ.ทบ.-พันธมิตรฯ ตอบรับเจรจา ไม่เกี่ยว "หมัก"
 
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เปิดเผยถึงกรอบการเจรจาแก้ไขปัญหาวิกฤตบ้านเมือง ว่า หลังได้รับมอบหมายจากที่ประชุม 3 ฝ่ายตามระบบรัฐสภา ก็ได้ประสานไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จะเข้ารับเงื่อนไขการแก้ไขวิกฤตบ้านเมืองแล้ว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
       
ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ 2 จะทำหน้าที่ประสานไปยังรัฐบาลและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อรับฟังความเห็นและเตรียมนำข้อเสนอของแต่ละฝ่ายเข้าหารือเพื่อแก้วิกฤตในวันจันทร์ที่ 8 กันยายนนี้
       
ประธานวุฒิสภา เห็นว่า ขั้นตอนการดำเนินการต้องทำให้เร็วที่สุด และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันจันทร์อย่างแน่นอน ขณะที่นายสามารถ เปิดเผยว่า วันจันทร์จะมีการเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ มาพูดคุยร่วมหาทางออกด้วย จึงอาจล่าช้ากว่าวันที่กำหนดไว้

 
3 ฝ่ายในสภาให้"ประสพสุข"คนกลางเจรจาพธม.-รบ.
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.45 น. ภายหลังการหารือกว่า 1 ชั่วโมง ระหว่างฝ่ายค้าน สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานวุฒิสภา แถลงข่าวร่วมกัน โดยแนวทางที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้ขณะนี้ มีทางเดียวคือการเจรจา ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นผู้ประสานการเจรจาระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเห็นว่าการทำประชามติใช้เวลานานเกินไป ไม่น่าจะทันเวลา
 
ส่วนสภาผู้แทนราษฎรจะได้ประสานทำความเข้าใจไปยัง ส.ส.ของแต่ละพรรค เพื่อลดความร้อนแรงของสถานการณ์ลง ทั้งนี้วันจันทร์ที่ 8 กันยายนนี้ จะมีการหารือกันอีกครั้ง โดยจะเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง
 
นายอภิสิทธิ์ แถลงผลการหารือว่า ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าการแก้ไขปัญหาต้องไม่ใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกันความเสี่ยงหรือการล่อแหลม หมายความว่าการหาทางออกต่อสถานการณ์เป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งทีประชุมเห็นตรงกันคือ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความคิดที่จะทำประชามติเพื่อหาทางออก แต่ว่ากระบวนการหรือขั้นตอนของประชามติ ต้องรอกฎหมาย เพราะเพิ่งผ่านวุฒิสภาวาระแรก และแม้ว่าจะมีกฎหมายแล้วกว่าจะดำเนินการได้ต้องใช้เวลาเป็นเดือน ซึ่งเห็นว่าไม่น่าจะทันต่อการคลี่คลายสถานการณ์ และโดยเงื่อนเวลาคงไม่ใช่คำตอบ เพราะเราเห็นว่าแต่ละวันประชาชนก็ใจหายใจคว่ำว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น และเราต้องรอ 2-3 เดือน สภาพของเศรษฐกิจและสังคมคงรับยาก เพราะความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจกระจายไปทั่วแล้ว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ได้ตกลงกันคือการแสวงหาทางออกด้วยการเจรจาเป็นช่องทางที่ต้องทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น ที่จริงพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะที่ได้รับมอบอำนาจมาจากพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้พูดถึงการเจรจา ที่ประชุมจึงเห็นตรงกันว่าในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติขอให้นายประสพสุข บุญเดช ประธานุวุฒิสภาไปช่วยประสานและทำงานในส่วนของการเจรจาเพื่อให้การดำเนินการที่จะหาทางให้ทั้งรัฐบาลและพันธมิตรมาพูดคุยกันให้ได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีเอกภาพ และเชื่อมโยงกับทุกๆ ฝ่ายอย่างแท้จริง ซึ่งประธานวุฒิสภาก็รับที่จะทำหน้าที่นี้ โดยเริ่มต้นทันที

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นการมอบหมายให้นายประสพสุขเป็นคนกลางเจรจาหรือเป็นวิธีใด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วิธีไหนก็ได้ที่จะทำให้สำเร็จ  และที่มอบให้ประธานวุฒิสภาไปทำหน้าที่นี้ เพราะไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ไม่มีฝักมีฝ่าย และเชื่อว่าเป็นที่น่านับถือของสังคมโดยทั่วไป ฉะนั้นตรงนี้ประธานวุฒิสภาต้องไปประสานงานกับผบ.ทบ. ส่วนวิธีการและรายละเอียดแล้วแต่ประธานวุฒิสภาว่าจะใช้วิธีไหนที่สามารถนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยได้
 
พันธมิตรชี้รบ.ให้ทำประชามติแค่เกมยื้อให้อยู่นานที่สุด

 
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 กันยายน นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สามารถทำได้เพราะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ก็บอกว่าประชามติใดขัดรัฐธรรมนูญทำไม่ได้ และเจตจำนงของรัฐธรรมนูญก็ให้ทำเพื่อนโยบายเช่น การขายปตท.ก็ต้องทำ เพราะกระทบส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ให้เลิกชุมนุม หรือให้เอาหรือไม่เอารัฐบาล และยังเป็นวิธีการที่จะยืดเยื้ออยู่ให้นานที่สุด ไม่น่าเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะกลายเป็นดีเอ็นเอเดียวกันดื้อรั้นโดยไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด 
 
เมื่อถามว่า หากรัฐบาลจัดออกเสียงประชามติได้พันธมิตรจะรับฟังผลหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีผลทางกฎหมายเพราะกฎหมายออกเสียงประชามติ  ยังอยู่ที่ส.ว.ยังไม่ผ่านสภา  ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงสปิริตลาออกไปได้แล้ว และทางพันธมิตรคงไม่ไปรณรงค์แข่งกับรัฐบาลแม้ว่าจะมีการออกเสียงประชามติก็ตาม โดยพันธมิตรเห็นว่าการทำประชามติไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อ
 
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า พันธมิตรประกาศตลอดเวลาไม่ได้ไปไหนหากตำรวจมาจับแกนนำก็สามารถเข้ามาได้ เพราะพันธมิตรเคยขอมติจากผู้ชุมนุมว่าจะให้มอบตัวหรือไม่ ทางผู้ชุมนุมก็บอกว่าให้อยู่ต่อที่ทำเนียบต่อไป ส่วนรัฐบาลจะยุบสภาแล้วจะทำให้สถานการณ์เย็นลงหรือไม่ ทางแกนนำพันธมิตรก็มีมติแล้วว่าแม้ยุบสภาก็เลือกตั้งแล้วกลับเข้ามาใหม่แบบเดิม นักการเมืองหน้าตาเดิมไม่ได้อะไร ยืนยันว่ายังคงต่อสู้บนพื้นฐานสันติวิธี

ปธ.กกต.ระบุพร้อมทำประชามติ คาดใช้งบ 2 พันล้าน

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าววันที่ 5 ก.ย.ว่า กกต.พร้อมจัดทำประชามติเพื่อหาทางออกจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน แต่ต้องรอมติจากที่ประชุมสภาก่อน ทั้งนี้ ทันทีที่ที่ประชุมสภาพิจารณาให้ดำเนินการทำประชามติ กกต.ก็พร้อมที่จะดำเนินการโดยทันที และคาดว่าต้องใช้งบประมาณถึง 2,000 ล้านบาท

 
กกต.เผยประชามติใช้เวลา 6-7เดือน ชี้ออกเป็นพ.ร.ก.ไม่ได้
 
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 ก.ย.  ที่รัฐสภา  นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลจะขอจัดทำการออกเสียงประชามติ เพื่อถามความเห็นของประชาชนกรณีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า การทำประชามติเป็นอำนาจของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากนายกฯ มีหัวข้อที่จะทำการสอบถามแน่นอนกกต.ก็มีหน้าที่ในการจัดทำประชามติ แต่ขณะนี้มีปัญหา เนื่องจากพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติยังอยู่ระหว่างพิจารณาของวุฒิสภาฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาการพิจารณาไว้ไม่เกิน 90 วัน จากนั้นต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายในเวลา 30 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป เสร็จแล้วจึงเป็นหน้าที่ของกกต. ทั้งนี้ก่อนที่นายกฯจะประกาศใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องหารือกับประธานสภาฯและประธานวุฒิสภาก่อนว่าเห็นด้วยว่ากับหัวข้อที่จัดทำหรือไม่ อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญกำหนดห้ามไม่ให้สอบถามเรื่องเกี่ยวกับบุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาการจัดทำจนแล้วเสร็จอย่างน้อย 6-7 เดือน
 
“ เรื่องปัญหาการเมือง ผมไม่ทราบเพราะกกต.มีหน้าที่จัดการออกเสียงประชามติตามที่นายกฯประกาศอย่างเดียว และคิดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวไม่สามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้” นายประพันธ์กล่าว

 
วุฒิสภาพิจารณา"ร่างพ.ร.บ.ประชามติ"เป็นเรื่องเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 สมัยสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 5 ก.ย.นี้ มีการหยิบยกการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... เป็นเรื่องเร่งด่วน

 
"มาร์ค"บอกทำประชามติ คืนอำนาจให้ปชช.ดีกว่า


เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดการทำประชามติของรัฐบาล เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ว่า การทำประชามติมีแต่จะทำให้ความขัดแย้งทางความคิดลุกลามออกไป ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์ที่เสี่ยงจะเกิดความรุนแรงอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่รอไม่ได้  หากต้องการให้ประชาชนมาชี้อนาคตทางการเมือง ต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับที่อารยะประเทศทำกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การทำประชามติจะไม่เกิดขึ้น เพราะขัดรัฐธรรมนูญ
 
“กระบวนการประชามติปกติ รัฐบาลต้องรู้คำถาม ถ้าเรื่องนี้ไม่มีปัญหาข้อกฎหมาย ทำไมต้องให้กฤษฎีกาคิดคำถาม เป็นการบ่งบอกว่า รู้ตัวว่า ทำสิ่งที่ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย แล้วไปหาเทคนิกทางกฎหมายว่าจะถามอย่างไร” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
 

"ตือ"ชี้ประชามติรักษาปชต.แม้ยุบสภาปัญหาก็ไม่จบ
 
ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวว่า เป็นแนวทางการรักษาระบอบประชาธิปไตย  ส่วนกรณีที่ระบุว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ที่ประชุมครม.ได้มอบหมายให้กฤษฎีกาใช้ถ้อยคำในการทำประชามติ เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้ว อย่างไรก็ตาม   เชื่อว่า แม้ว่าจะมีการยุบสภา ปัญหาก็ไม่จบ ในเมื่อวันนี้เราเคารพระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องพยายามผลักดันทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการระบอบประชาธิปไตย

 
"จรัญ"ชี้ทำประชามติโดยไม่พร้อม สร้างปัญหาไม่สิ้นสุด
 
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการรัฐธรรมนูญ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ว่า ไม่ขอแสดงความเห็นว่าการทำประชามติจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 วรรค 3 หรือไม่ แต่เชื่อว่าขณะนี้เหตุการณ์บ้านเมืองกำลังคุกคามความอยู่รอดของประเทศ และคิดว่าการทำประชามติ โดยที่ยังไม่ได้ให้ความรู้ประชาชนอย่างถ่องแท้ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่จะเป็นการสร้างปัญหาต่อไปอย่างไม่รู้จบ
 
"พีเน็ต"ค้านทำประชามติ เชื่อยุบสภาดีกว่า ใช้งบเท่ากัน
 
รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้ประสานงานเครือข่ายพีเน็ต กล่าววันที่ 5 ก.ย.ว่า หากรัฐบาลจะทำประชามติเพื่อหาทางออกจากสถานการณ์ทางการเมือง ตนมองในแง่หลักการและวิธีการ พบว่าอาจเป็นการหมิ่นเหม่ เพราะต้องส่งให้ศาลตีความก่อน นอกจากนี้ หากรัฐบาลเร่งรีบทำประชามติให้เสร็จภายใน 30 วัน จะทำให้โอกาสที่ทั้ง 2 ฝ่ายชี้แจงกับประชาชนอาจไม่เพียงพอ หรืออาจขัดกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังไม่ทราบว่ารัฐสภาจะใช้เวลานานแค่ไหนในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติ
 
"หากเปรียบเทียบกับการใช้เงินหรือเวลา ตนไม่เห็นด้วยเพราะต้องใช้มากถึง 2,000 ล้านบาทกระบวนกากระทำก็ยากในการทำความเข้าใจกับประชาชนในเวลาอันสั้นและหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฏหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ช่วยแก้ไขสถานการณ์ ยุบสภาและใช้งบเท่ากันน่าจะดีกว่า" รศ.สมชัย กล่าว
 
"สนธิ" ชี้ "สมัคร" ถูกกดดันหนัก
 
นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตร ขึ้นกล่าวบนเวทีหลังฟังนายสมัคร  สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงสถานการณ์ผ่านสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 4 ก.ย. โดยนายกฯ ประกาศออกอากาศยืนยันจะไม่ลาออกและไม่ยุบสภา ว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นใครโกหกเก่งเท่านายสมัคร ที่โกหกทั้งเรื่องเขาพระวิหาร เรื่องการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อ้างว่าเข้าเฝ้าฯ 10 ครั้ง แต่ไม่เคยออกมาพูดอะไร จึงอยากจะถามว่า ใครที่เข้าเฝ้าฯแล้วออกมาบอกว่าเจ้านายให้ทำงานต่อ นายสมัครเป็นคนแอบอ้างสถาบันเพื่อประโยชน์ตัวเองตลอด

"เช่นเดียวกับกรณีที่นายเตชลาออก เชื่อว่าไม่ใช่เหตุผลเรื่องของครอบครัว หรือถ้าเป็นเพราะครอบครัวจริง ก็แสดงให้เห็นว่าครอบครัวนายเตชเป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่มุ่งหวังลาภยศสรรเสริญ เหมือนนายสมัครที่ลูกเมียบีบให้ออกแต่ไม่ยอมลาออก ผมฟังนายสมัครพูดแล้วอยากจะอ้วก เหตุที่นายสมัครต้องออกรายการวิทยุ เพราะสถานการณ์คับขันมาก โดนพรรคร่วมรัฐบาลและทุกภาคส่วนของสังคมกดดัน ไม่เว้นแม้แต่คนในพรรคพลังประชาชน จึงต้องออกมาขอความเห็นใจ" นายสนธิกล่าว

ต่อมาที่ห้องสื่อมวลชน ทำเนียบรัฐบาล นายพิภพ ธงไชย และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายพิภพกล่าวถึงออกมาชี้แจงของนายสมัครว่า สิ่งที่นายกฯพูดเป็นการบิดเบือนข้อมูล โดยคิดว่าจะมีคนคล้อยตามสิ่งที่ตัวเองพูด แต่ปรากฏว่าพันธมิตรกลับได้แนวร่วมมากขึ้น

แกนนำฉุนสื่อถามจุดสิ้นสุดชุมนุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเรียกร้องของพันธมิตรคืออะไร รัฐบาลแห่งชาติ หรือให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล นายพิภพกล่าวว่า พันธมิตรไม่เคยเรียกร้องรัฐบาลแห่งชาติ และไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่เห็นว่าหากมีพรรคใดขึ้นมาตามระบบก็น่าจะเข้าไปปฏิรูปการเมือง และแกนนำพันธมิตรไม่ได้ต้องการเข้าไปมีอำนาจเสียเอง ถามย้ำว่า แล้วจุดสิ้นสุดของการชุมนุมอยู่ที่ไหน เมื่อข้อเรียกร้องดูเหมือนไม่มีสิ้นสุด นายสมศักดิ์ตอบว่า การชุมนุมต้องมีจุดสิ้นสุด เพราะเราไม่ใช่อันธพาล แต่มาถามแบบนี้ไม่ได้ ถึงนายสมัครออก แกนนำทั้ง 5 คนก็ต้องหารือกันก่อน แต่ตอนนี้นายสมัครยังไม่ออก ยังขยับอะไรไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นการแถลงข่าวเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเงื่อนไขที่จะทำให้การชุมนุมสิ้นสุด แต่แกนนำทั้ง 2 ตอบเพียงว่า ต้องหารือกับแกนนำก่อน จนเกิดการโต้เถียงกันนานกว่า 30 นาที ทำให้นายสมศักดิ์ถึงกันหัวเสีย ขณะที่นายพิภพพยายามตอบอย่างใจเย็น แต่ก็ไม่มีความชัดเจน กระทั่งคนติดตามนายพิภพยื่นกระดาษโน้ตมาให้นายพิภพอ่านว่า ขอจบการแถลงข่าวเพียงเท่านี้

จากนั้น นายพิภพเดินมากระซิบกับผู้สื่อข่าวว่า หากรัฐบาลออก และเงื่อนไขไม่เพียงพอต่อการชุมนุม คนก็ไม่ออกมาอยู่แล้ว แต่จะพูดล่วงหน้าไม่ได้ ไม่เช่นนั้นฝ่ายการเมืองจะนำมาเป็นเกมต่อรอง ส่วนเรื่องการเมืองใหม่ยังเป็นแค่ตุ๊กตา ไม่มีรายละเอียด กว่าจะใช้ได้ผลจริง อย่างต่ำก็อีก 10 ปีข้างหน้า

"สมัคร" ออกวิทยุย้ำ "ไม่ออก-ไม่ยุบ"

ก่อนหน้านี้นายสมัครได้เดินสายออกรายการวิทยุชี้แจงสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย โดยยืนยันที่จะไม่ลาออกและไม่ยุบสภา นอกจากนี้ยังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ และมีมติให้จัดทำประชามติเพื่อถามความเห็นประชาชนถึงแนวทางการแก้ปัญหาความวุ่นวาย
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 4 กันยายน นายสมัครชี้แจงถึงสถานการณ์การเมืองผ่านวิทยุในเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศ ใช้เวลา 51 นาที โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าจะลำดับความเดือดร้อน รัฐบาลเดือดร้อนก่อน เพราะมายึดทำเนียบ ไม่สนใจหมายศาล ศาลยังโดนไปด้วย ศาลก็เอาไม่อยู่

"สถานการณ์บ้านเมืองผิดปกติ เพราะเราประกาศภาวะฉุกเฉิน ทหารนั้นฟาดฟันไม่ได้  ฟาดฟันเกิดเรื่อง ทหารไม่ปฏิวัติ ไม่ยึดอำนาจ และจะทำอย่างนุ่มนวล และผู้คนพวกนั้น ต้องออกไปให้หมด ในเวลาไหนเวลาหนึ่ง เขาจะต้องจัดการออก ไม่ออกไม่ได้ ทั้ง 9 คน  ก็ไปศาล และไปขอประกันตัวซะ ให้จบเรื่องไป ไปสู้คดีความกัน ทุกอย่างมันต้องจบในลักษณะนี้ จบอย่างอื่นไม่ได้เลย ผมประกาศให้ฟังนะว่าผมไม่ลาออกครับ แล้วผมก็ยังไม่ยุบสภา ผมจะอยู่ดูหน้าที่เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยของบ้านเมืองนี้" นายสมัครกล่าว

แจง "เตช" ถูกภรรยาบีบให้ลาออก

นายสมัครยังกล่าวถึงกรณีนายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาออกว่า ตนไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กราบบังคมทูลขอ แล้วไปคุยกับนายเตชก็มาช่วยเรื่องเขาพระวิหาร ทุกคนก็ชื่นชม แต่นายเตชเขียนจดหมายมาบอกเอง ว่าถูกบีบบังคับจากหลายฝ่าย และภรรยาของท่าน บอกว่าทนไม่ได้เพราะสามีไปอยู่กับรัฐบาลซึ่งคนเขาดูหมิ่นเหยียดหยามกันทั้งบ้านทั้งเมือง

"ท่านมีความสามารถ แต่สังคมทำอะไร สังคมไหนผมไม่ทราบได้ จะบงการคุณหญิงคุณนายอะไรที่ไหนยังไง จะไปบีบบังคับคุณเตช ท่านไม่ได้มีความรู้สึกเป็นนักการเมือง ท่านเป็นข้าราชการ ไม่มีปัญหาอะไรอื่นเลย พาดหัวตัวเท่าหม้อแกง ผมก็ต้องไปหาคนมาแทนคุณเตช เพราะท่านถูกบีบคั้น" นายสมัครกล่าว

"สมัคร" บอกเมียตัวเองยังทนได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังชี้แจงทางวิทยุเสร็จ นายสมัครได้หลบผู้สื่อข่าวออกทางประตูด้านหลังอาคารบริเวณห้องน้ำ เมื่อเจอหน้าผู้สื่อข่าวบางส่วนที่ตามไปดักสัมภาษณ์ นายสมัครผงะและมีสีหน้าตกใจเล็กน้อย พร้อมกับปฏิเสธตอบที่จะตอบคำถามทุกเรื่อง ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่านายสมัครเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งจากเดิมใช้รถตู้โตโยต้าทะเบียน ศร 3333 มาเป็นรถเมอร์เซเดสเบนซ์ เอส 600 สีดำ ทะเบียน ชพ 1420 ซึ่งเป็นรถกันกระสุนของศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ซึ่งทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เคยใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นนายสมัครให้เจ้าหน้าที่ติดต่อรัฐมนตรีทุกคนให้เข้าร่วมประชุม ครม.นัดพิเศษ ในเวลา 10.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย

แหล่งข่าวจาก ครม.เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.นัดพิเศษ นายสมัครได้แจ้งให้ ครม.ทราบถึงการลาออกของ นายเตช บุนนาค และแจ้งเหตุผลการลาออกว่าได้รับการกดดันจากสังคม

"ผมไม่อยากอ่านข้อความในจดหมายลาออกของคุณเตชในที่ประชุม ครม. แต่เนื้อหาบอกว่าสังคมรอบข้างกดดัน โดยเฉพาะภรรยาท่าน ที่ไม่สบายใจกับกระแสกดดันจากสังคม ซึ่งแตกต่างกับภรรยาผมที่ยังพอทนได้อยู่" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายสมัคร

เดินสายแจงวิทยุ-โทรทัศน์เพิ่มอีก

ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่สถานีวิทยุ อสมท นายสมัครเดินทางไปออกรายการ คุยได้คุยดี กับวีระ ธีรพัฒน์Ž คลื่นเอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยมีนายวีระ ธีรพัฒน์ ดำเนินรายการใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยนายวีระริ่มถามถึงการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯว่าคิดหรือไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อย่างนี้ นายสมัครตอบว่า ไม่ได้คิดจะเป็นนายกฯ แต่ความจำเป็นบังคับ ไม่คิดว่าจะเจอแบบนี้ ไม่คิดว่าสิ่งที่เกิดเหตุจะมาได้มาไกลและรุนแรงขนาดนี้

นายสมัครยังกล่าวว่า กรณีที่ศาลไม่สามารถสั่งปิดสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีได้ว่า ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ เมื่อทหารโดย ผบ.ทบ.ถ่วงน้ำหนัก โดยระบุว่าเอ็นบีทีก็ปลุกระดมเหมือนกัน หากจะปิดเอเอสทีวีก็ต้องปิดเอ็นบีทีด้วย แต่ในเมื่อเอ็นบีทีมีความจำเป็น ก็ต้องไม่ปิดทั้งคู่ เมื่อเป็นอย่างนี้ตนก็โอเค จึงเลือกหนทางอื่น เริ่มออกรายการที่กรมประชาสัมพันธ์และมาถึงรายการนี้ ตนพูดกับ ผบ.ทบ.เรียบร้อย แต่จากนี้ผมคงต้องไปหาสถานีโทรทัศน์พูดอีก

"ผมไม่กลัวคนที่มาข่มขู่ มาตรฐานที่ผมตั้งไว้ ผมตายไปแล้วอีกกี่ 10 กี่ 100 ปี คนก็จะต้องพูดถึง เมืองไทยใครคนใดคนหนึ่งจะลุกมาข่มขู่มาตรการที่เป็นทางราชการไม่ได้ ผมทำเพื่อนบ้านเมือง โดยส่วนตัวไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียอะไรเลย ผมต้องอยู่เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้คู่เมืองไทย ผมได้ตกลงกับ ผบ.ทบ.ว่าอดทนรอได้ สิ่งที่จะให้ทำคือล้อมไว้แล้วไม่ให้เข้า แต่จะให้ออก" นายสมัครกล่าว

ครม.ให้ทำ "ประชามติ" หวังแก้วิกฤต

ส่วนการประชุม ครม.นัดพิเศษ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ก่อนเข้าวาระการประชุม นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้เสนอให้ ครม.พิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ซึ่งกำหนดให้ทำการประชามติในกรณีที่ต้องการทราบความเห็นของประชาชนทั้งประเทศในการแก้ไขวิกฤตของประเทศ ซึ่งนายสมัคร เห็นด้วยอย่างมาก โดยกล่าวอย่างอามรณ์ดีว่า "โอ้ยดีมาก แนวทางนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้"  และขอความเห็นของ ครม. รวมทั้งฝ่ายกฎหมาย
 
ทั้งนี้ ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า มาตรา 165 กำหนดนั้นไว้ว่า (1) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสีย ของประเทศชาติหรือประชาชน นายกฯโดยความเห็นชอบของ ครม.อาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้ (2) ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติอาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติ โดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ หรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่ ครม.ก็ได้ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้

มอบกฤษฎีกาศึกษาตั้งคำถาม

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แจ้งว่าหาก ครม.ทำประชามติครั้งนี้ เพื่อเป็นการให้คำปรึกษาแก่ ครม. อาจทำไม่ได้ตาม (2) รวมทั้งในการตั้งคำถาม จะตั้งคำถามที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นการทำประชามติเพื่อบุคคลหรือคณะบุคคล อาทิ นายสมัคร สมควรจะเป็นนายกฯต่อไปหรือไม่ หรือ ครม.สมควรจะบริหารประเทศต่อไป อาจทำไม่ได้ตามนัย (2) เหมือนกัน ดังนั้นจึงควรพิจารณาตั้งคำถามให้ดี โดยรัฐมนตรีที่ร่วมประชุมหลายคนได้ยกตัวอย่างการตั้งคำถามขึ้นเป็นตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมารัฐบาลบริหารประเทศอย่างถูกต้องหรือไม่ หรือกลุ่มพันธมิตรทำถูกต้องหรือไม่ โดยนายสมัคร ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ไปศึกษาการตั้งคำถาม 

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในการหารือเรื่องการทำประชามติ ได้มีการพูดคุยกันถึงเงื่อนเวลาในการทำประชามติ ซึ่งรัฐมนตรีบางคนเห็นว่าระยะเวลาอาจยาวนานเกินไป แต่นายสมัครกล่าวระบุว่า "ระหว่าง 1 เดือนที่รอการทำประชามติ ให้กลุ่มพันธมิตร ยึดทำเนียบต่อไปได้ ไม่มีปัญหา ระหว่างนั้นก็ให้ต่างฝ่ายต่างไปพร็อบพากันดา (โฆษณาชวนเชื่อ) ได้เต็มที่"

โฆษกรัฐบาลปัดซื้อเวลาอยู่ต่อ

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม. นัดพิเศษ ว่า ครม.มีมติเห็นชอบในการทำประชามติเพื่อหาทางแก้วิกฤต อย่างไรก็ตาม กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ จะเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาวันที่ 5 กันยายน ซึ่งรัฐบาลอยากจะขอความกรุณาสมาชิกวุฒิสภาให้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยความรวดเร็ว หากผ่านขั้นตอนของวุฒิสภาแล้วรัฐบาลจะดำเนินการทำประชามติภายใน 30 วัน

พล.ต.ท.วิเชียรโชติกล่าวว่า ทันทีกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รณรงค์ 30 วัน เมื่อครบ 30 วันก็จะลงประชามติได้เลย โดย ครม.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปทำร่างแบบสอบถามที่จะให้ประชาชนลงประชามติแล้ว โดยทำไปพร้อมกับการรอการผ่านร่างกฎหมายจากวุฒิสมาชิก

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลทำประชามติเพื่อซื้อเวลาหรือไม่ พล.ต.ท.วิเชียรโชติกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ยื้อเวลา หากมีกฎหมายฉบับนี้ในวันนี้ก็คงทำได้เลย ซึ่งในรายการทีวีหนึ่งมีประชาชนส่งเอสเอ็มเอสมาถึง 6 หมื่นครั้ง โดย 90% ต้องการทำประชามติ

"สดศรี" คาดใช้1.8พันล.ทำประชามติ

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า กกต.พร้อมจัดการออกเสียงประชามติ แต่รัฐบาลจะต้องตั้งคำถามมาให้ชัดเจนว่าต้องการถามสิ่งใดกับประชาชน ซึ่งจะต้องมีลักษณะ สั้นง่าย กระชับ ประชาชนต้องเข้าใจ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่บัญญัติว่า การจัดออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับบุคคลและคณะบุคคลจะกระทำมิได้ การออกเสียงประชามติจะถามในเรื่องการแก้กฎหมายบางมาตรา เช่น ให้นายกฯมาจากคนนอกได้หรือไม่ หรือแนวทางการเมืองใหม่ของพันธมิตร แต่หากให้นายกฯลาออก หรือยุบสภาไม่สามารถทำได้ 

นางสดศรีกล่าวว่า ส่วนงบประมาณในการออกเสียงประชามติคาดว่าไม่ต่างจากคราวก่อน คือประมาณ 1,800 ล้านบาท ทั้งนี้ หากการทำประชามติครั้งนี้เป็นที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่ายก็จะช่วยยุติปัญหาของบ้านเมืองได้ เพราะหลังจากประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ยังไม่มีมาตรการใดแก้ปัญหาได้

"การจัดทำประชามตินั้นก็ไม่น่าจะเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาล ในเมื่อประชาชนมีส่วนร่วมก็ต้องให้ประชาชนใช้สิทธิในความเป็นความตายของประเทศด้วย" นางสดศรีกล่าว

ปธ.ส.ว.ขวางกม.ประชามติ3วาระรวด

นายประสพ บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ครม.มีมติให้จัดทำประชามติว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติอยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งจะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาในวันที่ 5 กันยายน และคงไม่สามารถพิจารณา 3 วาระรวดได้ ซึ่งปกติการพิจารณากฎหมายต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ส่วนตัวเห็นว่าการทำประชามติอาจจะไม่ทันการ เมื่อถามว่า ที่รัฐบาลเลือกใช้แนวทางการทำประชามติครั้งนี้ถือเป็นการซื้อเวลาเพื่อจะอยู่ต่อหรือไม่ นายประสพสุขกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่แนวทางนี้รัฐบาลก็สามารถทำได้

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่า การทำประชามติไม่ได้ทำให้ปัญหาจบ แต่จะเสียเงินมากกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อต่ออายุการทำงานของรัฐบาล ควรแก้ไขปัญหาด้วยการยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตั้งและเลือกรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศจะดีกว่า
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาการเมือง ถือเป็นปฏิบัติการเพื่อลบล้างความผิดของรัฐบาลด้วยเสียงประชาชนเท่านั้น และคาดอีก 6 เดือนกว่ากฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้

"ปชป.-พันธมิตร" ค้านทำประชามติ

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า การใช้กฎหมายประชามติเพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมจะติดปัญหารัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่บัญญัติว่าการจัดออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับบุคคลและคณะบุคคลจะกระทำมิได้ ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเป็นเรื่องของตัวบุคคล อีกทั้งหากตั้งคำถามว่าต้องการให้พันธมิตรอยู่ต่อหรือไม่ อาจผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ กฎหมายประชามติยังไม่มีผลบังคับใช้ การแก้ประชามติน่าจะเป็นการซื้อเวลา เพราะเวลาขอ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์