ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ รูดม่านอนุบาลการเมือง

ผมไม่เอาแล้ว จบหมด พอแล้ว ผมรู้สึกสบาย โล่งอก ผมเป็นอนุบาลจริงๆ เรื่องการ เมือง ในเรื่องซื้อสิทธิขายเสียง ผมขอยอมรับว่าเป็นอนุบาล เรื่องการเมืองสกปรก"

คือคำตอบสุดท้ายของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ถึงอนาคตทางการเมือง

ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้พ้นจากสถานภาพหัวหน้าพรรคมัชฌิมาฯ นับแต่ที่ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคต่อนายธนพร ศรียากูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2550

นอกจากจะประกาศไม่เอาแล้ว จบแล้ว ในทางการเมือง

นายประชัย ยังยอมรับว่าตนเองนั้นเป็น"อนุบาลการเมือง" อย่างที่นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เคยเปรียบเปรยไว้

ในแวดวงธุรกิจ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ไม่ใช่บุคคลธรรมดา เป็นเจ้าของธุรกิจหมื่นล้าน เป็นผู้ก่อตั้งทีพีไอ อาณาจักรธุรกิจด้านปิโตรเคมีใหญ่ติดอันดับอาเซียน

ด้วยประสบการณ์และความสำเร็จ ทำให้นายประชัย เชื่อมั่นตัวเองสูง กล้าประกาศตัวพร้อมเป็นนายกฯ คนต่อไป และไม่ยอมรับสถานภาพอนุบาลการเมือง ที่นายเสนาะ มอบให้แต่แรก

แต่วันนี้ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเซียนในวงการหนึ่ง อาจเป็นแค่เด็กอนุบาลในอีกวงการหนึ่ง

เส้นทางการเมืองของนายประชัย ปรากฏภาพชัดต่อสาธารณะเมื่อเข้ารับหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคประชาราช โดยการชักชวนของนายเสนาะ เทียนทอง

3 ส.ค. 2549 พรรคประชาราชเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ที่อาคารทีพีไอ พร้อมๆ กับการเปิดตัวผู้บริหารพรรค

นอกจากผู้ก่อตั้งคือนายเสนาะ จะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค นายประมวล รุจนเสรี นายบุญถึง ผลพานิชย์ และนายชูชีพ หาญสวัสดิ์ เป็นรองหัวหน้าพรรค

ที่สร้างความฮือฮาคือมี นายประชัย นั่งในตำแหน่งเลขาธิการพรรค

หลังเหตุการณ์ 19 ก.ย. 2549 นายประชัย ประกาศลาออกจากเลขาธิการพรรคประชาราช ประกาศยุติบทบาททางการเมือง โดยให้เหตุผลว่าการโค่นล้มทักษิณ สำเร็จแล้ว


แต่เสียงวิจารณ์กลับเห็นว่า ต้นเหตุมาจากคนจ่ายเงินกับคนใช้อำนาจเป็นคนละคนกัน

กลางปี 2550 นายประชัย กลับมาร่วมงานกับพรรคประชาราชอีกครั้งในตำแหน่งประ ธานที่ปรึกษาพรรค และประธานคณะกรรม การบริหารพรรค ซึ่งมีอำนาจสามารถปลดหัวหน้าพรรคได้

แต่ในทางปฏิบัติคงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ความขัดแย้งมาถึงจุดแตกหักอีกครั้งเมื่อนายประชัย ซึ่งถือเป็นนายทุนต้องการคุมอำนาจเบ็ดเสร็จในตำแหน่งหัวหน้าพรรค

โดยแรงหนุนจากกลุ่มมัชฌิมาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เมื่อตกลงกันไม่ได้ 5 ต.ค. 2550 นายประชัย กลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มมัชฌิมา แถลงข่าวลาออกจากพรรคประชาราช

ด้วยเหตุผลแนวทางทางการเมืองไปด้วยกันไม่ได้กับนายเสนาะ

ทั้งหมดไปตั้งพรรคใหม่ในชื่อมัชฌิมา ที่นาย สมศักดิ์ ส่งคนไปจดตั้งพรรคไว้ล่วงหน้า และเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2550 ที่ไบเทค บางนา

กระนั้น เส้นทางการขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมัชฌิมาของนายประชัย ก็เริ่มปั่นป่วน

เมื่อกกต.ชี้ว่าการเลือกหัวหน้าพรรคที่กระทำอย่างเอิกเกริกนั้นผิดพ.ร.บ.พรรคการเมือง ตามกฎหมายต้องเป็นการโหวตลับ จนต้องเรียกประชุมลงมติเลือกหัวหน้าพรรคกันใหม่

แต่มติเลือกนายประชัย ก็ไม่ทันวันเปิดรับสมัคร ส.ส.ทั่วประเทศ ต้องให้หัวหน้าพรรคคนเก่าเป็นผู้ เซ็นรับรองผู้สมัครแทนนายประชัย ซึ่งไม่อยู่ในฐานะหัวหน้าพรรคอย่างสมบูรณ์

3 ธ.ค.2550 นายประชัยต้องประสบกับวิบากกรรมครั้งสำคัญ เมื่อศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา

ในความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ พ.ศ.2535 ม.77 และ 239 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ ในการเผยแพร่ข้อมูลเสนอขายหุ้นที่ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์บริษัท ทีพีไอ จำกัด (มหาชน) จะมีราคาสูงขึ้น

หรือพูดง่ายๆ คือปั่นหุ้นนั่นเอง

เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความทุลักทุเลในพรรคมัชฌิมาให้มากขึ้น และนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านายประชัย อาจขาดคุณสมบัติในการจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550

ขณะเดียวกัน นายประชัย ก็ถอดใจถึงขั้นทำหนังสือลาออกจากหัวหน้าพรรคในวันที่ 4 ธ.ค. 2550 แต่สมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนเรียกร้องให้อยู่ต่อ วันที่ 6 ธ.ค. นายประชัยมีแรงฮึดประกาศจะขอเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป

นายประชัย เผชิญกับมรสุมการเมืองลูกแล้วลูกเล่า เมื่อกกต.มีหนังสือแจ้งว่ารายงานการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคที่ส่งไป พิมพ์ชื่อพรรคผิดจากมัชฌิมาธิปไตยเป็นมัชฌิมา จึงต้องให้หัวหน้าพรรคคนเก่าเซ็นรับรอง

เรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นร้อนขึ้นทันที เมื่อนายประชัย แฉว่ามีการแบล็กเมล์ขอค่าลายเซ็น 60 ล้านบาทโดยเด็กของนายสมศักดิ์ และบานปลายนำไปสู่การฟ้องร้อง

เรื่องวุ่นๆ ในพรรคมัชฌิมายังไม่จบ จวนเจียนใกล้วันเลือกตั้งก็มีเสียงโวยจากผู้สมัครว่ายังไม่ได้ค่าสมัครและค่าหาเสียง ก่อนจะมีม็อบผู้สมัครยกขบวนมาร้องเรียนถึงหน้าตึกทีพีไอ แฉหัวหน้าพรรคไม่ดูแลและจ่ายค่าสมัครตามที่รับปาก

ความวุ่นวายของพรรคที่เกิดอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อการเลือกตั้ง

มัชฌิมาฯ เป็นเพียงพรรคเดียวที่ผู้สมัครส.ส.สัด ส่วนของพรรคไม่ได้รับเลือกเข้าสภาแม้แต่คนเดียว รวมถึงตัวนายประชัย ที่ลงสมัครส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 6 (กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ) ก็สอบตก ไม่ได้รับเลือกเช่นกัน

ในกลุ่มของนายประชัย ก็มีเพียงนายสุนทร วิลาวัลย์ ที่ได้รับเลือกเป็นส.ส. แต่ก็มาถูกใบแดงในภายหลัง

ขณะที่ส.ส.มัชฌิมาที่เหลือ เป็นผู้สมัครในกลุ่มของนายสมศักดิ์ ทั้งหมด

เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล อำนาจการต่อรองจึงไม่ได้อยู่ที่นายประชัย เมื่อนายประชัยดิ้นขอเก้าอี้จึงมีการเคลื่อนไหวขับไล่ออกจากหัวหน้าพรรค

โดยมีนายธนพร ศรียากูล รองหัวหน้าพรรคและนายทะเบียนสมาชิกพรรค เป็นทัพหน้า ยื่นให้กกต. ตรวจสอบสถานภาพของนายประชัย

31 ม.ค. กกต.มีมติเอกฉันท์ชี้ว่านายประชัย พ้นสภาพการเป็นหัวหน้าพรรคมัชฌิมา ตั้งแต่ยื่นใบลา ออกเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2550

จึงเป็นฉากสุดท้ายสำหรับอนุบาลการเมืองอย่างนายประชัย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์