ปธ.วุฒิฯเชื่อแก้รธน.ได้แค่บางมาตรา เพื่อไทยจวกมาร์ค เปิดประชุมร่วมรัฐสภา หวังถ่วงเวลา


"ประสพสุข"เชื่อประชุมร่วมรัฐสภาแก้รธน.ได้บางมาตรา คาดส.ส.ไม่ผ่านกม.นริโทษกรรม "ชทพ."จี้แก้2ประเด็นในสมัยประชุมนี้ ปลัดกห.เห็นด้วยหวังสร้างสมานฉันท์ เพื่อไทยจวก"มาร์ค"เปิดสภาฯหวังซื้อเวลา

ปธ.วุฒิเชื่อแก้"รธน."ได้บางมาตรา 

หลังประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วม (วิป) รัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ได้ประชุมหารือถึงกรอบการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16-17 กันยายน เพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนได้ข้อสรุปว่าจะใช้เวลาอภิปรายทั้งสิ้น 26 ชั่วโมง โดยคณะกรรมการสมานฉันท์และคณะรัฐมนตรี 4 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 8 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง และวุฒิสภา 6 ชั่วโมงนั้น


เมื่อวันที่ 11 กันยายน นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมของรัฐสภาว่า ต้องดูเนื้อหาที่จะอภิปรายกันในการประชุมร่วมสองสภา แม้ว่าจะไม่มีการลงมติ แต่อย่างน้อยจะได้รู้ว่าใครมีความคิดเช่นไร และความคิดส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไร ขณะนี้รู้สึกว่าความคิดส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ และมาตราที่เห็นได้ชัดคือ มาตรา 190 อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เห็นว่าน่าจะแก้ได้เพียงบางมาตราเท่านั้น ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่พรรคภูมิใจไทยเสนอเห็นว่าคงไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแน่นอน


"ชทพ."จี้แก้2ประเด็นในสมัยประชุมนี้

นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) แถลงว่า พรรคมีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเปิดประชุมร่วมของรัฐสภาในสัปดาห์หน้าเพื่ออภิปรายโดยไม่ลงมติ ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในกี่ประเด็นกี่มาตราก็ตามจะต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องก่อน ขอยืนยันว่ากรอบเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเสร็จในสมัยประชุมนิติบัญญัติคาดว่าจะเป็นเดือนตุลาคมนี้


ส่วนกรณีที่สวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ผลสำรวจออกมาว่ามีร้อยละ 40 ไม่แน่ใจ ร้อยละ 39.9 เห็นควรให้แก้ไข และร้อยละ 19 เห็นคัดค้าน ดังนั้น หากรวมในส่วนไม่แน่ใจกับการเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีถึงร้อยละ 70 เป็นการแสดงความเห็นในเชิงบวกที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ผลสำรวจยังสะท้อนว่าเสียงส่วนใหญ่อยากให้แก้มาตรา 237 และที่มาของ ส.ส.ด้วย 


"พท."เชื่อ"มาร์ค"เปิดสภาถ่วงเวลา 


วันเดียวกันที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมคณะทำงานหารือเพื่อเตรียมพร้อมการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติในวันที่ 16-17 กันยายน ซึ่งรัฐบาลเปิดอภิปรายเพื่อรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นประธานประชุมร่วมกับคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เพื่อวางกรอบในการอภิปราย 


นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย แถลงหลังประชุมว่า พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนให้แก้ไขใน 6 ประเด็นตามกรอบผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯสรุปไว้ ในวันที่ 14 กันยายน คณะทำงานของพรรคจะนำประเด็นต่างๆ มาหารือเพื่อกำหนดประเด็นอภิปรายให้อยู่ในกรอบ 6 ประเด็นอีกครั้ง พร้อมจะจัดผู้อภิปรายอย่างเป็นระบบ ไม่ให้ใช้เวลายืดเยื้อ 


"ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจและต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง เมื่อได้ผลสรุปการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นให้เสียเวลาโดยรัฐบาลสามารถดำเนินการนำไปสู่การปฏิบัติให้แก้ไขให้เป็นรูปธรรมได้เลย เจตนาของรัฐบาลไม่ว่าจะการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ หรือการขอเปิดประชุมร่วมสองสภาครั้งนี้พอทราบวัตถุประสงค์เพื่อเตะถ่วงหรือซื้อเวลาให้อยู่เป็นรัฐบาลต่อไปเท่านั้น" นายประเกียรติกล่าว และว่า หากหยั่งเสียงในพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไข เชื่อว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นด้วยในการแก้ไขอย่างแน่นอนซึ่งจุดนี้อาจเป็นเหตุบีบให้รัฐบาลยุบสภาได้ เพราะเนื้อแท้ของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความต้องการแก้ไขและอยากให้มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน


ดักคอ"ปชป."ติดหนี้บุญคุณ"คมช."


นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมาเปิดสภาเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เพราะในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯที่เป็นแนวคิดของนายกรัฐมนตรีก็มีตัวแทนจากทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลเมื่อได้ผลสรุปแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่ควรซื้อเวลาออกไป ไม่ว่าจะแนวคิดตั้ง ส.ส.ร.หรือจะจัดทำประชามติ ทุกอย่างที่รัฐบาลทำเพียงยื้อให้อยู่บริหารให้ยาวนานที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าต้นเหตุวิกฤตมาจากรัฐธรรมนูญทั้งสิ้นและที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มาเป็นรัฐบาล ส.ว.สรรหา รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ ล้วนมีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เป็นผู้ให้กำเนิดก็มีติดหนี้บุญคุณกันอยู่ หากพรรคประชาธิปัตย์จะไปทำอะไรก็เท่ากับเป็นการทรพีกับพ่อแม่จะเป็นเหมือนลูกอกตัญญู สุดท้ายเชื่อว่าการอภิปรายจะ 2 หรือ 3 วันเสร็จสิ้น ประชาชนต้องเผชิญชะตากรรมยากจนต่อไป แต่รัฐบาลยังอยู่เป็นรัฐบาลต่อไป


"ปลัดกห."เห็นด้วยแก้ไขรธน.สร้างสมานฉันท์ 


พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เท่าที่ตนติดตามส่วนใหญ่มุ่งให้เกิดความสมานฉันท์ อยากให้แก้ไขไปอย่างลุล่วงและทำให้เกิดความสมานฉันท์ของคนในชาติมากกว่า เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ของ คมช.เป็นต้นตอของปัญหา พล.อ.อภิชาตกล่าวว่า ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีฉบับหนึ่ง เพราะพัฒนาจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2540 บางคนอาจวิจารณ์ว่าลงลึกการปฏิบัติมากเกินไป ซึ่งทุกคนมองว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อน แต่จะบอกว่าดีหรือไม่ คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง การที่เราเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญบ่อยอาจจะไม่มีเวลาศึกษารายละเอียด และทำให้เกิดความสมานฉันท์ของรัฐธรรมนูญในแต่ละฉบับให้ลึกซึ้ง ทำให้การปฏิบัติไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญวางมาตรฐานไว้ แต่เมื่อมีความเข้าใจแล้วสิ่งที่เป็นจุดอ่อนอาจมีความระวังมากยิ่งขึ้น และจะไม่เป็นจุดอ่อนสำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ หากแก้ไขและทำให้เกิดความสมานฉันท์ก็ควรจะแก้ไข 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์