“ปธ.กทค” รับ ที่ปรึกษาทำหนังสือท้วงติงประมูลจริง

“ปธ.กทค” รับ ที่ปรึกษาทำหนังสือท้วงติงประมูลจริง อ้างเพิ่งเห็นตอนเป็นข่าว ด้านสุทธิพลยันกทค.มีอำนาจรับรองผลประมูล 3 จี ยกกฎหมายประกอบอื้อ

“ปธ.กทค” รับ ที่ปรึกษาทำหนังสือท้วงติงประมูลจริง


                   ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสารและโทรคมนาคม ที่มีนายปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาติดตามความคืบหน้าภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งได้เชิญพ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ กสทช. ในฐานะ ประธานคณะกรรมกิจการโทรคมนาคม (กทค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กสทช. พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กสทช. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. และนายจิตนรา นวรัตน์ คณะอนุกรรมการฝ่ายกฏหมายกทค. เข้าชี้แจง


              โดยทางคณะกรรมาธิการซักถามว่า หลังจากที่ประมูล 3 จี แล้วขั้นตอนการดำเนินขณะนี้มีอุปสรรคใดบ้าง ซึ่ง พ.อ.เศรษฐพงศ์ ชี้แจงว่าขณะนี้ อยู่ระหว่างการร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการดำเนินการด้านโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพและใช้ทรัพยากรร่วมกัน 3 ร่าง ประกอบด้วย ร่างประกาศ กสทช. เรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันสำหรับโครงข่าวโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.ร่างประกาศ กสทช. เรื่องการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ พ.ศ. ... และ ร่างประกาศ กสทช.เรื่องบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายสูง พ.ศ.


               พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตแต่อย่างใด เนื่องจากกฏหมายกำหนดให้สามารถออกใบอนุญาตได้หลังจากการประมูล 90 วัน แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ก่อนที่จะออกใบอนุญาต คือกำหนด มาตรฐานการใช้บริการ และ อัตราขั้นสูงของค่าบริการที่จะเป็นเงื่อนไขในใบอนุญาตได้ นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการสมยอมด้านราคา ที่จะตรวจสอบวิธีการประมูล ที่มีนายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อโปร่งใสในการตรวจสอบ


             นอกจกานี้ พ.อ.เศรษฐพงศ์ ยังได้กล่าวถึง กระแสข่าวกรณีที่ปรึกษาของตนได้นำทำหนังสือมาถึงตนก่อนที่จะมีการประมูล โดยระบุว่าการประมูลดังกล่าวส่อให้เกิดการทุจริตนั้น ยอมรับว่า มีการส่งทำหนังสือดังกล่าวมายังหน้าห้องของตนแต่ไม่ได้นำเข้าระบบ เพียงใส่ซองเอกสารแล้วนำมาวางไว้หน้าห้องทำงานเฉยๆ ประกอบกับก่อนวันประมูลตนไม่ได้เข้าสำนักงานทำให้ไม่ได้เห็นเอกสาดังกล่าว และได้ทราบเรื่องนี้เมื่อปรากฏในสื่อมวลชนแล้ว ทั้งนี้ที่ปรึกษาไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ได้แต่เพียงเสนอความเห็นให้ตนพิจารณาต่อเท่านั้น


             ขณะที่นายสุทธิพล ชี้แจงถึงอำนาจในการรับรองผลการประมูล 3 จี ว่า คำตอบในเรื่องนี้มีอยู่2 ส่วน คือ บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 วรรค 2 รุบุให้มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกรอบจึงต้องมี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กำกับตามมาตรา305 ของรัฐธรรมนูญที่เป็นบทเฉพาะกาล ที่ระบุว่า ต้องมีหน่วยงานย่อยภายใน คือ คณะกรรมการย่อยที่ดูแลเรื่องกระจายเสียง และ กรรมการที่ดูแลเรื่องกิจการโทรคมนาคม

            นายสุทธิพล ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ไปยังร้องผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบว่า กทค.มีอำนาจในการรับรองการประมูล หรือไม่ เมื่อมีผู้ยื่นไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว กสทช. ก็ไม่มีอำนาจก้าวก่ายการตัดสิน ต้องรอให้ผลการพิจารณา แต่ขอยืนยันว่า กทค.มีอำนาจในการรับรองการประมูลครั้งนี้


            นอกจากนี้ นายประเสริฐ ยืนยันว่าการตั้งราคาประมูลไว้ที่ 4.5 พันล้านบาทเป็นการตั้งราคาเริ่มต้นที่ 70 % ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่ 6,440 ล้านบาท ตามที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผุ้ประเมิน และเป็นไปตามการศึกษาการจัดประมูลคลื่นความถี่ของ 17 ประเทศทั่วโลก
นายนวรัตน์ ได้ชี้แจงข้อซักถามเรื่องกทค.ได้ประมูล 3 จี ตามระเบียบเรื่องประกวดราคาพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ว่า ได้นำระเบียบดังกล่าวมาร่วมพิจารณาประกอบด้วยแต่ไม่สามารถนำระเบียบดังกล่าวมาใช้ในกรณีการประมูลนี้ได้เนื่องจากระเบียบเป็นกรณีที่รัฐจัดซื้อจัดจ้าง หรือรัฐเป็นผู้จ่ายเงินให้กับเอกชน แต่สำหรับกรณีนี้ตรงกันข้าม รัฐได้รับเงินจากเอกชน อีกทั้งตามพรบ.กสทช.ก็กำหนดว่าต้องใช้วิธีประมูลเท่านั้น


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์