ปชป.ย้อนศร ลากยาวแบบเนียนๆ

เป็นไปอย่างที่หลายคนคิดไว้ แค่ขยับจะแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ออกมาคัดค้านทันที

ยิ่ง "น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ" อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถึงกับขู่ล่วงหน้าว่า ถ้ารัฐบาลประชาธิปัตย์ยังเดินหน้าต่อไป เท่ากับเป็นการ "ขุดหลุมฝังตัวเอง"

ทั้งที่ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ "ดิเรก ถึงฝั่ง" ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ก็เพิ่งประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก บ่ายวันที่ 7 พฤษภาคมนี้เอง

แม้หลายคนมองว่ากลุ่มพันธมิตรเคลื่อนไหวเร็วเกินไป แต่บ้างก็มองกันว่าเป็นการเคลื่อนไหวสอดรับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกบีบให้มีการแก้รัฐธรรมนูญจน "หน้าเขียว"

เพราะท่ามกลางพรรคร่วมที่ออกมารับลูกแนวคิด "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี เสนอชำแหละรัฐธรรมนูญมาตราโน้นมาตรานี้อย่างคึกคัก แกนนำรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์กลับนิ่งสงบอย่างน่าประหลาด ด้วยข้ออ้างสวยหรู "ขอรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน"

มีเพียงผู้ใหญ่ของพรรคอย่าง "บัญญัติ บรรทัดฐาน" สายทศวรรษใหม่ เท่านั้น ที่แสดงความชัดเจน เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 190 เรื่องการทำสัญญากับต่างประเทศ รวมถึงมาตราที่ห้าม ส.ส.ไปเป็นเลขานุการหรือที่ปรึกษารัฐมนตรีและแทรกแซงการทำงานของรัฐ มาตรา 265 และ 266

ส่วนการ "ปล่อยผี" ผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จำนวน 111+109 คน รวมถึงมาตรา 237 ว่าด้วยยุบพรรค บัญญัติกล่าวว่า "เรื่องนี้คนข้างนอกเขาวิจารณ์กันมาก เพราะก่อนเลือกตั้งทุกคนก็รู้กติกาอยู่แล้ว ที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญยังมีความสำคัญเหนือกว่าศาลใดๆ"

ถ้าจะแก้โดยไม่ฟังเสียงใคร ดูจะไม่เข้าท่า!

ยิ่ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์รายหนึ่งออกมาทิ้งระเบิด ว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ในพรรค "ไม่พอใจ" ที่พรรคร่วม โดยเฉพาะ "บรรหาร ศิลปอาชา" อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ออกแรงผลักดันให้รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง "ซึ่งหากพรรคร่วมยังบีบต่อไป ส.ส.ปชป.หลายคนเห็นตรงกันว่า ยุบสภาหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยว ดีกว่าเป็นรัฐบาลต่อไปแต่ไม่รักษาหลักการ"...!!?

แม้จะผิดจังหวะ จนทำให้ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ผู้จัดการรัฐบาลต้องออกมาปฏิเสธเป็นพัลวัน แต่ก็ตรงใจประชาชนคนทั่วไป

แถมยังแทงใจดำนักการเมืองที่หลวมตัวแสดงความกระสันออกนอกหน้า ทั้งพรรคภูมิใจไทย ของลูกพี่ เนวิน ชิดชอบ หรือพรรคเพื่อแผ่นดิน ของ พินิจ จารุสมบัติ-ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ ต้องยอมกลับลำ หันมายอมรับวิธีฟังเสียงสังคมก่อนแก้รัฐธรรมนูญโดยเสนอให้ทำ "ประชามติ" ซึ่งเป็นวิธีการที่สังคมขานรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เป็นที่มาของการ "แทงกั๊ก" จากคณะกรรมการพิจารณาศึกษาผลกระทบการบังคับใช้รัฐธรรมนูญที่มีนายบัญญัติเป็นประธาน ซึ่งไม่ฟันธงว่าจะแก้มาตราใดเลย

ส่วน "ชุมพล ศิลปอาชา" หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาถึงกับกัดฟันพูดว่า "หากสังคมไม่เอาด้วยก็จบ"

ยิ่งสถานการณ์ทวีความซับซ้อน ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญยิ่งน่าสนใจ

เนื่องจากรู้กันดีว่าที่นายกฯอภิสิทธิ์ออกมาโยนหินเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะถูกแกนนำพรรคร่วมที่นำโดย "เนวิน-บรรหาร" หักคอกลางวงประชุมลับที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 53

จึงไม่น่าแปลกใจที่ หลังจากนายกรัฐมนตรีโยนกลองเรื่องแก้กติกาออกมา จึงมีข่าวว่า 2 ผู้เฒ่าค่ายสะตอ "ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน" ไม่เห็นด้วยกับการกระทำครั้งนี้ นัยว่าเป็นการ "เปิดช่อง" ไว้ใส่เกียร์ถอยหลัง

เท่านั้นยังไม่พอ 8 อรหันต์ที่พรรคประชาธิปัตย์ ส่งไปนั่งในคณะกรรมการปรองดอง ต่างเป็นกระบี่มือหนึ่ง แม่นกฎหมายและพรรษาสูงทั้งนั้น

การันตีว่าหากพรรคร่วมจะขอตัดต่อพันธุกรรมรัฐธรรมนูญฉบับท็อปบู๊ตตามใจตัวคงไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก...!

นาทีนี้ แกนนำพรรคร่วมซึ่งหวังบีบให้รัฐบาล "อภิสิทธิ์" ปลดล็อคตัวเอง และหวังลึกๆ ว่าจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

จึงถูกพรรคประชาธิปัตย์ย้อนศรอย่างแสบสันต์ ที่ดันไปเดินตามเกมสภาที่พรรคประชาธิปัตย์ถนัดที่สุด

อย่างดีที่สุดก็อาจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่ 2-3 มาตรา ตามที่ "บัญญัติ" ร่ายไว้ตอนต้น

หรือถ้าพรรคประชาธิปัตย์เพลี่ยงพล้ำทนแรงบีบไม่ไหว ก็มีไม้ตายสุดด้วยส่งสัญญาณให้ "มหามิตร" ออกมากดดัน พร้อมอ้างว่า "สังคมไม่เอาด้วย"

ยิ่ง "อภิสิทธิ์" การันตีว่าไม่เคยมีเรื่องการแก้ไขมาตรา 237 อยู่ในข้อตกลงพลิกขั้ว

หลายคนจึงบอกให้จับตาว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้น่าจะถูกใช้เป็นเกมลากยาวอายุรัฐบาล

เพราะอย่าลืม "อภิสิทธิ์" เคยย้ำหลายครั้งว่า ต้องแก้กติกาก่อนค่อยยุบสภา!!!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์