ปชป.ยื่น5ข้อเสนอแก้ยางราคาตก

ปชป.ยื่น5ข้อเสนอแก้ยางราคาตก

อดีต ส.ส.ใต้ ปชป. รุกยื่นข้อ 5 ข้อเสนอแก้ปัญหายางราคาตก จี้รัฐบาลทำทันที 1 ต.ค.นี้ เชื่อหากทำได้ราคายางสูงขึ้นแน่

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยอดีต ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงข่าวก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหายางพารา เสนอผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายางพารา โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นวาระเร่งด่วน โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ซึ่งพรรคก็เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในหลายมาตรการ แต่ที่ผ่านมาราคายางยังไม่เพิ่มขึ้น และกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง ทั้งที่ปกติในช่วงฤดูฝนผลผลิตยางจะน้อย ราคายางจะสูง ตนและอดีต ส.ส.ภาคใต้ จึงได้หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นชอบร่วมกันในข้อเสนอ 5 มาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางไปยังรัฐบาล โดยมาตรการนี้รัฐบาลจะต้องเร่งทำทันทีที่ประกาศใช้งบประมาณปี 58 ในวันที่ 1 ต.ค.นี้

ด้าน นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วย
 
1.ต้องประกาศชัดเจนว่ายางพาราในสต๊อกของรัฐบาลจำนวน 2.1 แสนตัน จะไม่ขาย เพื่อให้ยางจำนวนนี้หายไปจากตลาด เพราะหากขายไปจะทำให้ราคายางที่ออกมาใหม่ตกต่ำ 

2.ควรมีมาตรการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการสร้างและซ่อมแซมถนน จำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ 

3.ควรมีนโยบายนำยางพารามาทำพื้นสนามกีฬาและอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่นทุกโรงเรียน
 
4.ให้นำยางพารามาใช้เป็นวัสดุกันกระเทือนเป็นหมอนรองรางรถไฟ ในโครงการรถไฟรางคู่

และ 5.ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพารา เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกยางพาราดิบออกนอกประเทศ แต่นำเข้าสินค้าที่ใช้ยางพาราผลิตจากต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งนี้หากทำได้ เชื่อว่าราคายางพาราจะสูงขึ้น

ขณะที่นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาด้านอุตสาหกรรมและการแปรรูปยางพารา
 
เพราะประเทศไทยส่งออกยางพารา จำนวน 85-90 เปอร์เซ็นต์ แต่ใช้ในประเทศเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ปัญหาผู้ประกอบการแปรรูป โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องเร่งพิจารณาคำขอของผู้ประกอบการในระดับต่างๆ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์