ปชป.ซัดปูดื้อตาใสช่วยแม้ว

ปชป.ซัดปูดื้อตาใสช่วยแม้ว


'ปชป.'ซัด'ปู'ดื้อตาใสช่วย'แม้ว'

'ปชป.' ชี้ 2 ปีที่ผ่านมา 'ปู' พยายามดิ้นรนช่วย 'แม้ว' เหน็บแกล้งดื้อตาใส บี้หยุด 'จำนำข้าว' เตรียมข้อมูลซักฟอก

27 ต.ค. 56 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทย เดินหน้านิรโทษกรรม เพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาตลอด ว่า นับตั้งแต่มีการเพิ่มข้อความในมาตรา 3 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ แต่นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย พยายามปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ไม่เป็นความจริง แต่เป็นการดื้อตาใส ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม เพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และนักการเมืองในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา และคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเฉพาะคดีทุจริตมี พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวกเข้าไปเกี่ยวข้องถึง 16 คดี มีบุคคลเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 75 คน

นายองอาจ กล่าวว่า การแก้ไขตามนายประยุทธ เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยสนับสนุนมาตลอด และนายกรัฐมนตรี เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน รวมถึงพรรคเพื่อไทยที่มีเป้าหมายมาตั้งแต่ต้นว่า จะดำเนินการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวก หลุดพ้นจากคดีอาญาและคดีทุจริตต่างๆ จะเห็นได้ว่าในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 54 ก็มีพฤติกรรมที่จะอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ในโอกาสวันที่ 5 ธ.ค. 54 โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไป จ.สิงห์บุรี ไม่ยอมกลับมาร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะพิจารณาเรื่องนี้ แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวเปิดเผยต่อสังคม ก็ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจนทำให้ ครม.ไม่กล้าฝ่าด่านความไม่เห็นด้วยของประชาชน แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสมรู้ร่วมคิดด้วยก็ตาม เพราะการอ้างว่าไม่สามารถกลับกรุงเทพฯ มาร่วมประชุมได้นั้น ทำให้ประชาชนหัวเราะทั้งประเทศ เพราะหากใช้เฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ ก็สามารถนั่งรถกลับได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง

นายองอาจ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะเชิด พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ให้เป็นประธานกรรมาธิการปรองดองฯ ของสภา ซึ่งเมื่อพิจารณาไปหางก็โผล่ว่า จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และนิรโทษกรรม โดยอ้างรายงานของสถาบันพระปกเกล้า ในทางที่ตัวเองได้ประโยชน์ แต่ในปี 55 เมื่อเรื่องนี้เข้าสู่สภา ก็เกิดความวุ่นวายอย่างมาก โดย พล.อ.สนธิ ถูก ส.ส.ล้อมกรอบ เพื่อให้ถอนรายงานดังกล่าวออกไป เมื่อการดำเนินการเรื่องนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐบาลก็เดินหน้าต่อในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อยกเลิกคดีความให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ก็ยังค้างอยู่ในสภา

นายองอาจ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะดำเนินการต่อ ด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยมีการเสนอหลายฉบับ ซึ่งล้วนแต่เป็น ส.ส.ของรัฐบาล โดยในขณะนั้นยังไม่พูดถึงฉบับของนายวรชัย แต่มีการพูดถึงร่างของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ฉบับสุดซอย แต่กระแสต่อต้านรุนแรง จึงลดกระแส แล้วหยิบเอากฎหมายฉบับของนายวรชัย มาพิจารณาแทน โดยเอาประชาชนมาบังหน้า แต่ไม่ยอมพิจารณาร่างของประชาชนที่นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดานางสาวกมนเกด ผู้ช่วยพยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์ปี 53

"และยังมีข่าวว่านายประยุทธ์ เดินทางไปรับใบสั่งจากต่างประเทศ ทั้งหมดจึงชี้ให้เห็นว่าทั้งนายกฯ รัฐบาล และแกนนำเพื่อไทย รู้เห็นเป็นใจกับขั้นตอนต่างๆ ที่จะร่วมด้วยช่วยเหลือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่ายบริวารไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งก่อการร้าย เผาเมือง และคดีทุจริต 16 คดี ที่มีคนเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 75 คนด้วย เป็นความพยายามของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล รวมทั้งแกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่จะทำทุกวิถีทางในการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้กลับบ้านโดยไม่มีความผิด ดังนั้นนายกรัฐมนตรีควรเลิกดื้อตาใส แต่ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องของรัฐสภา เพราะมีการดำเนินการทุกวิถีทางที่จะให้บรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้ โดยยืนยันชัดเจนว่าเดินหน้าแน่นอนไม่มีถอยหลัง"

นายองอาจ กล่าวต่ออีกว่า นายกฯ และรัฐบาลกำลังคิดถึงประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง มากกว่าบ้านเมือง เพราะหากคิดถึงประเทศ ก็ต้องคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่นายกฯ ไม่แสดงออกในการหาทางยุติ หรือยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น โดยใช้วิธีนิ่งเฉย ดื้อตาใส ทำตัวเหมือนตุ๊กตาไขลาน ปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นโดยไม่อินังขังขอบ ซึ่งไม่ใช่วิสัยของนายกรัฐมนตรีที่ดี ในขณะที่ภาคประชาชนมีการรวมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ นายกฯ จึงควรไตร่ตรองก่อนที่จะมีการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2 และ 3

นายองอาจ กล่าวว่า ตนยังเชื่อว่ากฎหมายไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการเพิ่มข้อความที่ไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผล ที่สภาให้ความเห็นชอบในวาระ 1 จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกมาบังคับใช้ เพราะยังมีอีกหลายประเด็น ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา รัฐบาลจึงควรพิจารณาเรื่องนี้

"ที่สำคัญ คือ การนิรโทษกรรมคนทุจริตคอร์รัปชั่น เท่ากับรัฐบาลกำลังสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชั่น ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีต้องหยุดพูด เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะเห็นด้วยกับการนิรโทษฯ ให้คนทุจริต เพราะการออกกฎหมายดังกล่าว คือ การช่วยเหลือคนทุจริตครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด หยุดพูดเรื่องการปราบปรามทุจริต เพราะคงไม่มีใครเชื่อถือ เหม็นขี้ฟันเปล่าๆ อีกทั้งเชื่อว่าคนในสังคมจะไม่ยอมรับการนิรโทษกรรม ให้กับคนทุจริตคอร์รัปชั่นได้ นายกฯ จึงไม่ควรสนับสนุนพฤติกรรมที่จะนิรโทษกรรมให้คนโกง จึงหวังว่านายกฯ จะตระหนักว่า ทุจริตเป็นมะเร็งร้ายของบ้านเมือง โดยไม่เข้าไปร่วมด้วยช่วยเหลือ เพื่อให้คนทุจริตลอยนวล แต่นายกฯ ควรจะวางเฉย จึงขอให้ประชาชนที่ต่อต้านการทุจริต แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคนทุจริต"

บี้หยุด 'จำนำข้าว' เตรียมข้อมูลซักฟอก

นายองอาจ แถลงถึงการลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ว่า จากการลงพื้นที่ดังกล่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวนาว่า ยังคงมีปัญหาการทุจริต และชาวนาไม่ได้รับเงินจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาทต่อตัน พรรคจึงขอเรียนว่าแม้รัฐบาลจะพยายามเปลี่ยนรัฐมนตรี และข้าราชการที่รับผิดชอบ แต่จากการสำรวจของพรรคทั้งในเชิงลึกและกว้าง การทุจริตยังเเหมือนเดิม มี 3 ขั้นตอน คือ 1. ขั้นตอนในการรับจำนำ ทุจริตความชื้น น้ำหนักข้าว ยังเกิดอย่างต่อเนื่อง และที่ร้ายที่สุดคือ การสวมสิทธิ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ยังดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

นายองอาจ กล่าวว่า 2. ขั้นตอนเก็บรักษาข้าว เริ่มตั้งแต่ค่าขนข้าว ค่าสีแปร ค่าตรวจคุณภาพข้าว ค่ารมควัน ค่าประกันภัยข้าว ซึ่งเท่ากับว่ายังมีการหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน ที่นำมาใช้ในโครงการจำนำข้าว 3. ขั้นตอนการระบายข้าว รัฐบาลพยายามบอกว่ามีการระบายข้าวแบบจีทูจีในหลายประเทศ แต่จากการตรวจสอบของพรรคในฤดูกาลที่ผ่านมา พบว่าการระบายข้าวแบบจีทูจีไม่เป็นความจริง มีการเล่นเแร่แปรธาตุตั้งนอมินีขึ้นมาหาประโยชน์จากการระบายข้าวดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศจีน

นายองอาจ กล่าวว่า การดำเนินการระบายข้าวในปัจจุบัน กระบวนการก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนตัวละครเท่านั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว เป็นกระบวนการทุจริตการจำนำข้าว ที่ยังคงอยู่ แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนรัฐมนตรี และข้าราชการแล้วก็ตาม จึงขอเรียกร้องไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ต้องเร่งหาวิธีการสกัดกั้นวิธิการทุจริตที่เกิดขึ้น หากนายกฯ ไม่เร่งแก้ปัญหาในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ จะได้ยินกับหู และเห็นกับตาตัวเอง ว่าสิ่งที่ตนพูดเกี่ยวกับกระบวนการทุจริตว่ายังมีอยู่จริงหรือไม่ ตนไม่อยากให้บ้านเมืองเสียหายมากไปกว่านี้ นายกฯ จึงต้องเร่งสำรวจตรวจสอบ เพื่อระงับยับยั้งการทุจริตจำนำข้าวที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์