ปชป.ซัดปูจนตรอก-ยุบสภา!

ปชป.ซัดปูจนตรอก-ยุบสภา!



'ปชป.' จี้ 'ยิ่งลักษณ์-รบ.' ทบทวนท่าที รับผิดชอบ 'การเมือง' 

หลังตัดสินใจพลาดทำปท.เข้าสู่วิกฤติ โยน 'กก.บห.ชุดใหม่' ตัดสินใจลงสนามลต. 2 ก.พ.หรือไม่
 
15 ธ.ค. 56  นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธาน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงความพยายามจากหลายฝ่าย ในการหาทางออกให้กับประเทศจากปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ด้วยการปฏิรูปประเทศไทย ว่า การปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งทั้ง 3 ด้านนี้ บางเรื่องอาจจะใช้เวลาไม่นาน แต่บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริง

  นายองอาจ กล่าวว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาการเมือง จึงจำเป็นต้องรีบดำเนินการ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ โดยจะต้องปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อให้การเข้าสู่อำนาจรัฐ เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคม

 นายองอาจ กล่าวว่า มีการปฏิรูปการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้การใช้อำนาจรัฐเป็นไปอย่างมีคุณธรรม ปราศจากการทุจริต คอร์รัปชั่น และใช้อำนาจรัฐเพื่อการพัฒนาประเทศชาติโดยรวม มากกว่าใช้เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว และต้องมีการปฏิรูปการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม รวดเร็ว เชื่อถือได้ ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายบนพื้นฐานของนิติธรรม เพราะฉะนั้น การปฏิรูปการเมือง จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจ และสังคม

 นายองอาจ กล่าวว่า ความพยายามที่จะเดินหน้าปฏิรูปการเมืองยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะจากรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาลซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ ได้ใช้วิธีการในการยุบสภา และการเลือกตั้ง มาเป็นเครื่องมือในการฟอกขาวให้รัฐบาล มากกว่าจะใช้อำนาจรัฐที่มี นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และด้านอื่นๆ ตามมา ดังนั้นการที่นายกฯ ทำเช่นนี้ จึงไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาของประเทศ หรือยุติวิกฤตการเมืองในปัจจุบัน ตราบใดที่กระบวนการการเข้าสู่อำนาจรัฐ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่ต้องเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนหนึ่ง หากเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งต่อไป จะไม่ใช่วิธีการยุติวิกฤตการเมืองได้

  "แค่เริ่มต้นกระบวนการการเลือกตั้ง ก็เห็นถึงความขัดแย้งที่จะเพิ่มมากขึ้นแล้ว จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า ถ้าการเลือกตั้งยังเดินหน้าต่อไป กระบวนการของการเลือกตั้งนับจากนี้ไป จะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นปกติ เกิดปัญหา มีความปั่นป่วนวุ่นวายเกิดขึ้น จนอาจจะไม่สามารถดำเนินการไปจนถึงวันเลือกตั้งได้ เพราะฉะนั้นการปล่อยให้เกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้ โดยไม่ยับยั้ง แต่เดินหน้าต่อ จะสร้างปัญหามากกว่าที่จะทำให้ปัญหาทุเลาเบาบางลง เพราะนายกฯ และรัฐบาล ก็เห็นอยู่แล้วว่า การดันทุรังในสิ่งที่เกิดปัญหาไม่สามารถดันทะลุซอยได้ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือความพยายามในด้านอื่นๆ ที่จะใช้อำนาจรัฐอย่างไม่ชอบธรรม ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ"

นายองอาจ กล่าวว่า ดังนั้นวันนี้รัฐบาลที่มีอำนาจรัฐในมือ มีส่วนที่จะช่วยแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองได้ ข้อเสนอจากนักวิชาการไม่สามารถบรรลุผลได้ ถ้านายกรัฐมนตรีไม่เสียสละบางส่วน ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจรัฐ บุคคลอื่นที่เสนอข้อเรียกร้องล้วนไม่มีอำนาจในมือ เมื่อนายกฯ มีอำนาจ และสามารถแก้วิกฤตการเมืองได้ จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนท่าที และบทบาทของนายกฯ และรัฐบาล ให้เป็นบทบาท และท่าทีในการแก้วิกฤตมากกว่า ที่จะคงรักษาบทบาทที่จะเพิ่มวิกฤตให้บ้านเมือง

  "นายกฯ ต้องคำนึงตลอดเวลาว่า สิ่งที่นายกฯ พยายามอ้างว่าการดำเนินการของนายกฯ หรือรัฐบาล เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ผมคิดว่าไม่เพียงพอต่อการแก้วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้ แต่ต้องคำนึงถึงความชอบธรรมด้วย เพราะความชอบด้วยกฎหมายต้องควบคู่ไปกับความชอบธรรม จึงจะแก้วิกฤตบ้านเมืองได้ จึงขอให้นายกฯ พิจารณาอย่างจริงจัง เพราะเวลาเหลือน้อยเต็มที ยิ่งตัดสินใจช้า ยิ่งเพิ่มปัญหาให้ชาติบ้านเมือง และขอเรียกร้องไปยังนายกฯ ว่านับจากเกิดวิกฤตการเมือง ตั้งแต่ล้างผิดคนโกงมาจนถึงวันนี้ ยังไม่เห็นนายกฯ และรัฐบาลรับผิดชอบ"

 นายองอาจ กล่าวว่า ส่วนการยุบสภา ไม่ใช่การแสดงความรับผิดชอบ แต่เป็นเพราะจนตรอกต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ความรับผิดชอบในการตัดสินใจที่ผิดพลาดในเรื่องดำเนินการแก้กฎหมายนิรโทษกรรม ความพยายามแก้รัฐธรรมนูญที่มาส.ว. เป็นการดำเนินการที่ผิดพลาด ส่งผลกระทบต่อชาติบ้านเมือง แต่ปรากฏว่านายกฯ กับรัฐบาล ไม่แสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อจนตรอกก็แก้ปัญหาด้วยการยุบสภา

 นายองอาจ กล่าวว่า นายกฯ ทราบดีว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตราบใดที่การยุบสภายังไม่ได้เป็นการยุบสภาและเลือกตั้ง ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในบ้านเมือง ไม่มีใครปฏิเสธการเลือกตั้งที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการประชาธิปไตย แต่ที่คนส่วนหนึ่งปฏิเสธ เป็นเพราะเห็นว่าการเลือกตั้งอยู่บนพื้นฐานฉ้อฉล ไม่บริสุทธิ์ ไม่ยุติธรรม จึงไม่ยอมรับวิธีการนี้
 
 
โยน 'กก.บห.ชุดใหม่' ตัดสินใจลงสนามลต.หรือไม่
 
 นายองอาจ กล่าวถึงการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี ในวันที่ 17 ธ.ค.จะมีการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับพรรค เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปพรรค และจากการมีข้อบังคับพรรคใหม่ จะทำให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวมทั้งกรรมการอีก 3 คณะ คือ คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครเลือกตั้ง คณะกรรมการนโยบายพรรค และคณะกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรค

 นายองอาจ กล่าวว่า กระบวนการการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค จะเริ่มจากการเลือกหัวหน้าพรรค โดยการเสนอชื่อจากที่ประชุม มีผู้รับรองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของผู้ที่อยู่ในที่ประชุม จากนั้นจะมีการลงคะแนนเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งชุดที่ 2 คือ รองหัวหน้าพรรค 5 คน จากการเสนอชื่อของหัวหน้าพรรคให้ที่ประชุมเลือก ถ้าเสนอมากกว่า 5 คน ก็เลือกให้เหลือ 5 คน และที่ประชุมจะมีการเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสม เป็นรองหัวหน้าพรรคในแต่ละภาคทั้ง 5 ภาค เพื่อให้มีการเลือกตั้งต่อไป จากนั้นหัวหน้าพรรคจะเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมเป็นเลขาธิการพรรคต่อที่ประชุม

 นายองอาจ กล่าวว่า สำหรับในช่วงบ่ายจะเป็นการเลือกตั้ง รองเลขาธิการพรรค ซึ่งเลขาธิการพรรคที่ได้รับเลือกเป็นผู้เสนอให้ที่ประชุมเลือก 3 คน ส่วนเหรัญญิก นายทะเบียนพรรค และโฆษกพรรคนั้น หัวหน้าพรรคจะเป็นผู้เสนอต่อที่ประชุม จากนั้นที่ประชุมจะเสนอกรรมการบริหารพรรค 7 คน รวมมีกรรมการบริหารพรรค 25 คน ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินการของพรรค ก่อนที่จะเลือกตั้งกรรมการ 3 คณะ คือคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครเลือกตั้ง คณะกรรมการนโยบายพรรคและคณะกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรค

 "เราหวังว่ากรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะช่วยให้พรรคเป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรืองได้ต่อไป ส่วนจะมีการตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 57 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่จะเป็นผู้พิจารณา และหลังจากที่มีการยุบสภาแล้ว ก็มั่นใจว่าการเปลี่ยน ส.ส.ทั้งเข้า และออกของพรรค ไม่ได้มีจำนวนมากนัก"

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์