บิ๊กแอ้ดเผยเหตุปรับระบบตำรวจ ปชช.ร้องเรียนมามีการละเมิดสิทธิใช้อำนาจเกินเลย

บิ๊กแอ้ดเผยเหตุปรับระบบตำรวจ ปชช.ร้องเรียนมามีการละเมิดสิทธิใช้อำนาจเกินเลย

 

“บิ๊กแอ้ด” แจงเหตุปรับใครสร้างตำรวจ มาจากการร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม-ละเมิดสิทธิ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมรับหนักใจที่ตำแหน่ง "นายกฯ" ต้องดูทุกเรื่อง ทั้งลงโทษ บำเหน็จบำนาญ ตั้งแต่สัญญาบัตรยันชั้นประทวน ชี้ ควรดูแค่ภาพรวมมากกว่า ยันทำให้องค์กรเล็ก นำเทคโนโลยีมาช่วย ผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้น ด้าน "อลงกรณ์" เสนอรัฐบาล 4 ด้าน พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็น ก่อนปรับโครงสร้างตำรวจ เชื่อปฏิรูปไม่เสร็จในรัฐบาลชุดนี้ ยันสางได้แน่หากได้เป็นรัฐบาลสมัยหน้า

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่พูดได้ว่ามีพี่น้องประชาชนทางภาคใต้พูดถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาได้รับ เพราะว่าตำรวจถือเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ในเรื่องการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน จับกุม ที่ผ่านมามีการพูดกันในเรื่องของการทำงานในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชน เรามีตัวเลขอยู่ประมาณ 2,000 กว่าคน ไม่ว่าจะเรื่องของการปราบปรามยาเสพติด หรือการใช้อำนาจที่เกินเลย ซึ่งถ้ามีการปรับโครงสร้างแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะจะเป็นลักษณะของการกระจายอำนาจลงไป และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานมากขึ้น

"ผมหนักใจอยู่อย่างหนึ่ง ผมพูดตรง ๆ ว่า เมื่อมาอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีจะต้องเซ็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ซึ่งอาจจะถูกลงโทษหรืออาจจะต้องดูในเรื่องของบำเหน็จบำนาญต่าง ๆ นายก รัฐมนตรีต้องเป็นคนเซ็น ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ในด้านของการบริหาร นายกรัฐมนตรีควรจะดูในภาพรวม หรือมหภาค และมีผู้รับผิดชอบในการดูแลต่อไป ส่วนจะไปสังกัดกระทรวงยุติธรรมหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน คงต้องหารือกัน แต่ต้องการให้ศึกษาเปรียบเทียบว่า ประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว ระบบตำรวจเป็นอย่างไร

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า การปรับโครง สร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนที่จะเกิดประโยชน์คือ เรื่องการทำงานระดับสถานีตำรวจ ซึ่งจะเน้นเรื่องการดูแลข้าราชการชั้นผู้น้อย ตำรวจชั้นประทวนจะได้รับการดูแลมากขึ้น เราต้องการคนที่มีคุณภาพ จำนวนไม่มากนัก ซึ่งการวางระบบนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน ถ้าเรามีอาสาป้องกันฝ่ายพลเรือน มียามจากบริษัทในกรุงเทพฯ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากหากระดมสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการป้องกันฝ่ายพลเรือนร่วมกับตำรวจ และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปมีส่วนร่วม จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อองค์กรเล็กลงการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะทำให้ได้รับผลตอบแทนด้านสวัสดิการมากขึ้น

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการปฏิรูปโครงสร้างระบบตำรวจ ว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นแนวทางสำคัญในการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งต้องคำนึงถึง 4 แนวทาง ได้แก่ 1.แนวทางปฏิรูปโครงสร้างการบริหารและระบบงบประมาณ 2.แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและระบบถ่วงดุล ตรวจสอบ 3.แนวทางปฏิรูปวัฒน ธรรมองค์กร 4.แนวทางปฏิรูปการบริหารงานบุคคลโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับตำรวจชั้นประทวน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ และลดอาชญากรรมทุกรูปแบบ

"ตำรวจ 2.4 แสนนาย กำลังวิตกกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และการอำนวยความยุติธรรม ต่อประชาชน และควรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในฐานะที่ตำรวจทำงานใกล้ชิดกับประชาชนและชุมชน ถือเป็นต้นน้ำของ กระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่ากระบวนการตรากฎหมายและขั้นตอนการปฏิรูประบบตำรวจจะไม่แล้วเสร็จในรัฐบาลปัจจุบัน แต่จะเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์จะถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ หากได้เข้าบริหารประเทศ เพราะการปฏิรูปตำรวจควรทำอย่างรอบคอบและให้แล้วเสร็จในครั้งเดียว ไม่ใช่ปรับไปปรับมา จะกระทบต่อขวัญกำลังใจของตำรวจ" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์