บัวแก้วแจงการฟ้องร้องศาลโลกของกัมพูชา ชี้ไม่ใช่คดีใหม่

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศเผยแพร่เรื่อง "เหตุผลและความจำเป็นที่ไทยต้องไปศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก)

ในคดีปราสาทพระวิหาร (อีกครั้ง)" ระบุว่า ด้วยเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 ตามบทบัญญัติของข้อ 60 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และกัมพูชาได้ยื่นคำขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ตามข้อ 41 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศด้วย
 
เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชนไทย กระทรวงการต่างประเทศจึงขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับการมีคำขอให้ศาลฯตีความคำพิพากษาและขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของกัมพูชาดังกล่าว ดังต่อไปนี้
 
การยื่นคำขอของฝ่ายกัมพูชาให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาฯ เป็นการใช้สิทธิตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งบัญญัติว่า

"คำพิพากษาของศาลฯถือเป็นที่สุดและไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาศาลฯจะต้องตีความตามคำขอของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"
 
การมีคำขอให้ศาลฯตีความในครั้งนี้ เป็นกรณีที่กัมพูชาอ้างว่า
 
ไทยและกัมพูชามีข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิพากษาไว้เมื่อปี 2505 กัมพูชาในฐานะคู่กรณีฝ่ายหนึ่งในคดีดังกล่าว จึงใช้สิทธิตามข้อบทนี้ ขอให้ศาลฯตีความในส่วนที่เกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษาที่ศาลฯได้เคยพิพากษาไว้แล้วว่า "ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา"
 
ประเด็นที่กัมพูชาขอให้ศาลฯตีความ คือ กัมพูชาขอให้ศาลฯตัดสินว่า พันธกรณีของไทยที่จะต้อง "ถอนกำลังทหารหรือตำรวจ หรือผู้รักษาการณ์ หรือผู้ดูแลอื่นๆ ที่ประเทศไทยได้วางไว้ที่ปราสาท หรือในพื้นที่ใกล้เคียงในดินแดนของกัมพูชา" เป็นผลมาจากพันธกรณีทั่วไปของไทย ที่จะต้องเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนกัมพูชา ซึ่งดินแดนนั้นถูกกำหนดขอบเขตในบริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียง โดยเส้นของแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งศาลฯใช้เป็นพื้นฐานของคำตัดสิน
 
กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนว่า การมีคำขอให้ศาลฯตีความตามข้อบทนี้ มิใช่เป็นการฟ้องคดีข้อพิพาทคดีใหม่
 
ทั้งนี้ การขอให้ศาลฯตีความจะกระทำภายในระยะเวลาเท่าใดก็ได้ เพราะธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมิได้ระบุว่า คำขอตีความจะต้องกระทำภายในระยะเวลาเท่าใด อีกคำถามหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคำขอของฝ่ายกัมพูชาในเรื่องนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยมิได้ยอมรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว ประเทศไทยจะต้องไปต่อสู้คดีในเรื่องนี้อีกหรือไม่ กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนชี้แจงว่า โดยที่คำขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำพิพากษาเดิมตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลฯ มิใช่เป็นการฟ้องคดีใหม่ แต่เป็นคำขอที่อยู่ในกรอบของคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นคดีที่ไทยและกัมพูชาได้ยอมรับเขตอำนาจศาลฯในคดีดังกล่าวไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อกัมพูชายื่นคำขอต่อศาลฯขอตีความคำพิพากษาดังกล่าว ประเทศไทยจะปฏิเสธไม่ไปโต้แย้งคำขอของกัมพูชาที่ศาลฯก็สามารถทำได้ แต่จะเป็นผลให้ศาลฯสามารถพิจารณาบนพื้นฐานของคำขอ คำให้การ และเอกสารประกอบของฝ่ายกัมพูชาฝ่ายเดียวได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 53 ของธรรมนูญศาลฯ โดยศาลฯไม่มีโอกาสรับรู้ รับทราบและพิจารณาข้อโต้แย้งหลักฐานและเหตุผลต่างๆ ของฝ่ายไทย อันอาจเป็นผลให้คำวินิจฉัยตีความของศาลฯเป็นคุณแก่ฝ่ายกัมพูชาและส่งผลเสียกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงว่า คำวินิจฉัยของศาลฯในเรื่องนี้จะมีผลผูกพันคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตามข้อ 59 ของธรรมนูญศาลฯ
 
กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำว่า ในการที่ไทยจะไปต่อสู้คดีในศาลฯครั้งนี้ มิใช่การยอมรับเขตอำนาจศาลฯใหม่ แต่เป็นเรื่องของการตีความคำพิพากษาเก่าที่ผูกพันทั้งไทยและกัมพูชา


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์