บัวแก้วขู่เลิกช่วยเขมร1.4พันล.สุเทพ เหลืออด ปชป.ซัดแม้วตื๊อขอสัมปทาน ทหารเตรียมแผนอพยพคนไทย

บัวแก้วขู่เลิกช่วยเขมร1.4พันล."สุเทพ" เหลืออด ปชป.ซัด"แม้ว"ตื๊อขอสัมปทาน ทหารเตรียมแผนอพยพคนไทย

รบ.กดดันต่อขู่เลิกช่วยเขมร 1.4 พันล้าน สัปดาห์หน้ารู้ดองโครงการใดบ้าง "อภิสิทธิ์"ยังหวังกลไกทวิภาคีแก้ปัญหา "สุเทพ"อ้างเหลืออด สงสัยเป็นแผนการของ"แม้ว" ปชป.จี้รื้อข้อตกลงทั้งหมด ไม่ให้นำมาเป็นข้ออ้างไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนอีก กล่าวหา"แม้ว"ตื๊อขอสัมปทาน ชทพ.จี้อดีตนายกฯถอนตัวจากกุนซือ "หน่วยมั่นคง"เตรียมแผนอพยพ มีจุดนัดพบลับ พาคนไทยกลับปท.


รบ.กดดัน-ขู่เลิกช่วยเขมร 1.4พันล้าน


นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ถึงปัญหาความร้าวฉานระหว่างไทยกับกัมพูชา ภายหลังไทยเรียกทูตประจำกัมพูชากลับประเทศ เนื่องจากไม่พอใจกรณีสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาล  และที่ปรึกษาส่วนตัวฮุนเซน ขณะที่ทางกัมพูชาก็ได้เรียกทูตประจำประเทศไทยกลับเพื่อเป็นการตอบโต้เช่นกันว่า กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) ต้องยืนยันการดำเนินการ 3 ข้อ คือ
1.การเรียกทูตไทยกลับมา
2.การทบทวนพันธกรณีข้อตกลงต่างๆที่ดำเนินการอยู่
3.การทบทวนความร่วมมือต่างๆในอนาคต ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่รัฐบาลไทยจะให้การช่วยเหลือรัฐบาลกัมพูชาต่อ อาทิ โครงการก่อสร้างถนนสาย 48 มูลค่า 1.4 พันล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติกรอบการก่อสร้างไปแล้ว


สัปดาห์หน้าคงทราบว่าจะสามารถชะลอข้อตกลงใดได้บ้าง  รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพิจารณาตัดสัมพันธ์กับทางรัฐบาลกัมพูชา นับแต่เกิดเหตุเกิดที่ประชุมอาเซียนซัมมิต และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าขอให้คิดให้ดีว่าจะแลกผลประโยชน์ของชาติกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล แต่เมื่อเกิดกรณีนี้เป็นครั้งที่สอง รัฐบาลไทยจึงต้องมีท่าทีที่ชัดเจน ทั้งนี้เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ทำให้เกิดการปะทะกันบริเวณชายแดน เพราะไม่ใช่การขัดกันของผลประโยชน์สองชาติหรือประชาชนสองชาติทะเลาะกัน แต่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ส่วนตัวเชื่อว่าชาวกัมพูชาจะไม่ยอมเสียสละผลประโยชน์ความเจริญของตัวเองเพื่อแลกกับประโยชน์ของคนเพียงคนเดียว


เลิกคำสั่งตั้งเป็น"กุนซือ"เรื่องก็ไม่จบ
 

“เรื่องนี้มีโจทก์อยู่เพียง 2 เรื่อง 1.การตั้งแต่ตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฮุน เซน และที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา และ2. มองข้ามกระบวนการยุติธรรมไทยโดยการยืนยันว่าจะไม่ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ร้ายข้ามแดน โจทก์ทั้ง 2 เรื่องนี้ ทำให้ความไทยเกิดความรู้สึกไม่ได้ ดังนั้นไม่ใช่ว่าเมื่อรัฐบาลกัมพูชายกเลิกการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาแล้วปัญหาจะยุติ เพียงการมาตรการใดที่บรรเทาเรื่องนี้ และทำให้คนไทยกลับมารู้สึกดีต่อกัมพูชาในฐานะเพื่อนบ้าน ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีŽ นายชวนนท์กล่าว


ส่วนกรณีที่รัฐบาลกัมพูชาเรียกทูตตัวเองกลับประเทศ นายชวนนท์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติ เมื่อไทยเรียกทูตตัวเองกลับเขาก็ต้องเรียกกลับบ้าง ยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องให้ประเทศที่สามไกล่เกลี่ย แต่เป็นเรื่องทวิภาคระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังทบทวนข้อตกลงต่างๆ เพราะได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าการที่สมเด็จฮุน เซน มีท่าทีอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง อาจจะมีข้อตกลงบางอย่างที่มีที่มาไม่ชัดเจน ซึ่งทำไว้สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ หากข้อตกลงใดมีที่มาไม่ชอบมาพากลก็ต้องกำจัดให้หมด เพราะถ้ายังค้างอยู่สักวันก็ต้องเกิดปัญหาเช่นนี้อีก คงไม่ชะลอการพิจารณาเอกสารผลการประชุมคณะกรรมาธิการปักปันเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ที่จะเข้าสู่การที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาให้กับประชาชน หากเลื่อนออกไปเท่ากับเลื่อนการแก้ปัญหาออกไป


ขอตำรวจเขมรช่วยคุมเข้มสถานทูต


ผู้สื่อข่าวถาม นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กังวลว่าจะเกิดการปิดชายแดนหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า เป็นทางเลือกของทางกัมพูชา แต่ไทยจะเลือกทำเฉพาะมาตรการที่เหมาะสม ดังนั้นถ้าเรื่องนี้จะบานปลายก็ไม่ใช่รัฐบาลไทยกำหนด ซึ่งหากไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาแทรกเพิ่มอีกก็ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติม หากเรื่องยังคาอยู่เช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องยกระดับความรุนแรง
 

“ช่องทางเจรจายังเปิดอยู่ สถานทูตไทยในกัมพูชาก็ยังเปิดอยู่ เพียงแต่เบอร์หนึ่งทั้ง 2 ประเทศไม่อยู่เท่านั้นเอง การเจรจายังทำได้ผ่านสถานทูตหรือกระทรวงต่างประเทศได้โดยตรง ส่วนการเจรจาระดับผู้นำต้องรอความชัดเจนหลังนายกฯเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง” นายชวนนท์ กล่าว
 

นายชวนนท์กล่าวว่า เชื่อว่าต่างชาติจะเข้าใจแนวทางที่ไทยทำอยู่เพราะปัญหานี้มีพัฒนาการมาพอสมควร และขณะนี้ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือแจงไปตามสถานทูตต่างๆ ส่วนการอพยพคนไทยออกจากกัมพูชาขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น แต่ได้กำชับให้สถานทูตติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามได้มีการประสานกับทางตำรวจกัมพูชา เพื่อขอให้ส่งกำลังมาดูแลสถานทูตไทยด้วย เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเหตุการณ์เผาสถานทูตเหมือนปี 2546


อ้างรบ.หลายประเทศเข้าใจ"ไทย"


ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โจมตีว่ารัฐบาลไทยโอเวอร์รีแอ็ค นายชวนนท์ กล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องทบทวนว่ามาตรการต่างๆที่พ.ต.ท.ทักษิณทำกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วทำให้มีปัญหา พ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่มีสิทธิมาวิจารณ์ การตอบโต้ครั้งนี้เกิดการอดกลั้นมาแล้ว 1 ครั้ง แต่พอมาถึงครั้งนี้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องปกป้องศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของประเทศ คงไม่มีประเทศไหนที่ยอมให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นกับประเทศได้
 

“เรื่องนี้อาจทำให้ใครที่คิดจะทำอะไรกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือใครที่คิดจะเดินสายชักศึกเข้าบ้านจะต้องคิดให้หนัก เรารักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องรักษาศักดิ์ศรีของประเทศเช่นเดียวกัน รัฐบาลเพื่อนบ้านของเราหลายประเทศก็เข้าใจและเขาก็มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกัน คงไม่ปล่อยให้ประเทศของเขาถูกชักนำหรือจูงใจให้มีปัญหาได้” นายชวนนท์ กล่าว


"มาร์ค"ไม่มีนัดพบฮุนเซนที่ญี่ปุ่น


 เว็บไซต์สำนักข่าวไทย (news.mcot.net) รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเลี่ยงที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยให้สัมภาษณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ระหว่างเตรียมเข้าประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 และได้มีโอกาสพบกับนายกฯกัมพูชา ในงานที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น และสภาหอการค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การมาประชุมครั้งนี้ไม่มีกำหนดการพบหารือกับสมเด็จฮุน เซน อยู่แล้ว และเมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวกับสมเด็จฮุน เซน นายกฯ กล่าวเพียงว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ของภูมิภาค


ขอใช้กลไกทวิภาคีแก้ปัญหา


 ช่วงบ่าย เวลา 15.33 น. เว็บไซต์สำนักข่าวไทย รายงานอีกครั้งว่า หลังงานเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำลุ่มน้ำโขง ที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ร่วมงานเลี้ยงดังกล่าวด้วย  นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า “ผมคิดว่ารัฐบาลและคนไทยได้แสดงออกบนความอดทนอดกลั้นพอสมควร เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับทวิภาคี ทั้ง 2 ประเทศต้องแก้ปัญหากัน แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากรัฐบาลไทย ดังนั้นจึงอยู่ที่กัมพูชาจะต้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องให้เวลากัมพูชาระยะหนึ่ง เพราะเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้น”
 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การปรับลดระดับความสัมพันธ์มีกลไกอยู่ขณะนี้ ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมการไว้แล้ว รัฐบาลจะพิจารณาตามความเหมาะสมว่าเรื่องใดควรเดินช้า หรือเดินเร็ว รัฐบาลไทยยังคงยืนยันว่าจะดำเนินการโดยไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเข้าใจดี จะไม่ให้กระทบกับผลประโยชน์ของคนไทย ขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ได้ชี้แจงสถานการณ์ให้คนไทยที่ทำธุรกิจในกัมพูชาทราบถึงสถานการณ์แล้ว  เมื่อถามว่า หากกัมพูชาไม่ตอบสนอง จะดำเนินการอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้แสดงออกในระดับหนึ่งแล้ว และจะพิจารณาตามสถานการณ์ต่อไป


"สุเทพ"อ้างเหลืออดจำต้องตอบโต้


 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง  รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาฝ่ายไทยพยายามใช้ความอดทนมาตลอด แต่เมื่อเห็นแถลงการณ์ของทางการกัมพูชาก็ชัดเจนว่าเป็นการก้าวล่วงต่อกิจการภายในของไทย โดยเฉพาะท่าทีเรื่องการไม่ส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณให้ทางการไทย โดยให้เหตุผลว่าถูกเล่นงานทางการเมือง ทั้งที่ได้เคยชี้แจงเรื่องนี้ต่อสมเด็จฮุนเซน ตั้งแต่ต้นแล้วว่าพ.ต.ท. ทักษิณหนีคดีอาญา จึงจำเป็นที่ไทยต้องตอบโต้ทางการทูต ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี ไม่มีความประสงค์จะทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านมีปัญหา แต่เมื่อรัฐบาลกัมพูชาทำขนาดนี้ ก็เป็นความจำเป็น ส่วนการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาจะยืดเยื้อแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับฝ่ายกัมพูชาว่าจะคิดได้หรือไม่
 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ล่าสุดทางการกัมพูชาได้เรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับประเทศไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าจะไม่มีการปรับท่าทีหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า  ต้องรอดูกันต่อไป ถ้าไม่ฟังก็มีปัญหา ฝ่ายความมั่นคงจะระมัดระวังไม่ให้การปรับลดความสัมพันธ์ทางการทูต มีผลต่อการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดน จนขณะนี้ยังไม่พบปัญหาอะไร ส่วนกองกำลังทหารกัมพูชาที่ตรึงชายแดนอยู่ก็เป็นกองกำลังเดิม  ทั้งนี้ได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปคอยอารักขาสถานทูตกัมพูชาในประเทศไทยเป็นพิเศษ อีกทั้งยังได้โทรศัพท์พูดคุยกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ฟัง และฝากให้นำความไปแจ้งสมเด็จฮุนเซ็นว่าสิ่งที่รัฐบาลกัมพูชาทำกระทบต่อความรู้สึกและจิตใจของคนไทย แต่จะให้ความคุ้มครองนักการทูตที่อยู่ในไทยอย่างดีที่สุด


สงสัยเป็นแผนการของ"ทักษิณ"


เมื่อถามว่า เป็นห่วงสถานทูตไทยในกัมพูชาหรือไม่ เพราะเคยเกิดเหตุถูกลอบวางเพลิงมาแล้ว นายสุเทพกล่าวว่า “เป็นเรื่องรัฐบาลกัมพูชาจะต้องดูแล ความจริงทั้งหมดเป็นเรื่องของดร.ทักษิณที่อาจจะคิดใช้รัฐบาลกัมพูชา ใช้สถานที่ในกัมพูชาเป็นฐานปฏิบัติการในทางการเมือง จึงคิดว่าดร. ทักษิณควรรู้จักที่จะพูดจาบอกกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชาได้ช่วยดูแลกิจการ ทรัพย์สิน และสถานทูตไทยในกัมพูชาด้วย”
 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายวิจารณ์แง่ร้าย พ.ต.ท. ทักษิณต้องการให้รัฐบาลรบกับเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นการเดิมตามเกมพ.ต.ท. ทักษิณหรือไม่  นายสุเทพกล่าวว่า มีหลายฝ่ายหลายคนให้ความเห็น เช่นนี้ว่าทั้งหมดนี้สงสัยจะเป็นแผนการของพ.ต.ท. ทักษิณ ที่ต้องการทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีปัญหารุนแรงขึ้น แต่คิดว่าพ.ต.ท. ทักษิณก็เคยเป็นนายกฯ น่าจะมีความรู้ผิดชอบชั่วดี ไม่ทำร้ายประเทศไทยเช่นนั้น  ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พ.ต.ท. ทักษิณวิจารณ์ว่ารัฐบาลโอเวอร์รีแอ็ค นายสุเทพกล่าวว่า พ.ต.ท. ทักษิณไม่ควรเอาประเทศชาติมาทำเหมือนเป็นของเล่น เหมือนต้องการช่วงชิงอำนาจ ยังใช้วิธีการอื่นได้ตั้งเยอะแยะ  ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะนำตัวพ.ต.ท. ทักษิณกลับมาดำเนินคดีในไทย นายสุเทพกล่าวว่า “ก็ต้องดูกันต่อไปครับ ผมคิดว่าอาจจะมีคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายประกอบด้วย อัยการสูงสุด ตำรวจ และกระทรวงการต่างประเทศ มาทำงานเป็นทีมติดตามกรณีการจัดส่งผู้ร้ายข้ามแดน” เมื่อถามว่า คิดจะพูดคุยกับพ.ต.ท. ทักษิณบ้างหรือไม่ นายสุเทพได้แต่ส่ายหน้า


ถกฝ่ายมั่นคงประเมินสถานการณ์
 

เมื่อถามว่า ถึงตอนนึ้คิดว่าจำเป็นต้องเลิกคบกบสมเด็จฮุนเซนหรือยัง นายสุเทพกล่าวว่า ยัง ผมมีหน้าที่เจรจา ถ้าไปเลิกคบ ไปตัดสะพานแล้วจะเอาทางไหนเดินล่ะŽ เมื่อถามว่า จะเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคงเพื่อประเมินสถานการณ์ หลังการออกมาตรการตอบโต้ทางการกัมพูชาหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า จะพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงเพื่อเตรียมการทุกอย่าง ก่อนนายกฯ จะเดินทางไปร่วมประชุมกลุ่มประเทศกลุ่มน้ำโขงที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มอบหมายให้ตนปรึกษากับฝ่ายความมั่นคง เพื่อดูแลไม่ให้สถานการณ์ชายแดนเกิดความฉุกเฉิน เพราะเป็นห่วงว่าประชาชนจะตื่นตระหนกตกใจ
 

ส่วนที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา อาจนำมาสู่การยื่นมือเข้ามาจัดการปัญหาของกลุ่มอาเซียนนั้น นายสุเทพกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ 2 ประเทศ ซึ่งต้องพยายามหาทางออกให้ได้ ซึ่งนายกฯ อาจมีโอกาสพูดคุยกับสมเด็จฮุนเซนในระหว่างประชุมประเทศกลุ่มน้ำโขงที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ตามกำหนดการจะไม่มีกำหนดหารือทวิภาคีระหว่างนายก 2 ประเทศ แต่เมื่อไทยแสดงปฏิกิริยาไปเช่นนี้ หากกัมพูชาเห็นว่าควรคุยกันก็น่าจะได้คุยกัน
 

นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่เข้าใจไทย เมื่อคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน มีโอกาสไปต้อนรับนายกฯ พม่าและลาว ทั้ง 2 ประเทศก็ได้แสดงความเข้าใจหลังได้อธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้ฟัง 


ขู่หากยังกร้าวเจอปิดชายแดน


"ผมได้เรียนนายกฯ พม่าและลาวว่าความจริงหลายฝ่ายเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ไม่ไปประชุมกลุ่มประเทศกลุ่มน้ำโขง เพราะมีสมเด็จฮุนเซนอยู่ด้วย แต่นายกฯ อธิบายว่าการประชุมดังกล่าวมีหลายประเทศ และความร่วมมือนี้จะเกิดประโยชน์แก่ลุ่มน้ำโขง แม้แต่โครงการที่รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือกัมพูชา ก็เป็นการช่วยเหลือประชาชน จึงเชื่อว่าผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะเข้าใจสถานการณ์ดี"นายสุเทพกล่าว
 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีโอกาสพูดคุยกับสมเด็จฮุนเซนบ้างหรือยัง นายสุเทพกล่าวว่า ยังไม่ได้คุย ไม่ได้ติดต่อกัน ตนต้องประเมินท่าทีทุกอย่างให้ชัดเจนก่อน  ส่วนความเป็นไปได้ในการออกมาตรการตอบโต้ทางการกัมพูชาเพิ่มเติมถึงขั้นปิดด่านชายแดนนั้น นายสุเทพกล่าวว่า "ต้องดูท่าที ถ้ากัมพูชาแข็งกร้าว โต้ตอบมาแบบไม่ประนีประนอม ระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ต้องลดไปเรื่อยๆ อาจถึงขั้นต้องปิดด่านชายแดน แต่ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การเปิดศึก การยิงกันกับการปิดด่านถือเป็นคนละเรื่องกัน  อย่าไปคิดเรื่องนี้สนุกตามอารมรณ์ ไอ้เรื่องรบนั่นไม่ใช่เรื่องยาก แต่รบกันมันมีคนเจ็บคนตาย ซึ่งเป็นทหาร เป็นชาวบ้านที่ถูกลูกหลง เป็นญาติพี่น้องเราทั้งนั้น ดังนั้นเรื่องสงครามต้องหยุดไว้ ต้องใช้วิธีอื่นไปก่อน"


สธ.ยังไม่ถอนความช่วยเหลือ
 

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า  สธ.จะยังไม่ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับโครงการด้านสาธารณสุขที่ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือประเทศกัมพูชา โดยจะขอรอดูสัญญาณจากกระทรวงการต่างประเทศก่อน อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ทุกกรมสำรวจข้อมูลโครงการต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว เช่น โครงการควบคุมโรคมาลาเลียตามแนวชายแดน ซึ่งประเทศไทยให้ความช่วยเหลือกัมพูชาทั้งในส่วนของยารักษาโรคและการสนับสนุนความรู้ทางวิชาการ ส่วนยาโอเซลทามิเวียร์ ที่เป็นยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009นั้น ยังไม่ได้มีการสนับสนุนให้กับประเทศกัมพูชาแต่อย่างใด
 

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปฏิกิริยาตอบโต้ต่าง ๆ โดยเฉพาะการเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ กลับประเทศไทย ถือว่ารัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งพ.ต.ท.ทักษิณเป็นการตอบแทนบุญคุณ  ของสมเด็จฮุนเซนที่กลุ่มรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงกรณีของพรรคเพื่อไทย(พท.)และพรรคไทยรักไทยช่วยเหลือโดยเฉพาะในตอนเลือกตั้งกัมพูชา หรือพูดง่าย ๆว่า ตอนนั้นยอมสละประโยชน์ของประเทศไทยให้ ดังนั้นความเป็นบุญคุณตรงนี้คงทำให้สมเด็จฮุนเซนนึกถึงและเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น


ปชป.กล่าวหา"แม้ว"ตื๊อขอสัมปทาน
 

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคสนับสนุนรัฐบาลในกรณีการเรียกทูตกลับไทย และดำเนินมาตรการอื่นๆ ทั้งเรื่องการทบทวนบทบัญญัติและข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อที่จะเป็นบรรทัดฐานมิให้ประเทศใดใช้เป็นข้ออ้างดังกล่าว ไม่ดำเนินการตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีการตกลงกันไว้ ระหว่างไทยกับกัมพูชาและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และสิ่งที่น่ากังวลคือการวางนโยบายสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชาจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านมา ปรากฏว่ามีหลายกรณีที่เห็นได้ว่าการกระทำของพ.ต.ท.ทักษิณขณะเป็นนายกฯ มีการใช้อำนาจของรัฐ บรรลุข้อตกลงหลายอย่าง ซึ่งเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นจากสภาพการเป็นนายกฯ ได้พยายามแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจกับข้อตกลงดังกล่าว 2-3 เรื่อง ได้แก่
1.บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาอ้างสิทธิในหลายพื้นที่ทับซ้อนกัน ซึ่งลงนามไว้ 18 มิถุนายน 2544 โดยเฉพาะการสำรวจทรัพยากรบริเวณเขตพื้นที่รอยต่อไทยกัมพูชา ที่ได้รับการยืนยันจากรัฐมนตรีกัมพูชาและรองผู้บัญชาการทหารบกของไทย ว่าพ.ต.ท.ทักษิณ พยายามขอสัมปทานเพื่อไปพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจริง


เคลื่อนไหวแฝงหาผลประโยชน์
 

2 .บรรดามติครม. ที่มีการดำเนินการต่อเนื่องทั้งเรื่องการพัฒนาบริเวณที่เกาะกง-สะแรอัมเบิล ในกัมพูชา เพื่อพัฒนาทางหลวงหมายเลข 48  และได้มีมติครม.ประมาณ10 ครั้ง ซึ่งรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนพัฒนาถนนไปยังพื้นที่ดังกล่าว บนพื้นฐานความร่วมมือที่ดี แต่เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณพ้นจากตำแหน่ง มีรายงานข่าวในสื่อมวลชนกัมพูชาว่ามีการคัดค้านการที่รัฐบาลมอบสัมปทานเกาะกงให้กับอดีตนายกฯไทยเป็นเวลา 99 ปี  ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เข้าใจว่าทำให้ความพยายามของพ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะนั้นได้หยุดยั้งไปชั่วคราว จนปัจจุบันมีการดำเนินการไปเยือนกัมพูชาหลายครั้งเพื่อแสวงหาประโยชน์ควบคู่กันกับการที่จะใช้พื้นที่ที่ตัวเองแสวงหาประโยชน์ และใช้เป็นที่พักพิงเคลื่อนไหวทางการเมือง และเรื่องที่ 3 เดือนสิงหาคม ปี 2546 มีการจัดทำแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจเขตแดนร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา (ทีโออาร์ 2546) ซึ่งในข้อตกลงข้อที่ 1ค. มีการระบุถึงพื้นที่  1 : 200,000 ซึ่งเป็นแผนที่ที่ทางกัมพูชาใช้เป็นข้อต่อสู้ในกรณีข้อพิพาทระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชาต่อเนื่องและรัฐบาลไทยได้ให้การปฏิเสธการยอมรับแผนที่ดังกล่าว ทั้งนี้ ผลจากทีโออาร์ ปี 2546 ได้มีผลผูกพันต่อมาทำให้ข้อต่อสู้ของรัฐบาลกัมพูชา สามารถอ้างอิงถึงการยอมรับแผนที่ ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านั้นและหลังจากนั้นให้การปฏิเสธมาโดยตลอด


ชทพ.จี้"แม้ว"ถอนตัวจากที่ปรึกษา


 นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา( ชทพ.) แถลงว่า ขอสนับสนุนรัฐบาลให้ดำเนินวิธีการใช้กระบวนการทางการทูตทุกมิติทั้งหมด ในการดำเนินการเกี่ยวกับการตอบโต้กัมพูชา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ละเอียดอ่อนสูงจึงไม่อยากให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับพ.ต.ท.ทักษิณมากเกินไป เพราะจะเพิ่มมูลค่าให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณในสายคนไทยทั้งประเทศ และไม่ว่าจะมีมาตรการใดออกมากับกัมพูชาในขณะนี้หรือต่อไป ชทพ.อยากเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องพึงสังวรณ์ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำต่อไปต้องไม่ผลักดันให้กัมพูชา ห่างจากประเทศไทยมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม
 

ทั้งนี้อยากเรียกร้องพ.ต.ท.ทักษิณ ให้ประกาศถอนตัวหรือลาออกจากการดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา  เพราะวันนี้สมเด็จฯฮุน เซน ได้แสดงความเป็นเพื่อนแท้ให้คนทั้งโลกได้เห็นแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่อยากเห็นเพื่อนแท้ตัวเองกลายเป็นเพื่อนตาย หากข้อเสนอได้รับการปฏิบัติเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะได้ใจจากคนที่เชียร์และคนที่เป็นกลาง โดยพ.ต.ท.ทักษิณสามารถช่วยทางกัมพูชา อย่างไม่เป็นทางการก็ได้ และขอร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณประกาศให้ชัดเจนว่าจะไม่เดินทางไปกัมพูชาในเวลาที่เป็นความอ่อนไหวที่กำลังกระทบความสัมพันธ์ของสองประเทศในช่วงนี้


ยุทบทวน-พิจารณาเปลี่ยนรมต.


นายวัชระ กล่าวว่า  ขอแสดงความเห็นส่วนตัวว่าในช่วงหลังจากนี้นายกฯควรพิจารณากลไกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ว่าบุคลากรและกลไกทางการทูตทุกระดับว่าของกต.ว่าเดินมาถูกทางหรือไม่ ที่จะต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง โดยต้องใช้ช่วงเวลาที่อาจปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวของตนด้วย ซึเหมือนกับการตั้งคำถามถึงสมเด็จฯฮุน เซน ว่าจะเลือกคนหนึ่งคนหรือประเทศชาติ แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าเราเลือกคนหนึ่งคนหรือไม่กับความสัมพันธ์ของประเทศ  ผมไม่ได้เสนอให้ปรับนายกษิตออกจากครม.โดยตรงแต่เสนอให้พิจารณาดูทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทูตต่างๆว่าสมบูรณ์หรือไม่ ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่มีปัญหาในด้านการทูต ก็พร้อมยอมรับŽโฆษกชทพ.กล่าว


ชายแดนด้านพระวิหารยังปกติ


สำหรับสถานการณ์แนวชายแดนไทย-กัมพูชานั้น พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาค 2 หรือมทภ.2 กล่าวว่า สถานการณ์บริเวณชายแดนไทยบริเวณเขาพระวิหารจ.ศรีสะเกษยังเป็นปกติ จากการตรวจสอบยืนยันว่าฝ่ายกัมพูชาไม่ได้เสริมกำลังทหาร 4,000นายตามที่เป็นข่าว ความสัมพันธ์ระดับพื้นที่ยังเป็นไปด้วยดี และกองทัพได้ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่แล้วว่าอย่าได้ตื่นตระหนก
 

"ฝากถึงกลุ่มมวลชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวกรณีนี้ว่าขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ถือว่าดี แต่อาจจะเกิดเงื่อนไขบางประการ ซึ่งรัฐบาลก็กำลังแก้ไขอยู่ตามขั้นตอน ดังนั้นอย่าได้สร้างภาระหรือปัญหาใดขึ้นอีก ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นหลัก"มทภ.2กล่าว
 

นายบุญมี บัวต้น อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ชาวบ้านเริ่มหวาดผวาภัยสงครามเห็นได้ชัดเจน  ซึ่งได้ชี้แจงให้เข้าใจว่าเหตุการณ์ขณะนี้เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนตามแนวชายแดน อีกทั้งจากการโทรศัพท์สอบถามจากนายทหารกัมพูชาหลายคนแจ้งว่าไม่อยากรบ เพราะจะทำให้สูญเสียทั้ง 2 ฝ่าย


นอภ.เขมรเชื่อไม่ถึงขั้นปิด 5ด่าน
 

นายเจีย สุภาพ นายอำเภอกอมเรียง จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่ได้สั่งการลงมา อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาชายแดนด้านนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พูดคุยกับแบบบ้านพี่เมืองน้อง คงไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นปิดด่านทั้ง 5 จุด
 ร.ต.อ.สันติ อ่อนน้อม รองสารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ชาวกัมพูชาจากอ.สำโรง จ.อุดรมีชัย ยังมาแลกเปลี่ยนสินค้า 200 คน และมีคนไทย 400 คน ยื่นหนังสือเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปแสวงโชคที่คาสิโน มีรถบรรทุกพ่วงวัสดุก่อสร้าง และน้ำมันเชื้อเพลิงไปส่งให้กัมพูชา
 

ที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด  มีพ่อค้าแม่ค้าจากจ.เกาะกง กว่า 500 คนมารอเวลาเปิดด่าน และมีนักท่องเที่ยวกว่า 100 คนตั้งแต่เช้า  นายประจวบ ประคนธรรม์ เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรคลองใหญ่ กล่าวว่า ไม่คึกคักเหมือนทุกวัน แต่คงไม่มีปัญหามาก เนื่องจากประชาชนยังไปมาหาสู่กันตลอด เรือประมงของชาวกัมพูชายังนำปลามาขายในตลาดหาดเล็ก แสดงให้เห็นว่าศุลกากรและตม.เกาะกงยังทำหน้าที่ตามปกติ
 

นายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เรียกประชุมส่วนราชการชายแดน หอการค้า สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อหารือถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการจัดงานแสดงสินค้าในจ.เกาะกง เดือนมกราคม 2553 ซึ่งจ.เกาะกง เชิญภาคเอกชน จ.ตราดไปร่วมแสดงสินค้าเนื่องในวันชาติกัมพูชา อาจจะไม่สามารถจัดได้หากความขัดแย้งยังไม่ยุติ


ด้านสระแก้วก็ยังไม่มีปัญหา
 

ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ชาวไทยและชาวกัมพูชาเดินทางข้ามแดนเข้ามาทำการค้าตามปกติกว่า 10,000 คน มีเด็กชาวกัมพูชากว่า 50 คนที่ค้างคืนกับผู้ปกครองที่ตลาดโรงเกลือ ยังคงข้ามไปฝั่งกัมพูชาเพื่อเรียนหนังสือที่โรงเรียนในปอยเปต ส่วนคนไทยเดินทางเข้ากัมพูชาจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นนักพนัน
 

นายบำรุง ล้อเจริญวัฒนะชัย หอการค้าจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า การส่งสินค้าไทยไปในฝั่งกัมพูชายังเป็นไปตามปกติ ด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นของกัมพูชายังทำงานตามปกติ
 

นายอู๋ แลน พ่อค้านำเข้าเสื้อผ้ามือสองของกัมพูชา กล่าวว่า สินค้าจำพวกกระดาษ เสื้อผ้า เศษเหล็ก และอื่นที่จะนำเข้ามาในตลาดโรงเกลือยังอยู่ที่ปอยเปต เนื่องจากชาวกัมพูชาเกรงกลัวเจ้าหน้าที่และสมเด็จฮุน เซนมาก จึงต้องรอดูท่าทีรัฐบาลกัมพูชาก่อน
 

รายงานข่าวจาก บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด ผู้จัดการแข่งขันกอล์ฟ "จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ แคมโบเดียน โอเพ่น" ที่สนามโภคีธาราคันทรี คลับ ในเขตเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายน แจ้งว่า การแข่งขันกอล์ฟรายการดังกล่าวไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองระหว่างไทยกับกัมพูชา การแข่งขันยังกำหนดเหมือนเดิมทุกประการ


ทูตเขมรกลับปท.ทางคลองลึก
 

ส่วนบรรยากาศทั่วไปภายในตลาดโรงเกลือยังคงเป็นปกติ ช่วงเช้าชาวกัมพูชายังคงเดินทางเข้ามาค้าขายเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับนักพนันชาวไทยก็ยังคงเดินทางเข้า-ออกพรมแดนตามปกติ แต่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังคงวิตกกังวลว่ารัฐบาลไทยจะสั่งปิดพรมแดน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง จึงต่างเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวและนโยบายของรัฐบาลพนมเปญทางโทรทัศน์อยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดียังมีพ่อค้าชาวกัมพูชาบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อการค้าขาย
 

เวลา 13.30 น.นางยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ที่ถูกเรียกตัวกลับประเทศเดินทางผ่านจุดผ่านแดนบ้านคลองลึก โดยรถยนต์ เพื่อเดินทางต่อไปยังกรุงพนมเปญ ตามคำสั่งของรัฐบาล โดยมีนายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และหัวหน้าส่วนราชการไปคอยอำนวยความสะดวกและส่งข้ามพรมแดน ในโอกาสนี้นางยู ออย กล่าวเพียงสั้นๆ เพื่อขอบคุณนายศานิตย์ ก่อนที่จะรีบข้ามพรมแดนออกไป
 

นายศานิตย์กล่าวว่าปกติข่าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกัมพูชา จะนิยมใช้จุดผ่านแดนคลองลึกเป็นช่องทางเดินทางเข้าไปยังกัมพูชา เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สะดวกสบายที่สุด 
 

นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงการควบคุมดูแลผู้ต้องขังสัญชาติกัมพูชาในระหว่างที่ไทยมีปัญหาความสัมพันธ์ กับรัฐบาลกัมพูชา ว่า  ได้กำชับไม่ให้มีการเผยแพร่ข่าวสารทั้งจากโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์เรื่องความขัดแย้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา


"หน่วยมั่นคง"เตรียมแผนอพยพ
 

พล.อ.รัชกฤต กาญจนวัฒน์ เสนาธิการทหาร กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม มีการรวบรวมข้อมูลว่า ระหว่างไทยกับกัมพูชามีความร่วมมืออะไรบ้า ซึ่งทางกองบัญชาการกองทัพไทย และทุกเหล่าทัพ ได้เตรียมข้อมูลทุกอย่างไว้แล้ว เพื่อเสนอให้กับนายกรัฐมนตรี พิจารณา ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างจะรับฟังนโยบายจากทางรัฐบาล และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทั้งนี้คาดว่าภายในเร็วๆนี้ นายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมสมช. เพื่อประเมินว่า จะมีดำเนินการอย่างไรต่อไป
  

แหล่งข่าวนายทหารระดับสูง ระบุว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกัมพูชาขณะนี้ ยังอยู่ในระดับการดำเนินการทางการทูต ซึ่งมีขั้นตอนดำเนินการตามหลักสากลอยู่แล้ว ซึ่งการเรียกตัวคณะทูตไทยประจำกัมพูชากลับประเทศ ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการลดระดับความสัมพันธ์ ทั้งนี้ ยังไม่มีการเชิญทูตทหารประจำประเทศกัมพูชากลับปร

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์