บัน คี มุนเสียใจไทยน้ำท่วมชี้โลกเปลี่ยน

 

คมชัดลึก :"บัน คี มุน"เลขาฯยูเอ็นแถลงเสียใจ “น้ำท่วมไทย” ตอกย้ำอากาศโลกเปลี่ยนแปลง เรียกร้องทุกประเทศผนึกกำลังเผชิญปัญหาที่ท้าทาย หวังเลือกตั้งพม่า “โปร่งใส-ยุติธรรม” ยันไม่แทรกไทย “สลายม็อบ” ย้ำ “เรื่องภายใน” เชื่อจะปรองดองกันได้ แนะให้สอบเหตุละเมิดสิทธิ พร้อมช่วยด้านเทคนิค


นายบัน คี มุน ได้แสดงความเห็นใจและความเสียใจกับเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย


ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่า ภัยทางธรรมชาติเริ่มคุกคามในภูมิภาคต่างๆบ่อยขึ้น ทุกประเทศจึงต้องเร่งร่วมมือกันในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาท้าทายในระดับโลก และระหว่างการหารือกันในวันนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในหลายประเด็น อาทิ

 ความร่วมมือในการต่อสู้ภัยพิบัติ (Disaster Management) ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ (ASEAN-UN Cooperation)

ซึ่งนายอภิสิทธิ์ และนายบัน คี มุน ต่างมองว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้อาเซียนและยูเอ็น สามารถร่วมมือกันได้ในระดับสูงขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาอาเซียนและยูเอ็นจะมีความร่วมมือระหว่างกันมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานแล้วกว่าสี่ทศวรรษ ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้ได้ช่วยสร้างความก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยมีบทบาทหลักในการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศในอาเซียน เพื่อให้ทุกประเทศสามารถพัฒนาไปได้พร้อมกันอย่างสมดุล


จากนั้น เวลา 14.15 น. นายบัน คี มุน แถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า ยินดีที่ได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง

ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและประชาชนไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทยจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ย้ำเตือนถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หลังจากนี้เราจะร่วมมือกันให้แข็งแกร่งขึ้นระหว่างไทยและอาเซียน ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ขอชื่มชมประเทศไทยที่แสดงความเป็นผู้นำที่ดีในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้นำในการรักษาสันติภาพ เพราะไทยเป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่อัฟริกาที่ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังเมืองดาร์ฟู ประเทศซูดาน และยูเอ็นยินดีหากไทยจะส่งตำรวจหญิงไปทำหน้าที่ยับยั้งอาชญากรรมทางเพศที่กระทำกับผู้หญิงกับเด็กในหลายประเทศ โดยเฉพาะ เฮติ


นายบัน คี มุน กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายกฯไทยเรื่องการเมืองในพม่า

ถึงเรื่องที่อาเซียนจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือพม่าให้มีกระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นความโปร่งใส ความยุติธรรม น่าเชื่อถือ สามารถรวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตามความคาดหวังของประชาคมโลก หากพม่ามีกระบวนการที่ชัดเจนในการสร้างประชาธิปไตยจะสามารถพาตัวเองออกจากระบบเดิมๆและสร้างความน่าเชื่อถือให้พม่าได้ดีขึ้น ยูเอ็นเสนอความช่วยเหลือด้านการขนส่ง ด้านเทคนิค และการประสานกับพม่า แต่การหารือกับผู้นำพม่า ทราบว่าเขาไม่ประสงค์จะรับความช่วยเหลือจากภายนอก แต่ยูเอ็นก็ยังประสงค์ที่จะติดต่อปฏิสัมพันธ์กับพม่าอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าการเปลี่ยนแปลงในพม่าส่งผลต่อการรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียน ซึ่งอาเซียนกับไทยอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะให้ความช่วยเหลือให้พม่าไปสู่ประชาธิปไตยได้

 นายบัน คี มุน กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามรัฐบาลพม่าหลังการเลือกตั้งจะพิสูจน์เขาได้ถึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน

รวมทั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างไร จะบรรลุความคาดหวังของประชาคมโลกได้หรือไม่ ส่วนยูเอ็น ยังมุ่งมั่นที่จะมีความสัมพันธ์ในระยะยาวในพม่า

 “จนถึงขณะนี้ยังไม่สายเกินไปหากรัฐบาลพม่าปล่อยนักโทษทางการเมือง ก็จะทำให้การเลือกตั้งมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้นทำให้การเลือกตั้งมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ที่ผ่านมาผมได้หารือกับพล.อ.ตานฉ่วย มาแล้ว 3 ครั้งและจะพบกันอีกครั้งในสัปดาห์นี้ที่ประเทศเวียดนาม หวังว่าจะเป็นการหารืออย่างสร้างสรรค์” นายบัน คี มูน กล่าว

 พร้อมกันนี้ เลขาธิการยูเอ็น ได้กล่าวขอบคุณประเทศไทยที่ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันกับยูเอ็นมาตลอด

โดยเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งสำนักงานหลายแห่งขึ้นในเมืองไทย ซึ่งไทยกับยูเอ็นมีประวัติศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนกันมายาวนาน ตนมาที่นี่เพื่อสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น และชื่นชมความเป็นผู้นำของไทยในการเป็นประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนในยูเอ็น หวังว่าไทยจะบรรลุความสมานฉันท์และความปรองดองในประเทศได้ ปัญหาการสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะหาทางออกได้ด้วยการหารือ สนทนาในประเทศ หวังว่าประเทศไทยจะมีกระบวนการที่จะรวมทุกฝ่าย หวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับผู้นำประเทศไทยและผู้นำอาเซียนอื่นๆในอนาคต

 ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของยูเอ็นต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศในเดือนเม.ย.-พ.ค. 53

นายบัน คี มุน กล่าวว่า ได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีไทยเช่นกันถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องภายในประเทศไทย ควรจะได้รับการแก้ไขระหว่างคนไทยกันเองทั้งเรื่องการเมืองและสังคม ขณะนี้คณะกรรมการปรองดองและกรรมการหาข้อเท็จจริงก็ได้เริ่มทำงานแล้ว คณะกรรมการก็ได้แสดงออกถึงการเปิดรับข้อมูลต่างๆและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประชาคมโลก ที่ผ่านมาได้ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคกับยูเอ็น ซึ่งยูเอ็นก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคต่อคณะกรรมการนี้ เราควรจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ต่างๆว่าเกิดอะไรขึ้นหวังว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะได้รับการสอบสวนอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทุกกรณีควรได้รับการตรวจสอบโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์