บัญญัติฉะนักการเมืองโกง ทำปชต. 77ปีลุ่มๆดอนๆ

ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์ จัดการสัมมนา 70 ปีสยามเป็นไทย : ย้อนเวลาสู่อนาคต 24 มิถุนายน 2482-2552 ในช่วงบ่ายมีการเสวนาหัวข้อ "การเมืองสยามประเทศไทย เราสยามจะไปทางไหน" 

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยมาแล้ว 77 ปี

แต่ประชาธิปไตยของเรายังลุ่มๆดอนๆ ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ช่วงที่ตนอยู่ในวงการเมืองมา 30 กว่าปีพบว่ามีการคอร์รัปชั่นอย่างหนักหนาสากัน ทั้งที่ช่วง 14 ตุลาฯ 16 ประชาชนรังเกียจและต่อต้านนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นแต่สุดท้ายบรรยากาศก็ค่อยๆเปลี่ยนไป แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นการเมืองภายใต้ยุคพาณิชยาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยที่มุ่งกำไรสูงสุด มีบรรดาพ่อค้าพาณิชย์ นักธุรกิจ หลั่งไหลเข้าสู่วงการทางการเมือง หากคนเหล่านี้เข้ามาโดยถอดวิญญาณพ่อค้าพาณิชย์แล้วเข้ามารับใช้บ้านเมืองอย่างจริงจังก็จะเป็นประโยชน์


"พวกพ่อค้าส่วนหนึ่งที่เข้ามาในวงการเมืองแล้วยังรู้สึกตัวว่าเป็นนักธุรกิจ แล้วใช้กลไกของรัฐเอื้อประโยชน์เพื่อตัวเองและมุ่งกำไรสูงสุด ทำให้การทุจริต คอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 3 ร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 20 และมีการเรียกเก็บเบี้ยบ้ายรายทาง ยุคนี้จึงมีค่านิยมใหม่เกิดขึ้นว่า โกงได้แต่ขอให้มีผลงาน ตรงนี้ทำให้ประชาธิปไตยไม่น่าไว้วางใจและไม่มีประสิทธิภาพ หากไม่ระงับยับยั้งก็คงแย่" นายบัญญัติ กล่าว

อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า การที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบลุ่มๆดอนๆ เพราะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก

จะเห็นว่าปฎิวัติรัฐประหารที่ผ่านมามักจะใช้ข้ออ้างนี้มาตลอด ซึ่งก็เป็นจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่การปฏิวัติรัฐประหารก็เป็นตัวสูบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงและรัฐบาลที่เข้าไปจากการปฏิวัติรัฐประหารบางครั้งก็ทุจริตมากกว่ารัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้าไปอีก เราควรมาร่วมมือกันทำให้ประชาธิปไตยไม่มีการทุจริต รวมทั้งรัฐบาลเองก็ต้องยกระดับชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมกัน ไม่ให้ประชาชนอดยาก  หากเป็นเช่นนี้หากใครจะมาล้มรัฐบาลประชาชนคงไม่ยอม 


จึงฝากข้อคิดไว้ 3 ข้อ คือ
1.เมื่อเกิดภาวการณ์สับสน เกิดปรากฎการณ์ทำให้เกิดความเข้าใจผิด มหาวิทยาลัยควรคิดว่าเป็นภาระสำคัญที่ต้องออกมาชี้ถูกชี้ผิด 
2. การทุจริตคอร์รัปชั่น การไร้ศีลธรรมจริยธรรม ยังเป็นปัญหาที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยและสังคม ตนอยากเห็นภาควิชาการจุดประกายเสริมสร้างค่านิยมให้คนมีคุณธรรมและพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย และ
3.เสริมค่านิยมการรังเกียจเดียดฉันท์นักการเมือง ข้าราชการที่ทุจริตและคอร์รัปชั่น


ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง  อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า  ประชาธิปไตยของไทยตลอด 70 ปีดูเหมือนว่าจะล้มลุกคลุกคลานมาตลอด

และเรียกได้ว่าส่วนใหญ่ไม่เป็นประชาธิปไตย   เพราะเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาก็จะปกครองประเทศยาวนาน ส่วนใหญ่เป็นการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการและในปี พ.ศ. 2522-2553 เราก็มีแค่ประชาธิปไตยเพียงครึ่งใบเท่านั้น จึงจะเห็นว่าคนไทยไม่มีความเข้าใจและเชื่อถือ ยึดถือต่อหลักแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม สังคมไทยไม่เข้าใจยึดถือรัฐธรรมนิยม ถือว่าเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสูงสุด ต้องเคารพกติกา การรัฐประหารทำให้เห็นว่ามีการใช้อำนาจเหนือกฎหมายสูงสุดๆได้


นายจาตุรนต์ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเห็นว่าการรัฐประหารในปี 2549 ไม่ได้ถอยหลังชั่วคราวเพื่อก้าวสู่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด

แต่ภายในระยะเวลา 3 ปีครึ่ง เราถอยหลังแบบต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วยังมาเขียนกติกาใหม่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย ขณะที่ภาคประชาชนและนักวิชาการในกระแสหลักก็มีบทบาทส่งเสริมเกื้อกูลให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ในช่วง 70 ปีของประชาธิปไตยจึงทำให้เกิดการเมืองที่ไม่สมดุล ไม่มีพลวัฒน์ มีแต่คำถามว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ยุบสภาเมื่อไหร่ เมื่อการเมืองไม่ลงตัวจึงเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เราจึงอยู่ในสภาวะวิกฤตที่ไม่สามารถแก้ได้ และวิกฤตก็สูงขึ้น


“การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยจึงถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงมาก เพราะต้องผ่านความขัดแย้งที่รุนแรง ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรจะก้าวผ่านไปโดยไม่เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรง”นายจาตุรนต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายจาตุรนต์กำลังอภิปราย มีชายไม่ทราบชื่อเดินมาบริเวณหน้าเวที และกล่าวว่า อภิปรายกันไม่มีประเด็น พูดกันพร่ำเพื่อ ประเด็นเหล่านี้รู้หมดแล้ว ไม่รู้จะพูดทำไม ทำให้ทีมงานที่จัดงานต้องเข้ามาพาตัวผู้ชายคนดังกล่าวออกจากห้องประชุม และดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า นี่คือบรรยากาศประชาธิปไตย

ด้าน ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540  ถือว่าเป็นการสร้างเกราะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น จะเห็นว่าหลังการบังคับใช้รัฐมนตรีก็ถูกดำเนินคดีฐานคอร์รัปชั่นจนติดคุก อีกทั้งยังมีนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญอีกหลายคน ถือว่าเป็นความก้าวหน้าของประเทศ เชื่อว่าหากไม่มีรัฐประหารประเทศเราจะก้าวหน้ากว่านี้ แต่เมื่อมีรัฐประหารจะเห็นว่าเราย้อนกลับไปสู่การเมืองก่อน พ.ศ. 2516 เพราะมีการสถาปนาตัวเองเพื่อต่อรองทางการเมือง และต่อรองเรื่องงบประมาณมากขึ้น การคอร์รัปชั่นถือว่าเป็นตัวหนึ่งที่ทำลายประชาธิปไตย แต่ตัวการสำคัญที่ทำลายการเมืองอย่างแท้จริง คือ การรัฐประหาร การแก้ปัญหาทางการเมืองโดยการใช้รัฐประหารนั้นถือเป็นข้ออ้างเท่านั้น 

"ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็เกิดมาจากการแสวงหาอำนาจของคนบางกลุ่ม แต่ข้อเท็จจริงแล้วความขัดแย้งเกิดขึ้นมานาน เพราะมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง ดังจะเห็นจากงานวิจัยว่าผู้มีรายได้สูงกระจุกตัวเพียง 20 % ของคนทั้งประเทศเท่านั้นและตัวเลขรายได้ของคนกลุ่มนี้ก็ห่างกับคนชั้นล่างมากกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือนหรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะคนที่ทรัพย์สินมากๆ มักไม่เปิดเผยให้คนรู้ทั้งหมด"ศ.ผาสุก กล่าว
 

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์