บทวิเคราะห์:ตุลาการภิวัตน์ หักเหลี่ยม´ทักษิณ´

กรุงเทพธุรกิจ

27 กรกฎาคม 2549 19:25 น.
เดิมนั้นพลังการเมืองภาคพลเมืองก็ยังไม่เข้มข้นพอ จนกระทั่ง ฝ่ายตุลาการได้น้อมเกล้ารับพระกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 25 เม.ย.มาปฏิบัติจนเกิดผลเป็นลำดับ อาจพูดได้ว่า"ระบอบทักษิณ" นั่นเอง จุดประกายก่อเกิดระบบถ่วงดุลใหม่ให้เกิดขึ้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * ประชุม ประทีป

--------------------
ในที่สุด สถาบันตุลาการไทย ก็ก้าวข้ามมิติบทบาทเดิม คือไม่เพียงขจัดความไม่เป็นธรรม อำนวยความถูกต้องให้เกิดในสังคมเท่านั้น

ยังขยายไปสู่กระบวนการแก้ไขวิกฤติของชาติอีกด้วย หรือนักวิชาการเรียกว่า "ตุลาการภิวัตน์" หรือ"นิติธรรมภิวัตน์" (ธีรยุทธ บุญมี,1มิ.ย.49)

นั่นคือผ่าทางตันการเมือง ด้วยการพิพากษาจำคุก 3 กกต. 4 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ยิ่งกว่านั้นคือไม่ให้ประกันตัว เพื่ออุดช่องที่จำเลยจะดิ้นลอดไปได้อีกด้วย ด้วยเหตุผลเป็นภัยร้ายแรงต่อการปกครอง

ถือเป็นวิวัฒนาการศาลของศาลไทย ที่ดำเนินไปภายใต้เงื่อนไขการบีบกดของ"ระบอบทักษิณ" เป็นตลอด 5 ปีแห่งความพยายามสร้างกลไกเป็นมือไม้ แขนขา ขึ้นมาซ้อนองค์กรตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกลไกระบบราชการ

ดังที่ตกเป็นข่าวมาตลอด ด้วยการแทรกแซงบุคลากรองค์กรอิสระ รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือน และข้าราชการทหาร จัดวางกำลังคนภายใต้ระบบอุปถัมภ์ใหม่ เพื่อรองรับการบริหารงานแผ่นดินแบบ "ธนกิจการเมือง" เกือบเต็มรูปแบบ คือการเชื่อมทุนไร้พรมแดนโลกาภิวัตน์มาขับเคลื่อนบนฐานเศรษฐกิจไทย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การต่อแถวเจรจาการค้าเสรีเอฟทีเอแบบลำพังไม่สนการมีอยู่ของรัฐสภา ซึ่งเท่ากับเอื้อให้กลุ่มทุนใหญ่ผูกขาด

ผสมผสานกับขับเคลื่อนนโยบายประชานิยมมาล่อ กับการตลาดแบบโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อสารมวลชน กระทั่งเกิดฐานมวลชนนิยมพรรคไทยรักไทยไปค่อนประเทศ

กระทั่ง หลายคนเปรียบเปรยกระแทกแดกดันว่า เป็นพฤติกรรมผู้นำ"ฮิตเล่อร์คลื่นลูกที่สาม" หรือ "ฮิตเล่อร์ยุคดิจิตอล"

ตลอด 4-5 ปีในอำนาจ การเปิดศึกการเมืองผ่านตัวแทนองค์กร(ไม่)อิสระ) โดยเฉพาะเหนียวแน่นหนาที่สุด ก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เป็นจุดอ่อนของพรรคไทยรักไทย ที่ปล่อยให้เกิดคำถามเรื่องความไม่โปร่งใส ความชอบธรรม จริยธรรมทางการเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระบวนการถ่วงดุลในรัฐสภาเสียศูนย์ไป พร้อมๆ กับเกิดพลังถ่วงดุลจากกลุ่มทุนตรงข้ามกับทักษิณ (ทั้งทุนเก่าและทุนน้อยล้าหลัง) ตามมาด้วย การเมืองภาคพลเมือง ที่เน้นการพัฒนาการอย่างยั่งยืน ได้มาเกาะเกี่ยวก่อตัวขึ้น จนปะทะกันอย่างเด่นชัด

เป็นความชะล่าใจ และเหิมเกริมในอำนาจจนกระทั่งนำไปสู่การก้าวล่วงจาบจ้วงหลายกรณีต่อหลายคน

เรียกว่า ทักษิณได้ยึดเอา"ลัทธิรัฐสภานิยม"(ธีรยุทธ บุญมี) หรือศัพท์เก่าว่า"เผด็จการรัฐสภา" อำนาจสภาไม่มีแรงต้านต่ออำนาจบริหาร ขบวนการประชาชนจึงเสมือนพลังโดดเดียวโต้อำนาจมาตลอด เพราะกระทั่งเชื่อกัน...พูดกันถึงขั้นว่า อำนาจตุลาการ ก็ถูกแทรกแซง

จากคำถาม กลายเป็นการท้าทาย จนก่อตัวเกิดปรากฏการณ์สนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อปลายปี 48 กระทั่งการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ต้นปี 49 ยิ่งถ่วงพรรคจมลงไปอีก ยิ่งดื้อดึงแดกดันวิวาทะ ทั้งเกิดเหตุลอบวางระเบิดท้าทาย ทั้งเกิดกลุ่มคนแสดงตัวออกมาปกป้องพรรคไทยรักไทย และกกต.ถี่ขึ้น

ถึงกระนั้นพลังการเมืองภาคพลเมืองก็ยังไม่เข้มข้นพอ จนกระทั่ง ฝ่ายตุลาการได้น้อมเกล้ารับพระกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 มาปฏิบัติจนเกิดผลเป็นลำดับ

อาจพูดได้ว่า "ระบอบทักษิณ" นั่นเอง เป็นจุดประกายก่อเกิดของ ระบบถ่วงดุลใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

โดยนัยความหมาย "ตุลาการภิวัตน์" เริ่มถูกขยายความนับแต่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการ ครม.ทักษิณ ได้ยกมาตรา 7 มาขยายความอิงหลัก"ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือที่เขาเรียกว่า "ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ" (Convention of the Constitution) โดยยึดโยงเข้ากับหลักทศพิธราชธรรม

ส่วน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตมือกฎหมายรัฐบาล ตีความอิงหลัก พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า กระบวนการตุลาการภิวัตน์ หรือนิติธรรมภิวัตน์ มิใช่เพิ่งเกิดในประเทศไทย ประวัติศาสตร์หลายประเทศที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย ได้เกิดขึ้นนานแล้ว ทั้งใน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

ปรากฎการณ์ตุลาการภิวัตน์ คือช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย และถือเป็นกุญแจอีกดอกหนึ่งที่จะไขประตูปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2

โดยต้องมีการเมืองภาคพลเมือง เป็นปราการด่านหน้า และปราการหลัง ของการเมืองไทยโฉมใหม่ด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

"ตุลาการภิวัตน์" จึงเป็นการหักเหลี่ยม "ระบอบทักษิณ" อย่างมีพลังความชอบธรรมสูงอย่างยิ่ง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์