บทวิเคราะห์:´ผู้มีบารมี´ผงาด ทักษิณถอยกรูดพิงมวลชน

กรุงเทพธุรกิจ

6 กรกฎาคม 2549 19:57 น.
กลายเป็นวาทะเจ้ากรรม ค้ำคอ ทำเอา´ทักษิณ´ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก อยู่ในสถานะเพลี้ยงพล้ำชัดเจน ที่เป็นคนปลุก"ผู้มีบารมี"ขึ้นมาเพื่อหยั่งพลัง และมีกระแสต่อต้านเกินคาดหมาย โดยที่´ทักษิณ´ก็ต้องเดินเกมหวังจะพิงมวลชนเช่นกัน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * ประชุม ประทีป
--------------------

"ผู้มีบารมี" นอกรัฐธรรมนูญคือใคร? เป็นคำถามดังอึงอลกันทั่วเมือง


พิจารณาตามคำพระแล้ว บุคคลจะเกิด"บารมี" จะต้องเป็นคนกระทำบำเพ็ญ 10 อย่าง หรือ"ทศบารมี" ได้แก่ ทาน ศีล เนกขัมมะ(การออกจากกาม) ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา

ย่อมต่างจาก บุคคลมี"อำนาจ" ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีอิทธิพลจะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา

ขณะที่ บุคคลมี"อิทธิพล" หมายถึง บุคคลที่มีกำลังจะยังผลให้สำเร็จ หรือบุคคลที่มีอำนาจสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ สามารถบันดาลให้ผู้อื่นคล้อยตามหรือทำตามได้

สรุปรวดรัดได้ว่า บุคคลมีบารมีย่อมเป็น"คนดี" และดีเข้าขั้นเป็น"พระ"หรือ"นักบวช" ด้วยซ้ำ

...ย่อมไม่ใช่"คนเลว" เป็นเด็ดขาด


แต่ผู้มีบารมี ที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ และยังแทรกแซงการบริหารแผ่นดินได้ สามารถ"บอก"ให้ 2 นิติบริกร(วิษณุ เครืองาม, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ตีจากรัฐบาลไทยรักไทยได้นั้น

ถ้าจะตีขลุมว่าเป็น"พระ"(เพราะพระถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ) เห็นจะมีแต่ "หลวงตามหาบัว" เท่านั้น

แต่หลวงตามหาบัว กับ "วิษณุ เครืองาม" เคยเป็นกรณีกันรุนแรงในเรื่อง แก้กฎหมายสงฆ์ กรณี"ธรณีสงฆ์" เรื่องแต่งตั้งคณะทำหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช จึงเกินจะเชื่อว่า "พระมหาบัว" จะเป็นผู้บอกให้ลาออก

ยิ่งลิ่วล้อพยายามแก้ตัวว่า เป็นสามัญชน เป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคลที่มีบารมีทางการเงิน และการเมือง ไม่เกี่ยวกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และไม่ยึดโยงถึงสถาบันเบื้องสูงด้วยแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นใคร

แต่ถ้าลองถามคนทั้งประเทศ คงมีจำนวนมากชี้ไปหาไม่กี่คน ในลำดับต้นก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

ขณะที่เป็นคนโยนระเบิด เปิดประเด็น กลับเฉไฉไม่ตอบว่า หมายถึงใคร ได้แต่พูดกับสมาชิกพรรคไทยรักไทย เพื่อปลอบขวัญและปลุกความเชื่อมั่นต่อตัวเขาว่า

"...ผมรู้ตัวเองดีว่ากำลังทำอะไรและจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมา"

ขณะที่ สมชาย สุนทรวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค แก้ตัวว่า หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คนนอกรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รองหัวหน้าพรรค โต้แทนหัวหน้าพรรคว่า

"อย่ามาใส่ร้ายกันด้วยข้อหาที่ร้ายกาจอย่างนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้หมายถึงพระองค์ท่าน"

ขณะที่ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงอย่างเป็นทางการว่า

"ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังหาหลักฐานที่จะมัดตัว ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่าเข้ามาแทรกแซงในด้านการเมือง หลังจากนั้นรัฐบาลจะเปิดเผยรายชื่อให้สาธารณชนรับรู้ พยายามหาหลักฐานอยู่ ถ้ามีหลักฐานชัดเจนจะระบุชื่อแน่นอน"

แต่วิญญูชน ย่อมมีวิจารณญาณจะเลือกเชื่อเลือกค้าน

เมื่อตรวจสอบทางยุทธวิธีแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ การโพล่งออกมาเช่นนั้น คงประเมินฝ่ายตรงข้ามต่ำไป เมื่อรู้ตัวว่าพลาดพลั้งไปแล้ว จึงใช้วิธีเรียกอดีตส.ส.มารับแนวทาง โดยคัดสำเนาพระราชดำรัส เมื่อ 9 มิ.ย. กับสำเนาวาทะของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อ 29 มิ.ย. ให้นำไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในพื้นที่ฐานเสียงตัวเอง

นี่คืออาการร้อนตัว และส่งสัญญาณแบบคน"รู้ทัน" และสื่อความหมายว่า "ไม่กลัว-พร้อมสู้" อีกด้วย


แต่สภาพการณ์เช่นนี้ ย่อมมาจากแรงกดดันหลายกรณี หนึ่ง มาจากคดีการเมืองหลายคดี ทั้งในนามพรรค และคดีเฉพาะตัว หนึ่ง จากข่าวใต้ดินปล่อยบ่อนเซาะ และจากการถูกปิดล้อมแนวรบด้านสื่อมานานร่วมเดือน

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่อดีต ส.ส.ในพื้นที่จะนำเรื่องนี้ไปอธิบายกับชาวบ้านฐานเสียงได้เต็มปาก

ยิ่งกว่านั้น ในสถานการณ์เพลี้ยงพล้ำชัดเจนเช่นนี้ อาจเกิดมวลชนแปรพักตร์ เป็นมวลชนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองต่ำ เป็นมวลชนจัดตั้งจากฐานเสียงทางการเมืองที่อิงการเงินจากพรรค

ขณะที่ กำลังมวลชนฝ่ายต่อต้าน"ระบอบทักษิณ" ทั้งกลุ่มเก่า และกลุ่มใหม่กลับกล้าแข็งขึ้น ไม่เพียงเครือข่ายพันธมิตรฯ จะออกมาตอกลิ่ม กล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีนี้ ยังเรียกร้องให้สังคมเลือกข้าง และกลุ่มใหม่ราชสกุล ก็รวมตัวแสดงต่อต้านอย่างโจ่งแจ้ง

จับกระแสข้าราชการนั่นเล่า จะเห็นอาการนิ่ง เฉื่อยงานต่อรัฐบาลรักษาการ เพราะไม่เช่นนั้น คงไม่มีวันให้นโยบายรัฐบาลรักษาการเมื่อ 29 มิ.ย. และไม่เกิดวาทะเจ้ากรรม ค้ำคอ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

นึ่เท่ากับว่า ทักษิณ ปลุกผู้มีบารมี ขึ้นมาเองโดยแท้ ปลุกขึ้นมาทำให้เสียมวลชนอย่างประมาท


ดังนั้น ผู้มีบารมี จึงเป็นผู้มีบารมีจริงๆ ไม่ใช่ผู้มอิทธิพล อำนาจ ตามนิยามข้างต้น และนั่นคือเหตุผล จนแม้"ทักษิณ" ก็ไม่กล้าตอบสาธารณชนด้วยตัวเอง...

แต่ระยะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับอ้างถึง "ประชาชน" อ้างถึง "ระบอบประชาธิปไตย" บ่อยครั้ง และจี้ให้พลพรรคลงไปทำงานมวลชน เพื่อหวังจะได้เป็นหลังพิง

แต่เอาเข้าจริงๆ ประชาชนกลุ่มดังกล่าว อาจไม่ยอมให้พิงก็ได้ เมื่อต้องเลือกระหว่าง "ผู้มีบารมี" กับ "ผู้มีอำนาจอิทธิพล"

และ"ทักษิณ" จึงไม่พ้นถูกมองเป็นคนปลุกกระแสความแตกแยกในสังคม


ทางออกของ"ทักษิณ" จะเป็นเช่นไร อาจจะ 1) เดินหน้าลุยต่อในทางใต้ดินและบนดิน 2) ต่อสู้ทางคดีให้เห็นดำเห็นแดงในศาล 2) รอสู้ในสนามเลือกตั้งแบบถดถอย 4) รอการถูกโค่นลงแบบเบ็ดเสร็จ

ขณะนี้ ดูประหนึ่งว่า"ทักษิณ" ดำเนินยุทธวิธีกดดันหยั่งพลังฝ่ายตรงข้ามเพื่อต่อรอง แต่มวลชนของผู้มีบารมีจะยอมต่อรองด้วยหรือไม่...คือคำถาม?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์