บทวิเคราะห์: กกต.ดื้อศาล การเมืองร้อน เสี่ยงม็อบปะทะ

กรุงเทพธุรกิจ

5 มิถุนายน 2549 19:34 น.
เสมือนมีขบวนการปกป้อง กกต. เช่นเดียวกับปกป้อง "ทักษิณ" ซึ่งเท่ากับเกิดกระแสกดดันต่อศาลชัดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในรูปใต้ดิน บนดิน สถานการณ์ตั้งป้อมค้านศาลเช่นนี้ ทำให้อุณหภูมิการเมืองเริ่มร้อนขึ้นอีก ซึ่งเท่ากับปลุกม็อบอีกฝ่ายขึ้นมาด้วยเช่นกัน

*ประชุม ประทีป
-----------------
เหมือนจะถูกต้อนให้จนมุม แต่จนถึงวันนี้ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังทานทนยืนเป็นแถวหน้าของทีม กกต.โต้พายุกระหน่ำอยู่ได้อย่างเหลือเชื่อ

แต่จากข้ออ้างการจะอยู่ต่อไป ก็ถูกตัวแทนองค์กรปกครองท้องถิ่น โดยนายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล รองประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้ออกมาแสดงการคัดค้าน เหตุผลประธาน กกต. อ้างว่าจะต้องอยู่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นกว่า 300 แห่งว่า เป็นการอ้างเพื่อยื้อเรื่อง

พร้อมทั้งให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมา กกต.ไม่เคยจับคนทุจริตเลือกตั้งได้เลย หน่ำซ้ำยังมีข่าวว่า เลือกตั้งเสร็จจะต้องเสียเงินเสียทอง เพื่อแลกกับการไม่ถูกใบแดง ใบเหลืองอีกด้วย และสมาพันธ์ปลัดอบต.ฯ จะได้แสดงท่าทีคัดค้าน กกต.อย่างเป็นทางการอีกด้วย

จากนี้น่าเชื่อว่า อาจจะมีการปลุกระดมคนออกมาโต้ตอบ "สมาพันธ์ปลัด อบต." เช่นที่เคยทำมาเสมอๆ อย่างไร

ขณะที่ วันที่ 5 มิ.ย. องค์คณะศาลอาญา ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ครั้งที่สอง คดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กกต. สืบเนื่องจากไม่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดให้ครบถ้วน กรณีร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย รวมทั้งพรรคขนาดเล็กอื่นๆ ให้จัดผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ20 ซึ่งศาลนัดฟังจะประทับรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้

วันเดียวกันนี้ ศาลไต่สวนมูลฟ้องนัดแรก ที่นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รักษาการ ส.ว.อุบลราชธานี กับพวก 9 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กกต. ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว. 2541 และพ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2541 สืบเนื่องจาก กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งนับแต่วันที่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา เมื่อ 24 ก.พ. จนถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขตรอบใหม่เมื่อ 23 เม.ย. ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่งคดี 9 มิ.ย.

นี่คือ คดีที่จ่อเอาผิดต่อ กกต. คดีเอาผิดต่อพรรคไทยรักไทย และคดีเอาผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งขณะนี้ ศาลยังชะลอเรื่องไว้หลายคดี

นี่คือ 3 ขาหยั่งบังลังก์ของ "ทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งทางออกที่น่าเป็นผลดีต่อประเทศชาติ และต่อ กกต.ที่สุด คือการลาออก แต่ กกต.กลับไม่ทำ

กกต.กลับเร่งดำเนินการสอบสวนกรณีจ้างพรรคเล็กตามหลังมา และจะเร่งชี้ขาดถึงคนกระทำผิด ซึ่งแน่นอนว่า อีกฝ่ายไม่เชื่อถือ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เสมือนมีขบวนการปกป้อง กกต. เช่นเดียวกับปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะเดียวกัน ก็เท่ากับสร้างกระแสกดดันต่อศาลชัดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในรูปใต้ดิน บนดินยังดังอยู่

ไม่เพียงลิ่วล้อในพรรคไทยรักไทย ออกมาให้ความเห็นเชิงข่มขู่ต่อศาล ที่จะชี้ผิด ชี้ถูก ในคดีที่แหลมคมข้างต้น ยังมี 3 ส.ว.รักษาการ คือ ประเกียรติ นาสิมมา ส.ว.ร้อยเอ็ด นิคม เชาว์กิตติโสภณ ส.ว.ลำปาง และอดุลย์ วันไชยธนวงศ์ ส.ว.แม่ฮ่องสอน เข้ายื่นหนังสือต่อ สุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานรัฐสภา เพื่อให้ยับยั้งการส่งคำร้องของ 35 ส.ว.ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยให้ กกต.พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 136

โดยเฉพาะข้อความที่นายประเกียรติ ระบุว่า

"ศาลไม่มีบทบาทที่จะมาชี้นำ ตั้งธงไว้ก่อน ศาลมีหน้าที่เพียงการพิจารณาพิพากษาตามข้อเท็จจริงที่อยู่ต่อหน้าและในมือของผู้พิพากษา ไม่ใช่ไปคว้าอะไรที่อยู่ข้างถนนขึ้นมาทำ ถ้าตั้งธงแล้วมาเผยธงไว้ก่อน สังคมจะอยู่กันอย่างไร"

ซึ่งกระแสความกดดันข้างต้น ทำให้ตุลาการศาลฎีกา ต้องออกมาเตือนว่า เป็นห่วงประชาชนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย อาจตกเป็นเครื่องมือ จากการถูกปลุกระดมให้ออกมาเคลื่อนไหวกดดันศาล จึงขอเตือนว่าทุกม็อบที่เดินขบวนมาปิดล้อมศาล ไม่ว่าเพื่อกดดันหรือชื่นชม จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และเมื่อถึงเวลานั้นแกนนำปลุกระดมก็จะไม่แสดงความรับผิดชอบ จะอ้างว่าประชาชนมาร่วมชุมนุมกันเอง และปล่อยให้ผู้คนที่ร่วมเดินขบวนต้องรับกรรมไปโดยลำพังไม่ได้

ซึ่งในกระบวนทางศาล คงใช้เวลานานที่จะชี้โทษฐานความผิดของ กกต. แต่หากนายสุชน รู้บทบาทหน้าที่ ดังที่ พิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการรัฐสภา ประธานคณะทำงานร่วมกับ สนง.เลขาธิการวุฒิสภา ได้มีความเห็นสรุปเสนอให้ นายสุชน สมควรส่งเรื่อง 35 ส.ว.เข้าชื่อขับ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 มาตรา 142 และมาตรา 266 หรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็ให้แนบหนังสือคัดค้านของ 3 ส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปพร้อมกันด้วย

นี่คือ สถานการณ์กดดันของกลุ่มตั้งป้อมคัดค้านศาล ซึ่งทำให้อุณหภูมิการเมืองเริ่มร้อนขึ้นอีก ซึ่งหมายความว่า เท่ากับปลุกม็อบอีกฝ่ายขึ้นมาด้วยเช่นกัน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์