บทพิสูจน์พรรคพันธมิตร ระวัง...ตกหล่มการเมือง

"การเคลื่อนไหวของพันธมิตรเป็นอันตรายต่อการเมืองระบอบเก่า ที่เขาอยากเห็นพันธมิตรใช้วิถีทางการต่อสู้บนท้องถนนเท่านั้น แต่อีกสักกี่ปีกี่ชาติถึงจะสำเร็จ" เป็นถ้อยคำของ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ประกาศท่ามกลางมวลหมู่สมาชิกกว่า 3 พันคนในการประชุมสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ถือเป็นการประกาศว่า "จะไม่เดินบนท้องถนนอีกต่อไป" อันถือเป็นเหตุผลที่รองรับการก่อตั้งพรรคการเมือง ก่อนจะขอฉันทานุมัติจากมวลชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะ "แสวงหาพลังใหม่" ภายใต้ระบบรัฐสภา

และแล้ว... "พลังเหลือง" ก็ตอบรับท่ามกลางสายฝนให้พันธมิตรขับเคลื่อน "การเมืองใหม่" ในรูปแบบ "พรรคการเมือง" แทนการเดินขบวน "กลางถนน"

ถือเป็นเสียงสวรรค์ที่ไม่ทำให้ "สนธิ" และแกนนำพันธมิตรคนอื่นๆ ผิดหวัง!!!

แม้แกนนำพันธมิตรจะผ่านด่านแรกได้ ทว่าการสร้างการเมืองใหม่ภายใต้พรรคการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการที่พันธมิตรเติบโตจากการเมืองภาคประชาชน

ดังนั้น การจะเดินและเติบโตภายใต้พรรคการเมืองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหารูปแบบของพรรคการเมือง "ที่ใช่"

เพราะการขับเคลื่อนทางสังคมของพันธมิตรที่ผ่านมาล้วนเป็นการแสดงออกที่ต้องการต่อต้านระบอบอนาธิปไตย ปฏิเสธการเมืองน้ำเน่าและต้องการสร้างการเมืองใหม่ ซึ่งไม่ใช่รูปแบบพรรคการเมืองในเมืองไทย

การที่แกนนำประกาศชูธงจะนำรูปแบบพรรคพลังธรรม พรรคเลเบอร์ พรรคกรีน ฯลฯ มาเป็นตัวอย่างเพื่อจัดทำโครงสร้างทางการเมืองใหม่ จึงเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังและรอชม ดังนั้น การเลือกรูปแบบพรรคการเมืองที่เหมาะสมกับพันธมิตรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะแต่ละพรรคล้วนมี "จุดอ่อน-จุดแข็ง" แตกต่างกัน!!

โดยเฉพาะพรรคพลังธรรมที่มี "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" เป็นผู้ถือธงคุณธรรมนำการเมืองนั้นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในคราวเดียวกัน เพราะเกิดจากกระแส "จำลองฟีเวอร์" ดังนั้น บทเรียนของพรรคการเมืองที่ถือธงนำด้วยตัวบุคคล ท้ายสุดก็มี "จุดจบ" ด้วยการมี ส.ส.คนเดียว

ส่วนพรรคกรีนในเยอรมนี แม้การก่อตั้งจะมีความคล้ายคลึงกับพันธมิตรที่เกิดจากการเมืองภาคประชาชน แต่ท้ายสุดก็พบว่าการดำรงตนอย่าง "สุดโต่ง" ไม่สามารถเกิดในสภาได้ กระทั่งผู้ก่อตั้งต้องแสวงหาวิถีใหม่ที่ไม่ออมชอมกับการเมืองในระบบได้ แต่ผ่านมาหลายสิบปี สุดท้ายคนก่อตั้งพรรคกรีนก็ไหลออกจนหมดเกลี้ยง เหลือไว้เพียงชื่อพรรคเท่านั้น

ดังนั้น การจะแสวงหาอำนาจใหม่ในระบบรัฐสภาของพันธมิตร จึงเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องท้าทายที่จะดำรงอยู่ในสังคมการเมืองประชาธิปไตยแบบไทยๆ

และการที่พันธมิตรประกาศจะโกย ส.ส.เข้าสภาหินอ่อนกว่า 50 คน ซึ่งคาดฝันจะมี ส.ส.สัดส่วน 10 คน ส.ส.เขต 40 คนนั้นก็ถือเป็นฝันที่อาจจะเกินจริง เพราะถ้าสังเคราะห์มวลชนของพันธมิตรแล้วก็พบว่าเป็นพลังที่ "ไม่เอาระบอบทักษิณ" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมวลชนคน "แดนสะตอ" ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

หากพันธมิตรจะสู้เพื่อให้ได้ ส.ส.ตามเป้า อาจต้อง "พ่าย" เสียแต่ "ในมุ้ง" เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า คนใต้มีใจรักฝักใฝ่ในพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งกว่า อีกทั้งการที่พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งมวลชนอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงอาจเป็นปัจจัยเบียดตัวแทนพันธมิตรตกเวทีได้

ดังนั้น การจะปลูก "สีเขียวอ่อน" ในพื้นที่ด้ามขวานอาจ "เกิดและโตยาก" ยกเว้นพื้นที่เมืองบางพื้นที่ อาทิ กทม.และหัวเมืองใหญ่ๆ พันธมิตรอาจจะ "ปักธง" ได้ แต่ก็ไม่ง่ายนัก!!

ทว่าการจะก้าวข้ามการเมืองภาคประชาชนอันเป็น "จุดแข็ง" เพื่อไปสู่การเมืองในระบบ อันเป็นหนทางที่พรรค การเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล "กวักมือเรียกให้มาเล่นในเกม" ตลอดเวลา ก็ถือเป็นการก้าวข้ามครั้งสำคัญ เพราะพันธมิตรคุ้นชินกับการเมืองนอกสภาอาจจะ "ตกหล่มการเมืองในระบบได้"

แต่เมื่อพันธมิตรเลือก "การเมืองในสภา" แล้ว ก็เท่ากับว่าต้องทิ้งอำนาจ "ต่อรอง นอกสภา" ไว้เบื้องหลัง แล้วเผชิญหน้ากับการเมืองในสภาที่มีแต่ "เขี้ยวเล็บแห่งดงเสือ"

และจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการเมืองใหม่ที่ต้องการขับเคลื่อนจะไม่ถูกการเมืองเก่ากลืนกิน จนเหลือเพียงแค่อุดมคติเท่านั้น...

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์