นิติราษฏร์อัดศาลรธน. ลุอำนาจเหยียดหยามปชช. ชี้ไม่มีอำนาจตัดสินคดี



เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 พ.ย. ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์  ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ดร.ธีระ สุธีวรางกูร และดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ นิติศาสตร์เพื่อราษฎร จัดแถลงข่าวเพื่อเสนอความเห็นทางวิชาการ กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา(สว.)

 รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวว่า การแถลงข่าวในวันนี้เนื่องจากพบว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยเรื่องที่มาของ สว. มีปัญหาอย่างมากทางกฎหมาย ในฐานะนักสอนกฎหมายเห็นว่าไม่สามารถปล่อยให้คำแถลงออกไปสู่สาธารณชนโดยไม่ถูกต้องได้ สำหรับคำวินิจฉัยนี้เห็นว่าคำวินิจฉัยมีปัญหาอย่างร้ายแรงหลายประการ ทั้งเขตอำนาจศาลและความบกพร่องในการวินิจฉัย

 รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้รับการจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญนั้น เป็นองค์กรของรัฐที่จัดอยู่ในหมวดศาล เหมือนกับศาลอื่น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องใดนั้นย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถก่อตั้งอำนาจของตนขึ้นด้วยตัวเองได้ ในการพิจารณาพิพากษาคดีศาลรัฐธรรมนูญต้องสำรวจตรวจสอบในเบื้องต้นเสียก่อนว่าคดีที่มีผู้ร้องมานั้นอยู่ในเขตอำนาจที่ตนจะรับไว้พิจารณาหรือไม่หากไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาพิพากษาคดีในเรื่องนั้นแล้วศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น

 แต่ในคำวินิจฉัยเมื่อวันที่20 พ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของตนตามหลักการข้างต้น แต่กลับอ้างอิงหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อยและหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองและใช้การอ้างอิงที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนดังกล่าวนั้นไปเชื่อมโยงกับ“หลักนิติธรรม”ตามมาตรา 3 วรรคสอง เพื่อสถาปนาอำนาจของตนในการตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านบทบัญญัติมาตรา 68  ซึ่งไม่ได้เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สามารถตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้แต่อย่างใด

 รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวต่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลไกหนึ่งที่สร้างหลักประกันให้เสียงข้างน้อยได้ใช้เป็นช่องทางในการตรวจสอบเสียงข้างมากแต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องช่วยสนับสนุนให้เสียงข้างน้อยบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการเสมอตามหลักของการจัดโครงสร้างองค์กรของรัฐตามรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีฐานะเป็น“ผู้แทน” ของเสียงข้างน้อย แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็น “คนกลาง” ซึ่งมีหน้าที่ต้องคุ้มครองเจตจำนงของเสียงข้างมากและประกันเสรีภาพของเสียงข้างน้อย 

 การที่ศาลรัฐธรรมนูญพรรณนาหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยการตรวจสอบถ่วงดุลและการคุ้มครองเสียงน้อยอย่างยืดยาวและสรุปอย่างง่ายๆโดยนัยว่าเสียงข้างน้อย “ไม่มีที่อยู่ที่ยืน” โดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงใดมาสนับสนุนว่าในขณะนี้ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลเสียงข้างมากหรือไม่คุ้มครองเสียงข้างน้อยจน“ไม่มีที่อยู่ที่ยืน”อย่างไรที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญต้องตระหนักและสำนึกว่าการออกแบบโครงสร้างของสถาบันการเมืองว่าจะมีลักษณะอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของประชาชนและองค์กรทางการเมืองที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดโครงสร้างของสถาบันการเมืองให้เป็นไปตามทัศนะของตน

 รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวอีกว่าในส่วนคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้างหลักนิติธรรมอย่างเลื่อนลอยเพื่อสร้างอำนาจให้ตนเองเข้าควบคุมเสียงข้างมาก จนทำให้ความต้องการของเสียงข้างน้อยบรรลุผลนั้น ไม่ใช่การปรับใช้ “หลักนิติธรรม” เพื่อคุ้มครองเสียงข้างน้อย แต่เป็นการช่วยเหลือเสียงข้างน้อย จนมีผลทำลายเจตจำนงของเสียงข้างมาก เบียดขับให้เสียงข้างมาก “ไม่มีที่อยู่ที่ยืน” และสถาปนา “เผด็จการของเสียงข้างน้อย” ขึ้นในที่สุด

 รศ.ดร.วรเจตน์กล่าวอีกว่า กรณีมีบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 นั้น หากมีผู้ทราบเรื่องสามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวแต่ปรากฏว่าเมื่อมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในมาตรานี้ศาลรัฐธรรมนูญกับรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาทั้งๆที่ในมาตรา 68 วรรค 2 กำหนดให้ บุคคลต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน 

 ภายหลังอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีมูลอัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งในคดีนี้ไม่มีการยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุดแต่เป็นการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็รับคาร้องไว้พิจารณาทั้งๆที่ตามข้อเท็จจริง ผู้ร้องไม่ได้เสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุดตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ และการที่ศาลรัฐธรรมนูญตำหนิรัฐสภาว่าแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกระบวนการขั้นตอน แต่เมื่อพิจารณาการรับคำร้องในคดีนี้ของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นศาลรัฐธรรมนูญเองต่างหากที่ไม่เคารพกระบวนการขั้นตอนก่อนการยื่นคำร้องดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา68 

 อีกทั้งคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ได้เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพกระทำการของบุคคลอันเป็นวัตถุแห่งคดีตามบทบัญญัติในมาตรา68แต่อย่างใดด้วยเหตุนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และสถาปนาอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ขึ้นมาเอง โดยที่ไม่มีอำนาจรับคำร้องดังกล่าวไว้

 จึงเป็นการขยายแดนอำนาจออกไปจนศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐมีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลงก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดความร้ายแรงดังกล่าวย่อมส่งผลให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญนี้เสียเปล่าและไม่มีผลใด ๆ ในทางกฎหมาย

 ด้านดร.ปิยบุตร กล่าวว่า รูปแบบโครงสร้างคำวินิจฉัยในครั้งนี้เหมือนกระทู้ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งคำตัดสินเป็นการพรรณนาความที่โจมตีเสียงข้างมากในรัฐสภา ส่วนที่บอกว่าเสียงข้างน้อยไม่ได้รับการคุ้มครองนั้นมันมีตรงจุดไหน ศาลรัฐธรรมนูญสามารถยืนยันได้หรือไม่ ระยะหลังคดีที่เกี่ยวพันกับทางการเมือง จะมีเทศนาสั่งสอนฝ่ายการเมือง ซึ่งการพรรณนาไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมายที่จะนำมาตัดสินคดี

 ดร.ปิยบุตรกล่าวว่า ในส่วนของการพิจารณาคดียังมีความบกพร่องในส่วนที่เกี่ยวกับองค์คณะของตุลาการผู้พิจารณาคดี ซึ่งในชั้นของการรับคำร้องไว้พิจารณานั้น นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการที่นั่งพิจารณาคดียังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตาแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 ฉะนั้นต้องถือว่านายทวีเกียรติไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องคดีนี้ไว้เมื่อนายทวีเกียรติไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องไว้จึงไม่สามารถร่วมวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ได้เริ่มต้นไปแล้วก่อนที่ตนจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้การออกเสียงลงในคะแนนในประเด็นแห่งคดีของนายทวีเกียรติจึงไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากยอมให้ตุลาการที่ไม่ได้เป็นองค์คณะในชั้นรับคำร้องไว้พิจารณา ได้เข้าร่วมเป็นองค์คณะในชั้นวินิจฉัยคดี กรณีอาจส่งผลให้มติในคดีเปลี่ยนแปลงไปได้

 ดร.ปิยบุตรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีตุลาการ 3 คน คือนายนุรักษ์ มาประณีต นายจรัญ ภักดีธนากุล เคยดำรงตำแหน่งส.ส.ร. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ เคยเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจรัญ ภักดีธนากุล ได้เคยอภิปรายในการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 30/2550 วันที่ 22 มิ.ย.50 แสดงความคิดเห็นสนับสนุนการได้มาซึ่งสว.สรรหา จึงถือว่า นายจรัญ มีเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคดีไม่เป็นกลาง นายจรัญจึงไม่สามารถเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการวินิจฉัยคดีนี้ได้ 

ที่สำคัญนายทวีเกียรติและนายจรัญยังได้ลงมติเป็นเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ในประเด็นที่ว่าเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 68 วรรค 1 ดังนั้นหากนายทวีเกียรติ และนายจรัญ ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ได้ จะทำให้มติเสียงข้างมากดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นเสียงข้างน้อยคือ 3 ต่อ 4 เสียง

ดร.ปิยบุตรกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรคหนึ่ง เพราะร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอนั้น ไม่ใช่ร่างที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรนั้น ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ หลังจากที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภาแล้วไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขหลังจากนั้นอีกแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ประธานรัฐสภาได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไปให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนและสมาชิกรัฐสภาทุกคนก็ได้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นฐานในการพิจารณาลงมติวาระที่1ขั้นรับหลักการไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกรัฐสภาคนใดใช้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับอื่นนอกจากฉบับที่ประธานรัฐสภาได้ส่งไปให้ในการพิจารณาลงมติและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอีกเช่นกันว่าสมาชิกรัฐสภาผู้เข้าชื่อยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโต้แย้งว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งเป็นฐานในการพิจารณานั้นไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ตนร่วมเสนอกรณีจึงถือไม่ได้ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้มีความบกพร่อง

ดร.ปิยบุตรกล่าวอีกว่าในส่วนของประเด็นการกำหนดวันในการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภาภายหลังการรับหลักการในวาระที่1 นั้น เมื่อพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2553 ข้อ 96 ได้กำหนดให้สมาชิกรัฐสภาที่เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้สมาชิกผู้นั้นเสนอคำแปรญัตติล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อตามข้อเท็จจริง

 ปรากฏว่าในการประชุมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 เม.ย.56 ได้มีการลงมติให้ใช้กำหนดเวลาในการเสนอคำแปรญัตติภายใน 15 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.-19 เม.ย. 56 ไม่ได้มีการลงมติให้กำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นระยะเวลาในการเสนอคำแปรญัตติจึงเป็นไปตามที่ข้อบังคับการประชุมได้กำหนดเอาไว้ ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจของประธานรัฐสภาให้มีการนับเวลาย้อนหลังตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแต่อย่างใดนอกจากนี้สิทธิในการแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภานั้นได้เริ่มขึ้นทันทีนับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการไม่ใช่มีเวลาให้สมาชิกรัฐสภาเสนอคำแปรญัตติเพียง 1 วัน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวไว้

ดร.ปิยบุตร ขยายความต่อว่า สำหรับการตัดสิทธิผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็นในการอภิปรายวาระที่ 2 จำนวน 57 คนนั้น เมื่อพิจารณาเนื้อหาคำเสนอแปรญัตติของบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่ถูกตัดสิทธินั้นเห็นได้ชัดเจนว่าขัดต่อหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 มาแล้ว จึงเป็นการเสนอคำแปรญัตติที่ต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ข้อ 96 วรรค 3 กรณีนี้จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

 นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ยังกล่าวถึงประเด็นการเสียบบัตรแทนกันว่าคำวินิจฉัยในส่วนนี้สมควรชี้ให้เห็นเป็นข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นฐานในการพิจารณานั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากผู้ร้อง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดี โดยที่ไม่ได้มีการรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้อง ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ถูกร้องปฏิเสธอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ จึงไม่ได้เข้ามาในกระบวนพิจารณา ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลฟังเป็นยุติดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ผ่านการโต้แย้ง หรือถูกหักล้างจากผู้ถูกร้อง และอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ 

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้จริง คือ มีการแสดงตนและเสียบบัตรแทนกันโดยสมาชิกรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าบุคคลที่ไม่อยู่ในที่ประชุมรัฐสภา ณ ขณะนั้นและให้ผู้อื่นลงมติแทนโดยการเสียบบัตรเป็นบุคคลใด และมีจำนวนเท่าใด ซึ่งย่อมทำให้การลงมติเฉพาะในนามของบุคคลนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่มีผลทางกฎหมาย 

 ส่วนบุคคลที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าลงมติแทนผู้อื่นก็ย่อมต้องมีความรับผิดเป็นส่วนตัวตามกฎหมายต่อไปอย่างไรก็ดีการกระทำผิดของสมาชิกรัฐสภาเพียงบางคนย่อมไม่สามารถทำลายการแสดงเจตนาลงมติโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆที่ได้กระทำการไปในนามของผู้แทนปวงชนชาวไทยจนถึงขนาดทำให้กระบวนการลงมติของรัฐสภาในกรณีนี้กลายเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ 

 การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การกระทำผิดของสมาชิกรัฐสภาจำนวนเพียงเล็กน้อยมีผลเป็นการทำลายการลงมติของสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ที่กระทำการโดยชอบเช่นนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีผลเป็นการทำลายการปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาคนอื่นซึ่งดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ลงในที่สุด

 ขณะที่ผศ.ดร.จันทจิรา กล่าวว่า ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขเรื่องที่มาและคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภามีลักษณะเป็นการกระทำพื่อให้ได้มาซึ่งอานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่าในระบอบประชาธิปไตยการออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการเมืองตลอดจนองค์กรตามรัฐธรรมนูญย่อมเป็นอำนาจของประชาชน 

 ในแง่นี้ประชาชนย่อมเป็นผู้แสดงเจตจำนงกำหนดที่มาคุณสมบัติและลักษณะของสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ซึ่งประชาชนอาจใช้อำนาจนั้นโดยตรงผ่านการออกเสียงประชามติ หรือผ่านผู้แทน เช่น สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจใดๆในการเข้ามาชี้นำหรือกำหนดโครงสร้างของสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กล่าวโดยเฉพาะกับกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ในการกำหนดบังคับไว้ในคำวินิจฉัยว่าประเทศไทยควรมีวุฒิสภาหรือไม่ หรือหากมีวุฒิสภา การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นไปด้วยวิธีการใด

 ผศ.ดร.จันทจิรากล่าวต่อว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างว่าการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลจึงทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา และศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การกำหนดไว้เช่นนี้เป็นเจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งส่งผลให้ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ก็ตาม 

 การกล่าวอ้างเช่นนี้ก็เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีฐานของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับเนื่องจากหากผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้วุฒิสภาประกอบไปด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจำนวนหนึ่งไปตลอดกาลก็ต้องบัญญัติห้ามมิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนวิธีการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา

 แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วเห็นได้ว่า มาตรา 29 (1) วรรคสอง ห้ามไม่ให้มีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐเท่านั้น

 การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาไม่อาจกระทำได้เนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดข้อห้ามไม่ให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเองตามอำเภอใจ

 หากปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญกระทำการในลักษณะเช่นนี้ต่อไปได้ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรื่องใดสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้และบทบัญญัติในเรื่องใดไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ถึงแม้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากจะเห็นว่าควรคงรูปแบบของวุฒิสภาคงเดิมไว้คือให้มีสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งมีที่มาจากการสรรหา ก็เป็นความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตุลาการผู้นั้น ซึ่งอาจโต้แย้งถกเถียงกันได้ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมจะเอาความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตน เข้าแทนที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแล้วนำมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามความคิดเห็นและรสนิยมทางการเมืองของตนไม่ได้

 นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ขยายความต่อว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ารัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 แก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยห้ามไม่ให้เป็นบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นอิสระจากการเมืองและพรรคการเมือง และเพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 การที่สมาชิกรัฐสภาตามคำร้องในคดีนี้แก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาโดยตัดลักษณะต้องห้ามดังกล่าวออกไปเป็นการทำให้วุฒิสภากลับกลายไปเป็นสภาญาติพี่น้องสภาครอบครัวหรือสภาผัวเมีย สูญสิ้นสถานะและศักยภาพแห่งการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร ทำลายสาระสำคัญของการมีสองสภา เห็นว่าประเด็นคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญอันจะแก้ไขไม่ได้

 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางอยู่บนเหตุผลข้างต้นก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นแน่นอนเสมอไปเพราะวุฒิสภาก็เป็นเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรที่อาจจะมีบุพการีคู่สมรสหรือบุตรของสมาชิกต่างสภาหรือสภาเดียวกันลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งในช่วงเวลาเดียวกันหรือไม่ก็ได้และเมื่อการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่ประชาชนชาวไทย 
นิติราษฏร์อัดศาลรธน. ลุอำนาจเหยียดหยามปชช. ชี้ไม่มีอำนาจตัดสินคดี


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์