นายกฯเร่งล่าจักรภพกบดานไม่เลิกจ้อสื่อ ปชป.ประเมิน4ความเสี่ยงปลดชนวนไม่สงบปรับคนในพรรคลดเติมไฟ


"มาร์ค"ทำงานวัแรก-รปภ.เข้ม ติดตามม็อบแดง เร่งหา"จักรภพ"กบดานให้ข่าวสื่อนอก "สุเทพ" ยันเอาคนผิดกม.ไม่ต่อรอง มท.1ชี้เปิดคลิปชุมนุมฉายหนังซ้ำ "สาทิตย์"โบ้ยเปิดดีสเตชั่นต้องกทช. ปชป.ประเมิน4ความเสี่ยงไม่สงบ แนะรบ.3 เรื่องปลดชนวนขัดแย้ง เล็งปรับท่าทีคนในพรรคลดเติมไฟ

"มาร์ค" ลุยงานแรก-รปภ.เข้ม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังคงวางมาตรการเข้มข้นในการรักษาความปลอดภัยตลอดเวลาในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ หลังจากประกาศยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ที่มีความร้ายแรงในท้องที่ กทม.และปริมณฑล ไปเมื่อเวลา 12.00 น. ของวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา โดยภารกิจแรกนายอภิสิทธิ์ ไปเป็นประธานเปิดการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิคเอเชีย 22 ประเทศ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 เมษายน ที่อาคารสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ซึ่งขบวนนายกฯยังคงใช้รถเมอร์ซิเดสเบนซ์ เอส 600 สีดำ กันกระสุน ทะเบียน ชพ 1420 กทม. ของศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.)

นอกจากนี้ยังมีรถมอเตอร์ไซค์นำขบวน จากทั้งตำรวจและทหาร 2 คัน ตามด้วยรถโตโยต้าแคมรี่ทะเบียนตรากงจักรของทหาร รถโตโยต้าพลาโดประกบหน้าหลังรถนายกฯ ตามด้วยรถโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ปิดท้าย โดยมีกำลังทหารจากกองพันทหารราบที่ 21 ค่ายนวมินทราชินี (ร.21 รอ.) หรือ ทหารเสือราชินี ซึ่งมาสับเปลี่ยนแทนชุดของ ศรภ.เดิม ร่วมขบวนนายกฯกว่า 20 นาย ไม่รวมชุดล่วงหน้า ที่มาวางกำลังรักษาความปลอดภัยอีก 20 นาย รวมถึงตำรวจท้องที่จาก สน.บางเขน อีกนับ 100 นาย คอยดูแลความปลอดภัยตามจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย และภายในตัวอาคารอย่างเข้มงวด

เมื่อมาถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ต้อนรับ ขณะที่นายอภิสิทธิ์มีสีหน้ายิ้มแย้ม และร่วมถ่ายภาพกับตัวแทนนักเรียนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นกันเอง ส่วนช่วงเดินทางกลับ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแจ้งสื่อมวลชนไม่ให้ติดตาม โดยขอ ว.5 (ปฏิบัติภารกิจเป็นการส่วนตัว) รวมใช้เวลาปฏิบัติภารกิจ 40 นาที

ติดตามม็อบแดงสนามหลวงใกล้ชิด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวก่อนเดินทางกลับถึงการติดตามสถานการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ท้องสนามหลวง ว่า ยังไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ให้ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คงไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไม่ติดตามสถานการณ์หรือไม่ต้องเฝ้าระวังเหตุการณ์ต่างๆ เพียงแต่จะไม่มีการใช้อำนาจพิเศษได้เท่านั้น ทราบดีว่าเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปอาจทำให้มีที่ตกค้างอยู่ ก็พยายามที่จะดูแลทำความเข้าใจ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ต่างๆ ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ กำชับเจ้าหน้าที่ไปว่า ให้ช่วยดูแลว่าทุกอย่างเรียบร้อย

ส่วนการให้แกนนำเสื้อแดงประกันตัวออกไปจะเติมเชื้อสถานการณ์หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาทั้งหมด ไม่ได้เป็นการไปไล่ล่า หรือไม่ให้ใช้สิทธิทางการเมือง แต่เป็นการใช้เพื่อให้เกิดความสงบ หลังจากเกิดเหตุจลาจลและการกระทำที่ผิดกฎหมาย เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป ทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก็หวังว่าทุกคนจะเคารพกฎหมาย เพราะทุกคนมีบทเรียนแล้วว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา ไม่ได้แค่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ความเครียด ความสุขของคนไทยที่ได้รับผลกระทบ

"วันนี้รัฐบาลได้ดำเนินการทุกอย่างอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาแก้ไขปัญหาที่อาจจะค้างคาใจอยู่ ทั้งเรื่องมีอะไรเกิดขึ้นในเหตุการณ์บ้าง และการเดินไปข้างหน้า ก็ขอให้ไปใช้เวทีตรงนั้นเป็นหลัก ส่วนการจะแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง ก็ทำได้ แต่ควรคำนึงถึงการดูแลและช่วยกันทำให้บ้านเมืองไม่ย้อนกลับไปสู่ความรุนแรงอีก"

เร่งหา"จักรภพ"กบดานให้ข่าวสื่อนอก

เมื่อถามว่าห่วงการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงจะบานปลายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงจะติดตามตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด และจะคลี่คลายสถานการณ์ไป เชื่อว่าทุกคนที่มาชุมนุมจะทราบว่าวันนี้สังคมคนไทยส่วนใหญ่ และประเทศ ต้องการอะไร ส่วนจะมีการใช้ความรุนแรงในอนาคตหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่มีข่าวเฉพาะเจาะจงไปในลักษณะนั้น มีแต่เพียงการให้สัมภาษณ์ของแกนนำเท่านั้น

ส่วนกรณีที่นายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำเสื้อแดงหลบหนีไปต่างประเทศและให้สัมภาษณ์ปลุกปั่นสถานการณ์อยู่ จะดำเนินการอย่างไร นายกฯกล่าวว่า ก็ติดตามตัวอยู่ แต่ไปให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศโดยที่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ส่วนกรณีตำรวจจับกุมชายฉกรรจ์ 6 คน พร้อมอาวุธปืน เอ็ม 16 ที่สถานีขนส่งหมอชิตนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เห็นข่าวอยู่ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์หรือไม่ ต้องให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนการปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ จะพยายามปฏิบัติภารกิจตามปกติ แต่ช่วงนี้ก็จะคล้ายกับช่วงแรกที่เข้ามา คือทำให้ต้องไปทบทวนในเรื่องมาตรการในการฟื้นฟูต่างๆ ดังนั้น เวลาอาจจะต้องเสียไปกับการประชุมในส่วนกลางค่อนข้างเยอะ แต่จะพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ครอบคลุมครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เมื่อถามว่าในวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคม จะไปร่วมงานที่ท้องสนามหลวงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะดูกำหนดการกันอีกที

"สุเทพ" ยันเอาคนผิดกม.ไม่ต่อรอง

เวลา 12.00 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์รายการเก็บตกจากเนชั่น ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี ถึงการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บริเวณท้องสนามหลวงว่า ไม่รู้สึกเป็นห่วงอะไร ตำรวจต้องดูแล หากมีการทำผิดกฎหมายหรือขึ้นเวทีแล้วทำให้เกิดความวุ่นวายก็ต้องจับกุมตัวทันที ส่วนตัวมองในแง่ดีว่าเหตุการณ์จะไม่มีอะไรรุนแรง เพราะนายกรัฐมนตรีได้แสดงแนวทางที่ชัดเจนการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าภายหลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วจะยกเลิกขอออกหมายจับในคดีต่างๆ หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า คดีความแยกออกเป็น 2 ประเภท 1.คดีอาญา เช่น การบุกรุกสถานที่ราชการ ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ ทุบรถนายกฯ พยายามฆ่า ฯลฯ ต้องดำเนินการต่อไป และ 2.คดีที่เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ระหว่างพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ส่วนกรณีที่แกนนำคนเสื้อแดงเรียกร้องให้คืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมดีสเตชั่นนั้น เป็นเรื่องที่ตำรวจจะไปพิจารณาว่าสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่

เมื่อถามว่าแกนนำคนเสื้อแดงยื่นข้อเสนอว่าหากยกเลิกคดีทั้งหมดจะยุติชุมนุม นายสุเทพกล่าวว่า"การทำผิดกฎหมายไม่มีเงื่อนไขการต่อรอง ผิดต้องว่าไปตามผิด ไม่ผิดก็คือไม่ผิด นายกฯพูดชัดแล้วว่ารัฐบาลไม่มีความประสงค์จะไปไล่ล่าใคร ดังนั้นใครไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องกังวลใจ" นายสุเทพกล่าว

มท.1ชี้เปิดคลิปชุมนุมฉายหนังซ้ำ

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การที่คนเสื้อแดงจะนำคลิปวิดีโอการสลายการชุมนุมมาเปิดให้ผู้ร่วมชุมนุมชมนั้น ไม่น่าเป็นห่วงเพราะคลิปส่วนใหญ่เปิดเผยในที่ประชุมร่วม 2 สภา ประชาชนได้เห็นหมดแล้ว ถ้าจะมีการเปิดในที่ชุมนุมก็เป็นเพียงการฉายหนังซ้ำเท่านั้น คิดว่าไม่มีอะไรเลวร้ายกว่าที่ผ่านมา และถ้าเป็นไปได้รัฐบาลขอวิงวอนไม่ให้มีการชุมนุมเพื่อสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะให้ความมั่นใจในสังคมอย่างไรว่าไม่มี 2 มาตรฐาน นายชวรัตน์กล่าวว่า คำว่า 2 มาตรฐานพูดยาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน การกำหนดวัดว่าเป็นมาตรฐานเดียวหรือ 2 มาตรฐานก็เป็นเรื่องที่กำหนดยาก ด้วยความสัตย์จริงรัฐบาลไม่เคยคิดว่าจะช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยถือว่าทุกฝ่ายมีสิทธิเท่าเทียมกันหมด เพราะเป็นประชาชนคนไทยที่ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน

"สาทิตย์"โบ้ยเปิดดีสเตชั่นต้องกทช.

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงเรียกร้องให้เปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมดีสเตชั่นอีกครั้ง หลังมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าดีสเตชั่นไม่ได้ถูกปิดโดยอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถูกปิดโดยการดำเนินการของตำรวจและตัวแทนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ส่วนการยุติการส่งสัญญาณดาวเทียม ของบริษัท ไทยคม จำกัด ก็มาจากความสมัครใจของบริษัทเองที่ยอมตัดสัญญาณหลัง กทช.ส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงว่าสถานีดังกล่าวได้ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ในทางปฏิบัติจึงถือว่าดีสเตชั่นไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว

นายสาทิตย์กล่าวว่า แต่ถ้าใครต้องการขอเปิดดีสเตชั่นอีกก็ต้องยื่นคำร้องต่อ กทช.ตามกระบวนการ เนื่องจากทราบว่ามีการร่างข้อบังคับเกี่ยวกับการเปิดทีวีดาวเทียมและวิทยุชุมชนเสร็จแล้ว เมื่อถามว่าข้อบังคับดังกล่าวจะครอบคลุมถึงสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมที่ออกอากาศอยู่ในขณะนี้ อย่างเอเอสทีวี และเนชั่นทีวีหรือไม่ นายสาทิตย์กล่าวว่า ต้องไปดูข้อบังคับของ กทช.ก่อน เพราะเป็นการออกมาชั่วคราวก่อนที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่จะมีผลบังคับใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ทางสถานีดีสเตชั่นได้ขึ้นทางหน้าจอก่อนตัดสัญญาณภาพว่า ขออภัยทางสถานีดาวเทียมไทยคมมีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณ ดีสเตชั่นตามคำสั่งของประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ปชป.ประเมิน4ความเสี่ยงไม่สงบ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า พรรคประเมินว่าสถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลายและดีขึ้นตามลำดับ เชื่อว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันรักษาบรรยากาศความสงบต่อไปและเดินหน้าอีกครั้งหนึ่ง พรรคขอสนับสนุนการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประเมินว่าขณะนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่อย่างน้อย 4 ด้าน 1.การบิดเบือนข้อเท็จจริงจากการควบคุมความไม่สงบกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยใช้หลักฐานที่ไม่ปรากฏแหล่งที่มา ทั้งเรื่องผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงการกล่าวหาว่ามีการทำลายหลักฐานเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต 2.แม้จะไม่ให้สื่อที่เป็นกำลังหลักในการยุยงให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองออกอากาศแล้ว แต่ยังมีการใช้สื่อประเภทอื่น เช่น อินเตอร์เน็ต ใบปลิว ในการปลุกระดม มีการเผยแพร่ชื่อ รูป ที่อยู่ ของบุคคลในรัฐบาลรวมถึงครอบครัวของนายกรัฐมนตรี ที่อาจทำให้เกิดการคุกคามความปลอดภัยของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปป้องกันการใช้วิธีการดังกล่าว

นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า 3.การชุมนุมของกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดงอีกครั้งในวันที่ 25 เมษายน เป็นห่วงว่าอาจมีแกนนำ นปช.ที่ยังหลบหนีการถูกควบคุมตัว และการจับกุมตัว จะแทรกซึมเข้ามาก่อเหตุรุนแรง และ 4.การเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายจักรภพ ที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ รัฐบาลเตรียมเจรจากับมิตรประเทศ ให้ช่วยกันรายงานการเคลื่อนไหวของบุคคลทั้ง 2

"พรรคขอขอบคุณการชุมนุมของ นปช.ที่จะไม่มีการสวมเสื้อสีใดสีหนึ่ง และไม่ใช้วิธีการโฟนอิน ช่วยลดบรรยากาศการเผชิญหน้าได้ในระดับหนึ่ง และยังหวังว่าจะไม่มีการยื่นคำขาดใดๆ เพื่อสร้างเงื่อนไขการเผชิญหน้าเพิ่มเติมอีก" นพ.บุรณัชย์กล่าว และว่า ยังอยากเรียกร้องให้ประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานที่ชุมนุมของ นปช.ว่าไม่ควรออกมาชุมนุมในเวลาเดียวกัน ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดเหตุซ้ำรอยเช่นชุมชนนางเลิ้งได้

แนะรบ.3 เรื่องปลดชนวนขัดแย้ง

นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า มั่นใจว่าปัจจัยเสี่ยงทั้ง 4 ด้านจะไม่นำไปสู่ชนวนความขัดแย้ง หากมีการดำเนินการต่อเนื่องใน 3 ด้าน 1.กระบวนการสะสางข้อเท็จจริงและประมวลเหตุการณ์ในการควบคุมสถานการณ์ เพื่อให้สร้างความมั่นใจกับประชาชนทุกกลุ่ม โดยจะต้องรายงานผลการตรวจสอบเป็นระยะๆ 2.กระบวนการปฏิรูปการเมือง โดยการมีส่วนร่วมเพื่อความสมานฉันท์ ซึ่งพรรคจะทำทุกอย่างให้กระบวนการนี้เดินหน้าต่อไปได้ และ 3.กระบวนการเร่งฟื้นความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ 1 เดือนที่จะถึง ซึ่งจะมีการประชุมอาเซียน +3 +6 ใหม่อีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ และประชุมเวทีความร่วมมือด้านความมั่นคงในเดือนกรกฎาคม ซึ่งนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ จะเดินทางมาร่วมประชุมด้วย ขณะเดียวกัน พรรคสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลที่จะเร่งทำโรดโชว์เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจ

เล็งปรับท่าทีคนในพรรคลดเติมไฟ

"แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือการพิสูจน์ข้อกล่าวหาเรื่องสองมาตรฐาน ทั้งคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้ง 204 คดี และคดีของ นปช.ทั้ง 130 คดี จะต้องดำเนินการอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคดีลอบสังหารนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี และนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตร ที่จะต้องคลี่คลายให้ได้โดยเร็ว และจะต้องเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไม่เลือกสีเสื้อ"

นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า ทั้งนี้ จะมีการหารือกันภายในพรรค เพื่อปรับท่าทีการให้สัมภาษณ์ของทั้งคนในพรรคและในรัฐบาล โดยจะลดการตอบโต้ทางการเมืองลงไป และจะเพิ่มการพูดจาเพื่อหาทางออกให้บ้านเมืองเท่านั้น เนื่องจากพรรคได้รับบทเรียนจากอดีต สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่มีแกนนำในรัฐบาลบางคนพูดเติมเชื้อไฟให้กับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร จนสามารถจุดกระแสคนเสื้อแดงที่กำลังมอดลง ให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้งได้
 
27เม.ย.ถก3ฝ่ายโมเดลกก.สอบม็อบ

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันที่ 27 เมษายน ว่า เพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา จะเป็นการหารืออย่างกว้างๆ ว่าคณะกรรมการมีเป้าหมายอะไร อำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะโมเดลคณะกรรมการว่าจะมีองค์ประกอบ และนำบุคคลจากที่ไหนมาร่วมบ้าง หลังได้ข้อสรุปแล้วจะให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงตามแต่งตั้งตามข้อบังคับข้อ 8 (5)

นายชินวรณ์กล่าวว่า องค์ประกอบคณะกรรมการ ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมาจาก ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส.ว. องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ฯลฯ แต่ไม่จำเป็นต้องมีแกนนำกลุ่มพันธมิตรหรือแกนนำคนเสื้อแดง เพราะไม่ใช่เวทีที่จะมาทะเลาะกัน แต่เชิญมาให้ข้อมูลภายหลัง

ชี้ไม่มีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลใด

"โดยคณะกรรมการชุดนี้จะหาข้อสรุปข้อสงสัยจากฝ่ายต่างๆ ทั้งเรื่องคนตาย รถแก๊สที่แฟลตดินแดง การทุบรถนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์ที่กระทรวงมหาดไทย และอาจรวมถึงว่าใครอยู่เบื้องหลังกลุ่มคนเสื้อน้ำเงินด้วย"

นายชินวรณ์กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีการทาบทามคนนอก หรือเชิญใครให้มาเป็นประธาน เพราะไม่อยากชี้นำและอยากให้คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ยืนยันว่าไม่ใช่เครื่องมือฟอกตัวของรัฐบาล สำหรับผลสอบของคณะกรรมการชุดนี้เป็นเพียงคำแนะนำว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไรต่อไปเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการสั่งลงโทษบุคคลใด

วิปวุฒิฯขอตั้งกก.สมานฉันท์อีกชุด

นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม เลขานุการคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรจะมีคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง เพราะคณะทำงานทั้งสองคณะนี้ยังไม่ตอบโจทย์เพียงพอ เนื่องจากคณะหนึ่งเป็นการศึกษาข้อเท็จจริง ส่วนอีกคณะหนึ่งเป็นการศึกษาข้อกฎหมาย แต่ยังไม่มีคณะกรรมการที่ศึกษามาตรการสร้างความสมานฉันท์ที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างแท้จริง จึงจะเสนอที่ประชุม 3 ฝ่ายตั้งคณะกรรมการสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาด้วย

"เสธ.อู้" เสนอปธ.2คณะ"ส.ว.-คนนอก"

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความเป็นกลางและลดการเผชิญหน้า ประธานคณะกรรมการทั้ง 2 คณะควรมาจากวุฒิสภาหรือคนนอก เพราะจะได้อยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

มีรายงานว่าขณะนี้กลุ่ม 40 ส.ว.ได้หารือเพื่อเสนอบุคคลเข้าร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วโดยอาจจะเสนอ 3 คน ได้แก่ นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และ นพ.วิรัตน์ พาณิชย์พงษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะอดีตประธานอนุกรรมาธิการตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาฯ เข้าร่วมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ต้องรอการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้ผ่านความเห็นชอบภายหลังการประชุมวิป 3 ฝ่ายต่อไป

ฝ่ายค้านให้ผลสอบ กก.เอาผิดได้

นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ฝ่ายค้าน กล่าวว่า  ในการประชุมวิป 3 ฝ่าย เพียงแต่จะเป็นการวางกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าจะสามารถเอาผิดทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดได้หรือไม่ เพราะหากเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวก็ไม่เป็นประโยชน์ เนื่องจากไม่สามารถทำอะไรได้ และหากเป็นเช่นนี้ก็มีกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบอยู่แล้ว คงไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากวิป 3 ฝ่ายเข้าไปตรวจสอบ แต่หากจะตั้งก็ควรมีตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิจากอัยการสูงสุด และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เข้าร่วมด้วย


"มทภ.1"งงถูกจับโยง-ข้องใจญาติ

ด้าน พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวถึงการเสียชีวิตของพลทหารอภินพ ภายในบ้านพักของแม่ทัพภาคที่ 1 ว่า ไม่ได้เกิดจากการฆ่า พลทหารนายดังกล่าวเสียชีวิตช่วงเช้าวันที่ 15 เมษายน ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จากการส่งศพชันสูตรที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าสมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแรง เพราะลื่นล้มในห้องน้ำในคืน วันที่ 14 เมษายน ส่วนนายกรัฐมนต รีและรองนายกรัฐมนตรี มาเข้าพักประมาณ วันที่ 11 หรือ 12 เมษายน

"ตอนแรกญาติของพลทหารอภินพไม่ได้ติดใจสงสัยใด แต่ภายหลังกลับออกมาให้สัมภาษณ์ ตนไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร รวมทั้งไม่ทราบเจตนาของนายจตุพร พรหมพันธุ์  ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ที่หยิบยกเรื่องนี้มาอภิปรายระหว่างการประชุมร่วมสองสภา จนทำให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง อย่างไรก็ตาม พร้อมให้มีการตรวจสอบ ทั้งนี้ บ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านที่ทางราชการจัดเตรียมให้ตน และอยู่ระหว่างการปรับปรุง และได้ให้พลทหาร 3 นาย ไปเฝ้าไว้ จนมาเกิดเรื่องดังกล่าว หลังเกิดเหตุพลทหารเสียชีวิตในบ้านหลังนี้ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะย้ายเข้าไปอยู่หรือไม่ เบื้องต้นคงต้องนิมนต์พระมาทำบุญก่อน" แม่ทัพภาค 1 กล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์