นายกฯรับมีจม.จากที่ปรึกษากษัตริย์เขมรส่งมาจริง


นายกฯรับมีจม.จากที่ปรึกษากษัตริย์เขมรส่งมาจริง "สุเทพ"ไม่รู้เรื่องจม."เจ้าชายกัมพูชา"ส่งถึง"มาร์ค"

"มาร์ค"สั่งลุยแสดงสิทธิพื้นที่ทับซ้อนพระวิหาร เจ้าชายเขมรส่งจม.เรียกร้องยุติขัดแย้ง-ร่วมมือพัฒนา

"มาร์ค"รับมีจม.จากที่ปรึกษากษัตริย์เขมรส่งมาจริง

เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 4 สิงหาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีที่ประเทศกัมพูชาเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ว่า ขณะนี้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ โดยรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนว่าเรื่องสำคัญคือการรักษาอธิปไตย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ  กองทัพ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงวัฒนธรรม จะต้องเข้ามาร่วม สำหรับการจะปูทางไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ นั้นหากกัมพูชายอมรับว่าการผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียวได้สร้างความตึงเครียดมากขึ้น และพร้อมที่จะมาพูดคุยในการที่จะทำอะไรร่วมกันก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะการแก้ปัญหาใดๆ เราต้องคำนึงถึงชีวิคความเป็นอยู่ของคนทั้ง 2 ฝั่งพรมแดนตรงนั้นด้วยในอนาคต แต่ยังไม่มีสัญญาณตรงนั้น


เมื่อถามถึงกรณีที่มีข่าวว่าเจ้าสีโสวัฒน์ โทมิโก ที่ปรึกษาในพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี กษัตริย์ของประเทศกัมพูชา ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เพื่อขอให้ทั้ง 2 ประเทศยุติความขัดแย้งและสร้างบรรยากาศในการสมานฉันท์กันในภูมิภาคเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว แต่ทราบว่ามีการส่งมาแล้วในช่วงดึกวันที่ 3 สิงหาคม เมื่อถามว่า เนื้อหาจดหมายมีการขอร้องให้มีการใช้กรณีของปราสาทพระวิหารเป็นสัญลักษณ์ของทั้ง 2 ประเทศ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าทำได้ก็ดี เพราะคุณค่าของตัวสถานที่และวัฒนธรรมจะถ่ายทอดมาสู่ประชาชนได้บนบรรยากาศของสันติภาพและความปรองดอง แต่การที่นำเรื่องนี้มาเดินในลักษณะที่จะสร้างความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเรื่องเขตแดนนั้น มันเป็นปัญหาอุปสรรค และไม่มีทางที่ประชาชนของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอม เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถยอมรับการจะใช้ตรงนี้ร่วมกันได้ ตนคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

"มาร์ค"เผยกัมพูชายังไม่ส่งสัญญาณเจรจาแก้ปมประสาทพระวิหาร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้รับสัญญาณจากทางกัมพูชาที่จะให้มีการเจรจาในกรอบความร่วมมือหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในกรณีปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร รวมทั้งยังไม่ได้รับหนังสือจากที่ปรึกษาของกษัตริย์กัมพูชาที่จะพยายามคลี่คลายความขัดแย้งทั้งเรื่องปราสาทพระวิหารและพื้นที่พิพาทอื่นๆ ตลอดแนวชายแดนตามที่มีกระแสข่าวว่าได้ส่งมาถึงไทย


อย่างไรก็ตาม หากทางไทยและกัมพูชาสามารถเจรจากันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ  ได้ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามที่จะแสดงออกให้เห็นว่าอยากให้การดำเนินการเรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานของสันติภาพและความปรองดองอยู่แล้วและยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงไปเจรจากับทางการกัมพูชา เพราะคณะกรรมการชุดที่เพิ่มจัดตั้งขึ้น มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานทำหน้าที่อยู่แล้ว


"ทางกัมพูชาควรจะยอมรับที่จะไม่มีการผลักดันการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว เพราะยังถือว่าเป็นการสร้างความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น แต่หากทางกัมพูชาให้การยอมรับหรือมีการพูดคุยกับฝ่ายไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี"

"สุเทพ"ไม่รู้เรื่องจม."เจ้าชายกัมพูชา"ส่งถึง"มาร์ค"ร่วมมือแก้ปมพระวิหาร

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ถึงกรณีเจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อโน้มน้าวให้ไทยกับกัมพูชา ร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ว่า ไม่ทราบเรื่องจดหมาย แต่ในหลักการประเทศไทยยึดหลักการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านด้วยความเข้าใจ ด้วยสันติ ไม่ต้องการให้มีความขัดแย้ง กรณีเขาพระวิหารเราไม่ได้โต้แย้งเรื่องตัวเขาพระวิหาร เราทำตามที่ศาลโลกได้ตัดสินเอาไว้


"แต่พื้นที่รอบเขาพระวิหาร ซึ่งยังเป็นพื้นที่กรณีพิพาท ก็ต้องหาวิธีการในการตกลงให้ได้ว่าเขตแดนอยู่ตรงไหกันแน่ หากทั้ง 2 ฝ่าย เร่งรัดทำงานเสร็จเร็วเท่าไรเขตแดนชัดเจนก็ไม่ต้องทะเลาะกัน ไม่ต้องขัดใจกัน แต่ระหว่างที่เขตแดนยังไม่เรียบร้อยมีหนทางไหนที่พูดคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งก็สมควรที่จะทำ" นายสุเทพ กล่าว

เจ้าชายเขมรร่อนจม.ถึง"อภิสิทธิ์"เรียกร้องยุติขัดแย้งร่วมมือพัฒนา

ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชารายงานเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมว่า เจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม เพื่อพยายามแก้ปัญหาการเผชิญหน้ากันในเรื่องสถานะของปราสาทพระวิหารและข้อขัดแย้งอื่นๆ บริเวณชายแดน


พนมเปญโพสต์รายงานว่า ในจดหมายที่ส่งมาจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เจ้าชายสีโสวัฒน์ ระบุว่าทั้ง 2 ประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากการยุติเรื่องดินแดนไว้ชั่วคราวเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในภูมิภาค


จดหมายฉบับดังกล่าวระบุว่า "การยกเรื่องการอ้างสิทธิเหนือเขตแดนเป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์ในการขุดคุ้ยหน้าประวัติศาสตร์ และเป็นการทำร้ายประชาชนของเราโดยการขัดขวางการเข้าไปลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่"


"ท่านนายกรัฐมนตรี ความปรารถนาสูงสุดของข้าพเจ้าคือการได้เห็นปราสาทพระวิหารคงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของการปรองดองกันระหว่างทั้ง 2 ชาติ ในฐานะความราบรื่น กลมกลืนในความสัมพันธ์ของเรา และในฐานะของรูปแบบความร่วมมือระหว่างเพื่อนบ้านที่ออกดอกผลอุดมสมบูรณ์" จดหมายระบุ


ขณะที่รายงานข่าวอีกชิ้นของพนมเปญโพสต์รายงานถึงคำกล่าวของซู วิลเลียมส์ โฆษกขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่กล่าวเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมถึงเรื่องนี้ว่าคณะกรรมการมรดกโลกไม่มีอำนาจที่จะรับรองสิ่งใดๆ ก็ตามและทำได้เพียงบันทึกถึงการได้รับแผนการบริหารจัดการของกัมพูชาเท่านั้น
 

"มาร์ค"สั่งเดินหน้าล็อบบี้4ปท.หลักปมปราสาทพระวิหาร


เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. รับทราบผลการประชุมผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศบราซิล ตามที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยรายงาน โดยครม. รู้สึกพอใจในการดำเนินการของนายสุวิทย์ อีกทั้งยังมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ โดยมีนายสุวิทย์เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2011 และหาช่องทางในการต่อสู้กับกัมพูชาต่อไป นอกจากนี้ครม. ยังมติให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในปี 2012 โดยมีประเทศกัมพูชาเสนอตัวเป็นคู่แข่งด้วย

นายปณิธานกล่าวต่อว่า นายกฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการชุดนายสุวิทย์เดินสายชี้แจงประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกในช่วง 1 ปีหลังจากนี้ ขณะนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปหลังคณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการรับรองแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทวิหารของกัมพูชาออกไป เพราะแสดงให้เห็นว่า ประเทศสมาชิกรับความกังวลใจของไทย และคิดว่าถ้าเดินหน้าต่อจะสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งและปะทะกันของพลเมือง 2 ประเทศมากขึ้น 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ท่าทีของไทยที่ขู่ถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิกยูเนสโก เป็นเหตุผลให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณากรณีปราสาทพระวิหารออกไปหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า ในรายงานที่นายสุวิทย์เสนอต่อครม. ได้อ้าง 3 ส่วนคือ 1. มติครม. เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2. ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และ 3. การกำหนดมาตรการแสดงสิทธิของฝ่ายไทย ซึ่งแสดงให้เห็นจุดยืนของประเทศไทยที่มีความเป็นเอกภาพ ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงและก้าวร้าวเกินความจำเป็นนั้น

“ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีเจตนารุกรานใคร แต่ต้องแสดงออกให้เห็นถึงการปกป้องอธิปไตยอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าการใช้มาตรการสุภาพเรียบร้อยไม่ได้ผล เราไม่ได้เตรียมจะรบ แต่เตรียมความพร้อมในส่วนของเรา ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเริ่มดำเนินการตามมาตรการแสดงสิทธิในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยกระทรวงการต่างประเทศจะย้ำจุดยืนของไทยอีกครั้ง ก่อนเข้าไปขอความร่วมมือในพื้นที่เรื่องการจัดการสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกระทรวงกลาโหมจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ต่อไป” นายปณิธานกล่าว

เมื่อถามว่า ในช่วง 1 ปี ประเทศหลักที่ไทยต้องล็อบบี้ให้ได้คือประเทศใด นายปณิธานกล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มการตัดสินใจของประเทศใหญ่ๆ ยังไม่ชัดเจน แต่หลายประเทศไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายไทย ขณะที่หลายประเทศก็ไม่ยอมแสดงจุดยืนเพราะไม่ต้องการทะเลาะกับไทย-กัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียด้วยกัน อย่างไรก็ตามมีประเทศขนาดใหญ่ 3-4 ประเทศที่ต้องล็อบบี้ให้ได้เพราะมีบทบาทในการอนุรักษ์มรดกโลก

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องล็อบบี้ประเทศฝรั่งเศสที่ให้การสนับสนุนกัมพูชาเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า   เขามีประวัติผูกพันกันมาและมีเครือข่ายข้อมูล ก็ต้องยอมรับว่าขณะนี้กัมพูชาเป็นฝ่ายได้เปรียบจากหลายเหตุผล อาทิ มีความเป็นเอกภาพมากกว่าเนื่องจากเปลี่ยนแปลงรัฐบาลน้อยกว่าไทย มีมติศาลโลกรับรองการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร มีประวัติผูกพันใกล้ชิดประเทศที่เคยล่าอาณานิคม เป็นประเทศมีศักยภาพพัฒนาน้อยกว่า ทำให้หลายประเทศเห็นใจ

"สุวิทย์"ยันไม่เสียค่าโง่เซ็นตั้งไอซีซีทำเสียเปรียบ ชี้ปีหน้าปมพระวิหารยากขึ้น

เมื่อเวลา 13.50 น. วันที่3 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยที่เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่นครบราซิเลีย ประเทศบราซิล แถลงชี้แจงกรณีกลุ่มพันธมิตรระบุว่า ไปลงนามในเอกสารตั้งคณะกรรมการบริหารพื้นที่ร่วม (ไอซีซี) จนทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชา ในการคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ว่า เอกสารที่ตนลงนามไป เป็นเพียงข้อมติที่ประธานการประชุมร่าง (Draft) มาให้ลงนามเท่านั้น เหตุที่ตนลงนามเพราะพิจารณาแล้วไม่มีข้อผูกพัน ทั้งทางเขตแดนและทางกฎหมาย

               
นายสุวิทย์ กล่าวว่า เนื้อหาทั้ง 5 ข้อในร่างดังกล่าว ไม่มีข้อไหนระบุว่าได้พิจารณาเรื่องการตั้งไอซีซี แถมยังเปลี่ยนข้อความจากคำว่า "ได้พิจารณา" มาเป็น "ได้รับ" เอกสารจากกัมพูชาแทน เพราะไม่มีกรรมการมรดกโลกคนไหนได้รับเอกสารฉบับเต็มจากทางกัมพูชาก่อนวันประชุม 6 สัปดาห์ตามข้อบังคับแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ในร่างดังกล่าวยังระบุให้เลื่อนวาระปราสาทพระวิหารไปพิจารณาในการประชุมที่ประเทศบาห์เรน ปี 2554 ด้วย โดยเนื้อหาร่างข้อมติดังกล่าว ต่างจากเนื้อหาในเอกสารฉบับย่อ 7 ข้อที่ทางกัมพูชาเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก และมีผลผูกพันทางกฎหมายชัดเจน


"สถานะทุกอย่างไม่เปลี่ยนไปจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเมื่อ 2 ปีก่อนที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ที่มีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และให้ตั้งไอซีซี แต่ไทยทำหนังสือคัดค้านมาตลอด ตั้งแต่การประชุมที่เมืองเซบีย่า ประเทศสเปน ในปี 2552 จนถึงครั้งนี้ และเงื่อนไขการตั้งไอซีซี จะต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ตราบใดที่ไทยยังไม่ยอมรับ ก็ตั้งไม่ได้ ยืนยันผมจะไม่ทำให้ไทยเสียค่าโง่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลนี้ แต่เกิดจากรัฐบาลชุดก่อน ที่เราต้องมาตามแก้ไข" นายสุวิทย์กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่นายซก อาน รองนายกฯกัมพูชานำมติดังกล่าวไปประกาศชัยชนะ นายสุวิทย์ กล่าวว่า นายซก อานคงพูดไปเพราะหวังผลทางการเมืองในประเทศ ถ้าเป็นชัยชนะของกัมพูชาจริง เหตุใดร่างข้อมติดังกล่าวจึงต่างจากที่กัมพูชาเสนอทุกอย่าง ตนไม่เคยบอกเป็นชัยชนะของไทย แค่บอกว่าเป็นความสำเร็จที่ทำให้เลื่อนการพิจารณาออกไปได้ ทั้งนี้ครม.ได้แต่งตั้งให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการพิเศษ เพื่อรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้ใช้ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งต่อไป  เชื่อว่าจะยากเย็นกว่าครั้งนี้แน่ ยอมรับว่าหนักใจ เพราะคนไทยไม่มีเอกภาพ


เมื่อถามว่าการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งต่อไปไทยจะได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องฉบับเต็มจากทางกัมพูชาเมื่อใด นายสุวิทย์ กล่าวว่า ตามหลักการควรจะได้ก่อนวันที่ 1 ก.ย.แต่การประชุมที่บราซิล ก็ไม่มีใครได้เอกสารฉบับเต็มก่อนแม้แต่คนเดียว ซึ่งการประชุมครั้งหน้าอย่างน้อยที่สุดฝ่ายไทยต้องได้เอกสารจากกัมพูชา ทั้งนี้โดยหลักการการจะขึ้นทะเบียนสถานที่ใดซึ่งอยู่ระหว่าง 2 ประเทศเป็นมรดกโลก ต้องให้มีการปักปันเขตแดนชัดเจนก่อน ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วม (เจบีซี) ดำเนินการ เชื่อว่าใช้เวลาไม่น้อย ไม่เช่นนั้นขึ้นไปก็ทำให้เกิดข้อพิพาท จนอาจก่อสงคราม


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์