นายกฯปัดขัดแย้งชุมพลปมพระปกเกล้าฯปฏิรูปการเมือง รมช.คมนาคมยันจุดยืนหัวหน้า ชทพ.ต้องแก้รธน.


"นายกฯ" ปฏิเสธขัดแย้ง "ชุมพล" ไม่เห็นด้วยสถาบันพระปกเกล้าปฏิรูปการเมือง รมช.คมนาคม ลั่นไม่ต้องหารือพรรคร่วม ชี้เป็นจุดยืนหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาต้องการแก้รธน."ปชป.ตั้งคณะทำงานพร้อมต่อสู้คดีปมเงิน 258 ล.กกต.ขอเวลา 1 สัปดาห์ตรวจเอกสารดีเอสไอ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม กรณีพรรคชาติไทยพัฒนาไม่เห็นด้วยกับการให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นตัวกลางในการปฏิรูปการเมือง ว่า ได้พูดคุยกับนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา และได้ขอแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในที่ประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา โดยสิ่งที่นายชุมพลพูดกับสิ่งที่ตนเสนอไปก็ไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะการดูภาพใหญ่ของการปฏิรูปการเมือง ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เวลานาน หรือทำเพียงครั้งเดียว หากมีบางประเด็นที่สามารถทำได้ก่อนก็ไม่ได้ปฏิเสธ ซึ่งสิ่งที่นายชุมพลต้องการก็คือเอาเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาปรับแก้อย่างไรก็สามารถทำได้ หรือระยะแรกทำอย่างไรแล้ว ระยะที่สองมีอะไรเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน เพียงแต่นายชุมพลมองว่าบางเรื่องอาจจะทำได้เร็วขึ้น

นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เป็นจุดยืนของนายชุมพลที่ไม่เห็นด้วย โดยต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการบริหารบ้านเมืองเพียงบางมาตราเท่านั้น และได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้มาตลอด ซึ่งคงไม่ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ว่าเห็นอย่างไร ส่วนกรณีที่ ส.ส.ของพรรคร่วมลงลายมือชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาตินั้นก็เป็น ส.ส.เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การเสนอกฎหมายฉบับนี้คงต้องชั่งน้ำหนักดูว่าจะสามารถสร้างความปรองดองได้หรือไม่ และต้องนำมาพิจารณากับสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

"อาจมีความเป็นได้ว่าพรรคอาจจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่า หากจะปฏิรูปการเมืองจำเป็นจะต้องมีแนวทางสมานฉันท์หรือไม่ และร่างกฎหมายปรองดองจะเป็นคำตอบหรือไม่ เพราะตอนนี้ทุกคนอยากเห็นชาติสงบสุข"นายเกื้อกูลกล่าว และว่า ถ้าพรรคมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จริง นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย

ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม 12 ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน กลุ่มที่สนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นหัวหน้าพรรค จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง หลัง กกต.มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การประชุมใหญ่พรรคเพื่อแผ่นดินเพื่อเลือก พล.ต.อ.ประชาเป็นหัวหน้าพรรคไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับพรรคว่า เรื่องนี้สามารถอุทธรณ์ต่อศาลได้ ส่วนที่จะยื่นเรื่องให้ศาลปกครองนั้น ไม่แน่ใจว่าสามารถยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะยังต้องถกเถียงกันว่าการวินิจฉัยของ กกต.เป็นคำสั่งปกครองหรือไม่ แต่ตามกฎหมายนั้น สมาชิกพรรคมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ว่า การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า แต่ก็ยังไม่แน่ใจในข้อกฎหมาย

นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 12 พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า กลุ่มกำลังดูช่องทางในการอุทธรณ์เรื่องต่อศาลปกครองอยู่ เพราะในฐานะที่เป็นฝ่ายผู้ร้องเรียนไปยัง กกต. แต่เมื่อ กกต.มีมติเสียงข้างมากออกมา ก็ต้องเคารพในการวินิจฉัย โดยกลุ่ม 12 ส.ส.ได้ศึกษากฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมาย กกต.แล้ว ก็ให้สิทธิในการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองของ กกต.ที่ระบุไว้ว่าดำเนินการตามมติของ กกต.และมิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดของ กกต.สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้ โดยให้นำคำวินิจฉัยของ กกต.เสียงข้างน้อยไปประกอบการเป็นคำร้องด้วย กลุ่มเราจะมุ่งมั่นในการทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป

นายณัฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงกรณีพรรคเพื่อไทยยื่นให้ กกต.ตรวจสอบเส้นทางเงิน 258 ล้านบาท และเงินสนับสนุนจาก กกต. จำนวน 23 ล้านบาท ที่พรรคเพื่อไทยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่า พรรคยืนยันว่าได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีเอกสารพร้อมที่จะต่อสู้ข้อกล่าวหา และยินดีต้อนรับการตรวจสอบจาก กกต. อีกทั้งพรรคยังได้ยื่นเอกสารต่อ กกต.ทุกปีอยู่แล้ว ฉะนั้น กกต.จึงมีข้อมูลของพรรคอยู่แล้ว ดังนั้นอยากให้พรรคเพื่อไทยเข้าไปศึกษารายละเอียดของเอกสารทั้งหมดที่ กกต.มีอยู่ก่อนและพิจารณาให้ดี แต่พรรคประชาธิปัตย์มีข้อมูล พร้อมที่จะต่อสู้ และมีคณะทำงานที่ลงมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต. กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้สรุปสำนวนการสอบสวนเงิน 258 ล้านบาท มาให้ กกต.แล้ว ส่วนการดำเนินการของ กกต.ขั้นต่อไปก็คงต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบเอกสารที่มีนายปกครอง สุนทรสุทธิ์ รองเลขาธิการ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง สรุปประเด็นว่ามีเรื่องใดบ้างที่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ กกต.สามารถเข้าไปตรวจสอบ คาดว่า คณะกรรมการคงใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสาร 1 สัปดาห์ จากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ขณะที่คำร้องที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นร้องเข้ามานั้น คงต้องรวมพิจารณาเป็นสำนวนเดียวกัน

ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น ได้รับการสรรหาเป็น กกต.แทนนายสุเมธ อุปนิสากร ที่พ้นจากตำแหน่ง ว่า ขอแสดงความยินดีในเบื้องต้น โดยนายวิสุทธิ์เคยเป็นอดีต กกต.มาก่อน ก็น่าจะเข้าใจการทำงานของ กกต.เป็นอย่างดี และได้เคยอ่านงานวิชาการของนายวิสุทธิ์มามากเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาการทำงานร่วมกับ กกต.ทั้ง 4 คนในปัจจุบัน ทั้งนี้การที่ได้นายวิสุทธิ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสายรัฐศาสตร์มาร่วมงานด้วยนั้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของสำนักงาน กกต. และในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาพร้อมน้อมรับนโยบาย

เมื่อถามถึงกรณีนายวิสุทธิ์เคยลาออกจาก กกต.ทั้งที่ยังไม่ครบวาระ และเมื่อครั้งไปเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เคยถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุก จะกระทบกับภาพลักษณ์ของการเป็น กกต.หรือไม่ นายสุทธิพลกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาที่ได้ตรวจสอบว่า ไม่ได้มีการขาดคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็น กกต.

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า หากพิจารณาจากบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหาและตัวบุคคลที่ถูกคัดเลือกก็มองว่าทั้งสองส่วนมีความน่าเชื่อถือ แม้จะมีข้อตำหนิว่านายวิสุทธิ์เคยลาออกจาก กกต.ทั้งที่ทำงานได้เพียง 2 ปีแล้วอาจจะห่วงว่าหากกลับเข้าไปทำงาน กกต.อีกครั้งจะลาออกก่อนครบวาระอีกหรือไม่ ส่วนกรณีที่นายวิสุทธิ์เคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงโทษกรณีขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองขณะที่เป็น ป.ป.ช.ก็คงไม่เป็นไร ความผิดดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในขั้นร้ายแรง จากที่รับทราบความเห็นของวุฒิสภาระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา หลังรับทราบผลการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาแล้วก็มีผลตอบรับค่อนข้างดี ดังนั้นเมื่อส่งชื่อมายังวุฒิสภาเพื่อให้พิจารณาเห็นชอบอาจจะไม่มีปัญหา อาจจะผ่านได้โดยง่าย

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์