นายกฯ เล็งส่งเอกสารคดีตีความปราสาทพระวิหาร ให้ศาลโลกตัดสิน

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

กล่าวถึงกรณีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ให้ไทยส่งข้อสังเกตในคดีการตีความปราสาทพระวิหารภายในวันที่ 22 กรกฎาคม ว่า ข้อสังเกตที่จะส่งไปไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคดีหลัก เป็นเพียงการตกลงเรื่องกรอบเวลาส่งเอกสารไปชี้แจง เท่าที่สอบถามจากกระทรวงการต่างประเทศได้รับการยืนยันว่าน่าจะใช้เวลาราว 3-4 เดือน เพื่อให้ศาลโลกสามารถตัดสินคดีได้ก่อนจะเปลี่ยนแปลงองค์คณะ 5 ใน 15 คนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2555


ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกัมพูชาติดต่อมาหรือยังว่าจะเจรจากับไทยเรื่องการถอนทหารออกจากพื้นที่ชายแดนเมื่อไร

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่มี มีแต่การพูดเรื่องการเอาผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซียเข้ามา ท่าทีไทยยังเหมือนเดิม คือถ้าจะให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามา ต้องให้ทหารออกไปจากพื้นที่ก่อน แต่มุมมองยังไม่ตรงกัน ทั้งสองฝ่ายต้องพูดคุยกันก่อน จุดยืนไทยต่อกรณีให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามาคือควรคุยขั้นตอนต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน หากกัมพูชายืนยันว่าเคารพการตัดสินของศาล ก็ควรจะมาคุยกับไทยเรื่องการถอนทหาร หากยังไม่พูดคุยกัน การส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาก็ยังเป็นเรื่องยาก


เมื่อถามว่า กัมพูชาจะอ้างคำสั่งของศาลโลกเพื่อดึงผู้สังเกตการณ์เข้ามาทันทีได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้ากัมพูชาจะอ้างคำสั่งต้องถอนทหารทันทีก่อน เพราะศาลบอกให้กัมพูชาถอนทหารทันที เมื่อถามว่า ก่อนที่อินโดนีเซียจะดำเนินการอะไร ควรถามไทยก่อนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรอบที่อินโดนีเซียจะดำเนินการต้องพูดคุยกันอย่างน้อย 2-3 ฝ่าย และอาจรวมไปถึงอาเซียนด้วย



เมื่อถามว่า กัมพูชายังไม่แสดงท่าทีมาว่าจะคุยกับไทยเมื่อใด นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ยังครับ มีแต่การออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ไทยปฏิบัติ แต่ไม่ได้บอกว่ากัมพูชาจะปฏิบัติหรือไม่ และเมื่อใด"


เมื่อถามว่า คิดว่ากัมพูชาจะยอมคุยกับไทยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หนีไม่พ้นหรอก เพราะจากการประชุมอาเซียนครั้งสุดท้าย ก็ชัดเจนว่าอินโดนีเซียอยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายคุยกัน เป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมต้องไปหารือกันว่าจะพูดคุยในรูปแบบใด และจะทาบทามให้กัมพูชามาพูดคุยกับไทยอย่างไร


นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการจัดตั้งเขตปลอดทหารตามคำสั่งศาลโลกว่า เขตปลอดทหารจะต้องไม่มีทหารทุกเหล่าอยู่ในพื้นที่ ส่วนจะรวมตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หรือไม่นั้น ต้องมาหารือกันระหว่างไทยกับกัมพูชา เนื่องจากแต่ละประเทศให้นิยามไว้ไม่ตรงกัน รวมไปถึงจำนวนบุคลาการที่จะดูแลด้านความปลอดภัยในพื้นที่ของทั้งสองฝ่ายจะต้องเท่าเทียมกัน


นายกษิตกล่าวว่า จากนัยของศาลโลกคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียสามารถเข้าไปในเขตปลอดทหารได้
 
หวังว่ารัฐมนตรีกลาโหมของไทยและกัมพูชาจะได้หารือกัน ควรจะเป็นการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-กัมพูชา โดยกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำสั่งศาลโลกบางข้อเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่การเจรจาของจีบีซี จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา องค์ประกอบหลักๆ น่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงกลาโหมเพื่อจะวางแผนงานไว้ให้รัฐบาลใหม่มาสานต่อ


เมื่อถามว่า คณะกรรมการใหม่ที่จะตั้งขึ้นนั้นต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้รับรองหรือไม่ นายกษิตกล่าวว่า ควรจะเป็นเช่นนั้น จะทำบันทึกผ่านนายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อมอบให้กับรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่


นายกษิตกล่าวว่า ในวันที่ 22 กรกฎาคม จะมีการประชุมเตรียมการของหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของกระทรวงการต่างประเทศ
 
ต่อการวางแผนที่จะปฏิบัติตามมติของศาลโลก และการวางท่าทีในการเจรจากับกัมพูชาและวันที่ 25 กรกฎาคม จะประชุมใหญ่ของคณะกรรมการของไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยมีตนกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าร่วมประชุมด้วย


นายกษิตกล่าวว่า ส่วนเรื่องเอกสารข้อสังเกตของฝ่ายไทย หรือ "Written Observation" ที่ตอบข้อสังเกตของฝ่ายกัมพูชาในคดีหลักเรื่องการขอให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารนั้นไทยจะส่งให้การศาลโลกภายใน 4 เดือน น่าจะเป็นราวกลางเดือนพฤศจิกายนนี้


นายกษิตกล่าวว่า นางจิตริยา ปิ่นทอง รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียแล้วในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่เกาะบาหลี เกี่ยวกับการส่งคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามาประจำการเขตปลอดทหาร แต่รายละเอียดต้องหารือกันต่อไป


"ขอฝากไปยังกัมพูชาว่าขอความกรุณาให้เลิกสงครามสื่อเสียที เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยไปในแง่ว่าแพ้ชนะ ซึ่งไม่ถูกต้อง ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐบาลทั้งสองประเทศต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก มีอะไรต้องทำก็มาทำกัน แทนที่จะมาป่าวประกาศโฆษณาชวนเชื่อ หรือจะมาด่าทอกัน วิ่งไปยูเนสโก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ศาลโลก และอาเซียน หวังว่ารัฐบาลของท่านฮุน เซน จะยุติสงครามสื่อเสียที และกลับมาสู่โต๊ะเจรจา ซึ่งเป็นท่าที่ของเรามาตั้งแต่วันแรกว่าไม่มีอะไรดีไปกว่ามาเจรจา แต่กัมพูชากลับอ้างโน่นอ้างนี่ไม่มาสักที ในที่สุดแล้วถ้อยแถลงของศาลโลกที่ออกมาคือต้องกลับมาคุยกันสองฝ่าย" นายกษิตกล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์