นายกฯ ประชุมครม.ที่ทำเนียบ แจงมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำในเฟซบุ๊ก

นายกฯ ประชุมครม.ที่ทำเนียบ แจงมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำในเฟซบุ๊ก

วันที่ 1 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมครม.

โดยก่อนเข้าประชุมตัวแทนจากบริษัทที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ได้มอบน้ำดื่มบรรจุขวดจำนวน 1 ล้านขวด ให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และโรงพยาบาลศิริราชต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีมีสีหน้าที่ค่อนข้างเคร่งเครียด เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในวันนี้แล้ว จะถือว่า กทม.พ้นวิกฤติแล้วหรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยตอบเพียงว่า “เอาไว้ค่อยคุยกันนะคะ”

 ทีมงานของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเวปไซต์ เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ข้อความ ว่า
 
“ รัฐบาลได้ให้ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยประสานงานการทำงานและร่วมมือกับกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ได้มอบหมายให้แต่ละจังหวัด เข้าไปดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและเตรียมการรองรับกับสถานการณ์น้ำ ดังนี้

 1. สถานที่สำคัญ : เช่น ที่ประทับพระบรมวงศ์ จัดกำลังพลไปปฏิบัติการช่วยเหลืออุทกภัย ณ พระตำหนักจักรีบงกช, ทำเนียบรัฐบาลได้ก่อกำแพงอิฐบล็อกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงในการป้องกันน้ำท่วม และจัดตำรวจนครบาลออกตรวจสอบหาข้อมูลและออกตรวจป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของผู้เดือดร้อน

 2. โรงพยาบาล : ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณสุข และได้มีการเตรียมการป้องกันโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งโรงพยาบาลในสังกัดและนอกสังกัดรวม 63 แห่ง

 3. ศูนย์พักพิง : ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฯ ซึ่งเป็นที่พักพิงชั่วคราว 27 จังหวัด จำนวน 544 แห่ง รองรับผู้พักพิงได้ 212,610 คน มีผู้เข้าพักจำนวน 23,410 คน
 
 4. ที่จอดรถ : จัดที่จอดรถใต้ทางด่วนในจุดต่าง ๆ เช่น ทางพิเศษด่านฯ รัชดาภิเษก ลานกีฬา ใต้ทางด่วนพิเศษอโศก รามอินทรา และสาธุประดิษฐ์ ซึ่งสามารถรองรับจอดรถได้อีก 2,000 คัน

 5. พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ : การปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่ง และการอำนวยความสะดวกสถานที่จอดรถ การเตรียมทีมงานรื้อถอนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความสำคัญเข้าประจำการอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง และติดตามตรวจวัดระดับน้ำในสถานีไฟฟ้าทุก 1 ชั่วโมง 

 6. การจัดหาและการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งกรมการค้าภายในได้จัดขบวนธงฟ้าเคลื่อนที่ จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการของประชาชนให้ทั่วถึง

 7. การอพยพผู้ประสบภัย : ได้จัดรถรับ-ส่งจำนวน 3,846 คัน ให้ประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมไปยังสถานที่ที่รัฐได้เตรียมไว้ โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 450,214 คน และยังมีรถสำรองเพื่ออพยพจำนวน 500 คัน

 8. การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการจราจร ทางหลวงการจราจรผ่านไม่ได้ 78 เส้นทาง ในพื้นที่ 16 จังหวัด และทางหลวงชนบทการจราจรผ่านไม่ได้ 223 แห่ง ในพื้นที่ 30 จังหวัด ซึ่งได้มีการจัดผลัดเวรยามของทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสถานที่พักอาศัยและทรัพย์สินของประชาชน


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์