นับถอยหลัง ‘คืนอำนาจให้ประชาชน’ ‘4ทางออก’ ประเทศก่อนถึง ‘ทางตัน’

นับถอยหลัง ‘คืนอำนาจให้ประชาชน’ ‘4ทางออก’ ประเทศก่อนถึง ‘ทางตัน’

“ทุกปัญหามีทางออก ทุกทางออกมีปัญหา”พงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี พูดไว้หลังเกิดปัญหาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291

 

แต่ดูเหมือนสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ ที่เต็มไปด้วยปัญหาและเต็มไปด้วยคำถามที่ว่า แล้วสังคมไทยจะช่วยกันหา “ทางออก” จากวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองครั้งมโหฬารครั้งนี้ได้อย่างไร มี “หนทาง” ให้เลือกไม่มากนัก และแต่ละ “หนทาง” อาจจะไม่ใช่ “ทางออก” ของปัญหาอย่างถาวร แต่เป็น “ทางออก” ชั่วคราว เพื่อรอวันกลับมาเผชิญทางการเมืองอีกครั้ง วนเวียนซ้ำซากอย่างที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

 

มีข้อเสนอและแนวทางมากมายโดยมี “เป้าหมาย” เหมือนกันอยู่อย่างเดียวตรงที่ว่า 

ข้อเสนอเหล่านั้น ล้วนเป็นไปเพื่อไม่ให้สังคมไทยเกิดการเผชิญและนำมาซึ่งความสูญเสีย ซึ่งครั้งนี้หากปล่อยให้เกิดขึ้นจะเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่หลวง เกินกว่าจะเยียวยาและหาทางปรองดองสมานฉันท์กันได้ “ทางออก” ของปัญหามีทั้งการใช้ความรุนแรง จนนำมาซึ่งทางออก กับมีทั้งการไม่ใช้ความรุนแรงจนนำมาซึ่งทางออก ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ “ทุกฝ่าย” จะได้ตรึกตรองเพื่อร่วมกันฟันฝ่าไม่ปล่อยให้สังคมไทยเดินเข้าไปสู่ “ซอยตัน”

 

พอที่จะสรุปแนวทางได้ 4 แนวทาง ดังนี้

 

แนวทางที่ 1 เกิดความรุนแรง มีการเผชิญหน้า เกิดสงครามกลางเมืองระหว่าง 2 ฝ่ายซึ่งบัดนี้เริ่มมีสัญญาณปรากฏให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ศาลากลาง จังหวัดปทุมธานี และที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ เรื่อยไปจนถึงการกระทบกระทั่งของมวลชนในหลาย ๆ พื้นที่ ที่สุดแล้วหากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เพราะฝ่ายหนึ่งต่อต้านรัฐบาลขณะที่อีกฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่ถูกต่อต้าน 

การใช้ “อำนาจรัฐ” จะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับอีกฝ่าย เกิดการไม่ยอมรับ การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้ บ้านเมืองไร้กติกา ไม่มีใครเคารพ หากเกิดขึ้นจะเปิดช่องให้ “อำนาจนอกระบบ” เข้ามาจัดการ มีรัฐบาลที่มาจากอำนาจนี้ เกิดการต่อต้าน ไม่ต่างอะไรกับการเมืองในอียิปต์ ซีเรีย ที่หาเสถียรภาพและความสงบไม่ได้ทางนี้ “เจ็บ” แต่ไม่แน่ใจว่าจะ “จบ” หรือไม่

 

แนวทางที่ 2 เกิดการเผชิญหน้าเหมือนแนวทางแรก กวักมือเรียก “อำนาจนอกระบบ” เข้ามาจัดการ อำนาจนอกระบบนี้เข้ามาวาง “กติกา” ให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยจะใช้เวลาไม่นาน จากนั้นคืนอำนาจให้ประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้ง เดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง   

 

ทางนี้จะเกิดการต่อต้านไม่ต่างอะไรกับการรัฐประหารเหมือนวันที่ 19 ก.ย. 49 เพียงแต่จะ “น้อยกว่า” เพราะอำนาจนอกระบบได้ปล่อยให้คนละฝ่ายในสังคมได้เผชิญหน้าจนทุกฝ่ายมองว่านี่น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาในเวลานั้น ทางนี้ “เจ็บ” แต่มีโอกาสที่จะนำไปสู่การ “จบ” ลงได้

 

แนวทางที่ 3 เป็นแนวทางที่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง ซึ่งขณะนี้มีข้อเสนอออกมาไม่ว่าจะเป็นการ “ลาออก” หรือการ “ยุบสภา”กรณีการ “ลาออก” ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมไม่น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเพราะฝ่ายต่อต้านมาไกลกว่าการไล่รัฐบาลแต่เป็นการไล่ “ระบอบทักษิณ” ที่ตัวเองเชื่อว่าคืออุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

 

หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ “ลาออก” รัฐบาลก็ยังเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็ยังเป็นรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยซึ่งอยู่ภายใต้การชี้นำของพ.ต.ท.ทักษิณ การต่อต้านก็จะเกิดขึ้นอีก ทางนี้จะ “ปิดประตู” ไปได้เลย กรณี “ยุบสภา” ดูเหมือนจะได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างมากเพราะมองว่าเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แต่หากมองไกลไปกว่านั้นจะพบว่า อาจจะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืน 

แนวทางนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำมวลมหาประชาชนที่ออกมาต่อต้านขับไล่ระบอบทักษิณ ไม่เอา เพราะมองว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงแค่ชั่วคราว แนวทางนี้จึงมีการสอดแทรกว่า ก่อนยุบสภาจะต้องมาหารือเจรจาเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันก่อน จากนั้นเมื่อเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย การให้ประชาชนตัดสินทางการเมืองถึงจะเกิดขึ้น ฟังดูอาจจะดี แต่แนวทางนี้ก็ต้องใช้กลไกในสภาซึ่งฝ่ายหนึ่งมองเสียงข้างมากว่าไม่ชอบธรรมไปแล้ว รัฐบาลเป็นโมฆะไปแล้ว ที่สำคัญหากจะมีการเจรจาใครจะเป็น “คนกลาง” ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และการเจรจานี้ผู้เจรจามีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดหรือไม่

 

แนวทางที่ 4 ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้รับชัยชนะ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นำไปสู่การมี “สภาประชาชน” มี “รัฐบาลของประชาชน” นำไปสู่การแก้ไขกติกาโดยประชาชนที่ทุกฝ่ายเข้ามาส่วนร่วม ออกกติกาใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับ จากนั้นก็เกิดการเลือกตั้งได้รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลนี้จะต้องมาทำตามภารกิจที่ประชาชนกำหนดไว้เพื่อให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและสมบูรณ์ 

ซึ่งแนวทางนี้คือ สิ่งที่ กำนันสุเทพ กำลังเรียกร้อง ต้องบอกว่าเป็นเรื่องยาก เพราะตามธรรมชาติของทุกรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปล่อยอำนาจให้หลุดมือไปไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม

 

ดูเหมือนการ “เจรจา” ผสมกับการ “ยุบสภา” ภายใต้เงื่อนไขพันธสัญญาที่สังคมไทยได้ตกลงร่วมกันน่าจะเป็น “ทางออก” ที่ประนีประนอมที่สุดก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเดินไปสู่หนทางนั้น เพราะยิ่งปล่อยให้เนิ่นนานโดยที่ต่างฝ่ายต่างใช้เงื่อนไข โอกาสของการเผชิญหน้าจึงมีความ “สุ่มเสี่ยง” ที่จะเกิดความรุนแรงตามมา        การ “คืนอำนาจให้ประชาชน” เกิดขึ้นแน่ ๆ หากแต่ว่าจะ “วิธีไหน” และจะ “ช้า” หรือจะ “เร็ว” เท่านั้นเอง


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์