นัดพบนักการเมือง...วันรัฐธรรมนูฐ

ถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์..........

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวานนี้ (10 ธ.ค.) ที่รัฐสภา มีพิธีวางพวงมาลาและพานประดับพุ่มดอกไม้ ถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันครบรอบ 74 ปี ในการพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน นายประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมทั้งตัวแทนหน่วยงานราชการ และประชาชนทั่วไปร่วมงาน




จาตุรนต์ เหน็บ รธน.เผด็จการ


ภายหลังวางพานพุ่มแล้ว นายจาตุรนต์ ฉายแสง และคณะของพรรคไทยรักไทย ได้ปล่อยนกพิราบ 74 ตัว พร้อมทั้งชูป้ายผ้ามีข้อความว่า เสรีภาพเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเป็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน จากนั้นนายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ใช้อยู่เป็นเพียงรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ไม่ได้ยืนยันอำนาจอธิปไตยของประชาชน จึงยังไม่ถือเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเผด็จการ ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นเรื่องที่พรรคไทยรักไทยให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องยืนยันว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญตามความหมายที่แท้


จริงกลับคืนมาหรือไม่ ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันหรือไม่ จะมีอำนาจอธิปไตยหรือไม่ ซึ่งได้เสนอไปแล้วว่าควรใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นจุดเริ่มต้น




ดักคอกลุ่มปฏิวัติสืบทอดอำนาจ

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีบรรยากาศที่ทำให้น่าวิตกว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างใหม่อาจถอยหลังไปกว่าปี 2540 มีการพูดกันเป็นกระแสข่าวลือชนิดที่ปิดกันให้แซดว่าจะเปลี่ยนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ทำให้ พรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ให้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยังคงมีอำนาจไว้ ซึ่งมีการพูดถึงรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ ก็ไม่รู้หมายความว่าอะไร จากประสบการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน เราจะพบว่ารัฐธรรมนูญเมื่อร่างโดยผู้ที่มีอำนาจจะออกมาในสิ่งที่ไม่ได้เรียกว่ารัฐธรรมนูญ ถ้าต้องการสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญจริง ประชาชนต้องช่วยกันดูแลเรียกร้องผลักดันให้ได้รัฐธรรมนูญนั้นมา เพราะฉะนั้นพรรคไทยรักไทยยืนยันที่จะร่วมเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ทั้งหมดนี้ต้องทำโดยสันติวิธี วันนี้เรามาปล่อยนกพิราบที่มีสัญลักษณ์ ว่าสันติภาพ และเสรีภาพ เพราะต้องการให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ขณะนี้ประชาชนยังไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถ้ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีเสรีภาพ การร่างรัฐธรรมนูญนั้นย่อมถูกครอบงำโดยผู้ที่มีอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร




อภิสิทธิ์ โวยสรรหา ส.ส.ร.สุดอืด

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลักการที่ควรจะสานต่อ โดยเฉพาะในส่วนของสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน การมีองค์กรตรวจสอบที่หลากหลาย และการมีผู้บริหารประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ควรแก้ไขคือทบทวนว่าทำไมหลักการเหล่านี้จึงถูกทำลาย ทำอย่างไรจึงจะปิดช่องว่างที่องค์กรอิสระถูกแทรกแซง ทำอย่างไรให้ผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศต้องรับผิดชอบต่อประชาชนตลอดเวลา สำหรับการสรรหาสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คนแล้วคัดเลือกกันเองให้เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่าใช้เวลานานเกินไป เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญตัวจริงคือกรรมาธิการยกร่าง 35 คนเท่านั้น จึงอยากได้คนที่แม่นยำในทฤษฎี มีความเข้าใจ และสัมผัสกับประสบการณ์จริงของการใช้รัฐธรรมนูญ ที่สำคัญต้องพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆในสังคม




เตือน คมช.ระวังอยู่ไม่เป็นสุข


พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า คมช.จะสืบทอดอำนาจผ่านการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ไม่ห่วงว่ารัฐธรรมนูญจะร่างอย่างไร แต่คิดว่าเป็นการดำเนินการ


ช้าไป อาจจะไม่ทัน 1 ปี การเรียกร้องของประชาชนก็จะหนักขึ้น ที่ช้าเพราะไปเอาแบบสภาสนามม้าที่ต้องเลือกสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คน แล้วก็มาเลือกกันเองให้เหลือ 100 คน และส่วนใหญ่ก็เป็นไม้ประดับ เพราะไม่รู้กฎหมายแล้วจะมาร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ดังนั้นถ้าจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ 100 คน ก็ควรเลือกมาเลย แล้วเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาดู อะไรที่ดีก็คงไว้ อะไรไม่ดีก็แก้ไข จะเสร็จทันภายใน 1 ปี แต่ถ้าร่างกันใหม่ไม่รู้จะทัน 1 ปีหรือไม่ ถ้าเสร็จไม่ทันการเรียกร้องของประชาชนจะมีสูงขึ้น รัฐบาลและ คมช.จะอยู่ไม่เป็นสุข




สนช.แนะจับตา กมธ.ยกร่าง


นายทวี สุรฤทธิกุล สมาชิก สนช.สายนักวิชาการ เปิดเผยว่า สมาชิก สนช.สายนักวิชาการได้พูดคุยกันเห็นว่าเมื่อมีคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ควรใช้เป็นช่องทางรับฟังประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ภาคส่วนต่างๆช่วยกันเสนอมา โดยตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมารวบรวม เพราะไม่อยากให้รัฐบาลหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญไปตั้งธงกำหนดขึ้นมา อย่างประเด็นการให้นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งที่มีบางฝ่ายโยนหินถามทางมานั้น เป็นความคิดของคนที่อยากให้เปิดกว้างเอาไว้เหมือนที่เคยมีในรัฐธรรมนูญปี 2521 ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามของบางฝ่ายที่จะต่อท่ออำนาจ โดยเฉพาะฝ่ายทหารหรือนักการเมืองสำเร็จรูปที่ต้องการอำนาจโดยไม่ต้องต่อสู้ทางการเมือง ดูแล้วรัฐบาลไม่น่าจะกล้าทำ เพราะจะถูกต่อต้านอย่างหนักแน่นอน อย่างไร ก็ตาม สังคมต้องติดตามจับตาดูในช่วงการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นคนเสนอแนะโยนหินถามทาง คาดว่าจะมีการโยนหินโยนระเบิดออกมาอีกหลายลูก




องค์กรสิทธิฯสรุปหลักการร่าง รธน.


นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8-9 ธ.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน 22 องค์กร ได้จัดงานสิทธิมนุษยชนสากล โดยเปิดเวทีสิทธิมนุษยชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง ได้ข้อสรุปว่าการปฏิรูปการเมืองในอนาคตอันใกล้นี้ต้องมีหลักการดังนี้ 1. เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ความ เสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ 2. รัฐธรรมนูญที่ดีต้องแก้ไขปัญหาของประชาชน และเน้นการให้ภาคประชาชนเข้มแข้ง เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน และมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐทุกองค์กรอย่างอิสระและโปร่งใส 3. ประชาชนทุกกลุ่มต้องสามารถร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสร้างกลไกการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 4. กสม.และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนจะร่วมกันจัดเวทีรณรงค์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนทุกภูมิภาคมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงการทำประชามติ




ใจ เตรียมทำร่างฉบับประชาชน


บ่ายวันเดียวกัน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นัดประชุมเครือข่ายแนวร่วมภาคประชาชน และองค์การด้านแรงงาน เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ภายหลังประชุมเสร็จ น.ส.พัชณีย์ คำหนัก ผู้ประสานงาน เปิดเผยว่า ในร่างรัฐธรรมนูญจะเน้นสาระเพิ่มอำนาจและความเป็นธรรมให้ประชาชน อาทิ การเป็นรัฐสวัสดิการ จัดการศึกษาและรักษาพยาบาลฟรี จัดสรรสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัยให้ทั่วถึง ออกกฎหมายเก็บภาษีก้าวหน้า ภาษีมรดก ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีระบบศาลที่มีลูกขุน เพิ่มอำนาจการตรวจสอบภาครัฐ ทั้งนี้ หลังจากได้ข้อสรุปแล้วจะนำไปประชุมร่วมกับเครือข่ายองค์กรทั่วประเทศในวันที่ 18 ธ.ค. สรุปยกร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนฉบับถาวร แล้วทำประชาพิจารณ์ว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน หรือจะเอาฉบับที่รัฐบาลจัดทำขึ้น




โปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติแล้ว

ส่วนความคืบหน้ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ล่าสุด พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.) ได้นำรายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจำนวน 1,989 คน ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คมช. นำขึ้นทูลเกล้าฯไปเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ได้ตรวจสอบประวัติของแต่ละคนแล้ว มีรายชื่อผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเพียง 1,982 คน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 1,982 คนแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา

มีชัย เตรียมสถานที่นัดประชุม

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติว่า เป็นเรื่องจริง ซึ่งต้องกราบบังคมทูลฯเชิญเสด็จ พระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติต่อไป จากนั้นคงต้องเตรียมนัดประชุมสมัชชาแห่งชาติ โดยในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขาธิการสมัชชาแห่งชาตินั้น มีความพร้อมในการต้อนรับสมาชิกแล้ว หลังจากมีการประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการก็จะเปิดให้สมาชิกมารายงานตัวที่รัฐสภา คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จะเสร็จสิ้น และจะเปิดประชุมเพื่อคัดเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน ได้เตรียมสถานที่ประชุมไว้ 2 แห่งคือศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานี หรือหอประชุมกองทัพเรือ

ยันร่างรัฐธรรมนูญใน 6 เดือน

ต่อข้อถามว่า ฝ่ายการเมืองท้วงติงว่า กว่าจะสรรหาสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ค่อนข้างใช้เวลานาน นายมีชัยกล่าวว่า จะทำอย่างไรได้ในเมื่อต้องการให้กระจายคนไปทั้งประเทศ เป็นเรื่องยาก เพราะแต่ละคนต้องไปคัดเลือกกันเอง แต่ก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ผู้สื่อข่าวถามว่า จนถึงขณะนี้ประชาชนยังไม่รู้สึกตื่นตัวสนใจการร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยกล่าวว่า เป็นเพราะขณะนี้ยังไม่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าเมื่อมีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็จะมีการประชาสัมพันธ์ รับฟังความคิดเห็น จะทำให้เกิดการตื่นตัว เชื่อว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวบังคับไว้



ขอขอบคุณที่มา: น.ส.พ. ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์