นักวิชาการรวมพลังโค้งสุดท้ายรณรงค์ Vote For No Vote

นักวิชาการรวมพลังโค้งสุดท้ายรณรงค์ "Vote For No Vote

นักวิชาการ รวมพลังโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง รณรงค์ "Vote For No Vote 2 เม.ษ. แนะ เอาปากกาติดตัวไปด้วยกันถูกวางยา ชี้ ทรท.ตกอยู่ภาวะเสี่ยงได้เสียงได้ถึงครึ่ง ส.ส.ไม่ครบเปิดสภาไม่ได้แน่

เครือข่ายนักวิชาการ585คนจาก41สถาบัน ได้ร่วมลงนามและออกแถลงการณ์ในชื่อที่ว่า แถลงการณ์ถึงประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ขอเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง 2 เม.ย โดยกากบาทงดออกเสียง โดย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนจากเครือข่าย อ่านแถลงการณ์ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กฎหมายเลือกตั้งมาตรา 56 จึงกำหนดว่าให้มี ช่องไม่ลงคะแนน อยู่ในบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนที่ต้องไปเลือกตั้งสามารถงดออกเสียงได้ ในกรณีที่เห็นว่าไม่มีผู้ใดที่เหมาะสมที่จะลงคะแนนให้ โดยกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 72 วรรค 2 ยังกำหนดด้วยว่า ต้องการมีการนับจำนวนคะแนนที่ไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครด้วย การลงคะแนนในช่องไม่ลงคะแนนหรือที่เรียกว่า การงดออกเสียงจึงเป็นการแสดง ออกเจตนารมณ์ทางการเมือง เช่นเดียวกับการลงคะแนนเลือกผู้สมัครผู้หนึ่งผู้ใดหรือพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด


การไปเลือกตั้งแต่ไม่ลงคะแนนให้ใครจึงแตกต่างการจากไม่ไปเลือกตั้ง เพราะไม่ไปเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นด้วยเบื่อหน่ายการเมือง หรือต้องการประท้วง หรือไม่อยากจะเลือกใคร หรือเพราะมีผู้สมัครคนเดียวหรือเหตุอื่นใด ล้วนแต่มีผลเท่ากับการนอนหลับทับสิทธิ์ ซึ่งมิได้เป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ทางการเมืองใดเลย


นายปริญญา กล่าวต่อว่า โดยที่การเลือกตั้ง ส.ส.ในวันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย.2549 นี้มีพรรคการเมืองซึ่งเคยมี ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฏรในสมัยที่แล้วเพียงพรรคเดียวที่ส่งผู้สมีครลงรับเลือกตั้ง คือพรรคไทยรักไทยส่วนพรรคฝ่ายค้านไม่มีพรรคใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทำให้ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีเขตการเลือกตั้งถึง 271 เขต จากทั้งหมด400 เขต ที่มีผู้สมัครเพียงแค่คนเดียวและเนื่องจากกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 74 บัญญัติว่า ในการเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัคร ส.ส.เพียงแค่คนเดียว ถ้าผู้สมัครนั้นได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ของผู้ทีสิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ต้องจัดให้การมีการเลือกตั้งใหม่ การเลือกตั้งครั้งนี้การงดออกเสียงจึงมีความหมายในทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่า ถ้าในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 50 จะไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งทำให้การงดออกเสียงยิ่งมีความหมายต่อการกำหนดอนาคตการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 2 เม.ย.มากขึ้นไปอีก


ข้าพเจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆจำนวน 585 คน จาก 14 สถาบันมีความเห็นว่า ตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่แก้ข้อกล่าวในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจโดยมิชอบ การซุกหุ้น การหลีกเลี่ยงภาษี การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ให้ประชาชนหมดสิ้นข้อสงสัย การชุมนุม การคัดค้าน การต่อต้าน การไม่ยอมรับก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะผันผวนตึงเครียดแบ่งเป็นฝักฝ่ายอย่างไม่จบสิ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการยุติปัญหาความขัดแยงโดยสันติ และโดยประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงขอเชิญชวนประชาชนให้ดำเนินการต่อไปนี้ 1.ขอเชิญชวนประชาชนให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 2เม.ย.2549 ถ้าประชาชนไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีขอให้กากบาทงดออกเสียง โดยทำเครื่องหมายกากบาทในช่องไม่ลงคะแนน ซึ่งอยู่ด้านล่างทางขวามือของบัตรเลือกตั้งทั้งในบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ


นายปริญญา กล่าวว่า 2.การใช้ตรายางกากบาทจะเป็นช่องทางให้มีการทุจริตได้ง่าย ดังนั้นจึงขอเชิญชวนประชาชนให้ลงคะแนนโดยใช้ปากกาทำเครื่องหมายกากบาท และเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจจะมิได้จัดเตรียมปากกาไว้ให้ ประชาชนจึงควรเตรียมปากกาไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งแต่ประการใด และ3.ขอให้ประชาชนทั้งประเทศและสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ช่วยหันสังเกตุการณ์และติดตามการเลือกตั้งตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดหีบเลือกตั้ง การลงคะแนน การปิดหีบเลือกตั้ง การขนหีบเลือกตั้ง หากพบการทุจริต เช่น มีการเวียนกันมาลงคะแนนหรือมีการเปลี่ยนหีบเลือกตั้งระหว่างการขนย้าย ขอให้แจ้งข่าวกับสื่อมวลชนให้ทราบทันที


การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคไทยรักไทยกับการงดออกเสียงของประชาชน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ อนาคตการเมืองไทยหลังวันที่ 2 เม.ย. จะเป็นอย่างไรอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนคนไทยทุกคน


เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการที่พ.ต.ท.ทักษิณ มักจะอ้างตัวเลข 19 ล้านเสียงมาโดยตลอด ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่พ.ต.ท.ทักษิณจะนำตัวเลขในการเลือกตั้งครั้งนี้มีเปรียบเทียบกับจำนวนคนที่ไม่ประสงค์ลงคะแนน นายปริญญากล่าวว่า จากการปราศรัยเมื่อวันที่3มี.ค.ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่าถ้าได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ50ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจะไม่ขอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น แต่เมื่อในการรณรงค์หาเสียงผ่านช่องทางที่กกต.จัดให้ทางพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขยายความถึงเรื่องดังกล่าวว่าเป็นฐานคะแนนเสียงของระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ออกมาเป็นแบบนี้เนื่องจากเมื่อย้อนกลับการเลือกตั้งเมื่อวันที่6ก.พ.2548 จะพบว่าคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อที่พรรคไทยรักไทยมีร้อยละ58ซึ่งถือว่าไม่เป็นคะแนนที่สูงมาก แต่ได้คะแนนในแบบแบ่งเขตร้อยละ51 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณมาพบความจริงข้อนี้ในภายหลัง จึงเป็นที่มาของการขยายความของพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเท่าที่ดูในแบบแบ่งเขตเลอกตั้งมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ถึงร้อยละ50แน่นอน


นายปริญญา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในมือของประชาชน ถ้าอยากชอบพ.ต.ท.ทักษิณก็เลือกเขาได้ แต่อยากให้ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้ยุติ หรือยังไม่ต้องการให้ พ.ต.ท.เข้ามาเพราะยังไม่สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้ก็กากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนซึ่งถือเป็นทางเลือกเดียวของประชาชนที่จะตัดสินปัญหาการเมืองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย


ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง3พรรค(ประชาธิปัตย์ ชาติไทย มหาชน) ได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อทั้ง3พรรครวมกันได้13ล้านเสียง ซึ่งถ้าทั้ง13ล้านเสียงมากาบาทในช่องไม่ประสงค์ไม่ลงคะแนนก็จะได้13ล้านเสียง และใน19ล้านเสียงที่เลือกพรรคไทยรักไทยครั้งที่แล้วมาลงคะแนนช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนสัก3ล้านคนก็จะได้เป็น16ล้านเสียงเท่ากัน ทั้งนี้เชื่อว่าคุณทักษิณไม่น่าจะได้คะแนนเกินร้อยละ50เพราะขนาดครั้งที่แล้วที่คุณทักษิณอยู่ในความนิยมสูงสุดยังได้เพียงแค่ร้อยละ58 แต่ตอนนี้คะแนนนิยมตกลงมามากขนาดดิ่งเหวเลย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้เช่นกันแต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน แต่ถ้าประชาชนมองว่าไม่มีตัวเลือกจึงไม่ออกมาใช้สิทธิก็จะเป็นปัญหา เพราะคำพูดของนายกฯคือร้อยละ50ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง


นายปริญญากล่าวต่อว่า เท่าที่ดูข้อมูลในเบื้องตอนนี้มีผู้สมัครเพียงคนเดียวจากพรรคไทยรักไทยจำนวน 271 เขต ซึ่งในส่วนที่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 ก.พ.มีที่ได้คะแนนเกินร้อยละ 20 ถึง17เขต ซึ่งในบางเขตโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ได้คะแนนเพียงร้อยละ 8 และยังมีอีก29เขตที่ได้ไม่เกินร้อยละ 20 แต่ไม่ถึงร้อยละ 30 ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ได้คะแนนไม่ถึงตามที่กฎหมายกำหนด แต่สิ่งที่สำคัญอย่าลืมว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีความนิยมสูงสุด จึงเชื่อว่าในกลุ่มแรกจะไม่มี ส.ส.แน่นอน เพราะประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะมองว่าเมื่อผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยไม่ที่รู้จักในพื้นที่ก็จะไม่เลือกใคร


เมื่อถามว่า ถ้าหลังการเลือกตั้งพ.ต.ท.ทักษิณได้รับชัยชนะและกลับมาเป็นนายกฯทางเครือข่ายนักวิชาการจะยอมรับการเลือกตั้งหรือไม่ นายปริญญากล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าวันที่2เม.ย.ผลจะออกมาอย่างไรก่อน แต่ปัญหาที่จะตามมา จากนั้นสภาจะได้ ส.ส.ครบ 500 คนเพื่อเปิดประชุมสภาได้เมื่อไหรต่างหาก เพราะในกฎหมายระบุว่าหลังจากการเลือกตั้งจะต้องทำการเปิดประชุมสภาภายในสามสิบวัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่2พ.ค.และถ้าเกิดในพื้นที่ไหนได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 ก็จะต้องทำการเลือกตั้งใหม่ภายในสามสิบวันเช่นกัน ซึ่งตนเห็นว่าถ้าการเลือกตั้งครั้งแรกผู้สมัครได้ไม่ถึงร้อยละ20 ครั้งต่อๆไปก็จะได้ไม่ถึงเช่นกัน ดังนั้นถ้าไม่มี ส.ส.ครบทันการเปิดสภาในวันที่ 2 พ.ค.จะแก้ปัญหาอย่างไร จึงเป็นปัญหาว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาได้อย่างไรมากกว่าถ้าไม่สามารถเปิดสภาตามเวลาที่กำหนดเพื่อเพื่อเลือกนายกฯ


ความผิดที่นายกฯทำไว้ การยุบสภาไม่ได้ทำให้ความผิดหมดลงไปด้วย ซึ่งการยุบสภาเป็นเรื่องหนึ่งแต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องจะติดตัวท่านไปด้วย เมื่อกลับมาเป็นนายกฯ จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าวิกฤติของบ้านเมืองตอนนี้ไม่จบลงด้วยการเลือกตั้ง เพราะต่อให้คุณทักษิณได้คะแนนเกินร้อยละ50 แต่ปัญหาคือการกระทำของท่านที่มีปัญหาก่อนการยุบสภาไม่ได้หายไป และอยากจะบอกการเลือกตั้งเป็นเพียงเรื่องของที่มาของผู้จะมาใช้อำนาจบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อเข้ามาแล้วใช้อำนาจอย่างไรเป็นอีกเรื่อง


นายสุธาชัย ยิ้มประเสิรฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองจะพบว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้เป็นการเลือกตั้งที่ไร้เหตุผล และยังเป็นการเลือกตั้งที่ต้องการอยากเลือกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เพียงเพราะไม่ต้องการที่จะลาออก โดยใช้การลงทุนสูงถึง2000ล้านบาท สำหรับสาเหตุของนักวิชาการที่ออกมากดดันเพราะเรามองเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นการรณรงค์ให้ประชาชนกากบาทในช่องที่ไม่จะประสงค์ลงคะแนนนั้น เป็นเงื่อนในการแสดงออกทางการเมือง ที่จะช่วยแก้วิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ได้และเป็นการแสดงออกว่าพรรคไทยรักไทยและพ.ต.ท.ทักษิณหมดความชอบในการที่จะเข้ามาบริหารประเทศ


น.ส.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การรณรงค์ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย เพราะตอนนี้ต้องยอมรับเราเองไม่มีตัวเลือกในการเลือกตั้งที่ในบางพื้น ที่มีแต่ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการล็อคอินที่เป็นการผูกขาดทางการเมือง และที่สำคัญไปกว่านั้นรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณยังบิดเบือนวาทะกรรมทางประชาธิปไตย ไปสร้างความชอบธรรม เพื่อมาผูกขาดทางการเมือง เศรษฐกิจ และยังเป็นการรองรับความโปร่งใสที่ผ่านมาโดยใช้การเลือกตั้งในครั้งนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นได้มีการแถลงข่าวแสดงจุดยืนทางการเมืองของนักวิชาการที่รวมตัวกันในนามกลุ่มมนุษยศาสตร์สร้างสรรค์สังคม ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ 256 คน จาก 26 สถาบัน ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 โดยนายบุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า สถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในขณะนี้ อยู่ในภาวะตึงเครียดอย่างยิ่ง อันอาจนำไปสู่วิกฤตของความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งอาจลงด้วยการใช้ความรุนแรง และก่อให้เกิดผลกระทบที่เสียหายในวงกว้างต่อสังคมไทยโดยรวม


นายบุญส่ง กล่าวต่อว่า ในฐานะที่นักมนุษยศาสตร์ ซึ่งตระหนักถึงปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว และเห็นว่าวิชาการทางมนุษยศาสตร์สามารถช่วยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทางกลุ่มมนุษยศาสตร์สร้างสรรค์สังคมจึงมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่มีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งต่อไป สมควรเว้นวรรคทางการเมืองด้วยเหตุผลดังนี้ 1. รักษาการนายกรัฐมนตรี ไม่ได้สมาทานบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่สูงกว่าบทบัญญัติทางกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


2. รักษาการนายกรัฐมนตรีทุศีลในตรรกะประชาธิปไตย ได้บิดเบือนหลักการของระบอบประชาธิปไตย โดยทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ประชาธิปไตยมีเพียงมิติของการเลือกตั้งเท่านั้น และเบี่ยงเบนให้เกิดความเข้าใจว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่วิถีของประชาชน ในการเข้ามามีส่วนร่วมและตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล อีกทั้งยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การปฏิเสธตัวนายกรัฐมนตรีเป็นการปฏิเสธประชาธิปไตย


ตัวแทนกลุ่ม กล่าวอีกว่า 3. รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่ใส่ใจและละเมิดสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ดังเช่น กรณีการฆ่าตัดตอนและกรณีของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4. รักษาการนายกรัฐมนตรีได้สร้างความแตกแยกให้กับสังคมไทยอย่างจงใจ เพื่อรักษาอำนาจและคงไว้ซึ่งบทบาททางการเมืองของตน5. รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม มีกลุ่มต่างๆออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านในวงกว้าง ความไว้วางใจต่อผู้นำทางการเมือง ถือเป็นคุณสมบัติจำเป็นของภาวะการเป็นผู้นำทางการเมือง เราถือว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลที่ล้มละลายทางการเมืองทำให้ไม่สามารถดำรงตำแน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์