นักวิชาการจี้ โคทม ลาออก สป.เสนอ ป๋าเปรม ไกล่เกลี่ยวิกฤตชาติ

นักวิชาการจี้ โคทม ลาออก สป.เสนอ ป๋าเปรม ไกล่เกลี่ยวิกฤตชาติ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 มีนาคม 2549 17:04 น.

ไพบูลย์ เสนอ 8 ทางออกวิกฤตการเมือง ด้านสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ แนะทำหนังสือถึง ป๋าเปรม ช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาชาติ ขณะที่ รศ.สมชัย รองอธิการบดี มธ.เตรียมลาออก ยึดแนวอารยะขัดขืน กดดัน ทักษิณ เหน็บอยากเห็นโคทมร่วมต่อสู้เหมือนพฤษภาทมิฬ ส่วน ไชยยันต์ กระทุ้ง โคทม และทีมงานลาออกกดดัน แม้ว อีกทาง ด้าน โคทม ยังสงวนท่าทีลาออกตามคำเรียกร้อง ย้อนมีเหตุผลอะไร ย้ำเห็นด้วยกับทุกฝ่ายเปิดการเจรจา

วันนี้ (12 มี.ค.) ที่ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ร่วมกับเครือข่ายจัดการประชุมเรื่อง บทบาทภาควิชาการและประชาสังคมในภาวะการเมืองปัจจุบัน โดยมี นายโคทม อารียา ประธาน สป.เป็นประธานในที่ประชุม ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผอ.ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า แนวทางการดึงให้คู่กรณีที่เป็นปัญหาของวิกฤตการเมืองมานั่งเจรจากันนั้นจะต้องไม่เริ่มที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกหรือผิด และต้องไม่ใช่หลักการดีเบต แต่ต้องยึดแนวทางสารเสวนา มีคนกลางทำหน้าที่เจรจาให้ทั้ง 2 ฝ่ายมานั่งปรับทุกข์ แต่ไม่ใช่การยกมือโหวต ข้อสรุปที่ได้จะต้องออกเป็นฉันทมติ โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เสียหน้า วิธีนี้จะทำให้เห็นทางออกของปัญหา

นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้แม้จะไม่ใช่การใช้อาวุธเพื่อให้เกิดความรุนแรง แต่ก็ใช้วาจากล่าวหาก่อให้เกิดความไม่พอใจแต่ละฝ่าย ซึ่งถือเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ทางออกเวลานี้ตนเห็นด้วยกับแนวทางสารเสวนา เริ่มแรกควรให้บุคคลระดับนายกฯ ลงมาพูดคุย ข้อตกลงเบื้องต้นในวันที่ 16 มี.ค.นี้ เพื่อนำไปสู่การเจรจาใหญ่ในวันที่ 24 มี.ค.บนเวทีขององค์กรกลาง หรือพีเน็ต โดยวิธีการที่จะช่วยให้ออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้ สามารถสรุปได้ ดังนี้ 1.เปิดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. 2.ให้ กกต.หรือกลไกต่างๆ ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า 3.ให้มีการหาเสียงหรือรณรงค์อย่างเปิดเผยเป็น 2 ฝ่ายหลัก คือ ฝ่ายขอให้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย และฝ่ายขอให้งดการออกเสียง 4.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกลงและประกาศจะไม่กลับมาเป็นนายกฯ หรือทำหน้าที่ฝ่ายบริหารภายหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่อาจทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอาจยังคงเป็นหัวหน้า หรือประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย 5.รัฐบาลและสภาผู้แทนฯ หลังการเลือกตั้ง 2 เม.ย.ต้องเป็นสภาชั่วคราวทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามปกติ จัดการดำเนินการเกี่ยวกับการเฉลิมฉลอง 60 ปีครองราชย์ และจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เฉพาะในส่วนที่จะทำให้สามารถจัดการเลือกตั้งในกติกาใหม่ ภายในสิ้นปี 2549 โดยทุกฝ่ายเห็นชอบ

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า 6.แก้ไขปรับปรุงส่วนอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ ให้ทำภายหลังมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว โดยเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง 7.ให้ทั้ง 3 ฝ่าย คือ พรรคไทยรักไทย พรรคร่วมฝ่ายค้าน พันธมิตร ละเว้นการบริภาษ ยั่วยุ เสียดสีให้ร้ายอย่างไม่เป็นธรรมฝ่ายต่างๆ และ 8.ให้ฝ่ายชุมนุมเรียกร้องยุติการชุมนุม ฝ่ายรัฐบาลรักษาการสนับสนุนให้สื่อทุกประเภทมีอิสระในการทำงาน และอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศตัวลงเลือกตั้ง หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตุ๊กตาที่เป็นทางออกนำไปสู่ข้อตกลงได้ ถ้าทุกฝ่ายพูดจาต่อรอง โดยมีคนกลางช่วยเอื้ออำนวย และมีจุดประสงค์ที่ได้พิจารณาเห็นชอบด้วยกันเป็นตัวตั้ง

นายไชยยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ตนเข้าร่วมประชุมในวันนี้ก็เพื่อทวงถามถึงจุดยืนของ สป.ว่า จะดำเนินการเช่นไรต่อสถานการณ์การเมืองที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ เพราะ สป.เองก็สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ออกมาได้เช่นกัน และหากนายกรัฐมนตรีไม่ลาออกตนก็ขอเสนอนะให้นายโคทม และมีงาน สป.ลาออกแทน เพื่อเป็นการกดดันนายกรัฐมนตรีอีกช่องทางหนึ่ง

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การหาทางออกของวิกฤตที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ มักตัดสินใจช้ากว่าสถานการณ์ 1 ก้าวเสมอ อาจเป็นเพราะต้องการรอให้สถานการณ์เกิดขึ้นจนจวนตัวแล้วจึงตัดสินใจ วันนี้ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ปล่อยให้ช่วงเวลาผ่านไปจนถึงเส้นตายวันที่ 2 เม.ย.อาจจะได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก แต่ก็ไม่สามารถปกครองประเทศได้ ที่สำคัญการที่เลือกเชื่อคนรอบข้างทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มองเห็นทุกอย่างเป็นมายาภาพ จึงเป็นเหตุให้เปลี่ยนคำพูดตลอด 24 ชั่วโมง

ตนเห็นว่า ในสถานการณ์ที่การเมืองแหลมคมขณะนี้ หากปิดห้องคุยยิ่งทำให้เกิดเสียงร่ำลือ ครหา และเป็นที่น่าเสียดายว่าสิ่งที่พีเน็ตเสนอให้ทุกฝ่ายมาดีเบตผ่านจอโทรทัศน์ กลับได้รับการปฏิเสธจากพรรคไทยรักไทยเพียงข้ามคืน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดเองว่ายินดีออกเวทีพูดคุยกับตัวแทนพันธมิตร และฝ่ายค้าน การกลับคำพูดเท่ากับทำให้ข้อตกลงทุกอย่างพังครืน

รศ.สมชัย กล่าวอีกว่า นักการเมืองยิ่งในสถานการณ์ใกล้เลือกตั้งยิ่งต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าพูดจริงทำจริง มิฉะนั้น ประชาชนก็จะขาดความเชื่อถือ ในส่วนของ สป.นั้น ตนคิดว่า ต้องมีจุดยืนแสดงออกให้ชัดเจน เพื่อให้ปัญหาวิกฤตการเมืองได้รับการแก้ไข อยากให้นายโคทม เป็นนายโคทมคนเดียวกับที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ถึงเวลาที่ สป.ต้องมีแถลงการณ์นำสังคมว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง 2 เม.ย.มีจุดยืนให้เลื่อนการเลือกตั้ง เพื่อปฏิรูปการเมืองให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านสามารถลงสนามเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ส.ส.ที่อยากย้ายพรรคก็สามารถย้ายได้ ถือเป็นหลักสันติวิธีไม่มีใครเสียเปรียบ

ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักวิชาการให้ สป.ทั้งคณะลาออก เพื่อแสดงพลังสันติวิธีแบบอารยะขัดขืน โดยส่วนตัวคิดว่าจะลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี มธ.ในเร็วๆ นี้ เพื่อกดดันนายกฯเช่นกัน ผมเชื่อว่า หากข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจพร้อมใจกันเฉื่อยงานย่อมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ใครก็ตามที่มีตำแหน่งทำแล้วไม่เดือดร้อน ไม่ได้ทำร้ายใคร วิธีนี้จะทำให้สังคมเกิดสำนึกขึ้นมา รศ.สมชัย กล่าว

ด้าน พล.อ.สายหยุด เกิดผล ประธานองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือพีเน็ต กล่าวว่า พลังที่สำคัญตอนนี้ที่ยังไมได้ตัดสินใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง มีอยู่เป็นจำนวนมาก หรือที่เราเรียกว่าพลังเงียบ ซึ่งตนก็มีข้อมูลจำนวนมากที่อยากนำเสนอให้ประชาชนที่เป็นพลังเงียบ ช่วยในการตัดสินใจ คือ มาตรฐานของนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการ ต้องวางมือจากธุรกิจที่เคยทำอยาตามาตรา 208 ต้องไม่มีหุ้นส่วนหรือถือหุ้นใบริษัทใดๆ ตามมาตรา 209 และหากพบว่ามีความร่ำรวยผิดปกติก็พร้อมที่จะให้องค์กรที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ดังนั้น ตนไม่อยากให้หลายๆ ฝ่ายหลงประเด็น และช่วยกันตรวจสอบและตัดสิน เพราะเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องสำคัญของชาติไม่ใช่เรื่อส่วนตัวของใคร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมมีอดีตสมาชิก สป.รวมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องการให้ สป.สรุปความเห็นการประชุมเสนอไปยังนายกฯ เพื่อสะท้อนความต้องการของภาคประชาชน รวมถึงทำหนังสือเสนอ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อให้เป็นคนกลางเจรจาหาทางออกให้ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีบารมีสูง หลังจากนั้น องค์กรต่างๆ ต้องมาช่วยกันสร้างความเข้มแข็งให้บ้านเมือง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อสรุปย่อยออกมา 13 ข้อ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ที่ประชุมจะต้องนำไปไปฏิบัติกันเอง

ด้าน นายโคทม กล่าวว่า สป.จะต้องมีการสรุปเรื่องนี้เพื่อเสนอไปยังผู้เกี่ยวข้อง ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ประสานกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ด้วยบทบาทหน้าที่ของ สป.มีหน้าที่แค่เสนอแนะนโยบายแก่ ครม.จึงต้องวางตัวเป็นกลาง ที่ผ่านมา ได้ตั้งกรรมการ 1 ชุดติดตามสถานการณ์วิกฤตของบ้านเมือง เบื้องต้นต้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกโดยตรง แต่ยืนยันว่าเห็นด้วยกับการเจรจาที่ต้องมีการเตรียมพร้อม ส่วนตัวก็เห็นว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการเจรจา เพียงแต่ต้องดูกติกาและกระบวนการ ส่วนข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ สป.ลาออกตามแนวทางอารยะขัดขืนเพื่อกดดันให้นายกฯลาออกนั้น ตนไม่ทราบว่าแนวทางนี้มีเหตุอย่างไร คงต้องนำไปพิจารณาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์