นักวิชาการ แนะ กกต.พิจารณาตัวเอง-จี้คลังหาผู้รับผิดชอบงบประมาณ

นักวิชาการ แนะ กกต.พิจารณาตัวเอง-จี้คลังหาผู้รับผิดชอบงบประมาณ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤษภาคม 2549 03:18 น.

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ อาจารย์นิติศาสตร์ มช.ชี้ ผลวินิจฉัยจัดเลือกตั้ง 2 เมษาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตรงกับความเห็นของนักวิชาการที่เคลื่อนไหว ตั้งแต่ก่อนจัดการเลือกตั้ง แนะ กกต.พิจารณาตัวเอง พร้อมจี้กระทรวงการคลัง เร่งติดตามหาตัวผู้รับผิดชอบผลาญงบประมาณจัดการเลือกตั้ง

ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงส่วนใหญ่วินิจฉัย ว่า การเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ว่า ผลการวินิจฉัยดังกล่าว ตรงกับความคิดเห็นของกลุ่มนักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหว ตั้งแต่ก่อนการจัดการเลือกตั้ง ที่มองว่าการเลือกตั้งจะต้องมีปัญหา เพราะเป็นการจัดการเลือกตั้งที่จัดขึ้น ในระยะเวลากระชั้นชิดและขัดแย้งต่อหลักการประชาธิปไตย

จากผลการวินิจฉัยนี้ เห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจะต้องตระหนักและพิจารณาตัวเอง ที่ไม่สามารถปฏิบัติภาระหน้าที่หลักของตัวเองได้ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความชอบธรรมในการทำงาน

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรัฐ จากการสูญเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งนับพันล้านบาทโดยไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเห็นว่ากระทรวงการคลัง สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องสอบสวนติดตามหาตัวผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้

ขณะที่ความเสียหายอีกส่วนหนึ่ง เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอยากสนับสนุนให้ทำการฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากกรณีนี้ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ขณะเดียวกัน เห็นว่า ในเมื่อการเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 ได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น ในการพิจารณาคดีความเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งต่างๆ โดยเฉพาะคดีการฉีกบัตรเลือกตั้งที่ผู้ต้องหากระทำ เพื่อแสดงการคัดค้านการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม มองว่า ศาลน่าจะมีการหยิบยกเอาประเด็นนี้ขึ้นมาใช้ประกอบการพิจารณาคดีด้วย

นอกจากนี้ ผศ.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีมติเสียงส่วนใหญ่วินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีอีกหลายประเด็น ที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหว แต่ถูกทำให้ลืมไป เช่น การตรวจสอบความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรี การยุบสภา รวมทั้งการเรียกร้องปฏิรูปการเมือง เป็นต้น ซึ่งเป็นบทเรียนสำหรับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนในครั้งต่อไปว่า จะต้องยึดกุมหลักการให้มากกว่านี้ ไม่ใช่มุ่งขจัดแต่ตัวบุคคลเท่านั้น

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์