นักข่าวไทย-กัมพูชามองสื่อผ่านคดีพระวิหาร

นักข่าวไทย-กัมพูชามองสื่อผ่านคดีพระวิหาร


เวทีเสวนา 'ไทย-กัมพูชา-ปราสาทพระวิหาร...รู้ทันข่าว รู้ทันสื่อ' 'เสริมสุข'ห่วงความเข้าใจสื่อปั่นกระแสบั่นทอนไทย ส่วน 'ซก สุวัน' ยันคนกัมพูชาส่วนใหญ่อยากให้จบ

 ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 เม.ย.2556 ในเวทีเสวนา เรื่อง "ไทย - กัมพูชา - ปราสาทพระวิหาร...รู้ทันข่าว รู้ทันสื่อ" จัดโดยมีเดียส์ อินไซด์ เอ้าท์ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องการสู้คดีระหว่างไทย และกัมพูชา กรณีที่กัมพูชาได้ยื่นตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (ไอซีเจ) รวมทั้งประเด็นที่ไทยกับกัมพูชา ได้ชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลก พร้อมมีเอกสารหลักฐานแสดงข้อโต้แย้งหักล้างระหว่างกัน ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธนแลนด์ ในวันที่ 15 - 19 เม.ย. ที่ผ่านมา

 นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ The Nation กล่าวถึงที่มาซึ่งนำไปสู่การที่กัมพูชายื่นขอตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารว่า ปราสาทพระวิหารในบริบทไทยและกัมพูชาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ความขัดแย้ง เดิมที่มีการเตรียมขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพัฒนาร่วมกัน ซึ่งมีบางกลุ่มนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมืองมีเป้าหมายโจมตีรัฐบาลเป็นหลัก ส่วนปัญหาพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. มาจากที่ยืนยันเส้นเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาที่ต่างกัน โดยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ได้กำหนดให้มีพื้นที่กั้นชนนำมาประกอบการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้สมบูรณ์ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งพัฒนา ล่วงเลยไปสู่การปะทะตามแนวชายแดน ส่งผลให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำให้กัมพูชาพยายามนำเรื่องนี้สู่ศาลโลกให้ได้

นายสุภลักษณ์ กล่าวว่า การทำข่าวคดีพระวิหารสิ่งสำคัญเป็นการทำความเข้าใจกับประเด็นที่เป็นหัวใจของการต่อสู้คดี นั่นคือ การตีความ "อาณาบริเวณ" ใกล้เคียงพระวิหาร หากย้อนกลับไปดูมติ ครม. ปี 2505 ที่ไทยได้ดำเนินการตามคำตัดสินเดิมปี 2505 ได้มีการปักป้าย และล้อมรั้วลวดหนามให้พื้นที่กับปราสาทพระวิหาร สิ่งนี้ ตนตั้งคำถามว่าการกำหนดขอบเขตปราสาทพระวิหารใช้หลักเกณฑ์ใด และพิจารณาดำเนินการตามคำตัดสินศาลโลกอ้างอิงหลักประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์และภูมิประเทศอย่างไร ในเรื่องนี้ตนได้รับการชี้แจงเบื้องต้นจากนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนในการดำเนินการทางกฏหมายของไทยว่า ขอให้ติดตามสิ่งที่จะเกิดในศาลโลกโดยเฉพาะเนื้อหาในภาคผนวก 5 ที่อ้างมติ ครม. ปี 2505 ที่ตอบคำถามนี้

 "จากที่ได้ไปร่วมรายงานข่าวที่ศาลโลก ตนเห็นว่าสิ่งสำคัญไทยจะอธิบายศาลโลกเรื่องอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารด้วยอะไร ซึ่งในการชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลก ไทยเองก็แจ้งว่าเป็นพื้นที่ที่ มติ ครม. ปี 2505 รองรับตัวปราสาท และแสดงอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร ประกอบกับแสดงแผนที่ 85D โดยทนายอลินา มิรอง บอกว่า พื้นที่ถกเถียงกันไม่ได้ใหญ่ เมื่อเทียบกับพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งพื้นที่ปราสาทพระวิหาร 0.35 ตร.กม. ขณะที่ มติ ครม. ปี 2505 ได้ให้พื้นที่กับกัมพูชา 0.28 ตร.กม. ยิ่งทำให้เห็นว่า สองประเทศเห็นในเรื่องอาณาบริเวณที่ต่างกัน การที่ผู้พิพากษาให้กลับมาหาพิกัดเป็นการทดสอบสองประเทศ อย่างไรก็ตามตนมีโอกาสได้ถามนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรต่างประเทศกัมพูชา ภายหลังออกจากห้องพิารณาศาล ถึงอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารที่กัมพูชาได้ยืนยันว่า มีขนาดเท่าไร ได้รับคำตอบว่า ก็เป็นไปตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน"นายสุภลักษณ์กล่าว

 นายสุภลักษณ์กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบจะเห็นว่า พื้นที่อาณาบริเวณปราสาทที่ไทยและกัมพูชาแสดงต่อศาลต่างกัน 43 ไร่ ซึ่งเป็นบริเวณป่า จากพื้นที่กระไดหักถึงด้านหน้าขึ้นปราสาท มีคำถามว่าเมื่อไทยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทยทำไมไม่ยืนยันหรือระบุให้ชัดเป็นเขตพิพาทหรือไทยกำลังสับสนในพื้นที่ขอบเขตอาณาบริเวณ ทั้งนี้ผมไม่สนใจว่าใครจะมีความเห็นในมุมมองของตนอย่างไรแต่อย่างน้อยรายละเอียดในเอกสารทุกชิ้นของไทยก็ไม่ควรพลาด

 "มีหลายสื่อพยายามชี้ถึงแนวโน้มผลคำตัดสินศาลโลกและได้สอบถามผมในฐานะสื่อมวลชนเดินทางไปทำข่าวที่กรุงเฮก ซึ่งผมไม่มีความรู้กฎหมายระหว่างประเทศ แม้ผมจบนิติศาสตร์และยิ่งในฐานะนักข่าวก็ไม่ควรตอบหรือคาดการณ์ เพื่อให้เกิดความหวัง ส่วนตัวผมทำข่าวพระวิหาร รู้สึกตื่นเต้นน้อยกว่าทำข่าวประชุมมรดกโลก เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับศาลโลกเป็นผู้ตัดสิน และผมก็พยายามย้ำกับนักการเมืองว่าอย่าใช้ประโยชน์กับเรื่องนี้ในทางการเมือง โดยเฉพาะการยื่นขอตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร เกิดขึ้นในบรรยากาศที่เราไม่โกรธกัน โดยความขัดแย้งและต่อสู้คดีกันทั้งหมดให้จบอยู่ที่ศาลโลก ทั้งนี้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ หากเปรียบเทียบกับระยะทางตามแนวชายแดที่ทอดยาวกว่า 800 ก.ม. ในฐานะสื่อมวลชนต้องนำตัวเองออกจากปัญหานั้น แยกแยะตนเองจากความเป็นประชาชน และความมีอารมณ์ร่วม จากปัญหา โดยต้องมองข้ามความขัดแย้งนี้ไป เราจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจเพียงแค่ประเด็นเท่านี้" บก.ต่างประเทศ เดอะเนชั่น กล่าว

นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการอาวุโส ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ในเอกสารชี้แจงและสังเกตการณ์ ของไทยและกัมพูชา ได้ระบุถึงเอ็มโอยู ปี2543 ที่มีเป้าหมายให้การเจรจาปักปันเขตแดน ที่เป็นการยอมรับของไทยและกัมพูชาว่า มีปัญหาเรื่องเขตแดนซึ่งฝ่ายไทยเน้นว่าสองฝ่ายเห็นว่ามีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ที่ต้องหันมาเจรจากันปักปันเขตแดนกัน ขณะที่กัมพูชามองว่า มีความเป็นต้องตีวามอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร ทั้งที่ในความเป็นจริงพื้นที่ปราสาทพระวิหารเป็นเสี้ยวหนึ่งของการเจรจาพื้นที่พิพาทตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา แต่สื่อไทยหลายแห่งนำเสนอข่าวในทางผิดๆว่า กัมพูชาฉวยโอกาสนำเอ็มโอยู ปี 2543 มายืนยันต่อศาลว่ามีปัญหาพิพาทอยู่จริง ตรงนี้เป็นความอ่อนไหวและน่าห่วงกังวลที่สื่อไทยไม่เข้าใจในประเด็นการยื่นขอตีความเพราะการยื่นตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร ในข้อเท็จจริงเป็นพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร แต่กัมพูชาพยายามขยายประเด็นโดยอ้างเส้นเขตแดนในแผนที่เพื่อให้มีอาณาบริเวณขยายกินพื้นที่ทับซ้อนในปัจจุบัน

 "แนวโน้มคำตัดสินศาลโลก มีความเป็นไปได้ที่ ไทยจะเสียพื้นที่ 43 ไร่หรือศาลกำหนดอาณาบริเวณขึ้นใหม่ที่จะเป็นประโยชน์สองฝ่าย หรือไทยสามารถรักษาพื้นที่ 43 ไร่ไว้ แต่พื้นที่ดังกล่าวไม่ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารกับทางกัมพูชา สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกัมพูชาได้เบี่ยงเบนประเด็นตีความเรื่องอาณาบริเวณไปเป็นพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.หรือแนวโน้มคำตัดสินศาล ไทยต้องเสียพื้นที่บางส่วนในทิศตะวันตกของปราสาท ขนาด 1.5 ตร.กม.ในพื้นที่ทับซ้อน ที่จะเป็นประโยชน์กับกัมพูชา ที่นำไปประกอบการขึ้นทะเบียนให้สมบูรณ์"นายเสริมสุขกล่าว

   นายซก สุวัน ประธานกรรมการสื่อมวลชนกัมพูชา และรองเลขาธิการสหพันธ์สื่อมวลชนอาเซียน กล่าวว่า ในการชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลกในกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ประชาชนกัมพูชาสามารถติดตามคดีทางช่อง 11 ขณะที่กัมพูชาไม่มีการถ่ายทอด ซึ่งคนกัมพูชายังเห็นว่าจะชนะคดีเหมือนกับที่ขึ้นศาลโลก ปี 2505 โดยในช่วงชี้แจงศาลคนกัมพูชาไม่มีปฏิกิริยามากนัก เพราะคนที่ติดตามการถ่ายทอดสดส่วนใหญ่ เป็นคนที่ฟังภาษาไทยรู้เรื่อง และนำไปบอกเล่ากัน

 สำหรับการรายงานข่าวสื่อกัมพูชาก็มีเชิญนักวิชาการมาวิเคราะห์ถึงแนวโน้มคำตัดสิน ที่เชื่อมั่นในแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนว่าเป็นหลักฐานสำคัญทำให้ชนะคดีได้ และก็ไม่ได้มีการรายงานข่าวอิงความเป็นชาตินิยมมากนักอย่างที่ไทยเข้าใจกัน เนื่องจากเกรงกระทบความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน ส่วนการนำเสนอข่าวบริเวณชายแดนก็ต่างไปจากเดิม โดยไม่ได้ให้น้ำหนักในบรรยากาศประชาชนในพื้นที่ หรือชี้ถึงแนวโน้มคำตัดสิน และเน้นในเรื่องข้อมูลและรายละเอียดที่ทนายความทั้งสองฝ่าย ที่นำมาโต้แย้งหักล้างกัน นอกจากนี้ ยังมีการมองประเด็นต่อไปอยู่บ้างว่า ถ้าไม่เป็นตามคาดหวัง แต่โดยส่วนใหญ่เห็นว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานไม่ตื่นเต้นและอยากให้จบไป

"ผมมองความสัมพันธ์ระหว่างไทย - กัมพูชาว่า ในระยะ 2 ปีให้หลังนี้ดีขึ้น และการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนนำเสนอข่าวออกไปว่า เป็นความขัดแย้งส่วนตัวหรือประเทศ โดยประชาชนกัมพูชาส่วนใหญ่มองว่า เหตุการณ์ปะทะชายแดนไม่เป็นประโยชน์ มีแต่ทหารและชาวบ้านล้มตาย เมื่อเรื่องถึงศาลโลกแล้วก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลโลก" นายซก สุวัน กล่าวว่า

 ขณะที่นายประสิทธิ์ แสงรุ่งเรือง นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนำเสนอข่าวนี้ สามารถแบ่งผู้สื่อข่าวเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลไทย กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชา และกลุ่มที่รายงานข้อเท็จจริง ซึ่งจะเห็นว่า กลุ่มที่รายงานข่าวเอนเอี่ยงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง น่าจะเป็นนักข่าวเฉพาะกิจมากกว่านักข่าวที่เป็นวิชาชีพ เมื่อพูดถึงเรื่องพระวิหาร ในส่วนที่เกี่ยวกับตุลาการก็ให้ดำเนินไป ทุกฝ่ายคงต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ อย่างไรเสีย ก็ไม่สามารถขุดปราสาทพระวิหาร หรือย้ายประเทศหนีกันได้ ขณะที่ประชาชนตามแนวชายแดนส่วนใหญ่อยากให้มีการพัฒนาพื้นที่ชายแดนนร่วมกัน

 "สิ่งที่น่าห่วงกังวลเป็นเรื่องการรับข่าวสารแบบด้านเดียว และข่าวสารที่ไหลไปอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนตัวมองว่า สื่อมวลชนไม่ควรนำเสนอในประเด็นความขัดแย้งที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในอนาคต ถ้าต่างฝ่ายต่างรักชาติ ระดมความคิดเห็นที่ต่อต้านและแสดงความเป็นเจ้าของ คงเอื้อต่อการก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนร่วมกัน อาจจะทำให้ 2 ประเทศไม่เท่าทันประเทศมหาอำนาจที่อาจจะใช้โอกาสนี้มาใช้ประโยชน์ก็ได้" นายประสิทธิ์ กล่าว

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์