นพดล-เขมร เซ็นรับแผนที่พระวิหาร

เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ในฐานะผู้แทนฝ่ายกัมพูชา

ได้นำคำแถลงการณ์ที่นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ลงนามในแถลงการณ์ร่วมต่อกรณีกัมพูชาเสนอปราสาทเขาพระวิหารขึ้นเป็นมรดกโลกต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) พร้อมทั้งลงนามเห็นชอบแผนที่ฉบับใหม่ของกัมพูชาที่นำเสนอแนบท้ายด้วย มามอบให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามรับรอง โดยมีนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายกฤต ไกรจิตติ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ พล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมการแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน
 

หลังจากลงนามรับรองในเอกสารแล้ว นายนพดลได้นำคณะแถลงข่าว

ยกเว้นเอกอัครราชทูตและตัวแทนฝ่ายกัมพูชา โดยนายนพดลได้นำแผนที่ และแถลงการณ์ร่วม 2 ฝ่ายฉบับคำแปลอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งร่างขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 มาประกอบการแถลงข่าวด้วย ทั้งนี้ในแถลงการณ์ร่วม ระบุในข้อ 5.ว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทยในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ของทั้งสองประเทศ

นายนพดล ตอบคำถามถึงสาเหตุที่เพิ่งนำแผนที่เขาพระวิหารออกมาแสดงว่า

แผนที่แก้ไขสุดท้ายที่ได้รับมาคือ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา และกัมพูชาเพิ่งลงนามเมื่อคืนวันที่ 17 มิถุนายน ส่วนคำแถลงการณ์ร่วมเพิ่งส่งมาเมื่อเช้าวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ซึ่งต้องให้โอกาสคนทำงานเปิดเผยในเวลาที่เหมาะสม การเจรจาความต่างประเทศมีความละเอียดอ่อน

''มีการลงนามร่วมกันระหว่างผมกับนายสก อาน และขั้นตอนต่อไปเราจะส่งแผนที่และคำแถลงการณ์ร่วมให้ยูเนสโกลงนาม และยูเนสโกจะส่งเรื่องเข้าพิจารณาสู่คณะกรรมการมรดกโลกในวันที่ 5-9 กรกฎาคมนี้ ที่ประเทศแคนาดา ส่วนเขาจะขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ ขึ้นกับยูเนสโก'' นายนพดลกล่าว และว่า สำหรับพื้นที่ทับซ้อนที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิในพื้นที่ จะมีการหารือกับกัมพูชาเจรจาเพื่อทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน แล้วยื่นให้คณะกรรมการมรดกโลกในอีก 2 ปี ภายในปี 2553
 

นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนการหารือระหว่างไทยและกัมพูชา ถือว่าได้ข้อยุติ หลังจากนี้จะเป็นการนำเรื่องทั้งหมดเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป


กรมแผนที่ทหารยันไม่ล้ำแดนไทย


พล.ท.แดนแถลงว่า กรมแผนที่ทหารได้ส่งเจ้าหน้าที่ของกรมลงไปในพื้นที่ทำการสำรวจจริง ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่มีโอกาสเข้าไปสำรวจในเขาพระวิหาร เพราะเป็นพื้นที่เขตแดนของกัมพูชา Ffp กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้กรมแผนที่ทหารไปสำรวจเพียงฝ่ายเดียว เราใช้เวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-11 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยใช้เครื่องมือรังวัดพิกัดจีพีเอสดาวเทียม ซึ่งรังวัดตัวปราสาททั้งหมด หาค่าพิกัดที่เกี่ยวข้อง จึงได้ออกมาเป็นแผ่นผังทั้งหมด 1 ต่อ 4,000 ส่วนที่ใกล้เส้นเขตแดนที่สุด คือ 3 เมตร ทางด้านใต้ของตัวปราสาท สูงขึ้นมาคือ 25 เมตร ช่วงที่ห่างสูงสุดคือ 30 เมตร ช่วงบันไดสุดท้ายถึงเส้นเขตแดนด้านเหนือของไทย ห่างประมาณ 10 เมตร

'' จากการสำรวจพื้นที่และรังวัดอย่างละเอียด ขอยืนยันว่าไม่มีส่วนใดในขอบเขตที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทับซ้อนหรือเลื่อมล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย''  พล.ท.แดนระบุ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์