ธาริตลั่น ฮิโรยูกิ ไม่ตายฟรี เดินหน้าส่งคดี 6 ศพวัดปทุมให้ตํารวจ

ธาริตลั่น ฮิโรยูกิ ไม่ตายฟรี เดินหน้าส่งคดี 6 ศพวัดปทุมให้ตํารวจ


ธาริตลั่น "ฮิโรยูกิ" ไม่ตายฟรี เดินหน้าส่งคดี 6 ศพวัดปทุมให้ตํารวจ

วันที่ 6 พ.ย.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณี นายโนบุยูกิ คะวะอิ  ผู้บัญชาการและผู้อำนวยการกองปฏิบัติการสืบสวนระหว่างประเทศญี่ปุ่น นำคณะ เข้าพบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษดีเอสไอเมื่อวานนี้ ว่า คณะของนายโนบุยูกิเดินทางมาพบเพื่อสอบถามความคืบหน้า 2 คดี คือ คดีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ  มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 และคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวสาวชาวญี่ปุ่นที่ จ.สุโขทัย ซึ่งก็มีหลายประเด็นที่ได้หารือกัน โดยเฉพาะกรณีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมซึ่งเขาก็สนใจและสอบถามว่าจะส่งผลกระทบอะไรกับคดีหรือไม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้อธิบายว่าตราบใดยังไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ หรือยกโทษออกมา ทางดีเอสไอก็จะยังคงทำหน้าที่ในการสอบสวนคดีดังกล่าวต่อไป  

   นายธาริตกล่าวต่อว่า คดีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกินั้นทางรัฐบาลญี่ปุ่น ก็ได้ติดตามมาตลอดนับตั้งแต่เราดำเนินการมาจนกระทั้งพบข้อเท็จจริง มีพยานหลักฐานเชื่อว่าการเสียชีวิตของ นายฮิโรยูกินี้เกิดจากกระสุนปืนของฝ่ายทหาร และคดีก็อยู่ในชั้นไต่สวนของศาล และแนวโน้นคดีก็น่าจะออกมาลักษณะเหมือนกับคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม

 อย่างไรก็ตามเมื่อมีความคืบหน้าคดีทางการญี่ปุ่นก็จะเดินทางมาพบ และเมื่อวานก็เป็นครั้งที่ 7 หลังจากที่ทางอัยการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรณีการตายของนายพัน คำกอง ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ และการบาดเจ็บของ นายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้

 อย่างไรก็ตามสำหรับความวิตกกังวลของทางการญี่ปุ่นในเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น คือเขากลัวว่าหากกฎหมายนี้ผ่านคนของเขาที่เสียชีวิตจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเราก็ได้อธิบายจนพอใจ และคลายความกังวลลงไป ทั้งนี้หากว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ยังไม่ผ่านดีเอสไอก็จะยังคงเดินหน้าสอบสวนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน  89 ศพ ต่อไปจนครบ รวมถึงนายฮิโรยูกินี้ด้วย

 นายธาริตกล่าวอีกว่า คดีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนในปี 53 นั้นไม่ใช่เป็นคดีทุจริตต่อหน้าที่ แต่เป็นการกระทำผิดลักษณะนอกหน้าที่ ตามที่อัยการสั่งคดีกับบุคคลทั้ง 2 คือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพฯ ซึ่งทั้งๆที่บุคคลทั้งสองนี้มีหน้าที่ดูแลความสงบของบ้านเมือง ซึ่งในกรอบกฎหมายก็วางไว้ว่าทำได้แค่ไหน แต่การกระทำที่เกินจากกรอบ ตามที่ศาลได้สั่งไต่สวนอย่างกรณี 6 ศพวัดปทุมฯ และนายพัน คำกอง ซึ่งเป็นการทำนอกกรอบอำนาจหน้าที่การรักษาความสงบ จึงเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรม และผู้มีอำนาจสั่งคดี คือ อัยการสูงสุด และคนทำคดีก็คือพนักงานสอบสวนตำรวจและดีเอสไอ

 แต่ว่ากรอบของป.ป.ช.จะไปมองในอีกมุมหนึ่งเข้าข่ายความผิดมาตรา 157 ซึ่งก็สามารถมองได้ แต่ไม่ใช่มองแบบแตกต่าง ก็อาจจะมองว่าในส่วนของการทำหน้าที่ในการรักษาความสงบนั้นมีอะไรที่ถูกต้อง ไม่ถูกต้องหรือไม่ เพราะว่ามีการกล่าวหาเมื่อมีการกล่าวหา ป.ป.ช.ก็ต้องไต่สวนไปตามขั้นตอน ยืนยันว่าการสอบสวนคดีของดีเอสไอนั้นไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับ ป.ป.ช.แน่นอน

 เมื่อถามว่า หากสุดท้าย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ผ่านจะชี้แจงกับทางการญี่ปุ่นอย่างไร ในส่วนของคดี นายธาริต กล่าวว่า มันจะมีบริบทที่ต้องอธิบายกับทางญี่ปุ่นตลอดว่าอย่างที่เราเข้าใจว่าเหตุการณ์หลักมันมาจากการปฎิวัติ เมื่อปี 2549 ถ้าไม่มีปฎิวัติครั้งนั้นมันจะไม่เกิดสถานการณ์รุนแรงต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นผลพวงที่แท้จริงก็มากจาก คมช.ที่สร้างมรดกเลือด มรดกบาปมาจนถึงจุดนี้ และการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ร้ายแรงทำนองนี้ในต่างประเทศก็มี

 ตนคิดว่าความเข้าใจของทางต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นนี้เข้าใจได้ เพราะมันมีรูปแบบของต่างประเทศ เนื่องจากเขาดูเหมือนคนกลาง และเขาไม่ได้ห่วงว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้จะมาล้างทุจริตให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่เขาเป็นห่วงว่าคนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ คือ คนสั่งการในคดี 89 ศพ ซึ่งมองต่างกับบ้านเราที่ไม่ห่วงเรื่องนี้เลย ห่วงแต่ว่าล้างทุจริตเท่านั้น

 “อย่างไรก็ตามหากไปเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ก็พบว่าคนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือ ผู้สั่งการทั้ง 2 คน ตามที่อัยการสั่งฟ้องก็จะหลุดพ้นความรับผิดชอบทางอาญา แต่ทางแพ่งญาติของ นายฮิโรยูกิสามารถยื่นฟ้องแพ่งกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อเรียกร้องความเสียหายในมูลละเมิดที่ทำให้นายฮิโรยูกิฯ เสียชีวิตได้ ยืนยันว่านายฮิโรยูกิ ไม่มีตายฟรี และคดีนี้ขออย่าได้นำไปโยงการเมือง ถึงแม้ว่าจะมี นิรโทษกรรมและนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ได้ประโยชน์ แต่ก็ไม่พ้นผิดเรื่องการละเมิดที่ต้องถูกฟ้องจากทางญาติของนายฮิโรยูกิ” อธิบดีดีเอสไอ กล่าว

 ด้าน พ.ต.ท.วรรณพง์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าคดี 89 ศพ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนกำลังเร่งตรวจสอบรายละเอียดสำนวนคดีเพื่อส่งต่อไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)  ซึ่งเหลืออีกประมาณ 30 คดี ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งรัดตรวจสอบสำนวนคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ให้เสร็จสิ้น คาดว่าใช้เวลาไม่นานก็จะสามารถส่งไปยังตำรวจได้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์