ท่วงที ลีลา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเมือง

การ "กลับ" บ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามกำหนด "เดิม" อันยื่นขอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทรง
"ความหมาย"

ไม่เพียงแต่ทำให้ภาพแห่ง "การมโน" อย่างวิลิศมาหราของบางกลุ่ม บางฝ่ายทางการเมืองต้องดับวูบภายในพริบตาพลันเท่านั้น

หากแต่เป็นการยืนยัน
"ตัวตน"

ตัวตนที่เรียกตามศัพท์การเมืองสมัยใหม่ว่า "อัตลักษณ์" ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะ "อดีต" นายกรัฐมนตรีได้อย่างเด่นชัด

ว่าเป็น
"นักสู้"

เป็นนักสู้โดยความเห็นชอบ "ร่วม" จาก 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็น
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

เป็นการต่อสู้โดยความเชื่อมั่นต่อ
"ศาล"

เป็นการต่อสู้ด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูงในความบริสุทธิ์แห่งตนในฐานะของ "นักบริหาร" ระหว่างดำรงตำแหน่งเป็น
"นายกรัฐมนตรี"

"ความหมาย" ตรงนี้ "หมายความ" ว่าอย่างไร


ท่วงที ลีลา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การเมือง

อย่างน้อยก็มี 2 ฝ่าย 2 กลุ่ม ซึ่งแสดงความต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางออกนอกประเทศแล้วไม่กลับ

คือ ไปแล้ว ไปเลย

กลุ่ม 1 คือ ฝ่ายตรงกันข้าม ที่ต้องการเช่นนี้เพื่อให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินซ้ำรอยของ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

และเป็นไปตามความเชื่อของพวกตน

ขณะเดียวกัน กลุ่ม 1 คือ ฝ่ายที่แสดงว่าอยู่ฝ่ายเดียวหรือฝ่ายที่เห็นอกเห็นใจต่อชะตากรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากสถานการณ์ที่ประสบในห้วงของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (สิงหาคม 2554-พฤษภาคม 2557)

กลุ่มนี้ต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับตนในต่างประเทศเท่ากับเป็นการเสริมพลังแห่ง
"แนวร่วม"

ในที่สุด ความต้องการของ 2 กลุ่มนี้ก็
"ล้มเหลว"

ล้มเหลวเพราะว่าเป็นความต้องการอย่างที่เรียกว่า เป็นความต้องการในทาง "อัตวิสัย" ขณะที่การดำรงอยู่ทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการดำรงอยู่ในทาง "ภววิสัย" มีความคิด มีทิศทางอันเป็นของตนจึงยากที่จะเดินไปในแนวทางอันคนอื่นกำหนด

กุมชะตากรรมของตนเอง กุมอนาคตของตนเอง

ต้องยอมรับว่า "กระบวนการ" รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แตกต่างไปจาก "กระบวนการ" รัฐประหารเดือนกันยายน 2549

เมื่อปี 2549 เริ่มต้นจาก "คตส." แล้วจึง "ป.ป.ช." แล้วจึง
"ศาล"

ในปี 2557 ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการที่มีอยู่แล้วคือ จาก ป.ป.ช.แล้วส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดแล้วจึงถึง
"ศาล"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความมั่นใจในหลายส่วน

แม้จะไม่ค่อยมั่นใจในวิธีวิทยาของการทำงานโดยกระบวนการ ป.ป.ช.เท่าใดนัก แต่ก็ยังมีความหวังกับ
"อัยการ"

และก็มีความมั่นใจกับ
"ศาล"

ความมั่นใจในที่นี้มิได้หมายความว่าฝ่ายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวก่ายกับกระบวนการของสำนักอัยการสูงสุดหรือกระบวนการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หากมั่นใจว่าจะได้รับ
"ความยุติธรรม"

เหมือนกับความยุติธรรมซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยให้ไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลายนับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

ความยุติธรรมต่างหาก คือ ความฝันอันสูงสุด

จากนี้จึงเห็นได้ในความเป็น "ผู้นำ" เห็นได้ในการตัดสินใจโดยตนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หากจะมองและประเมินว่า นี่คือกระบวนการในการต่อสู้ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการต่อสู้ภายในกรอบ ภายในกฎกติกาที่มีอยู่แล้วด้วยควาามมั่นใจในสิทธิอัตวินิจฉัยของทุกฝ่ายซึ่งเกี่ยวข้อง

รวมทั้ง "สิทธิอัตวินิจฉัย" แห่งตน

............

(ที่มา:มติชนรายวัน 12 สิงหาคม 2557)


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์