ที่สุด!มาร์ค-สุเทพโดนข้อหาสั่งฆ่าแดง

'เอแบคโพลล์' เผยข่าวที่สุดปี55 'มาร์ค-สุเทพ' ถูกข้อหา ก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ขณะที่ 'ในหลวง' เสด็จฯออกมหาสมาคม 5 ธ.ค.ทำให้คนไทยมีความสุขที่สุด

ที่สุด!มาร์ค-สุเทพโดนข้อหาสั่งฆ่าแดง


                   ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องที่สุดของ 'ข่าว' แห่งปี 2555 กรณีศึกษาตัวอย่าง ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,218 ตัวอย่าง ดำเนินการสำรวจในวันที่ 18 - 22 ธันวาคม 2555 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบมีดังนี้


ที่สุดของ 'ข่าวการเมือง' แห่งปี 2555


    อันดับที่ 1 คือ 'ดีเอสไอ' ตั้งข้อหา 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ได้ร้อยละ 20.1

    อันดับที่ 2 คือ 'พรบ. ปรองดอง เดือด ส.ส.ตะลุมบอนกันวุ่นในรัฐสภา' ได้ร้อยละ 18.4

    อันดับที่ 3 คือ 'ม็อบเสธ.ฯอ้าย ประท้วงขับไล่รัฐบาล' ได้ร้อยละ 16.3

    อันดับที่ 4 คือ 'ภาพโป๊หลุดกลางรัฐสภา' ได้ร้อยละ 14.2

    อันดับที่ 5 'เแฉคลิปเสียงประธานรัฐสภา พูดถึงเบื้องหลังที่รัฐบาลยอมถอยแก้รัฐธรรมนูญ และการชะลอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง' ได้ร้อยละ 11.7


ที่สุดของ ข่าวอาชญากรรม แห่งปี 2555


    อันดับที่ 1 คือ 'ขุดพบโครงกระดูกในไร่หมอสุพัฒน์' ได้ร้อยละ 23.5 

    อันดับที่ 2 คือ 'คดีปลัดกระทรวงคมนาคมถูกปล้นบ้าน และโดนข้อหาร่ำรวยผิดปกติ' ได้ร้อยละ 16.2

   อันดับที่ 3 คือ 'ลูกเจ้าสัวกระทิงแดง ขับรถชนตำรวจ​ตาย' ได้ร้อยละ 15.4

   อันดับที่ 4 คือ 'เกิดเหตุระเบิดโรงแรมลีการ์เด้น หาดใหญ่' ได้ร้อยละ 15.3

   อันดับที่ 5 'ศาลเยาวชนฯ พิพากษาจำคุก สาวซีวิค 2 ปี รอลงอาญา 3 ปี พร้อมห้ามขับรถจนกว่าจะอายุ 25 ปี' ได้ร้อยละ 12.4


ที่สุดของ ข่าวเศรษฐกิจ แห่งปี 2555


   อันดับที่ 1 คือ 'ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง และจังหวัดที่เหลือขึ้นอีก 40%' ได้ร้อยละ 30.6

   อันดับที่ 2 คือ 'เปิดประมูล 3จี' ได้ร้อยละ 19.9

   อันดับที่ 3 คือ 'ปรับขึ้นเงินเดือน ป.ตรี 15,000 บาท นำร่องข้าราชการ' ได้ร้อยละ 17.4

   อันดับที่ 4 คือ 'โครงการจำนำข้าว' ได้ร้อยละ 16.4

   อันดับที่ 5 'ยอดจองถล่มทลาย! รถคันแรกพุ่ง 7.2 แสนคัน คืนภาษี 5.3 หมื่นล้านบาท' ได้ร้อยละ 15.7


ที่น่ายินดี คือ เหตุการณ์ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุดในปี 2555
   

   อันดับที่ 1 คือ 'ในหลวง' เสด็จฯออกมหาสมาคม ในโอกาสพระราชพิธี มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2555 ได้ร้อยละ 36.2

   อันดับที่ 2 คือ 'ในหลวง' เสด็จฯเยือนบริเวณทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ร้อยละ 34.6 

   อันดับที่ 3 คือ 'ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้และประกาศพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า' ได้ร้อยละ 12.1 

   อันดับที่ 4 คือ 'นักกีฬาไทยคว้าเหรียญกีฬาโอลิมปิก' ได้ร้อยละ 10.5

   อันดับที่ 5 'นักกีฬาคนพิการคว้าเหรียญกีฬาพาราลิมปิก' ได้ร้อยละ 6.6


ที่น่าเศร้าใจ คือ เหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกสลดใจมากที่สุดในปี 2555


   อันดับที่ 1 คือ 'เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้' ได้ร้อยละ 37.3 

   อันดับที่ 2 คือ 'เด็ก 3 ขวบ กอดศพแม่นาน 3 วัน โดยไม่รู้ว่าแม่เสียชีวิต' ได้ร้อยละ 25.3

   อันดับที่ 3 คือ 'คนร้ายบุกยิงโรงเรียนในสหรัฐ เสียชีวิต 27 ราย' ได้ร้อยละ 22.0

   อันดับที่ 4 คือ 'เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในฟิลิปปินส์' ได้ร้อยละ 8.4

   อันดับที่ 5 'พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ถล่มสหรัฐ' ได้ร้อยละ 7.0


          ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า ประชาชนให้ความสำคัญต่อ 'ข่าว' และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ต้องติดตามเรียนรู้ เปรียบเสมือนว่า ข่าวเป็นเนื้อหาของบทเรียนในแต่ละวัน ในแต่ละช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นในสังคม อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนจำนวนมากติดตามเพียง 'หัวข้อข่าว' ที่ถูกหยิบขึ้นมาพาดหัว และส่วนมากเชื่อและเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ เกิดอารมณ์ ชอบหรือไม่ชอบไปตามหัวข้อข่าว ขาดการติดตามในรายละเอียดของเนื้อหาของข่าว จนบางครั้งเกิดทะเลาะกัน มีปากเสียงกันภายในครอบครัวและชุมชน หรือกับเพื่อนร่วมงาน และแม้แต่ 'คนแปลกหน้า' ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน นี่คืออันตรายอย่างยิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนคนไทย


          ดังนั้นการติดตาม 'ข่าว' ต้องติดตามลงไปในรายละเอียด และถ้าคนไทยเล็งเห็นว่า มีการแบ่งค่ายของสำนักข่าวต่างๆ ทางออกที่น่าพิจารณาอย่างน้อย 3 ทางเลือก คือ


     1) เสนอให้สถาบันสื่อสารมวลชน เสนอข่าวที่เล็งเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนให้ครบถ้วนรอบด้าน และสรุปในเชิงสร้างสรรค์ด้วยเหตุผล มากกว่า ถ้อยคำด้วยความรู้สึก โกรธแค้น และใช้ถ้อยคำที่ 'ปั่น' อารมณ์ให้คนทะเลาะกัน


     2) เสนอให้ประชาชนเป็นผู้ 'ตื่น' คือ เป็น Active ไม่เป็นเพียง 'ผู้รับ' หรือ Passive กล่าวคือ ไม่ไหลไปตามกระแส ศึกษาเรียนรู้ด้วยความเป็นจริงโดยตัวเองให้ครบถ้วนรอบด้าน และ


     3) หยุด หรือชะลอการนำเสนอข่าวที่ยังไม่เห็นชัดเจนว่ามันเป็นความจริง ไม่ควรเสนอข่าวที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย จากต้นตอของข่าวที่เริ่มจากคำว่า 'เขาว่ากันว่า...' จากนั้นก็วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ไม่มีมูลของความเป็นจริงอยู่เลย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำเสนอข่าวเองอาจเกิดอารมณ์ หรืออคติชี้นำไปแล้วในฐานะเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีต่อ 'ข่าว' และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงสูง ที่จะผิดจรรยาบรรณของสถาบันสื่อมวลชนได้ง่าย จึงเสนอให้ทุกๆ ฝ่ายช่วยเหลือกันประคับประคองให้สังคมไทยผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคแห่งความขัดแย้งในหมู่ประชาชนผ่าน 'ข่าวจริง' มากกว่า 'ข่าวเทียม' เพราะในเวลานี้ 'ข่าวเทียม' กำลังกลายเป็นต้นตอแห่งความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจกันอยู่ในเวลานี้ จึงหวังว่า ปีหน้านี้ สถาบันสื่อมวลชนจะทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ติดตาม 'ข่าวจริง' ที่จะทำให้สังคมไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.3 เป็นหญิง ร้อยละ 47.7 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 4.8 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 18.2 อายุระหว่าง 20 - 29 ปี ร้อยละ 22.9 อายุระหว่าง 30 - 39 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40 - 49 ปี และร้อยละ 32.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป


           ตัวอย่างร้อยละ 70.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี รองลงมาคือ ร้อยละ 27.4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 1.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่าง ร้อยละ 35.7 ระบุ อาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ ร้อยละ 19.8 ระบุ อาชีพพนักงานบริษัท ร้อยละ 14.2 ระบุ อาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 10.9 ระบุ อาชีพพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 10.8 ระบุ เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 6.2 ระบุ อาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 2.4 ระบุอื่นๆ เช่น อาชีพเกษตรกร ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์