ทีดีอาร์ไอระดมสมองประเมินองค์กรอิสระต้านคอร์รัปชัน

ทีดีอาร์ไอระดมสมองประเมินองค์กรอิสระต้านคอร์รัปชัน


ทีดีอาร์ไอระดมสมองประเมินองค์กรอิสระต้านคอร์รัปชัน

27ส.ค.2557 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดประชุมระดมความคิดเห็นโครงการ “ประเมินองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน”  เพื่อประเมินผลการดำเนินการของ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานผู้ตรวจงานแผ่นดิน (สตง.) หลังจากมีการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างขององค์กรเพื่อแก้ปัญหาการแทรกแซงทางการเมือง ทั้งสามองค์กรปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยเน้นมิติของการเป็นองค์กรอิสระทางการเมืองทั้งในเชิงอำนาจและทางการเงินได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้ระดมสมองที่หลากหลายประเด็น อาทิ ควรมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกรรมการสรรหาให้หลากหลายขึ้นหรือไม่ ควรมีหลักการอย่างไรในการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น

             น.ส.วีรวัลย์ ไพบูลย์จิตต์อารี นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการศึกษาการทำงานของ คตง. ในด้านความเป็นอิสระทางการเงิน ว่า คตง.ควรจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นระบบ เช่น จัดสรรงบประมาณต่อประชากรรายหัว  สัดส่วนของภาษีบุหรี่หรือภาษีสุรา หรือเป็นสัดส่วนของงบประมาณทั้งหมด ด้านอำนาจหน้าที่ควรให้อำนาจในการตรวจสอบข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการในหน่วยงานราชการ องค์กรอิสระ องค์กรมหาชนโดยไม่มีข้อยกเว้น ด้านจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ควรปรับปรุงประมวลจริยธรรมโดยต้องมีบทลงโทษหากไม่มีการดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้านความรับผิดชอบต่อหน้าที่ควรเปิดเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียนที่ได้ดำเนินการแล้วทั้งหมด รวมทั้งเรื่องที่มีการรายงานต่อ ครม.สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยกำหนดเวลาที่ดำเนินเรื่องร้องเรียนอย่างชัดเจน

             ขณะที่ น.ส.ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ นำเสนอผลการวิจัย ป.ป.ช. โดยมีข้อเสนอแนะว่าการสรรหาบุคลากรเข้ามาทำงานควรเพิ่มนักธุรกิจหรือนักวิชาการที่มีประสบการณ์ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันมาเป็นเวลา 10 ปี เพื่อเพิ่มผู้แทนด้านวิชาชีพที่มีความหลากหลายมากขึ้น ด้านการดำเนินการควรกำหนดแหล่งงบประมาณที่แน่นอน อาทิ สัดส่วนภาษีสรรพสามิต สัดส่วน GDP งบประมาณต่อหัวต่อประชากร รวมถึงออกระเบียบเรื่องเงินเดือนโดยกำหนดค่าตอบแทนให้พนักงานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคลากร การถอดถอนจากตำแหน่งควรส่งเรื่องไปที่คณะกรรมาธิการวุฒิสภาที่มีหัวหน้าฝ่ายค้านเป็นประธาน ด้านการดำเนินการทางวินัยหากนายกรัฐมนตรีไม่มีการดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ควรให้ ป.ป.ช. เปิดเผยต่อสาธารณชน ด้านความรับผิดชอบ ควรมีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่สะท้อนผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนทั้งผลงานในอดีตและงานที่ยังดำเนินการอยู่เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้

             ด้านนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงบทสรุปด้านโครงสร้าง สตง. ว่าควรได้รับงบประมาณที่เพียงพอและแน่นอน โดยพิจารณาให้มีแหล่งรายได้ต่อหัวประชากรในกฎหมายและหน่วยงานราชการควรจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ สตง.ตรวจสอบความคุ้มค่าคิดเป็นร้อยละของโครงการ ด้านอำนาจหน้าที่ สตง.ควรมีอำนาจในการยับยั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ ถ้าหน่วยงานของรัฐดำเนินการไม่ถูกระเบียบ รวมทั้งควรออกระเบียบเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนของพนักงานที่ดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะให้วุฒิสภารับรองรายงานประจำปี ภายในกำหนดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อที่จะเปิดเผยรายละเอียดผลการตรวจสอบต่อสาธารณชนทันที

             ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวสรุปภาพรวมสถานการณ์คอร์รัปชันและการพัฒนาองค์กรต่อต้านธุรกิจในไทย ว่าโครงสร้างขององค์กรอิสระทั้งสามมีอิสระเชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ และการบริหารงานบุคคล แต่ไม่มีอิสระด้านงบประมาณ การสรรหาบุคลากรเข้ามาทำงานจะให้น้ำหนักแก่ฝ่ายตุลาการมาก กรรมการมีความหลากหลาย จำกัดเพียงข้าราชการประจำและอาจารย์มหาวิทยาลัย ด้านการดำเนินงานทั้งสามองค์กรยังไม่สามารถดำเนินงานได้เต็มศักยภาพเนื่องจากขาดงบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอ มีบัญชีของหน่วยงานราชการที่ไม่ได้รับการตรวจสอบจำนวนมากทำให้เกิดความล่าช้า มีคดีทุจริตที่ยังคงค้างการพิจารณาอยู่ ด้านความรับผิดชอบ มีการรายงานต่อ ครม. วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร แต่มักไม่มีผลในทางปฏิบัติ มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนน้อยมากทำให้การตัดสินใจของหน่วยงานอิสระไม่โปรงใส

             ทั้งนี้ข้อเสนอแนะที่มีคือ ด้านโครงสร้าง ควรมีความหลากหลายของกรรมการสรรหา และกรรมการองค์กรอิสระ กำหนดงบประมาณต่อรายหัวประชากรโดยตรวจสอบความคุ้มค่าของโครงการที่มีมูลค่าสูงของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ด้านการปฏิบัติหน้าที่ควรกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการองค์กรอิสระให้ไม่น้อยกว่ากรรมการของหน่วยงานที่ต้องตรวจสอบ นอกจากนี้ควรกระจายอำนาจให้หน่วยงานเหล่านี้สามารถดำเนินคดีได้เอง มีอำนาจในการสั่งยับยั้งการเบิกจ่ายเงินกรณีที่มีการกระทำที่ส่อทุจริต ด้านความรับผิดชอบควรกำหนดระยะเวลาที่วุฒิสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติต้องรับรองรายงานขององค์กรอิสระ มีข้อกำหนดให้องค์กรอิสระต้องเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลกรณีที่มีการสืบสวนทั้งในอดีตและในปัจจุบันเท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายสาธารณชน 


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์