ทำอย่างไรไม่ให้การเมืองไทยถูกแทรกแซงโดยทหาร

โดย ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

ภาคหนึ่งว่าด้วยรัฐประหารบทที่ 2ทำอย่างไรไม่ให้การเมืองไทยถูกแทรกแซงโดยทหาร:อุปสรรคของระบอบประชาธิปไตย

บทนำ

คงไม่มีใครปฎิเสธว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ต้องล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดอันเป็นผลมาจากการทำรัฐประหารของ “ทหารเพียงกลุ่มหนึ่ง” หลังจากที่ประชาชนคนไทยได้ร่วมแรงร่วมใจขับไล่เผด็จการช่วงพฤษภาทมิฬแล้ว ทหารไทยเริ่มเป็นทหารอาชีพมากขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬซึ่งกรุยทางไปสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 จะเป็นจุดฝังระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” แล้ว แต่หลังจากเกิดปัญหาทางการเมืองในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 เค้าของระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” เริ่มตั้งเค้าทะมึนอีกครั้ง จนนำไปสู่ความสุกงอมของการทำรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน

ประเทศไทยก็คงเป็นเหมือนประเทศด้อยพัฒนาอีกหลาย ๆ ประเทศที่นิยมใช้รัฐประหารเป็นทั้งข้ออ้างและหนทางในการแก้ไขปัญหา บทความนี้ขอเสนอหลักการสำคัญอันเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือหลัก “ความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร” (Supremacy of Civilian Government)


1. หลักความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหาร (Supremacy of Civilian Government over Military Personnel) ในสังคมตะวันตก


หลักความสูงสุดของรัฐบาลพลเรือนเหนือทหารเป็นผลผลิตจากการต่อสู้ที่ยาวนานมาตั้งแต่สมัย Magana Carta ในประเทศอังกฤษและยุคสมัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังสร้างบ้านแปลงเมือง จนกระทั่งความคิดที่แยกพลเรือนออกจากทหารหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หลักอำนาจของพลเรือนเหนือทหารนั้นได้หยั่งรากลึกลงในสังคมประชาธิปไตยของตะวันตกแล้ว ในสังคมตะวันตกทหารได้ถูกกีดกันมิให้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองอีกต่อไป การเมืองเป็นเรื่องของพลเรือน ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายชื่อว่า The Posse Comitatus Act  แยกมิให้ฝ่ายทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายพลเรือนและหากมีการใช้กำลังทางทหารเพื่อบังคับใช้กฎหมายแล้ว ผู้นั้นก็มีความผิด


นอกจากนี้แล้ว คำพิพากษาของศาลก็ยืนยัน “หลักหลักความสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร” อีกด้วย  ประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศสหรัฐนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจอำนาจของทหาร   จึงต้องทำให้พลเรือนมีอำนาจควบคุมทหาร เพราะเกรงว่า ทหาร (ซึ่งมีอาวุธและการจัดองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากมายกว่าพลเรือน) จะละเมิดสิทธิของประชาชนและล้มล้างรัฐบาลพลเรือน

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ทหารจะลงรับสมัครเลือกตั้งมิได้ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาบางท่านเคยเป็นทหารมาก่อน แต่ภายหลังก็ลงรับสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี เช่น Ulysses S. Grant และ Dwight David Eisenhower และท่านก็ไม่เคยใช้ยศนายพลเลยนับแต่ที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี

ตัวอย่างที่สะท้อนถึงหลัก Supremacy of Civilian over Military Personnel ได้ดีที่สุดก็คือกรณีที่ประธานาธิบดี เฮนรี่ ทรูแมนปลดนายพลแมคอาเธอร์ในสงครามเกาหลี ซึ่งในขณะนั้นนายพลแมคอาเธอร์เป็นที่ได้รับความนิยมในหมู่มหาชนเป็นอย่างมาก แต่ประธานาธิบดีทรูแมนก็ปลดท่านออกเนื่องจากท่านขัดคำสั่งของประธานาธิบดี

หลัก “ความสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร” นี้

บางประเทศได้นำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของตน เช่น รัฐธรรมนูญของประเทศฟิลิปปินส์  และหลายมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น มลรัฐหลุยส์เซียน่า  มลรัฐมอนทาน่า     เป็นต้น แม้กระทั่งประเทศเกาหลีใต้ที่ในอดีตทหารจะมีบทบาททางการเมืองมากแต่ในยุคสมัยของประธานาธิบดี โรห์ แตวู เป็นต้นมาจนถึงประธานาธิบดีคิม ยังซัมและ คิม แดจุง ประเทศเกาหลีใต้ใช้เวลาเพียงสองทศวรรษก็เพียงพอที่หลัก“ความสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร” จะหยั่งรากลึกลงในวัฒนธรรมการเมืองของประเทศเกาหลีใต้ได้


หลัก “ความสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร” แปรออกมาเป็นรูปธรรมได้หลายประการ เช่น

ประการที่หนึ่ง การมิให้ฝ่ายทหารเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศที่เกี่ยวกับการใช้กำลังและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทหาร อำนาจตัดสินใจดังกล่าวเป็นของรัฐบาลพลเรือน

ประการที่สอง ทหารจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ (ยกเว้นการใช้สิทธิเลือกตั้งเท่านั้น) และดำรงตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชนมิได้ หลักข้อนี้รัฐธรรมนูญของประเทศ รัฐธรรมนูญของประเทศฟิลิปปินส์ได้รับรองไว้อย่างชัดเจน   ซึ่งสมควรที่รัฐธรรมนูญไทยจะรับรองหลัก Supremacy of Civilian ด้วย อย่างน้อยก็เป็นการจิตสำนึกให้แก่วงการทหารว่า ตนเองไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมือง

ประการที่สาม อำนาจการโยกย้าย แต่งตั้งเป็นอำนาจของรัฐบาลพลเรือน โดยบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ยกให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและนายกรัฐมนตรี ซึ่งสอดคล้องกับทางปฎิบัติของประเทศที่พัฒนาแล้วเพื่อป้องกันมิให้มีการแซงแทรกจาก “มือที่มองไม่เห็น”

ประการที่สี่ ลดบทบาทของกองทัพลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ ปล่อยให้เป็นภารกิจของตำรวจ ในประเทศที่เจริญแล้ว ไม่มีประเทศใดที่ให้ทหารมาทำหน้าที่สลายผู้ชุมนุมประท้วง

1.2 บทบาทของทหารไทยในประวัติศาสตร์การเมือง: Supremacy of Military Personnel over Civilian Government

หากมองย้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะพบว่า การเมืองไทยนั้นตรงกันข้ามกับสังคมประชาธิปไตยในตะวันตกอย่างสิ้นเชิง  กล่าวคือ บทบาทของทหารจะมีมากทางการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนว่าผู้ใดสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี  การที่ทหารได้รับการแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก เป็นกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล   ฯลฯ

มิพักต้องพูดถึงการทำรัฐประหารที่ผ่านๆ มาหลายสิบครั้งล้วนแล้วแต่เกิดจากทหารทั้งสิ้น จึงพอสรุปได้ว่า นับแต่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 จนถึง พฤษภาทมิฬ ปี 35 การเมืองไทยนั้นมีลักษณะเป็น “Supremacy of Military Personnel over Civilian Government” (อาจถูกคั่นด้วยประชาธิปไตยบ้างก็ช่วงสั้นๆ คือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516) หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” หรือ Praetorian regime

โดยช่วงหลังพฤษภาทมิฬ ทหารไทยเริ่มเป็นทหารอาชีพมากขึ้น ทหารกลับเข้ากรมกอง และขณะเดียวกันเมล็ดพันธุ์พืชของ “Supremacy of Civilian over Military Personnel” ค่อยๆ หยั่งรากลงมาได้สิบกว่าปี แต่พลันเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต้นไม้นี้ก็ถูกโค่นล้มอย่างไม่เป็นท่า

1.3 สาเหตุที่ทหารเข้าสู่การเมืองโดยผ่านการทำรัฐประหาร

มีสาเหตุอยู่มากมายมักปรากฏในธรรมนูญการปกครองชั่วคราว แต่พอสรุปได้ว่า สาเหตุที่ทหารต้องทำรับประหารเนื่องจาก ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาเศรษฐกิจ ภัยคุกคามชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ (เช่นภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์) ความผันผวนทางการเมือง ข้ออ้างเหล่านี้จะมีอยู่จริงหรือไม่ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า คณะรัฐประหารทำให้ดูเหมือนว่า “สมจริง” ได้ก็พอแล้ว

2. การทำให้ทหารไทยเป็นทหารอาชีพ (Professionalism)

นักรัฐศาสตร์อย่าง Huttington เสนอหนทางมิให้ทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองคือการทำให้ทหารต้องเป็นทหารอาชีพ (Professionalism)

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตอนที่อยู่ในช่วงเวลาโยกย้ายบัญชีรายชื่อทหารก็ดี กรณีของงบลับก็ดี ทหารมักจะออกมาพูดว่า “เป็นเรื่องของทหาร ทหารเท่านั้นที่อยู่ในฐานะจะรู้ดีที่สุด” พูดง่ายๆ รัฐบาลซึ่งเป็นพลเรือนจะเข้าใจอะไรได้! ยิ่งไปกว่านั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ มีอยู่มาตราหนึ่งที่กล่าวถึงการจัดให้มีกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นและทันสมัย ที่น่าเศร้าก็คือ ไม่มีคณะกรรมาธิการท่านใดอภิปรายคัดค้านเลย

ดูเหมือนว่า ทหารไทยเป็นทหารที่มีความรู้สามารถมากถึงขนาดบริหารงานได้ทั้งส่วนที่เป็น “Military Affairs” “Political Affairs”  และ “Economic Affairs” ที่น่าขันก็คือ ในยามที่รัฐบาลพลเรือนพยามเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายทหารหรือการซื้ออาวุธ ทหารกลับพูดว่าเป็นเรื่องของทหาร แต่พอถึงคราวการบริหารราชการแผ่นดิน ทหารกลับไม่ตระหนักว่า “เป็นเรื่องของพลเรือน” แต่กลับทำตนเป็น “อัศวินขี่ม้าขาว” อาสาแก้ไขปัญหาของประเทศด้วยการลากรถถังทำรัฐประหาร ทหาร(ส่วนน้อย) ที่มีวิธีคิดแบบนี้ควรเปลี่ยนทรรศนะได้แล้ว ท่านกำลังทำให้ทหารอาชีพซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของกองทัพพลอยเสื่อมเสียไปด้วย

บทส่งท้าย

ตามข่าวได้รายงานว่ามีคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญบางท่าน เสนอให้เอาทหารทั้งสามเหล่าทัพเข้ามาเป็นองค์ประชุมคณะบุคคล (อะไรก็ไม่รู้) เสนอทางออกกรณีที่ประเทศไทยประสบวิกฤตการณ์ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากวิกฤตการที่เกิดขึ้นเกิดจากทหารยึดอำนาจ ดังนั้น จึงควรให้ทหารเข้ามาร่วมพิจารณาด้วยนั้น   แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจหลัก “ความสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร” อันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมระบอบประชาธิปไตย

ส่วนคำพูดของพลเอก สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่กล่าวว่า “หากมีเหตุให้ทำปฏิวัติ ก็จะปฏิวัติ” นั้น เป็นการตอกย้ำถึงความไม่นำพาหรือรับรู้ของหลัก Supremacy of Civilian แม้แต่น้อย หรือไม่ก็เป็นไปได้ว่า ผู้พูดไม่เคยได้ยินหลักนี้มาก่อนในชีวิต การที่ทหารมีบทบาทเหนือรัฐบาลพลเรือน (ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดก็แล้วแต่) หรือเข้ามาแทรกแซงการเมือง เป็นสัญลักษณ์ของความด้อยพัฒนาของประเทศนั้นๆ

นอกจากนี้ คำพูดที่ว่า “รัฐบาลมิใช่เป็นเจ้าของคอกม้า เป็นแต่เพียงจ๊อกกี้นั้น” เท่ากับเป็นการปฎิเสธหลัก “ความสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร” เพราะว่าในสังคมประชาธิปไตยที่เจริญแล้ว (ขอย้ำ)

ทหารมิใช่อะไรอื่น เป็นเพียงเครื่องมือ (apparatus) หรือกลไกการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐสมัยใหม่ (modern state) โดยอยู่การบังคับบัญชาของรัฐบาลเท่านั้นเอง

ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งสามเหล่าทัพคือ “รัฐบาล” (Government)  โดยมี “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” เป็นหัวหน้าสูงสุดขององค์กร แต่การเมืองไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยายน  ดูเหมือนว่าทิศทางการเมืองไทยกำลังเดินทางกลับไปสู่ระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” (Praetorian regime)

ทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศ จงทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด แล้วประชาชนคนไทยจะรักท่านเพราะท่านเป็นทหารของ “ปวงชน

ชาวไทย” Return to the Barracks please! right now!!! 
(ทหาร  โปรดกลับเข้ากรมกองด่วน!)

( หมายเหตุ จากเว๊บไซต์ นิติราษฎร์ 10 ตุลาคม 2553 )



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์