ทางออกวิกฤตการเมือง ทางออกของทักษิณ-ไทยรักไทย

แม้เวลานี้แลดูแล้วการเมืองจะสับสนวุ่นวายเพิ่มมากขึ้น

ประการแรก เป็นความสับสนวุ่นวายอันเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศศึกกับ "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ซึ่งยังหาตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ และพฤติกรรมการเขียนจดหมายไปรายงานเหตุการณ์บ้านเมืองของไทยให้กับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐอเมริกา รับทราบ

ซึ่งการกระทำทั้ง 2 ประการของ พ.ต.ท.ทักษิณทำให้เป็นเงื่อนไขแก่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณในการที่จะประกาศรวมพลเพื่อประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณออกจากตำแหน่งอีกครั้ง

แม้ว่า ในที่สุดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเปลี่ยนแนวทางจากการชุมนุมประท้วงมาเป็นการนำจดหมายเปิดผนึกไปอ่านหน้าสถานทูต 6 แห่ง เพื่อตอบโต้ข้อความจดหมายที่ พ.ต.ท.ทักษิณส่งไปถึงประธานาธิบดีบุช แต่ก็ใช่ว่า เงื่อนไขนี้จะหดหายไปจากเกมการเมืองนี้ได้


เพราะทั้งการประกาศเป็นอริกับ "ผู้มีบารมี" และการส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะกลายเป็นปมที่ชี้ถึงวุฒิภาวะผู้นำประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ

และจะกลายเป็นปมหนึ่งในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณออกจากตำแหน่ง

ประการที่สอง เมื่อพิจารณาถ้อยคำของนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รักษาการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตอบคำถามเกี่ยวกับกระแสข่าวการจะลาออกจากตำแหน่งแล้วน่าคิด


นายสุรนันทน์บอกว่า การทำงานต้องรับผิดชอบ 3 ระดับ คือ 1.ครอบครัว 2.องค์กร คือพรรคไทยรักไทย และ 3.ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อสุดท้ายนี้สำคัญที่สุด


"วันนี้ผมยังจำเป็นต้องทำงาน เพราะหน้าที่ต่างๆ ยังมีอยู่ หากวันใดวันหนึ่งรู้สึกไม่สบายใจ ก็ต้องหารือกับนายกฯ"

"ผมไปอเมริกาก็เจอทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนายกฯเหมือนกัน วันนี้อยากให้พรรคหันมาทบทวนตัวเอง มาหารือกันภายใน โดยยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ นายกฯและผู้บริหารพรรคควรจะปล่อยให้อีมครึมแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดเสียงเรียกร้องให้คนอื่นเข้ามาแทน"

และ "ทุกคนมีความเห็นที่แตกต่างได้ แต่ควรใช้เหตุผล ไม่ใช่ใช้กำลัง ผมเพิ่งวางหูโทรศัพท์จากเลขาฯนายกฯ โดยยืนยันว่าจะยังช่วยเหลือพรรคภายในกรอบ 3 อย่างที่พูดไปข้างต้นวันนี้คนในไทยรักไทยต้องแก้ปัญหาการเมือง ต้องคุยกันให้มากกว่านี้ และเคารพเสียงส่วนน้อยด้วย ทุกฝ่ายต้องลดทิฐิ ต้องระมัดระวังในสิ่งที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่เป็นที่พึ่งของเขา"


อย่าลืมว่า นายสุรนันทน์เป็นคนที่ยืนอยู่ข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาตั้งแต่เข้าสู่สนามการเมือง จนกระทั่งถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายตรง พ.ต.ท.ทักษิณ


ดังนั้น คำให้สัมภาษณ์ของนายสุรนันทน์จึงเป็น "คำเตือน" เสียมากกว่า "คำตำหนิ" พรรค

ขณะเดียวกัน คำพูดของนายสุรนันทน์ก็สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรคไทยรักไทยได้ไม่น้อย

เมื่อประจวบกับข่าวการลาออกของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายวิษณุ เครืองาม และข่าวคราวการเตรียมตัวลาออกของรัฐมนตรีคนอื่นๆ แล้ว สามารถสรุปได้ว่า ภายในรัฐบาลและภายในพรรคไทยรักไทยเองก็เกิดอาการระส่ำระสายไม่ใช่น้อย

และปฏิเสธไม่ได้ว่ารักษาการรัฐมนตรีแต่ละคนต้องถูกกดดันเพื่อให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไม่สามารถทำงานได้ และยอมจำนนในที่สุด

ประการสุดท้าย คือ การปล่อยข่าวการลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณออกมาในรูปของข่าวจากสำนักข่าวกรอง แต่เมื่อตรวจสอบลงไปถึงต้นตอข่าว กลับพบว่ามีความน่าเชื่อถือได้น้อย

ข่าวลอบสังหาร พ.ต.ท.ทักษิณจึงแลดูไร้สาระ

แต่ในความไร้สาระก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ เพราะอย่างน้อยเมื่อข่าวชิ้นนี้ถูกปล่อยออก หน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบความปลอดภัยของรักษาการนายกรัฐมนตรีก็ต้องขยับ

การปล่อยข่าวเช่นนี้ย่อมเป็นการป้องกันมิให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับอันตรายจากการลอบสังหาร

เช่นเดียวกับการปล่อยข่าวเรื่องการปฏิวัติที่สามารถป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือการกดดันให้รัฐมนตรีในรัฐบาลลาออก หรือข่าวการลอบสังหาร ล้วนแล้วแต่มีนัยยะทางการเมืองแทบทั้งสิ้น

เป็นนัยยะตามความเชื่อที่ว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นไปแล้ว วิกฤตการเมืองจะมีทางออก

แต่ในความเป็นจริง หาก พ.ต.ท.ทักษิณต้องพ้นจากตำแหน่งไปโดยการถูกขับไล่ หรือถูกปฏิวัติ หรือถูกฆ่า ก็ไม่ใช่ทางออกของวิกฤตทางการเมือง

ขณะเดียวกันกลับจะไปสร้างวิกฤตการเมืองให้เกิดมากขึ้น


ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดแห่งวิกฤตการเมืองยังคงเป็นทางออกเดิมคือ การทำให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไป



การทำให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไป เป็นทั้งทางออกที่ดีที่สุดของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและฝ่ายพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคไทยรักไทยด้วย

เพราะแม้ว่าตอนนี้พรรคไทยรักไทยจะยังเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ก็เป็นรัฐบาลรักษาการที่อมทุกข์

ผู้นำประเทศต้องผวากับข่าวการลอบสังหาร เสถียรภาพของรัฐบาลหวั่นไหวกับข่าวคราวการลาออกของรัฐมนตรี ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องทนฟังเสียงก่นด่าทุกวัน

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบถึงการบริหารภายในพรรค

กระทบต่อเสถียรภาพภายในพรรค

เพราะทุกมุ้ง ทุกก๊วน กำลังรอคอยความแน่นอน

ซึ่งความแน่นอนที่ดีที่สุดคือ การสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งใหม่ ที่ได้รับการยอมรับ

แต่ขณะนี้ กกต.จำนวน 3 คน ในปัจจุบัน คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ไม่ได้รับการยอมรับในความเป็นกลาง

ทางออกที่ดีที่สุด คือ การให้ กกต.ทั้ง 3 คนลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการสรรหา กกต. ชุดใหม่ มาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง
แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังปรากฏว่า กกต.ทั้ง 3 คน ไม่ยอมลาออก ทำให้ทางออกที่ดีที่สุดนี้ใช้การไม่ได้

เมื่อใช้การไม่ได้ ความปั่นป่วนทางการเมืองก็เกิดขึ้นแบบไม่จบไม่สิ้น




แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์