ทักษิณอ้างถูกกฎหมู่ล้มล้างต้องยุบสภาให้ประชาชนตัดสิน

ทักษิณอ้างถูกกฎหมู่ล้มล้างต้องยุบสภาให้ประชาชนตัดสิน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 กุมภาพันธ์ 2549 21:25 น.

ทักษิณออกทีวีรวมการเฉพาะกิจฯ อ้างสาเหตุยุบสภา มาจากกลุ่มเสียประโยชน์-นักการเมืองบางกลุ่มพยายามล้มล้าง ทำลายกติกา ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้ง เรียกร้องให้ประชาชนชี้ขาดในวันที่ 2 เมษายน 2549

วันนี้ (24 ก.พ.) เวลาประมาณ 20.45 น.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจอ้างสาเหตุการยุบสภาในครั้งนี้ว่าเกิดจากการสร้างกระแสล้มล้างรัฐบาลตาม กติกาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง พยายามสร้างกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย โดยกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ซึ่งนับจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ที่จะให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาจึงคืนอำนาจไปสู่ประชาชน ตัดสินใจอีกครั้ง

นายกรัฐมนตรี ระบุว่าหากผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับในกติกา สำหรับตนเองยอมรับในการตัดสินใจของประชาชน ต้องรักษากติกา ประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

ในการออกแถลงช่วงเวลาสั้นๆนายกฯยังได้เรียกร้อง ประชาชนออกมาใช่สิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เม.ย. 2549 อย่างพร้อมเพียง เพื่อตัดสินว่าจะเห็นด้วยกับฝ่ายใด

*****************

รายละเอียดคำแถลงของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

"สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักครับ ก่อนอื่นผมต้องขอกราบอภัยพี่น้องประชาชนที่ต้องคืนอำนาจก่อนอื่นผมต้องขอกราบอภัยพี่น้องประชาชนที่ต้องคืนอำนาจกลับไปให้พี่น้องประชาชนตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อรบกวนพี่น้องประชาชนออกมาเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาในวันนี้ ตามที่ทางโฆษกได้แถลงถึงเหตุผลต่างๆ นานา

พี่น้องที่เคารพครับ เป็นที่ทราบกันดีว่า ได้มีความพยายามที่จะล้มล้างรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ เป็นเวลาต่อเนื่อง จากกลุ่มบุคคลซึ่งเสียผลประโยชน์จากการทำงานของรัฐบาลบ้าง จากกลุ่มคนซึ่งไม่พอใจรัฐบาลบ้าง และจากกลุ่มการเมืองบ้าง รัฐบาลพยายามใช้ความอดทน พยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบายข้อกล่าวหาต่างๆ การอธิบายโดยรัฐบาล โดยตัวผมเอง โดยส่วนราชการ ก็ไม่ได้รับความสนใจที่จะฟัง

แต่ในขณะเดียวกันนั้น มีกลุ่มคนกลุ่มนี้ได้พยายามเรียกร้องให้กระผมลาออก แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ได้มาให้กำลังใจและบอกว่าท่านนายกฯ อย่าลาออก ให้สู้นะ แต่ขณะเดียวกันนั้นผมก็มองเห็นว่าบ้านเมืองขณะนี้กำลังไปได้ดี สิ่งที่รัฐบาลต้งใจจะทำอยู่หลายอย่างกำลังไปได้ดี ได้รับความสนใจจากต่างประเทศในการจะมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้รับความสนใจจากทั่วโลก แต่ว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามก่อตัวและสร้างกระแสเป็นจำนวนมากขึ้น

กระผมได้พยายามปรึกษากับผู้ซึ่งปรารถนาดีต่อบ้านเมือง เป็นคนที่มีความคิดที่เป็นกลางและห่วงใยบ้านเมือง ว่าเราจะทำแบบไหน ถึงจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด ก็ต้องกลับมานึกถึงระบอบประชาธิปไตย ผมรับไม่ได้ครับที่จะให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ถ้ากฎหมู่ของคนกลุ่มหนึ่งแล้วมากดดันว่า รัฐบาลต้องทำอย่างนั้น รัฐบาลต้องทำอย่างนี้ โดยไม่มีหลักการที่ถูกต้อง ผมรับไม่ได้

ผมก็พยายามคิดว่า จะใช้วิธีไหนจะดีที่สุด ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การคืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยปวงชน เพื่อปวงชน ในวันนี้เมื่อมีการขัดแย้งกันว่ารัฐบาลมีอำนาจจริงหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยมาเป็นที่เรียบร้อย แต่เมื่อมีความขัดแย้งแบบนี้เกิดขึ้น ผมจึงต้องรบกวนพี่น้องประชาชนช่วยตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งว่า พี่น้องประชาชนยังอยากจะใช้รัฐบาลนี้ทำหน้าที่ต่อหรือไม่ หรือพี่น้องเห็นว่ากลุ่มผู้คัดค้านทั้งหลายนำเสนอสิ่งที่เหมาะสม ก็เป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ ผมเคารพในการตัดสินใจของประชาชนครับ แต่ไม่ใช่ว่ากลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมาทำตัวแทนพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ แล้วบอกว่าเขามีอำนาจในการตัดสินใจแทนประชาชน ไม่ใช่ครับ เพราะประชาธิปไตยมีครรลองของประชาธิปไตยอยู่

ครรลองก็คือมีระบบของการเลือกตั้งที่ถูกต้อง เมื่อมีระบบการเลือกตั้งเกิดขึ้น พี่น้องประชาชนตัดสินใจอย่างไร ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วผมเป็นตัวแทนที่พี่น้องประชาชนมอบให้มาทำหน้าที่ ผมต้องรักษากติกานี้ไว้ให้ได้ ถ้าผมรักษากติกาประชาธิปไตยไม่ได้ ผมถือว่าผมทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชนไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจึงต้องรักษากติกาประชาธิปไตยตัดสินใจที่จะคืนอำนาจกลับไปให้พี่น้องประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าพี่น้องประชาชนจะตัดสินใจแบบไหน ซึ่งผมพร้อมน้อมรับทุกประการนะครับ

ขณะนี้บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงที่เพิ่งพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ และเป็นที่ชื่นชอบที่จะมาเที่ยวและมาลงทุนในประเทศไทย เริ่มมีการถามมาว่า ชักไม่แน่ใจ เสถียรภาพการเมืองเป็นอย่างไร ตลาดหลักทรัพย์พะวักพะวง การลงทุนเรื่องเมกะโปรเจกต์ก็เกิดคำถามขึ้นมา ผมคิดว่าการตัดสินใจยุบสภาแล้วเลือกตั้ง ซึ่งจะใช้เวลาอึมครึมอยู่ระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปด้วยดี ดีกว่าที่จะปล่อยเหตุการณ์เป็นอย่างนี้

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการข่าวพบว่า จะมีผู้ซึ่งประสงค์จะให้เกิดความรุนแรง จะแทรกแซงเข้าไป เพราะนี่เป็นสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนาแน่นอน เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 การเยียวยายังเถียงกันไม่จบ พี่น้องครอบครัวที่ต้องเดือดร้อนโดนลูกหลง มันเป็นความทุกข์เข็ญของคนซึ่งต้องได้รับเคราะห์ แต่เป็นความบอบช้ำของประเทศ เพราะหลายคนกำลังคิดว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวกันอย่างไร

ถ้าประเทศบอบช้ำอีก ผมคิดว่า เพิ่งเสร็จจากบอบช้ำเรื่องของเศรษฐกิจไม่กี่วันนี้ แต่ถ้าจะบอบช้ำอีกรอบหนึ่งเพราะความขัดแย้งกันเองในคนสังคม แล้วจริงๆ แล้วเป็นคนกลุ่มเดิมๆ ที่เคยอยู่ในภาวะของการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนี้

เพราะฉะนั้นวันนี้ผมจึงต้องขอรบกวนพี่น้องประชาชนว่า ผมขออนุญาตที่ท่านมอบอำนาจให้มาทำงาน 4 ปีนั้น วันนี้เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ผมขออนุญาตคืนอำนาจให้พี่น้องช่วยตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ว่าพี่น้องจะตัดสินใจแบบไหน ผมพร้อมที่จะรับการตัดสินใจ น้อมรับการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน แต่ผมจะไม่มีทางน้อมรับการตัดสินใจของที่คนแอบอ้างนอกระบบว่าเป็นการตัดสินใจแทนประชาชน

ผมจะไม่ยอมรับกฎหมู่เหนือกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผมรับไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมขอรับการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนด้วยความเคารพครับ

เพราะฉะนั้นวันที่ 2 เมษายนนี้ จึงเป็นวันสำคัญของประเทศอีกครั้งหนึ่ง มันไม่ได้เป็นการเลือกตั้งธรรมดา แต่เป็นการเลือกตั้งที่พี่น้องประชาชนจะได้แสดงพลังของการตัดสินใจของท่านว่าท่านเห็นด้วยกับระบบไหน ถ้าท่านเห็นด้วยแบบไหนท่านก็ตัดสินใจของท่าน ผมพร้อมที่จะน้อมรับด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

อันนี้ต้องขอกราบขออภัยพี่น้องอีกครั้งหนึ่งว่า ต้องขอพี่น้องออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ใช้สิทธิ์กำหนดทิศทางประชาธิปไตยของประเทศอีกครั้งหนึ่งเถอะครับ ผมขออภัย และขอขอบคุณอีกครั้งครับ"

แถลงการณ์สำนักนายกฯ-อ้าง 5 เหตุผลยุบสภา

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 กุมภาพันธ์ 2549 21:32 น.

สำนักนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ ชี้แจงเหตุผล 5 ประการ ของการตัดสินใจยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี


แถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรี

เรื่อง การยุบสภาผู้แทนราษฎร

โดยที่ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 แล้ว เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนสิ้นสุดลง และจะมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2549 ความละเอียดทราบแล้วนั้น บัดนี้ รัฐบาลขอชี้แจงเกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

1.การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังที่ปรากฏอยู่ในทุกประเทศที่ใช้ระบบนี้ กล่าวคือเมื่อใดที่มีความขัดแย้งหรือเกิดปัยหาการเมืองอันอาจนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ต่างๆ จนการบริหารราชการแผ่นดินไม่อาจดำเนินไปได้โดยปกติ ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปความขัดแย้งและปัญหานั้นอาจบานปลายถึงขนาดกระทบต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยเอง วิธีการสุดท้ายที่มักนำมาใช้อยู่เสมอก็คือการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ อันเป็นการคืนอำนาจตัดสินทางการเมืองกลับไปให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง เป็นผู้ตัดสินว่าความขัดแย้งและปัญหานั้น ว่าสมควรยุติลงเช่นใด และเมื่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดได้ตัดสินด้วยการเลือกตั้ง หรือไม่เลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองใด จนได้รัฐบาลที่ได้มาโดยชอบธรรมตามวิถีทางรัฐธรรมนูญแล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องเคารพในฉันทานุมัติของประชาชนและยุติความเคลื่อนไหวทางการเมืองอันเป็นที่มาของความขัดแย้งและปัญหาที่ได้รับการตัดสินใจนั้นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาวการณ์บ้านเมืองก็จะกลับคืนเข้าสู่ปกติ

ประเทศไทยเองก็ยึดถือธรรมเนียมดังกล่าวมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ บัญญัติรองรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ และได้มีการดำเนินการยุบสภาผู้แทนรษษฎรมาแล้วหลายครั้ง เช่น เมื่อ พ.ศ.2519 พ.ศ.2526 พ.ศ.2529 พ.ศ.2531 พ.ศ.2535 พ.ศ.2539 และ พ.ศ.2543

2.การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้เกิดจากการที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปัจจุบันได้ใช้บังคับมาจนล่วงเข้าถึงปีที่เก้าแล้ว ส่งผลให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาพัฒนามาด้วยดีสมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเพราะจัดตั้งมาจากพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวดังที่เป็นอยู่ในนานาอารยประเทศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติเห็นชอบข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนพ้นภาวะวิกฤตและก้าวทันการแข่งขันในโลกปัจจุบัน

แต่บัดนี้ ได้มีความสับสนทางการเมืองเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการที่มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มไม่พอใจในตัวผู้นำรัฐบาลและได้มีการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองเชิงบีบบังคับ ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมายแต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจุดชวนให้เกิดความรู้สึกทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังที่ได้ปรากฏว่ามีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดการระเบิดขึ้นในสถานที่ของผู้ประกาศตัวว่าจะมาร่วมชุมนุมเมื่อเร็วๆ นี้ แม้รัฐบาลจะได้พยายามเรียกร้องให้เกิดความปรองดองกัน ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภาและความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดองการดูแลรักษาสภาของบ้านเมืองที่สงบร่มเย็นน่าอยู่อาศัยน่าลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการ ตลอดจนความดีงามตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์

อนึ่ง แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาแล้วก็ตาม กลุ่มบุคคลดังกล่าวก็ยังหายุติการดำเนินการทางการเมืองดังกล่าวไม่ ยิ่งกว่านั้นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางพรรค สมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ซึ่งควรใช้ครรลองประชาธิปไตยระบบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการตรวจสอบรัฐบาลใที่ประชุมรัฐสภา กลับไม่ยึดกติกาโดยวิถีแห่งรัฐธรรมูญ แต่ใช้วิธีเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมดังที่ปรากฏในการชุมนุมครั้งที่ผ่านๆ มา ทำให้ความวิตกกังวลขยายวงกว้างขึ้น อันเป็นการกระทบต่อความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และขยายความสับสนให้เพิ่มขึ้น อันอาจกระทบต่อศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา จึงมีเสียงเรียงร้องจากประชาชนโดยทั่วไปให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร

เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยเร็ว อันจะส่งผลให้การประกาศผลการเลือกตั้งได้ก่อนวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2549 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนุยกำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้แงรก เพื่อที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้ประชุมกันลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งและให้เวลานายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อที่คณะรัฐมนตรีจักได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรและลงมือบริหาราชการแผ่นดินได้ก่อนเดือนมิถุนายน 2549

4.เมื่อยุบสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมสิ้นสุดลงด้วย แต่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 215 กำหนด เพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศและบริหาราชการแผ่นดินในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นายกรัฐมนตรีจะได้สั่งการให้ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและให้ระมัดระวังที่จะไม่กระทำการใดอันจะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมหรือก่อให้เกิดความหวาดระแวงว่ามีการฉวยโอกาสจากการที่ไม่มีองคืกรควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินไปกระทำการใดโดยมิชอบหรือไม่สุจริต

5.ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2549 ด้วยการเตรียมไปใช้สิทธิและทำหน้าที่ของตนด้วยความตื่นตัวและรอบคอบและแสดงเจตจำนงทางการเมืองอันเป็นการตัดสินความขัดแย้งอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองทั้งปวงยุติลงได้โดยสันติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญและการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยธรรมที่สุด

สำนักนายกรัฐมตรี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์