ทักษิณข้ามผ่านกระแสชาตินิยม แต่กลับสะดุดขาติดชนักสถาบัน

กรณี "สมเด็จฯฮุน เซน" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชาและที่ปรึกษาส่วนตัวสมเด็จฯฮุน เซน ลุกลามบานปลายกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพุชาอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศทบทวนยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ที่ได้ลงนามกันในสมัยรัฐบาลทักษิณ

เลยเถิดไปถึงการคิดที่จะปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชา

ทาง "กัมพูชา" ก็ไม่น้อยหน้า "สมเด็จฯฮุน เซน" ได้ส่งเทียบเชิญ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ให้มาบรรยายเรื่องเศรษฐกิจโลก ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา กว่า 300 คนฟัง ในวันที่ 12 พฤศจิกายน

ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ที่ตึงเครียดอยู่แล้วตึงเครียดหนักขึ้นไปอีก ส่งผลต่อความรู้สึก "ชาตินิยม" ของคนไทยที่พุ่งสูงขึ้นตามระดับความขัดแย้ง

โดยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) หลังเกิดกรณีพิพาท พบว่า ความนิยมของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี พุ่งขึ้นกว่า 3 เท่า คือ ในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 23.3 มาเป็นร้อยละ 68.6 และร้อยละ 60 จากการสำรวจหนหลัง

ที่สำคัญคือ "ภาคอีสาน" ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณยังหันกลับมาสนับสนุน "รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์" ถึงร้อยละ 53.1

ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่ "คะแนนนิยม" ฟากรัฐบาลเหนือกว่าฝ่าย "พ.ต.ท.ทักษิณ"

แต่จะไปทึกทักว่าผลโพลที่ออกมานั้นจะยืนยันได้ว่า "กระแสชาตินิยม" ที่ถูกปลุกขึ้นมา เป็นยาขนานเอก ที่จะใช้ในการแก้หมาก "โลกล้อมไทย" ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" นั้น อาจจะไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ดูเหมือนไม่ได้ส่งผลกระทบกับองคาพยพ ของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" แม้แต่น้อย เพราะทุกเครื่องมือหลักทั้งหลายยังคงเคลื่อนไหวตามยุทธศาสตร์เดิมไม่เปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะทีมของ "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" ซึ่งเป็นผู้จุดไฟ "เขมร" นั้น ยังคงกำหนดเดิมที่จะเดินทางไป มาเลเซีย พม่า เวียดนาม และ สาธารณรัฐประชาชนจีน และ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ก็ยังไม่เปลี่ยนนัดชุมนุมใหญ่ปลายเดือน "พฤศจิกายน" ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจเดินเครื่องแผน "โลกล้อมไทย" "ทีมยุทธศาสตร์เพื่อไทย" ได้ประเมินเกมรุกและเกมรับ รวมไปถึงเทคนิคการตอบโต้จากฝ่ายตรงข้าม ว่าจะโจมตีเรื่อง "ชาตินิยม" ได้ใน 3 ประเด็น คือ "ขายชาติ-ล้มสถาบัน-เผาเมือง"

ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดอ่อนดั้งเดิมของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ทั้งสิ้น

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ "บิ๊กเพื่อไทย" จะไม่แสดงอาการหวาดผวากับ "กระแสชาตินิยม" ไม่ว่าจะมาพร้อมกับคำว่า "ขาย-ทำลาย" หรือแม้กระทั่ง "ทรยศชาติ"

เพราะภายใต้การประเมิน "ฝ่ายเพื่อไทย" มองว่า "ชาตินิยมไทย" เป็นแบบ "มาเร็ว-ไปเร็ว" โดยเฉพาะกรณี "กัมพูชา" วิเคราะห์ว่า หาก "พ.ต.ท.ทักษิณ" รับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจรัฐบาลและที่ปรึกษาส่วนตัวนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และผ่านการ "บรรยายเรื่องเศรษฐกิจโลก" ที่กระทรวงเศรษฐกิจกัมพูชา ไปไม่เกิน 1 เดือน

หากไม่มี "โรคแทรกซ้อน" ใดๆ "กระแสชาตินิยม" ที่ถูกปลุกก็จะอันตธานหายไป

ที่สำคัญคือหาก "ประชาธิปัตย์" โหม "กระแสชาตินิยม" มากเกินไป กระแสสะวิงก็อาจจะสะวิงกลับมาที่เพื่อไทยเอาง่ายๆ

วันนี้จึงไม่เห็นอาการประหวั่นใดๆ จาก "นายใหญ่ แห่งดูไบ" แถมยังฟันธงปลอบใจลูกน้องมาว่า "วันนี้เรามาไกล ถอยกลับไปก็เท่ากับยอมรับว่าขายชาติ"

และการมาบรรยายพิเศษที่ "กัมพูชา" ก็จะถูกใช้ในการพิสูจน์ข้อครหา "ขายชาติ" แล้วหลังจากนั้น "พ.ต.ท.ทักษิณ" วางแผนไว้ว่า จะใช้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อสร้างให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่าง "ประชาธิปัตย์" กับ "ทักษิณ ชินวัตร"

แต่ระหว่างทางตามแผนการ ฝ่าย "พ.ต.ท.ทักษิณ" ก็สะดุดขาตัวเองกับการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เดอะไทม์ ของอังกฤษ ที่เนื้อหาพาดพิงสถาบันเบื้องสูง

แม้จะออกแถลงการณ์ว่าสื่อฉบับดังกล่าวบิดเบือนเนื้อหาก็ตาม

ทำให้สถานการณ์ซ้ำเติมให้อดีตนายกฯเพลี่ยงพล้ำหนักขึ้นไปอีก

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีชนักติดหลังเรื่องนี้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น เพื่อไทยต้องประเมินใหม่แล้วว่ากระทบความนิยมพรรคแค่ไหน

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์