ทักษิณ:ไม่รู้ต้องรออีกนานแค่ไหน?

ทักษิณ:ไม่รู้ต้องรออีกนานแค่ไหน?

"ทักษิณ ชินวัตร" ไม่รู้ต้องรออีกนานแค่ไหน? : ขยายปมร้อน โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์

              หลังจากใช้เวลาพิจารณาสำนวนร่วม "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ปปช.) นานกว่า 4 ปี ในที่สุด "อัยการสูงสุด" ก็มีคำสั่งยื่นฟ้อง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี, "วิโรจน์ นวลแข" อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของบริษัทกฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 27 ราย ในคดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทกฤษดามหานคร
 
               ในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิด พรบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 โดยยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
 
               ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ เวลา 10.00 น.
 ถือเป็นอีกหนึ่งคดีความที่เกี่ยวข้องกับ "ทักษิณ" และเป็นคดีที่ "อัยการสูงสุด" ได้ดำเนินการยื่นฟ้องคดีความของ "ทักษิณ" ที่ดำเนินการโดย "คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ" (คตส.) ซึ่งมีทั้ง "คดีที่ศาลตัดสินแล้ว", "คดีที่อยู่ในชั้นศาล" และ "คดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวน" โดย ปปช.หรืออัยการสูงสุด
 
               สำหรับคดีที่ศาลตัดสินแล้ว และเป็นคดีลือลั่นที่ทำให้ "ทักษิณ" ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ จนเป็น "จุดอ่อน" ทำให้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นการเมืองอยู่เสมอ
 
               คดีที่ว่าคือ "คดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก" ซึ่ง "ทักษิณ" อดีตนายกรัฐมนตรี และภริยาขณะนั้น คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ถูกพิพากษาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุก "ทักษิณ" เป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาทำผิดตามกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พ.ศ. 2542 มาตรา 100
 
               โดยถือว่า "ทักษิณ" ในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" ได้กระทำผิดในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ฯลฯ" และออกหมายจับ "ทักษิณ" ไว้
 
               ส่วน "คุณหญิงพจมาน" ในฐานะที่เป็นคู่สมรส ศาลเห็นว่าไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 100 ตามกฎหมาย ปปช. จึงให้ยกฟ้องตามข้อกล่าวหา พร้อมกับเพิกถอนหมายจับ
 
               นอกจากนี้ ยังมี "คดีเลี่ยงภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)" หรือชินคอร์ป มูลค่า 738 ล้านบาท ซึ่ง "คตส." ได้มอบหมายให้ "อัยการ" ส่งฟ้อง "คุณหญิงพจมาน", บรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน และ กาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน โดยศาลอาญาได้พิพากษาให้จำคุก "คุณหญิงพจมาน และบรรณพจน์" คนละ 3 ปี ส่วนกาญจนาภา 2 ปี
 
               แต่ภายหลังศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินของศาลอาญา ให้ยกฟ้อง "คุณหญิงพจมาน-กาญจนาภา" ส่วน "บรรณพจน์" ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่ "อัยการสูงสุด" จะตัดสินใจ "ไม่ฎีกา"
 
               "คดีทุจริตโครงการออกสลากเลขท้ายพิเศษ 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน" ซึ่ง "คตส." ยื่นฟ้อง "ครม.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งคณะ" และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมกันเป็นจำเลย
 
               ซึ่ง "ศาลฎีกา" ได้อ่านคำพิพากษาให้จำคุก "วราเทพ รัตนากร" อดีต รมช.คลัง 2 ปี "สมใจนึก เองตระกูล" อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และประธานบอร์ดกองสลาก 2 ปี "พสก ภักดี" อดีต ผอ.กองสลาก 2 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 3 ไม่เคยทำผิดมาก่อน ให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ทั้งนี้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษา จึงมีการออกหมายจับ
 
               "คดีร่ำรวยผิดปกติ" ซึ่งศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ให้ยึดเฉพาะเงินค่าขายหุ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นหลังจาก "ทักษิณ" ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเงินปันผล จำนวน 46,373 ล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
 
               และ "คดีร่ำรวยผิดปกติ" นี่เอง ทำให้ "ปปช." ยื่นฟ้องต่องศาลฎีกา ว่า "ทักษิณ" แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ เนื่องจากไม่ได้แจ้งการถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปไว้ ถึง 6 ครั้ง ซึ่งศาลฎีกาได้ออกหมายจับไว้ ถือเป็นคดีที่อยู่ในชั้นศาล
 
               นอกจากนี้ยังมีอีก 2 คดีที่ศาลฎีกาได้ออกหมายจับ "ทักษิณ" ไว้ คือ "คดีทุจริตปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้แก่รัฐบาลพม่า มูลค่า 4,000 ล้านบาท" ซึ่ง "ทักษิณ" เป็นจำเลยเพียงคนเดียว
 
               และ "คดีทุจริตออกพระราชกำหนดแปลงค่าภาษีสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ป" ที่มี "ทักษิณ" เป็นจำเลยเพียงคนเดียว
 
               ส่วน "คดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวน" โดย ปปช.หรืออัยการสูงสุด ที่มี "ทักษิณ" เกี่ยวข้องในคดีด้วย คือ "คดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ" ซึ่งมี พ.ต.ท.ทักษิณ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา
 
               คดีความของ "ทักษิณ" ที่กล่าวมาทั้งหมดดำเนินการโดย "คตส." ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549 จึงไม่ต้องแปลกใจที่ร่างพรบ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ทั้ง 4 ฉบับ จะถูกกลุ่มคัดค้านมองว่าเป็น "กฎหมายล้างความผิด" ให้แก่กลุ่มคนเพียงไม่กี่คน
 
               โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวโยงกับ "ทักษิณ" ก็ยาวเป็นหางว่าวแล้ว และไม่รู้ว่ากว่าร่าง พรบ.ปรองดองนี้จะผ่าน "ทักษิณ" ต้องรออีกนานแค่ไหน?

.........

(หมายเหตุ : "ทักษิณ ชินวัตร" ไม่รู้ต้องรออีกนานแค่ไหน? : ขยายปมร้อน โดยสมถวิล เทพสวัสดิ์)


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์