ทรท.ยันจุดยืนรธน.ใหม่ยึดปี40-นายกฯจากเลือกตั้ง

คม-ชัด-ลึก

ทรท. ยันจุดยืน รธน.ใหม่ต้องยึดรธน.ปี 40 เป็นหลักเน้นสิทธิเสรีภาพ ปชช.มีส่วนร่วม แนะ ส.ส. ส.ว.ต้องเขตละคน นายกฯมาจากเลือกตั้ง หนุนปรับปรุงให้สภาผู้แทนฯตรวจสอบฝ่ายบริหาร ปรับลดจำนวนส.ส.ที่เข้าชื่อขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และ รมต.กรณีทุจริต

(31ธ.ค.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า จุดยืนของพรรคไทยรักไทยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ช่วงที่ผ่านมาเราได้พยายามที่ถามความเห็นสมาชิกและนักการเมืองของพรรคเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรเป็นอย่างไร เราเห็นว่าเรื่องหลักการมี 2 ประการ คือ เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องสอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนและเป็นประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง อย่างที่สองเราถือว่าให้ยึดรัฐธรรมนูญฉบับปี2540 เป็นหลักในการยกร่าง เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ได้รับการยอมรับทั้งในและนอกประเทศว่าเป็นประชาธิปไตยมีการวางระบบการตรวจสอบต่างๆที่รัดกุม กว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นในอดีต และคนไทยเข้าใจคุ้ยเคยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากที่สุด


การแก้ไขใดๆ จะต้องเป็นการพัฒนาให้ดีกว่ารัฐธรรนูญปี 2540

ที่เราเรียกสั้นๆว่าต้องเป็น 40 เดินหน้า แก้ไขแล้วต้องดีขึ้น ไม่ใช่ถอยหลัง สาระสำคัญที่ควรมีในรัฐธรรมนูญส่วนแรกเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมกับประชาชน และต้องไม่ลดลงไปกว่ารัฐธรรมนูญปี40 และที่บัญญัติไว้ประชาชนต้องใช้ได้จริง เพราะมีสิทธิบางอย่างในรัฐธรรมนูญปี 40 ต้องมีกฎหมายลูกมารองรับ หมายความว่าในครั้งนี้ต้องมีกรอบเวลาที่จะออกกฎหมายลูกให้ชัดเจน อีกอย่างคือให้ปรับปรุงกระบวนหลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง เช่น เรื่องการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นรัฐธรรมนูญปี 40 เขียนไว้ว่าจำนวนประชาชนที่จะถอดถอนต้องถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปไม่ได้เลยในบางท้องถิ่น อย่างนี้ต้องปรับปรุงสามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติด้วย

ในส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันการเมืองคือ ส.ส. และ ส.ว. เราเห็นว่าระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 40 เหมาะสมแล้ว

เพราะระบบแบ่งเขตๆละคนนั้นไม่ใหญ่เกินไป ผู้สมัครสามารถใช้คุณความดีเข้าไปหาเสียงได้ ซึ่งสามารถที่จะสู้กับคนที่จะใช้เงินในการหาเสียงได้ ทำให้ประชาชนเสมอภาคกัน ในส่วนของส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เราเห็นว่าทำให้หลักการที่ว่าทำให้ทุกเสียงมีความหมายนั้นใช้ได้จริง เพราะการเลือกพรรคไม่ว่าจะเป็นใครเข้าไปในสภาก็ถือว่าเป็นคนที่ประชาชนเลือก และระบบบัญชีรายชื่อทำให้ได้ส.ส.ที่มีความสามารถที่หลากหลายทั้งการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม และควรที่จะกำหนดคะแนนขั้นต่ำที่จะได้ส.ส.ให้น้อยกว่าร้อยละ 5 ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ก็แล้วแต่ และที่บอกว่าการเลือกส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทำให้มีนายทุนเข้ามาในพรรคนั้น เมื่อดูคนที่เป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อแล้วจะเห็นว่าแต่ละคนไม่ได้เป็นนายทุนตามที่กล่าวอ้างเลย

สำหรับวุฒิสภา เราเห็นว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ส่วนนายกรัฐมนตรีเราเห็นว่าต้องมาจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะว่าเป็นตำแหน่งบริหารที่สำคัญ ควรผ่านการยอมรับของประชาชนโดยการเลือกตั้ง เพราะนายกฯที่ผ่านการเลือกตั้งจะเห็นปัญหาของประชาชนได้ดีกว่านายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากได้ลงพื้นที่หาเสียงเห็นความทุกข์ยากของประชาชน และคนเหล่านี้จะมีจิตสำนึกที่ต้องตอบแทนบุญคุณประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหลาย

สุดท้ายคือเรื่องระบบการตรวจสอบเห็นด้วยที่ว่าต้องมีการปรับปรุงให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหาร

โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้มากขึ้น โดยปรับลดจำนวนส.ส.ที่จะเข้าชื่อขออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในกรณีทุจริต ส่วนเรื่องขอองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 40 ควรที่จะคงไว้ แต่ให้ปรับปรุงกระบวนการสรรหา และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสามารถเข้าเป็นกรรมการได้เพิ่มขึ้น จากที่เคยจำกัดอยู่ในผู้ที่เคยเป็นบุคลากรในภาครัฐเท่านั้น

นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญของไทยหลังการปฏิวัติ รัฐประหาร

จะเห็นได้ว่าไม่เคยมีรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ รัฐประหารฉบับใด ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีเลย ไม่มีเลยที่จะเป็นประชาธิปไตยและนึกถึงประชาชนส่วนใหญ่เลย แต่รัฐธรรมนูญของไทยที่ดีและได้มีการพูดถึงกันคือปี 17 และ 40 ดังนั้นถ้าประชาชนจะระแวงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะประสบการณ์สอนเรามาอย่างนั้นดูอย่างนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็หวังอะไรไม่ได้มาก แต่เราต้องมาช่วยกันติดตามการร่างอย่างใกล้ชิด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์