ทนายทักษิณบุกญี่บุ่นล็อบบี้กดดันไทย แม้วขอเคลียร์มาร์คสงบศึก

"แม้ว"ขอเคลียร์"มาร์ค" เจรจาสงบศึก ย้ำให้เลิกไล่ล่าศัตรูการเมือง ยันไม่มีกองกำลังใต้ดินปท.เพื่อนบ้าน ทนายต่างชาติชี้ตั้งข้อหาก่อการร้าย"ทักษิณ" ทำให้การส่งตัวข้ามแดนยากขึ้น กองทัพพร้อมร่วมมือตรวจสอบข้อเท็จจริง ปลัด"กลาโหม"สั่งกำลังให้ข้อมูลปฏิบัติการกระชับวงล้อมเสื้อแดง "คณิต"เผยขอเวลา30วันสรรหาทีมงานแต่ได้แค่ 15 ไม่กำหนดวันสรุปผลสอบสวน


กองทัพพร้อมให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด(อสส.) เป็นประธาน ในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ขอพื้นที่คืนและกระชับวงล้อมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นเหตุให้แกนนำคนเสื้อแดงประกาศยุติการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งเกิดเหตุจลาจลเผาเมืองลุกลามไปทั่ว
 

ทั้งนี้ พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์นายคณิต เข้าหารือประมาณ 30 นาที ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ว่า นายคณิต เดินทางมาพบ ถือว่าให้เกียรติต่อกองทัพ ซึ่งมาขอแนะนำในสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการฯ ทั้งการหาข้อมูลข้อเท็จจริงว่า ควรต้องทำอย่างไร ส่วนตัวนายคณิต มีกรอบแนวทางอยู่แล้ว
 

"กองทัพ โดยกระทรวงกลาโหมได้ทำหนังสือขออนุมัติหลักการมาตรการปรองดอง เรื่องการหาข้อเท็จจริงให้กับประชาชน โดยจะให้กำลังพลให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในภาพรวมของส่วนอื่นด้วย กระทรวงกลาโหมพร้อมให้ความร่วมมือทุกเรื่อง"พล.อ.อภิชาต กล่าว
 

ด้านนายคณิต ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าหารือกับพล.อ.อภิชาต ว่า จะมาขอคำแนะนำพล.อ.อภิชาต เรื่องกรอบการทำงาน รวมถึงตัวบุคคลในคณะกรรมการฯ
 
มีสิ่งใดที่จะแนะนำคณะกรรมการที่จัดตั้งทีมขึ้นบ้าง ผู้สื่อข่าวถามถึงการขยายเวลาเสนอคณะกรรมการอีก 15 วัน นายคณิต กล่าวว่า ความจริงเคยพูดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า ขอเวลาสรรหาคณะกรรมการ 30 วัน แต่คณะรัฐมนตรี(ครม.)กำหนดกรอบให้เพียง 15 วัน ซึ่งตนคิดว่า กว่าจะจัดทีมได้ต้องใช้เวลา ไม่ใช่คณะกรรมการฯต้องการยืดเวลา ส่วนเรื่องเวลาการทำงานยังไม่มีข้อยุติว่า จะให้คณะกรรมการทำงานกี่เดือน กี่ปี แต่หากจำเป็นก็ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าทำงานลวกๆ
 

ขณะที่สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณ

ซึ่งเดินทางมาเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนแนวทางให้นานาชาติเข้าร่วมในการสอบสวนหาสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงใน กทม. แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลไทยต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในเร็วๆนี้เพื่อพิสูจน์ว่ารัฐบาลได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นดังกล่าว
 

ทนายความของพ.ต.ท.ทักษิณ ยังให้ความเห็นด้วยว่า การออกหมายจับตัวอดีตนายกรัฐมนตรีในข้อหาก่อการร้ายนั้นถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะจะลดโอกาสที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะส่งตัวพ.ต.ท.ทักษิณให้กับประเทศไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากเป็นไปได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณอาจถูกพิพากษาถึงประหารชีวิตจากความผิดดังกล่าว


ด้านพล.ต.ต.เทอดศักดิ์  รุจิรวงศ์  ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ(ผบก.ตท.) กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ได้ส่งเอกสารหมายจับของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีก่อการร้ายฉบับแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ  มาให้แล้วตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา  โดยทางบก.ตท.จะได้ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด พร้อมส่งเอกสารไปให้ กองกำกับการ 3 ตท.รับผิดชอบการกรอกจากนั้นข้อมูลดำเนินการ ส่งไปเข้าระบบของอินเตอร์โพล์ หรือตำรวจสากล เพื่อพิจารณาออกหมายจับ ไปยังประเทศสมาชิก โดยเอกสารจะถูกส่งไปยังเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส


ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 มิถุนายน นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงที่พรรคเพื่อไทย ถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นต้องการขัดขวางแผนปรองดองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการว่า ตนเคยพูดไปแล้วว่าโรดแม็ป 5 ข้อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั้นไม่ได้เป็นแผนปรองดอง แต่เป็นแผนระยะยาว ซึ่งทั้ง น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศไทย ต่างก็ยืนยันว่าการปฏิรูปกับการปรองดองนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ขวางการปรองดองและยังสนับสนุนการปรองดองที่แท้จริง แต่ที่ย้ำคือต้องปรองดองและมีทัศนคติที่ดีกับการปรองดอง เช่นไม่ไล่ล่าศัตรูหรือคู่แข่งทางการเมือง ไม่ยัดเยียดข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จและไม่ใช้สื่อของรัฐบิดเบือนข้อมูล  และควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อให้บรรยากาศของประเทศกลับสู่สภาพปกติ ซึ่งประเทศไทยจะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าคือเรื่องของการเหลื่อมล้ำทางความเป็นธรรมคือสองมาตรฐาน


"ผมเคยเสนอวิธีการเคลียร์หรือปรองดองคือการ พีชทอล์ค โดยให้แต่ละฝ่ายมาคุยกัน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ติดมือมาด้วย เพราะเราเชื่อว่าความสงบ สันติภาพ และการปลดล็อคทางการเมืองระยะยาวนั้น จะไม่สามารถทำได้ด้วยแผนระยะยาวที่นายกรัฐมนตรีกำลังทำอยู่ แต่ต้องมาคุยกันเพื่อให้ได้ความสุขระยะยาว แล้วนายกรัฐมนตรี จะสามารถเดินทางไปหาเสียงในภาคเหนือและภาคอีสานได้ แต่ถ้ายังไล่ล่ากันอยู่ และสับสนว่าโรดแม็ปนั้น คือการปรองดอง นั้นไม่สามารถทำได้ และนายกรัฐมนตรี ทบทวน ซึ่งการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองต้องใช้รัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ คือต้องมีการพูดคุยกัน แต่นายกรัฐมนตรีได้บอกว่าจะไม่เจรจากับผู้ก่อการร้าย ซึ่งอาจจะหมายถึงพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการกล่าวหาเอาไว้ก่อนว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายและหลักนิติศาสตร์ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ยังอายุน้อยและมีโอกาสแก้ไขข้อผิดพลาดที่ได้ทำเอาไว้เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว หากจริงใจที่จะปรองดอง พ.ต.ท.ทักษิณ และทุกคน พร้อมที่จะพูดคุย"นายนพดลกล่าว


นายนพดล กล่าวว่า  สำหรับประเด็นที่ น.พ.บุรณัชย์ สมุทรรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งกองกำลังในประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะลงใต้ดินเพื่อต่อสู้นั้นเรายืนยันว่าเราไม่ใช้แย้ จะได้ลงใต้ดินและเราจะไม่มีการทำงานการเมืองแบบแย้แน่นอน แต่จะต่อสู้ในกรอบของรัฐธรรมนูญ บนดินอย่างมีศักดิ์ศรี เฉพาะแนวทางสันติ อหิงสาเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ดังนั้น ยืนยันได้ว่าไม่มีกองกำลังใต้ดินและกองกำลังในประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์