ถกการทำหน้าที่รักษาการส.ว. มีสิทธิ์ยื่นถอดกกต.ได้หรือไม่



นายมานิต วิทยาเต็ม หนึ่งในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย ทางคลื่น 98.0 เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของรักษาการสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขณะนี้สามารถทำอะไรได้บ้างหรือทำอะไรไม่ได้บ้างว่า ตามรัฐธรรมนูญเมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงแล้ว จะมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ในรัฐธรรมนูญก็กำหนดว่า ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่อายุของส.ว.สิ้นสุดลง ให้ทำหน้าที่ต่อไปจน ส.ว.ใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่ คล้าย ๆ รักษาการ ในการกำหนดอำนาจหน้าที่ เขาขึ้นต้นประโยคว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 168 ให้ทำได้ ซึ่งหน้าที่ตามมาตรา 168 บอกไว้หลายข้อ ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมเป็นวุฒิสภาไม่ได้ ขณะนี้ก็เข้าทั้ง 2 กรณี ตอนนี้ก็มีปัญหาว่าจะทำการต่าง ๆ ที่นอกจากที่กำหนดไว้ได้หรือไม่



สำหรับการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น นายมานิต กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เขียนไว้ ในมาตรา 168 ทำให้เป็นปัญหาที่น่าคิด เพราะว่าเป็นเรื่องที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อทำการต่าง ๆ ไม่ได้ อาจมีปัญหาเรื่องที่ไม่ต้องประชุมทำได้หรือไม่ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ดังนี้ เพื่อประสงค์ให้ ส.ว. มีอำนาจจำกัด เท่าที่จำเป็น เว้นแต่เป็นเรื่องฉุกเฉิน จำเป็น เรื่องที่ล่าช้า เช่น เรื่องประกาศสงคราม เป็นต้น




สถานะของกกต.ขณะนี้เป็นเรื่องของความเห็น แต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกัน บางคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย บางคนว่าไม่ใช่ การอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีคนเอาไปอ้างหลายทาง และต่างก็นำไปอ้างในทางที่เป็นประโยชน์กับตัว อ้างกันต่าง ๆ นา ๆ คนฟังก็ต้องไปอ่านเอาเองนายมานิต กล่าว และว่า ในทางกฎหมาย การดูสถานะของกกต.ต้องดูในทางกฎหมายมากกว่าจะดูจากความเคลือบแคลงของคน แล้วเกิดปัญหาว่า เคลือบแคลงของคนไหนมีตั้งมากมาย



ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ตอบคำถามไว้ในเว็บไซด์ www.meechaithailand.com ในประเด็นการทำหน้าที่รักษาการ ส.ว. ชุดปัจจุบัน ว่า สามารถส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติของกกต.ได้หรือไม่ ว่า หลักใหญ่ในการให้ ส.ว.ชุดเดิมยังคงอยู่ทำหน้าที่ต่อไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 131 นั้น แม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตาม มาตรา 168 ได้ แต่ก็ไม่ได้มีอะไรห้ามว่าจะทำหน้าที่อื่นด้วยไม่ได้ เพียงแต่มาตรา 168 บัญญัติว่า จะมีการประชุมวุฒิสภาไม่ได้ เว้นแต่จะประชุมกันเพื่อทำหน้าที่ตามมาตรา 168 ดังนั้นถ้าการทำหน้าที่ของ ส.ว.ในเรื่องใดสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องประชุมสภาแล้ว ส.ว.ก็ย่อมทำสิ่งนั้นได้




แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์