ต่างมุมมอง:แก้ไขพ.ร.บ.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์- ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ


กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมประเทศเวลานี้

กรณีพรรคเพื่อไทยจุดพลุแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เพื่อเพิ่มอำนาจฝ่ายการเมืองในการจัดโผทหาร

เนื่องจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา รมว.กลาโหมไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ เป็นอุปสรรคต่อการสั่งการและขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

ขณะที่กองทัพก็ยืนยันว่า ฝ่ายการเมืองไม่ควรเข้ามาล้วงลูก อำนาจการคัดเลือกบุคคลควรเป็นของผู้บังคับบัญชาแต่ละกองทัพ เพราะรู้เรื่องดีที่สุด

ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย ต่างมีเหตุผลและมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวไว้ดังนี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ผบ.ทบ.

ไม่กังวลอะไรอยู่แล้ว แต่ขอให้เห็นใจเถอะว่าทหารมีภารกิจคนละอย่าง คือ ถ้าเกิดศึกสงครามขึ้นมา มันก็จำเป็นต้องสั่งเขาไปรบ พูดง่ายๆ คือสั่งเขาไปตาย จะตายหรือเปล่าก็ไม่รู้ แพ้หรือชนะหรือเปล่าก็ไม่รู้

ถ้ามันตั้งคนไม่ได้แล้วจะทำกันอย่างไรในอนาคต ฉะนั้นต้องคำนึงถึงตรงนี้ก่อน

ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วเกิดพ.ร.บ.นี้ออกมา ต้องมีเหตุมีผล มีหลักการและใช้ธรรมาภิบาล มันเสียหายตรงไหน ก็ยังไม่เห็นเลย เพราะการปรับย้ายที่ผ่านมายังไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.มาทำอะไรเลย

ผมไม่เคยเอาพ.ร.บ.มาสู้กับใคร เป็นเรื่องของแต่ละหน่วยแต่ละเหล่าทัพปรับกันขึ้นมา ไม่ขัดแย้งอะไรกัน พ.ร.บ.นี้ไม่ได้มีไว้สู้กัน มีไว้ให้เกิดความเป็นธรรม ฉะนั้นมันคนละเรื่อง

เรื่องผมแต่งตั้งทายาท ไม่ใช่ผมมีทายาท 2 คน ไม่มีทายาทในกองทัพ กองทัพก็ไม่ใช่ของผม ที่ตั้งใครมาก็ตั้งด้วยความเหมาะสม และคนที่ทำงาน ตลอดระยะเวลาราชการรุ่นผมในตอนนี้ก็ 30 กว่าปีแล้ว

แล้วจะไม่ให้เขาเป็นใหญ่เป็นโต คงไม่ได้มั้ง อีก 2 ปี ก็เกษียณกันหมดแล้ว เขาก็โตไปตามลำดับ โตตามแท่งของเขา มีตั้ง 16-17 เหล่า

ไม่ใช่ผมเป็นคนตั้งเพียงคนเดียว มันมีสายงานของเขา มีเหล่าคนละเหล่า ผมเป็นเหล่าทหารราบ เพื่อนผมรุ่น 12 ก็มีอยู่หลายเหล่า คำสั่งนี้ก็มีทุกรุ่น ทั้ง 12 13 14 ซึ่งเกษียณพร้อมกันเลย ปี 2557 ก็ใกล้ๆ กัน

ผมไม่อยากไปขัดแย้งกับใคร วันนี้ช่วยทำให้บ้านเมืองก้าวผ่านไปก่อนจะดีกว่า

การมีพ.ร.บ.หรือไม่มี การแต่งตั้งเป็นอย่างไรก็ไปดูกันว่า แต่งตั้งแล้วทำงานได้หรือไม่ เขาควบคุมกองทัพได้หรือไม่ ทำประโยชน์ให้กับบ้านกับเมืองหรือไม่ ดูกันตรงนั้นมากกว่า

ถ้าจะพูดว่าคนนั้นถูก คนนั้นผิด ก็ไปว่าด้วยกระบวนการยุติธรรม ตอนนี้ขอร้องอย่ากดดันกัน ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน กองทัพก็ทำงานกันมาตลอด ใครมาเป็นรัฐบาลเราก็เป็นกลไกลอยู่แล้วในการทำหน้าที่

หนักใจอย่างเดียว คือทำอย่างไรให้ประชา ชนคลายความเดือดร้อนมากกว่านี้

การเป็นผู้บังคับบัญชาคน จะว่าง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก ถ้าเป็นง่ายก็ไม่ต้องคิดมาก เพียงตั้งพวกของตัวเองไว้เป็นหลักเยอะๆ กองทัพไม่ได้เป็นของใคร เป็นของคน 60 กว่าล้านคน ถ้าเอามาเป็นของใครคนใดคนหนึ่งก็เหนื่อย

ถ้าทหารตั้งกันเองก็จะดี เพราะรู้ว่าใครเป็นใคร

ส่วนที่ฝ่ายการเมืองอ้างว่ามาจากประชาชน 15 ล้านเสียง น่าจะดูแลกองทัพมากกว่านี้นั้น ก็ทำอยู่แล้ว อะไรที่ต้องการให้ทำก็บอกมา ไม่เหมาะสมอะไรก็บอกมา ผมรับฟังอยู่แล้ว

อย่าให้เป็นประเด็นโต้แย้ง ไม่ใช่ความขัดแย้ง ทางเราก็ไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐบาล

ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้ เป็นระบบอย่างนี้

สำหรับการเคลื่อนไหวใช้เสียงข้างมากในสภายกร่างพ.ร.บ.นี้นั้น ก็ว่ากันไป ที่ผ่าน มากว่าพ.ร.บ.นี้จะออกมาได้ ก็ใช้เวลาเป็นปีกว่า นานพอสมควร เหตุผลความจำเป็นก็มี

ถ้าใครเห็นว่าทหารเป็นองค์กรที่มีความยุติธรรมและความโปร่งใสพอสมควร ฉะนั้นดูแลทหารหน่อยก็แล้วกัน

ส่วนผม เห็นว่าไม่ทำประโยชน์ก็ย้ายผมได้ แต่ถามว่าแล้วผมทำประโยชน์หรือเปล่า ทำดีมั้ย นำพากองทัพดีมั้ย ถ้ากอง ทัพอ่อนแอคงถูกลงโทษ ผมว่าตอนนี้กอง ทัพยังเข้มแข็งอยู่ในการทำงานทำหน้าที่

ประเด็นอยู่ที่ว่าตอนนี้ประเทศไทยมีปัญหามากจนแก้ยาก ยิ่งยากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าทุกคนช่วยกันสงบ รวมใจเป็นหนึ่งเดียว แล้วแก้ไปทีละปัญหา ทั้งปัญหาทางภาคใต้ ปัญหาชายแดน ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเราใช้กลไกปกติเดียวก็แก้ได้

ถ้าขัดแย้งกันไป ทะเลาะเบาะแว้งกันไป ผลเสียก็เกิดกับรัฐบาลทั้งสิ้น

ส่วนเรื่องปฏิวัตินั้น ใครจะปฏิวัติ ผบ.ทบ.มีกี่คน แล้วกองทัพบกมีกี่กองทัพ มีกองทัพเดียว ที่เป็นหลักๆ ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิวัติ นึกว่ามันง่ายนักหรือไง

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ต้องมีการตีความกัน รวมทั้งต้องปรับปรุงให้ถูกต้องด้วย และไม่ใช่แก้ไขเฉพาะ พ.ร.บ.กลาโหมฉบับนี้เท่านั้น

แต่หมายรวมถึงกฎหมายอีก 170 กว่าฉบับ ที่ออกมาจากสภาของคมช. ซึ่งจำนวนขององค์ประชุมก็ไม่ครบ แต่สุดท้ายก็ผ่านออกมาจนมีผลบังคับใช้

เรื่องนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยกับสภาที่มาจากประชาชน ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้รวมทั้งฉบับอื่นๆ ถือเป็นผลไม้พิษจากอำนาจเผด็จการ

พ.ร.บ.กลาโหมถือเป็นกฎหมายที่ฝ่ายยึดอำนาจตั้งใจบัญญัติขึ้น เพราะต้องการกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมทั้งเพื่อเป็นเครื่อง มือต่อท่ออำนาจของพรรคพวกตนภายในกองทัพ

ในความเป็นจริง ถ้ากองทัพไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เสถียรภาพของรัฐบาลชุดนั้นก็ยากจะเกิดขึ้น

ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เส้นทางอำนาจของทุกเหล่าทัพก็มาจากต้นทางเดียวกัน บุคคลที่ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตคือคณะนายทหารที่ร่วมกันยึดอำนาจในวันรัฐประหาร 19 กันยา 49

กรณีกองทัพอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้บัญญัติขึ้นเพื่อป้องการแทรก แซงจากฝ่ายการเมืองนั้น เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้

กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่บีบบังคับอำนาจที่มาจากประชาชน ดังนั้นต้องแก้ไข เพราะขัดกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ควรปล่อยให้กองทัพแข็งแกร่งพอที่จะสร้างปัญหาให้กับรัฐบาล

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะรัฐบาลมีปัญหาที่ต้องแก้ไขโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมนั้น เป็นคนละเรื่องกัน ฝ่ายบริหารก็ต้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งเดินหน้าผลักดันนโยบายที่หาเสียงกับประชาชนเอาไว้

ขณะที่เรื่องแก้ไขกฎหมาย เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากเสียงของประชาชน เมื่อกฎหมายมีความพิกลพิการก็ต้องแก้ หากเรายังใช้กฎหมายที่มาจากเผด็จการ การเลือกตั้งที่ผ่านมาจะมีความหมายอะไร

และไม่น่าแปลกใจที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาคัดค้าน เพราะเวลานี้นายอภิสิทธิ์เหมือนเป็น รปภ.ของอำนาจเผด็จการ ทุ่มเทสุดชีวิตเพื่อต่อต้านฝ่ายที่ไปแตะต้องผลประโยชน์ของพวกเขา
 

นายอภิสิทธิ์เองก็ถือเป็นนายกฯ จากอำนาจของเผด็จการ ถือเป็นผลไม้พิษเช่นเดียวกัน

ส่วนที่ระบุว่าถ้ามีการแก้ไขพ.ร.บ.กลาโหมแล้วอาจเกิดความขัดแย้งในสังคมนั้น ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นความขัดแย้งบนหลักการและเหตุผล ต่อสู้กันทางความคิดต่อหน้าประชาชน

ไม่ใช่มุ่งทำลายล้างกันในทางการเมือง เพื่อบ้านเมืองจะได้เดินหน้าต่อไปได้

ผมไม่เชื่อว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประ หารอีก เรื่องนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น หากใครคิดจะทำในสถานการณ์แบบนี้ ก็คงมืดบอดเต็มที ]


พล.อ.รัชกฤติ กาญจนวัฒน์

ส.ว.สรรหา

พ.ร.บ.นี้มีการพิจารณายกร่างมาอย่างดี มีความเหมาะ สมอยู่แล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายทหารก็มีคณะกรรมการพิจารณาตามเกณฑ์ผลงาน

ส่วนการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารระดับสูงที่ต้องอาศัยภายใต้ 6 บุคคล หรือ 6 เสียง ก็เป็นการพิจารณาโดยภาพรวมปกติตามแนวปฏิบัติ ฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามาเจรจา ล็อบบี้คนได้บ้างเช่นกันอยู่แล้ว

ใช่ว่าการเมืองจะเข้ามาล้วงลูกไม่ได้ แต่ถ้าอยากเปลี่ยนตามใจตนแบบที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือ คงไม่ได้

ไม่ต้องมองว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้มีขึ้นในสมัยใคร อาจ เตรียมยกร่างไว้นานแล้ว แต่มาพิจารณาพอดีในช่วงรัฐบาล

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ได้

พ.ร.บ.ฉบับนี้แค่เข้ามาเกี่ยวข้องในรูปของการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อควบคุมความปลอดภัย ความยุติ ธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารเท่านั้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์