“ตู่ จตุพร”เบิกความยัน“มาร์ค”ใช้เอกสารปลอมหนีทหาร

นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์


ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 25 ก.ค. ศาลนัดสืบพยานจำเลย คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332

กรณีเมื่อวันที่ 29 ม.ค. - 15 ก.พ.2553 จำเลย กล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดงและประชาชนที่รับชมสถานีโทรทัศน์ ช่องพีเพิล แชนแนล กล่าวหาว่า โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร  และข้อความอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ

โดยวันนี้นายจตุพร ขึ้นเบิกความด้วยตัวเองสรุปว่า ขณะที่โจทก์เป็นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปลายปี 2551 – พ.ศ. 2554 ในคดีนี้พยานปราศรัยถึงโจทก์รวม 2 วันคือ กรณีที่โจทก์หนีเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ใช้เอกสารเท็จเข้าเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยเกล้า จปร. และ การปราศรัยที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการป้องปรามโจทก์ไม่ให้ใช้กำลังปราบปรามประชาชน

นายจตุพรเบิกความว่า สำหรับเรื่องการหนีเข้ารับการเกณฑ์ทหารของโจทก์ ชายไทยเมื่ออายุครบ 17 ปี ต้องขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกิน และเมื่ออายุครบ 20 ปี ต้องเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ มีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นายธานินทร์ ไกรวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี ที่หลังจากจบคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านกฎหมายที่ประเทศอังกฤษแล้ว กลับมายังต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเมื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผบ.กรม (ขณะนั้น) ไปพบและสอบถามทราบว่าจบเนติบัณฑิตที่ประเทศอังกฤษ จึงนำตัวมาช่วยราชการที่กรม ดังนั้นชายไทยทุกต้องรับใช้ชาติโดยการเกณฑ์ทหาร นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นแบบอย่าง การที่ไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นการแสดงออกถึงความไม่รักชาติ โดยเรื่องนี้พยานได้ตรวจสอบตั้งแต่เป็นโฆษกพรรคไทยรักไทยเรื่อยมาจนกระทั่งเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย

นายจตุพรเบิกความต่อว่า ในสมัยพรรคพลังประชาชน ได้มีการเปิดผลการสอบสวนของจเรทหารบก เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2542 กรณีมีการร้องเรียนว่าโจทก์เลี่ยงการเกณฑ์ทหารและใช้เอกสารเท็จ มาเผยแพร่ เพราะพยานต้องการต้องการตรวจสอบและตั้งคำถามต่อโจทก์ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า ได้มีเลี่ยงเกณฑ์ทหารและใช้เอกสารเท็จในการสมัครเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อย จปร.หรือไม่ เพราะผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องมีความสง่างามและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนไทยได้ สอดคล้องกับจริยธรรมและกฎเหล็ก 9 ข้อ ที่โจทก์เคยพูดไว้ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อพยานสอบถามโจทก์ในเรื่องดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ชี้แจงทั้งในการอภิปรายสภาและนอกสภา

นายจตุพรกล่าวอีกว่า พยานในฐานะชายไทยผ่านการเข้ารับตรวจเลือกการเกณฑ์ทหารแล้ว จึงมีประสบการณ์กับตัวเอง โดยเมื่อโจทก์เกิดวันที่ 3 ส.ค. 2507 เมื่อมีอายุครบ 17 ปี ย่างเข้า 18 ปี โจทก์ต้องเข้ารับการขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินในปี 2524-2525 และโจทก์ต้องได้รับหมายเรียกเกณฑ์ทหารเมื่ออายุครบ 20 ปี ในปี 2527 และต้องเข้ารับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารในปี 2528 แต่ในปี 2524 โจทก์อ้างว่าไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษจึงไม่ได้ขืนทะเบียนเป็นทหารกองเกิน รอจนกระทั่งเรียนจบในเดือนมิ.ย. 2529 โจทก์จึงไปขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินที่จะได้ใบ สด.9 ในวันที่ 4 ก.ค. 2529 ในขณะที่โจทก์มีอายุ 22 ปี โดยสัสดีเขตพระโขนงเขียนเป็นลายมือให้โจทก์มารับใบ สด.9 ในเดือนม.ค. 2530 โจทก์จึงต้องเข้ารับเกณฑ์ทหารในวันที่ 7 เม.ย. 2530 แต่วันที่ 7 เม.ย.น 2530 โจทก์ไม่ได้ไปเข้ารับการตรวจเลือกเป็นทหารเกณฑ์ โจทก์จึงเป็นคนขาดการตรวจเลือก

การที่โจทก์ไม่ขึ้นทะเบียนทหารกองเกินเมื่อมีอายุครบกำหนดมีโทษจำคุกทั้งจำทั้งปรับ แล้วไปขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2529 จึงเป็นการทำผิดกฎหมายแล้ว เพราะเป็นเวลาที่โจทก์เรียนจบจึงมาขึ้นทะเบียน โจทก์จึงไม่มีเหตุผลใดขอผ่อนผันเกณฑ์ทหารได้อีก ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497

นายจตุพร เบิกความต่อว่า จากรายงานการสอบสวนของจเรทหารบก ลงวันที่ 19 พ.ค. 2542 ปรากฏชัดเจนว่า โจทก์ไม่เคยได้รับการผ่อนผันหรือเคยเกณฑ์ทหาร แต่โจทก์ได้พยายามขึ้นทะเบียนทหารกองเกินในภายหลัง มีการประสานกระทรวงกลาโหมและโรงเรียนนายร้อย จปร. โดยมีการทำหนังสือจากกรมสารบัญทหารบก (สบ.ทบ.) ทำเรื่องถึงโรงเรียนนายร้อย จปร.ให้รับโจทก์เป็นอาจารย์ และโรงเรียนนายร้อย จปร.ทำหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2529 ให้โจทก์เข้ารับราชการ ต่อมาโจทก์ได้ไปสมัครเป็นอาจารย์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 12 ม.ค. 2530 แต่โจทก์ขาดหลักฐานสำคัญ โดยคนที่จะสมัครรับราชการทหาร หากมีอายุ 18-20 ปี ต้องมีใบ สด.9 หากอายุ 21 ปี ต้องใช้ใบ สด.9 ใบผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร (สด.41) หรือ ใบผ่านการเกณฑ์ทหาร (สด.43) ซึ่งขณะที่โจทก์สมัครเป็นอาจารย์นั้นมีอายุ 23 ปี จึงต้องใช้เอกสารดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร จึงไม่มีเอกสารประกอบการสมัคร

ต่อมาวันที่ 9 เม.ย. 2530 โจทก์มาเขียนใบสมัครใหม่อีกครั้ง แต่โจทก์ไม่สามารถใช้เอกสารหลักฐานได้แม้แต่เพียงชิ้นเดียว เพราะถ้าใช้ สด.9 ฉบับวันที่ 4 ก.ค. 2529 โรงเรียนนายร้อย จปร.จะตรวจพบว่าโจทก์เป็นคนขาดการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารในวันที่ 7 เม.ย. 2530 เมื่อโจทก์ไม่เข้ารับการตรวจเลือกเอกสาร สด.43 จะถูกทำลาย อีกทั้ง โจทก์ยังไม่ได้รับการผ่อนผันเกณฑ์ทหาร  เพราะไม่ได้ไปศึกษาต่างประเทศ การอ้างเรื่องการศึกษาต่างประเทศของโจทก์ที่อ้างว่าได้รับการผ่อนผันโดยใช้ใบรับรองของผู้ช่วยสัสดี กรุงเทพ ลงวันที่ 31 ก.ค. 2530 ซึ่งภายหลังกระทรวงกลาโหมมาตรวจสอบอีกครั้งเมื่อเดือนมิ.ย. 2555พบว่าเป็นเอกสารที่ผิดกฎหมาย เพราะผู้ที่จะอนุญาตได้จะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้เอกสารยังมีพิรุธหลายประการพิมพ์ผิดแม้กระทั่งชื่อมารดาของโจทก์ วันขึ้นทะเบียนทหารกองเกิน และเหตุผลที่อนุญาต ระบุตาม ม.29 (3) พ.ร.บ.รับราชการทหารฯ ซึ่งเป็นกรณีที่เรียนในต่างประเทศ หากเป็นกรณีศึกษาต่างประเทศเช่นกรณีของโจทก์จะต้องใช้ ม.27 ซึ่งปัจจุบันคนลงนามอายุ 78 ปี เกษียณราชการแล้ว และเอกสารดังกล่าวยังขัดแย้งกับ สด.20 ที่นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์นำมาแสดง โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นเอกสารเท็จหรือไม่

นายจตุพร เบิกความต่อว่า นอกจากนี้ พยานตรวจสอบพบพิรุธอีกว่า เมื่อโรงเรียนนายร้อย จปร.รับบรรจุโจทก์ในวันที่ 20 ต.ค. 2529 แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นในวันที่ 4 พ.ย. 2529 กลับมีชื่อโจทก์ขอลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในปี 2530-32 แต่ข้อเท็จจริงพบว่าโจทก์ได้ไปเขียนใบสมัครเป็นอาจารย์ในวันที่ 12 ม.ค. 2532 ซึ่งถ้าไปเรียนต่อต่างประเทศจริง โจทก์จะมาเขียนใบสมัครได้อย่างไร ฉะนั้นเอกสารที่รับรองโดยผู้ช่วยสัสดีกรุงเทพและสด.20 นั้นจึงมีข้อความที่เป็นความเท็จและผิดกฎหมาย และหลังจากโจทก์เขียนใบสมัครครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2530 หลังการตรวจเลือก 2 วัน ปรากฏว่าโจทก์ได้รับการเป็นข้าราชการพลเรือนทหารบกในวันที่ 7 ส.ค. 2530  โดยที่โจทก์ยังไม่มีเอกสาร เพราะโจทก์ยังเป็นคนขาดการตรวจเลือกอยู่ดี และเอกสาร สด.9ที่ใช้สำแดงจึงผิดกฎหมาย กระทั้งวันที่ 7 เม.ย. 2531 โจทก์ก็ยังเป็นคนขาดการตรวจเลือกเป็นปีที่ 2 ไปจนกระทั่งถึงปี 2536 ซึ่งมีอายุครบ 29 ปี

นายจตุพร เบิกความต่อว่า โจทก์ได้ไปขอใบ สด.9 ฉบับใหม่อ้างว่าฉบับเดิมสูญหาย โดยมีการแก้ข้อความให้ ทั้งที่ความจริงเมื่อสัสดีเขตพระโขนงพบโจทก์จะต้องจับกุมดำเนินคดี  ข้อหาหลบเลี่ยงไม่เกณฑ์ทหาร และพาตัวไปเกณฑ์ทหารจนครบกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร. ซึ่งจากการผลการสอบสวนของจเรทหารบกลงวันที่ 19 พ.ค. 2542 เห็นว่ามีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคนแต่บางคนเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล จึงไม่สามารถลงโทษทางวินัยได้ แต่ลงทำได้เพียงลงทัณฑ์พันเอกหญิงคนหนึ่ง และให้ดำเนินคดีอาญากับสัสดี โดยเป็นการสอบสวนเพื่อเอาผิดกับข้าราชการผู้ให้ความช่วยเหลือโจทก์แต่ไม่เน้นการดำเนินคดีโจทก์เพราะอะไรพยานไม่ทราบ แต่ขณะนั้นมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนโจทก์เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายจตุพรกล่าวต่อว่า เมื่อมีการบรรจุโจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนทหารบกเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2530 เป็นผลมาจากการใช้ สด.9 อันเป็นเท็จ การบรรจุโจทก์เป็นว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 531 ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองประจำการเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2531 และได้รับพระราชทานยศร้อยตรีเมื่อเดือนต.ค. 2531 จึงได้มาจากเอกสารที่เป็นเท็จ และในวันที่ 5 ก.ย. 2532โจทก์ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากราชการ อ้างว่าไปศึกษาต่างประเทศ ซึ่งขัดแย้งกับ สด.20 ที่อ้างว่าได้รับการผ่อนผันไปศึกษาต่างประเทศในปี 2530-32 ซึ่งถ้าอยู่ต่างประเทศจะมาเป็นอาจารย์ได้อย่างไร และในระหว่างรับราชการทหาร 331 วัน โจทก์ ปฏิบัติงานเพียง 110 วัน ลาเดินทางไปต่างประเทศถึง 221 วัน

นายจตุพรเบิกความต่อว่า คดีนี้พยานเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ และให้โจทก์ฟ้องร้อง เพื่อให้มีการพิสูจน์เอกสารในคดีนี้และพฤติการณ์ของโจทก์ว่ามีเจตนาหลบเลี่ยงการเข้ารับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหารหรือไม่ และใช้เอกสารเป็นเท็จเข้าสมัครเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย จปร.หรือไม่ ซึ่งการพิสูจน์ความจริงคดีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่จะไม่มีใครหลบเลี่ยงการเข้ากรับการตรวจเลือกเกณฑ์ทหาร

 นายจตุพร เบิกความว่า กรณีการปราศรัยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2553 ที่หน้า กกต. เพื่อป้องปรามไม่ให้โจทก์ใช้กำลังปราบปรามประชาชน ดังเช่นกรณีสงกรานต์เลือดเมื่อเดือนเม.ย. 2552 โดยพยานได้รับเอกสารจากนายทหารผู้หวังดีกับกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นเอกสารเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารในปี 2553 รวม 37 หน้า ซึ่งขณะนั้นมีการนัดหมายกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกันในวันที่ 14 มี.ค. 2553 จึงได้พูดปราศรัยเพื่อป้องปรามเนื่องจากรู้สึกกังวลใจและมีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เกรงว่าจะมีการสร้างสถานการณ์ คือ กรณีที่มีผู้ขับรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิ เบียดเข้าขบวนรถยนต์ของโจทก์ แต่ปรากฏว่าไม่มีการสอบสวนหรือดำเนินคดีกับผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว รวมทั้งกรณีที่มีผู้ขับรถยนต์แท็กซี่มีสัญลักษณ์คนเสื้อแดงเบียดขบวนรถยนต์ของโจทก์อีกครั้ง แต่ก็ไม่มีการสอบสวนและดำเนินคดีเช่นกัน

พยานเห็นว่าอาจเป็นการเริ่มต้นการสร้างสถานการณ์ เพราะเมื่อเดือนเม.ย. 2552 ในเหตุการณ์เผารถเมล์ 52 คน ปรากฏว่าประจักษ์พยานทั้งคนขับรถเมล์และพนักงานเก็บค่าโดยสารรวม 104 คน ไม่สามารถชี้ได้ใครเป็นคนปล้นและเผารถเมล์ แม้แต่เพียงรายเดียว รวมทั้งกรณีที่โจทก์อ้างว่าถูกทุบรถยนต์ที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2552 เหตุการณ์นำรถแก๊สจากสามเหลี่ยมดินแดง ไปจอดเผาที่คิงเพาเวอร์ เหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่มัสยิดถนนเพชรบุรีซอย 5 และ 7 เหตุฆาตกรรม 2 ศพ ที่บริเวณนางเลิ้ง เหตุฆาตกรรมการ์ด นปช.ทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ศพ เหตุยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ใส่เทคโนโลยีราชมงคลพาณิชยการพระนคร เหตุวางระเบิดซีโฟร์ห่างศาลฎีกาสนามหลวง 200 เมตร เหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพยานสงสัยในเหตุการณ์เหล่านี้ จึงได้สอบสวนจนทราบว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ โดยพยานมีข้อมูลหลักฐานบางเรื่องที่สามารถตรวจสอบได้ อาทิ เหตุเผารถแก๊ส เผารถเมล์ ทุบรถยนต์โจทก์ที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งผลการสอบสวนเหล่านี้พยานได้นำไปอภิปรายในสภาด้วย พยานเบิกความเรื่องอื่น ๆ แล้วเสร็จ

ศาลจึงนัดสืบพยานครั้งต่อไปวันที่ 26 ก.ค.   นี้ เวลา 09.00 น.


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์