ติงนิคมอย่าเข้าข้างรบ.ออกนอกหน้า

ติงนิคมอย่าเข้าข้างรบ.ออกนอกหน้า


'เทพไท'ติง'นิคม'อย่าเข้าข้างรัฐบาลออกนอกหน้า ขู่ดื้อแปรญัตติแก้'รธน.'ระวังเจอยื่นถอดถอน ด้าน'สมศักดิ์'ไม่สนฝ่ายค้านขู่ยื่นถอดถอน


                 
6 เม.ย.56 นายเทพไท เสนพงศ์ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ พ.ศ.(ฉบับแก้ไขที่มาวุฒิสภา)  กล่าวถึงกรณีที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา ออกมาแก้ต่างให้กับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กรณีองค์ประชุมไม่ครบ โดยระบุว่า จะไม่มีการเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพราะจะเป็นการเสียเวลาและจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณนั้นว่า นายนิคม อยู่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา ควรจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ควรแสดงอาการปกป้องฝ่ายรัฐบาลอย่างออกหน้าออกตาจนเกินความพอดี  เรื่องนี้หากมีความจำเป็นและความถูกต้อง การประชุมร่วมรัฐสภาก็ไม่ควรคำนึงถึงการสิ้นเปลืองแต่อย่างใด เพราะมีหลายครั้งที่ประธานรัฐสภานัดประชุมร่วมรัฐสภาแล้วก็มีวาระการประชุมที่ไร้สาระ ทำเพื่อประโยชน์ของตนเองทำไมไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าและสิ้นเปลืองบ้าง

                              
นายเทพไท กล่าวต่อว่า ถ้าดูปฏิทินการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้ ที่มีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ และประธานสภาฯ ก็มีคำสั่งงดการประชุมสภาฯ ในวันที่ 10-11 เม.ย.และวันที่ 17-18 เม.ย.นี้ ถ้าเป็นอย่างนี้จริงแสดงว่าในสมัยประชุมนี้ก็จะไม่มีการประชุมสภาฯ แล้ว และห้วงระยะเวลาการแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา ภายใน 15 วันนั้นจะครบกำหนดในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ทั้งนี้จะให้เวลาประธานรัฐสภากลับตัวกลับใจจนถึงวันที่ 18 เม.ย.นี้และถ้าหลังวันที่ 18 เม.ย.แล้วยังยืนยันความเห็นเดิม ฝ่ายกฎหมายของพรรคก็จะดำเนินการยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว

"สมศักดิ์" ไม่สนฝ่ายค้าน ขู่ ยื่นถอดถอน

                
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ขู่ยื่นถอดถอน นายสมศักดิ์ ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากไม่เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติการกำหนดช่วงเวลาแปรญัตติรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม ว่า ตนทำผิดรัฐธรรมนูญตรงไหน ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด ขอให้ไปดูข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 96 จะเห็นว่า ตนทำถูกต้องชัดเจน ไม่ต้องไปตีความอะไรกันมาก เพราะข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้การแปรญัตติเรื่องรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน หากเป็นกฎหมายทั่วไปก็แปรญัตติ 7 วัน ยกเว้นที่ประชุมรัฐสภามีความเห็นเป็นอย่างอื่น กรณีนี้เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้แปรญัตติรัฐธรรมนูญ 60 วัน จึงต้องเสนอญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อน แต่ก่อนลงมติก็ต้องตรวจสอบองค์ประชุม เมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็ประชุมต่อไม่ได้ จึงต้องสั่งปิดประชุม และต้องไปใช้การแปรญัตติตามเดิมคือ 15 วัน ยืนยันว่าไม่ใช่การเร่งรีบรวบรัดตามที่กล่าวหาแน่นอน ทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ

             
"หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้แปรญัตติ 60 วันก็ทำได้ โดยให้ไปหารือกันกับรัฐบาลและวุฒิสภาเพื่อเรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ 18 เม.ย. จากนั้นให้เสนอการแปรญัตติ 60 วันเข้ามาอีกครั้ง เพราะถือว่าญัตติยังค้างอยู่ แล้วให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเอาด้วยหรือไม่ เมื่อที่ประชุมตกลงอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น ใช้เวลาลงมติไม่กี่นาทีก็เสร็จแล้ว หากฝ่ายค้านไม่เสนอญัตติแปรญัตติ 60 วันเข้ามาใหม่ คณะกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างก็ประชุมทำหน้าที่ต่อไป โดยถือว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 2 มีความถูกต้อง เดินหน้าต่อได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 10-11 เม.ย. และวันที่ 17เม.ย.จะไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจาก สส.เสนอมาว่าอยากลงพื้นที่พบประชาชนต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะช่วงที่ผ่านมาได้ประชุมต่อเนื่องกันมายาวนานแล้ว ซึ่งถือเป็นความเห็นชอบของ สส.ส่วนใหญ่ ไม่ใช่ความคิดของตน" นายสมศักดิ์ กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์