ตั้งแล้ว-9ปปช. เชือดโกง ´ปานเทพ´นำทีม

"ป.ป.ช."


หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ทยอยประกาศคำสั่ง คปค.ออกมาเป็นระยะๆ ล่าสุดได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.)

วิษณุ รุดเข้าพบคณะปฏิรูปฯ

สำหรับความเคลื่อนไหวของคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายหลังเข้ายึดอำนาจสำเร็จแล้ว เมื่อวันนี้ (22 ก.ย.) เวลา 08.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พร้อมด้วย พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ประธานที่ปรึกษา คปค. พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ รองหัวหน้า คปค.คนที่ 1 พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข รองหัวหน้า คปค.คนที่ 2 พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองหัวหน้า คปค.คนที่ 3 และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คปค. ได้เดินทางมายังกองบัญชาการกองทัพบก จากนั้นเวลา 08.30 น. นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี จึงเดินทางมาสมทบ

สนธิ รับพระบรมราชโองการฯ

ต่อมาเวลา 09.30 น. ที่บริเวณห้องรับรองภายในกองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.เรืองโรจน์ พล.อ.สนธิ พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ พล.อ.อ.ชลิต พล.ต.อ.โกวิท และ พล.อ.วินัย พร้อม ด้วยนายทหารระดับสูง ได้รับฟังคำประกาศพระบรม ราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พล.อ.สนธิ เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ พล.ต.มาโนช เปรมวงศ์ศิริ เจ้ากรมสารบรรณทหารบก อัญเชิญพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีใจความว่า

ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระปรมาภิไธยภูมิพลอดุลยเดช ปร. ด้วย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ได้นำความกราบบังคมทูลว่า การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้สึกรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่ เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ และหลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์โดยต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองเอาไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยแก่ประเทศ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายฟังคำสั่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 20 ก.ย.2549 เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น พล.อ.สนธิ ได้ถวาย คำนับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรับสนองพระบรมราชโองการ และได้เปิดกรวยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถวาย คำนับ และกลับมาประจำที่เดิม เป็นอันเสร็จพิธีรับสนองพระบรมราชโองการ

คปค.หารือเครียดตั้ง ป.ป.ช.


ต่อมาเวลา 10.00 น. พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรา-นนท์ ประธานที่ปรึกษาคณะปฏิรูปการปกครองฯ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รองคณะปฏิรูปการปกครองฯ และ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ในฐานะ เลขา คปค. ได้ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต-แห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เป็นผู้เสนอรายชื่อทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานด้านกฎหมายได้เสนอแนวทางการทำงานของ ป.ป.ช.ต่อคณะปฏิรูปการปกครองฯด้วยว่า อะไรที่เป็นไปตามกฎหมายก็ขอให้ทาง ป.ป.ช. และ ปปง. ดำเนินการตรงไปตรงมา สิ่งไหนผิดก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมายถึงขั้นตอนต่างๆ ทั้งนี้ อยู่ที่ กระบวนการการพิจารณาทางกฎหมายเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาเรื่องการซุกหุ้น หรือการขายหุ้น และการขายบริษัทชินคอร์ปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประ-ชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ดังนั้น ป.ป.ช.ชุดนี้จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมเกิดขึ้นโดยเร็ว

ไม่มีการสั่งยึดทรัพย์ ทักษิณ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหยิบยกข้อเสนอถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะถูกตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯก็แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง และสามารถใช้สิทธิ์ความเป็นคนไทยได้ตลอดเวลา ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองฯจะไม่ยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ตามหลักฐานที่ปรากฏแน่ชัดเท่านั้น รวมถึงรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่อาจจะถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย ถ้าหากจำเป็นต้องยึดทรัพย์ก็จะต้องยึด ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อมูลหลักฐานที่แน่ชัดเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าคณะปฏิรูปฯจะเข้าไปแทรกแซง หรือตั้งคณะกรรมการไปไล่ยึดทรัพย์นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนอื่นๆ

ให้อำนาจ โกวิท คุม สตช.เต็มตัว

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.00 น. คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศฉบับที่ 17 เรื่องมอบ อำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหา-กษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2549 มีคำสั่งให้บรรดาอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือผู้ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชา-ธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมอบหมายนั้น เพื่อให้การบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่ง-ชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงมอบหมายให้ผู้บัญชา-การตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี แทนหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังกล่าวข้างต้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราช-การและปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ประกาศ ณ วันที่ 22 ก.ย. 2549 ลงชื่อ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จัดระเบียบ กตร.ใหม่


จากนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศฉบับที่ 18 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระบบการบริหารงานตำรวจเพื่อให้มีความเป็นอิสระเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งขึ้น และมิให้อิทธิพลทางการเมืองก้าวก่ายการดำเนินกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น อันจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยส่วนรวมยิ่งขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้ ข้อ 1 นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ กตร. ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้ (1) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ (2) จเรตำรวจแห่งชาติ หรือ รอง ผบ.ตร.ที่ ผบ.ตร.กำหนด จำนวน 2 คน (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากประธาน และกรรมการตาม (2) ให้ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นกรรมการและเลขานุการ กตร. และรองผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ กตร. ข้อ 2 ให้การดำเนินการของ กตร. ตามข้อ 1 มิให้นำความในมาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 57 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการทำความตกลงและการให้ความเห็นชอบมาใช้บังคับ ข้อ 3 การใดที่ กตร. ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับนี้ใช้บังคับ แต่ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ และมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลและอยู่ในอำนาจของ กตร. ให้ กตร. ตามข้อ 1 พิจารณาดำเนินการตามควรแต่กรณี ข้อ 4 ให้ กตร. ซึ่งดำรงอยู่ในตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง ข้อ 5 ให้ดำเนินการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ข้อ 6 เมื่อได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หรือเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่ วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ประกาศฉบับนี้เป็นอันยกเลิก ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 22 ก.ย. 2549 ลงชื่อ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศตั้ง 9 อรหันต์ ป.ป.ช.

ขณะเดียวกัน คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 19 เรื่องให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เป็นไปอย่างต่อเนื่อง สมควรปรับปรุง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และมีผลบังคับใช้ต่อไป คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้ 1. ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหา 2. ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป 3. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ประกอบด้วย 1. นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ 2. นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ 3. นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ 4. นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ 5. ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ กรรมการ 6. ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว กรรมการ 7. นายวิชา มหาคุณ กรรมการ 8. นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ และ 9. น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ข้อ 4. ในกรณีที่ประธานกรรมการ หรือกรรมการตามข้อ 3 พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใด และมีกรรมการเหลืออยู่ตั้งแต่ 6 คนขึ้นไป ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ ถ้าประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่คัดเลือกกันเอง ให้กรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแทน ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งและมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึง 6 คน ให้นายกรัฐมนตรีสรรหาบุคคล เพื่อขอความเห็นชอบจากสภาที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงลงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป หรือดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แล้วแต่กรณี ข้อ 5. ให้ประธานกรรมการและกรรมการตามข้อ 3 ดำเนินการตามมาตรา 11 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ในกรณีที่บุคคลตามข้อ 3 ไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาตามวรรค 1 หรือไม่อาจรับตำแหน่งได้ ให้นำความในข้อ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ประกาศมา ณ วันที่ 22 ก.ย. 2549 ลงชื่อพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จัดระเบียบ ขรก.ก่อนตั้ง ครม.


ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 20 เรื่องให้คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามที่ได้มีบัญญัติคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2549 ให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ซึ่งมีผลให้คณะกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ต้องสิ้นสภาพลง ยกเว้นคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ฉะนั้น เพื่อไม่ให้ งานของคณะกรรมการต้องหยุดชะงักลง จึงให้คณะกรรมการดังกล่าวยังคงอยู่ และปฏิบัติหน้าที่ที่มีอยู่ต่อไป เว้นแต่ส่วนราชการที่เป็นผู้เสนอขอให้มีคณะกรรมการนั้นๆ เห็นสมควรยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงให้ปลัดกระทรวงนั้นๆ เสนอขอคำวินิจฉัยต่อหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ทั้งนี้ คณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ให้หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ ผู้ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มอบหมายเป็นประธานกรรมการ และสำหรับคณะกรรมการที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ให้รองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือผู้ซึ่งรองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข มอบหมายเป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ประกาศ ณ วันที่ 22 ก.ย.2549 ลงชื่อ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เปิดปูมประวัติ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประวัติของ ป.ป.ช.ใหม่ ทั้ง 9 คน มีที่มาที่น่าสนใจดังนี้ 1.นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. อายุ 61 ปี เส้นทางชีวิตทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กรมวิเทศสหการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ก่อนแยกหน่วยงานมาตั้งเป็นคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยผ่านงานตั้งแต่ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ผอ.กองการวางแผนและวิชาการ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ในปี 2539 เป็นรองเลขาธิการ กปร.ในปี 2542 และเลขาธิการ กปร. จนมีตำแหน่งล่าสุดเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง 2.นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และเป็นบุคคลที่ขึ้นเบิกความคดีซุกหุ้นภาคแรกของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

3.นายใจเด็ด พรไชยา อยู่ในสายงานด้านอัยการ เคยเป็นอธิบดีอัยการฝ่ายแรงงาน อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือกฎหมาย อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา และรองอัยการสูงสุด 4.นายประสาท พงษ์ศิวาภัย อยู่ในสายงานด้านปกครอง ผ่านงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด อาทิ จ.พิจิตร จ.กาญจนบุรี และ จ.นครปฐม และเคยเป็นรองอธิบดีกรม การปกครองฝ่ายความมั่นคง

วิชา ร่วม ป.ป.ช.ชุดใหม่


5.นายภักดี โพธิศิริ เป็นผู้ที่อยู่ในสายงานด้าน สาธารณสุข เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นรองปลัดกระทรวง สธ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมอนามัย และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 6. นายเมธี ครองแก้ว เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์และการศึกษา และเป็นอดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 7. นายวิชา มหาคุณ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ดำรงตำแหน่ง กกต. แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกในชั้นวุฒิสภา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเคยเป็นเลขานุการศาลฎีกา ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา มาจนถึงประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอาญา 8. นายวิชัย วิวิตเสวี หนึ่งในผู้ เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผ่านงานในตำแหน่งผู้พิพากษามาอย่างโชกโชน อาทิ ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ 9. น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล หนึ่งหญิงที่เติบโตมาจากสายผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคดีเด็กและเยาวชน เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ผู้พิพากษาศาลฎีกา 1 และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

คาด ป.ป.ช.นัดหารือโดยเร็วที่สุด

ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวว่าได้รับแต่งตั้งจาก คปค. ห้เป็น 1 ใน 9 คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดเรื่องการดำเนินงานของคณะกรรมการได้ คงต้องรอให้มีการประชุมคณะกรรมการทั้งหมดก่อน เพื่อหารือถึงรายละเอียดในการทำงาน คาดว่าจะเรียกประชุมโดยเร็วที่สุด

พีรพันธุ์ รับทราบคำสั่งเด้ง

เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้ามารายงานตัว และเซ็นรับทราบคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จากนั้น พล.ต.ต.พีรพันธุ์ให้สัมภาษณ์ ว่า ได้มารายงานวันนี้ เพราะเมื่อวันที่ 20 ก.ย. อยู่ระหว่างเดินทางไปประชุมสื่อของเอเชีย-ยุโรป ที่กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศฝรั่งเศสจัดขึ้น โดยทราบทางข่าวจากสถานีโทรทัศน์ว่า มีคำสั่งคณะปฏิรูปฯที่ 11/2549 ให้ไปปฏิบัติงานสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเดินทางมารายงานตัวและรับทราบคำสั่งดังกล่าว ส่วนจะทำอย่างไรต่อไปก็แล้วแต่ทางคณะปฏิรูปฯจะมอบหมาย เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับคำสั่งดังกล่าว พล.ต.ต.พีรพันธุ์ตอบว่า ไม่ถึงกับตกใจ แต่เสียดายที่ยังไม่ได้ทำงานเท่านั้น แต่ก็ไม่เป็นไรเมื่อเป็นข้าราชการต้องมีวินัย เมื่อมีคำสั่งออกมาก็ต้องปฏิบัติตาม สั่งให้ทำอะไรก็ทำทั้งนั้น เพราะเป็นข้าราชการต้องมีวินัย

บ่นเสียดายไม่ได้ทำงานต่อ


ผู้สื่อข่าวถามว่า ลำบากใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ตอบว่า ไม่ เพราะถือว่าได้ทำงานแล้ว แต่เสียดายที่ไม่ได้ทำงานต่อ แต่ไม่ได้ท้อใจ เป็นข้าราชการมา 30 ปีแล้ว เมื่อถามว่า การย้ายครั้งนี้ มองว่าเป็นเกมของการเมืองหรือไม่ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ตอบว่า คงไม่ใช่เกม แต่ผู้บังคับบัญชาต้องมีหลักการและเหตุผล ตนเป็นข้าราชการพลเรือนมีวินัยกำกับอยู่แล้วก็ต้องปฏิบัติตาม เมื่อถามว่า มองสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร พล.ต.ต.พีรพันธุ์ตอบว่า เท่าที่ฟังดูเหมือนว่าทุกคนเริ่มเข้าใจเหตุการณ์แล้ว เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และมีสภาพการบังคับใช้ กฎหมายอย่างแท้จริง เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของกองทัพหรือไม่ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ตอบเพียงว่า บังเอิญอยู่ต่างประเทศ เมื่อถามว่า เป็นการบีบคั้นของอำนาจทางทหารหรือไม่ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ตอบว่า ไม่ใช่ เป็นคำสั่งผู้บังคับบัญชาชอบด้วยกฎหมาย ตนเป็นปลัดกระทรวงที่เหลืออายุราชการอีก 4 ปี แต่เมื่อมีคำสั่งมาก่อนก็ต้องปฏิบัติตาม

ลั่นหลังเกษียณจะไปเป็นทนาย

ต่อมา พล.ต.ต.พีรพันธุ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยว่า ไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนว่าจะมีคำสั่งย้ายไปปฏิบัติงานที่สำนักนายกฯ ซึ่งทาง คปค.ให้เหตุผลการสั่งย้ายว่า เพื่อความเหมาะสม ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะต้องไปปฏิบัติงานในส่วนใด กำลังประสานงานอยู่ ส่วนตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น จะให้นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต รองปลัดสำนักนายกฯ ทำหน้าที่รักษาการแทน เมื่อถามว่า คิดหรือไม่ว่าเป็นคำสั่งเพื่อขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ตอบว่า ไม่เคยคิดอย่างนั้น เมื่อถามว่า ได้มีการติดต่อกับพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ตอบว่าไม่ได้ติดต่อ และไม่ได้ติดต่อ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย อดีต ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตรอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ชลอ ชูวงษ์ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ถูกย้ายมาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้คิดว่าหลังเกษียณอายุแล้วจะลงเล่นการเมืองหรือไม่ แต่ตนจบกฎหมายมาน่าจะไปทำงานด้านทนายความจะดีกว่า

คปค.ขอบคุณคนไทยรู้รักสามัคคี

ต่อมาเวลา 15.40 น. ที่หอประชุมกองทัพบก พล.ท.พลางกูร กล้าหาญ โฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ได้ฝากขอบคุณประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ที่ให้การสนับสนุนและแสดงออกถึงพลังแห่งการรู้รักสามัคคีเพื่อปฏิรูปการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เป็นรูปธรรมตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาคอรัปชัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนโดยได้รับความอนุเคราะห์จากที่ปรึกษาฝ่ายต่างๆ ในการดำเนินการเป็นการเร่งด่วนในขณะนี้ ประกอบด้วย 1. การพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 2550 2. การปรับย้ายข้าราชการทั่วประเทศ 3. ความคืบหน้าการทำงานของคณะปฏิรูปฯที่มีการประชุมในเวลา 10.00-12.00 น. และจะมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนทราบทุกวัน โดยทีมงานโฆษกฯ 4. การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งหัวหน้าคณะปฏิรูปฯมีความห่วงใย และได้สั่งการให้ ทุกกระทรวงร่วมกับกองทัพไทยช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ 5. การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยหัวหน้าคณะปฏิรูปฯได้กำชับให้ข้าราชการทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะในช่วงใกล้ถึงเดือนรอมฎอนและอยู่ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา คณะปฏิรูปฯพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจของทุกศาสนา ทั้งนี้ คณะปฏิรูปฯขอขอบคุณในความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องประชาชนทุกฝ่าย และขอให้ติดตามความคืบหน้าของการปฏิบัติงานจากผู้ให้ข่าวของทางราชการ อย่าได้หลงเชื่อข่าวลือข่าวปล่อยจากผู้ที่คิดเห็นที่แตกต่าง และหากมีปัญหาในเรื่องการร้องทุกข์ หรือพบเห็นเจ้าหน้าที่ทหารประพฤติไม่ถูกไม่ต้องแจ้งมาได้ที่โทรศัพท์ 0-2297-8307

วอนกลุ่มต่อต้านให้รออีก 10 วัน


ผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีจะมีกลุ่มที่ต่อต้านการยึดอำนาจชุมนุมกันที่ห้างสยามพารากอน คณะปฏิรูปฯจะดำเนินการอย่างไร พล.ท.พลางกูรตอบว่า เรื่องนี้ได้ ทราบจากใบปลิวว่าจะมีการชุมนุมต่อต้านตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.แล้ว เรื่องนี้เข้าใจถึงความเห็นที่แตกต่าง แต่ขณะนี้สภาวะต่างๆก็กำลังจะเข้าสู่ภาวะปกติ อยากจะใช้คำว่าขอความอนุเคราะห์ว่าการเห็นแตกต่างนั้น ขอให้รออีกสักนิด อยากจะให้เกียรติทุกฝ่ายที่อยากแสดงออก ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของการทำงานทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ การเห็นแตกต่างออกมาคัดค้านเป็นธรรมดาของสังคม แต่ขณะนี้ทางคณะปฏิรูปฯอยากจะขอความร่วมมือร่วมใจในทางสร้างสรรค์ เชื่อว่าพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ 90% เห็นด้วย อยากให้คณะที่จะออกมารณรงค์ต่อต้านการปฏิรูปฯได้พิจารณากันเองว่าควรหรือไม่เพียงไรในขณะนี้ ถ้าจะให้ดีอดทนรออีกระยะเดียวอีก 10 กว่าวัน ก็มีสิทธิที่จะดำเนินการได้ตามกรอบที่จะพึงกระทำได้ เพราะความสงบเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงประสงค์ ถ้าจะออกมาจัดกิจกรรมอะไร ก็เป็นสิ่งที่พิจารณาเองว่าคนส่วนใหญ่ต้องการอะไร คงไม่ สามารถไปแนะนำสั่งสอนได้

เตือนไม่พึงวิจารณ์ไปสู่ขัดแย้ง

ต่อข้อถามว่า หากมีการชุมนุมกันอยู่ ทางคณะปฏิรูปฯจะดำเนินการตามประกาศไว้หรือไม่ พล.ท.พลางกูร ตอบว่า คงเป็นไปตามขั้นตอน จะเป็นไปตามมาตรการจากเบาๆจนถึงมาตรการเพิ่มเติมตามขั้นตอน แต่เราคำนึงถึงในความเป็นคนไทยร่วมกัน และเจตนาที่เชื่อว่ามีเจตนาดีที่ไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ขอให้อดทนรอสักนิด เพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าควรอยู่ในความรักสามัคคีโดยสงบสุขดีกว่า ถ้าตนขอร้องให้งดการชุมนุมก็คงไม่เชื่อ แต่ว่าพี่น้องประชาชนน่าจะขอร้องแทนมากกว่า คงอยากจะให้ยุติการแสดงไม่เห็นด้วยไว้ก่อน ดีที่สุดคือหยุดคิดสักนิดแล้วกลับบ้านไปพูดคุยกับวงเพื่อนฝูงเล็กๆคงไม่มีปัญหา เพราะการเดินก้าวไปข้างหน้าจะดีกว่า เมื่อถามว่า พันธมิตรเครือข่ายประชาธิปไตยออกมาวิจารณ์เรื่องไม่ต้องการนักกฎหมายเก่าๆมาแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดำเนินการอย่างไร พล.ท.พลางกูรตอบว่า เรามุ่งมั่นก้าวเดินไปข้างหน้า การวิพากษ์วิจารณ์ใดๆขอให้อดทนรออีก 10 กว่าวัน แต่ถ้าวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานความเป็นกลางสร้างสรรค์ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าวิจารณ์โดยมีอะไรในใจชักนำไปในทางที่ก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งก็ไม่พึงกระทำ

ทหารเป็นเอกภาพไม่มีปฏิวัติซ้อน

พล.ท.พลางกูรกล่าวถึงข่าวที่จะมีการปฏิวัติซ้อนด้วยว่า เรื่องนี้ขอเรียนว่าทหารมีระเบียบวินัย กองทัพไทยมีเจตนารมณ์ที่ออกมาดำเนินการปฏิรูปฯ ก็เพื่อแก้ปัญหาที่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน ยืนยันว่าทหารทุกชั้นยศมีความเป็นปึกแผ่นเป็นเอกภาพ ทหารต้องเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ยึดมั่นในระเบียบขนบธรรมเนียมประเพณี ที่มีข่าวลือข่าวปล่อยว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนนั้นไม่มีแน่ ซึ่งความเป็นเอกภาพของกองทัพกับความเป็นเอกภาพของพี่น้องประชาชนก็น่าจะเหมือนกัน ถ้าเราไม่คิดเป็นอย่างอื่น ขอให้เชื่อมั่นในการดำเนินการของคณะปฏิรูปฯ ส่วนการยกเลิกกฎอัยการศึกนั้นแม้ขณะนี้จะประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ก็ไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนเลย เพราะไม่ได้มีประกาศเคอร์ฟิวตรวจค้นยามวิกาลใดๆทั้งสิ้น สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ ไม่ได้ห้ามว่าตรงนี้ห้ามเที่ยวตรงนี้ห้ามไป กฎอัยการศึกเป็นเพียงเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนกับเจ้าหน้าที่ ผู้ที่คิดไม่ดีเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ

เตรียมปัดฝุ่นธรรมนูญยุค รสช.


ทางด้านนายทวี สุรฤทธิกุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่า นายมีชัยได้ขอคำแนะนำจากนักวิชาการและผู้นำอีกหลายฝ่ายเกี่ยวกับการยกร่างธรรมนูญชั่วคราวและฉบับถาวร โดยในส่วนของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนายมีชัยกำหนดไว้ว่าควรเสนอข้อแนะนำภายในวันจันทร์ที่ 25 ก.ย.นี้ ทราบว่าขณะนี้ คปค.ได้เตรียมธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2534 สมัย รสช.ขึ้นมาประกาศใช้ก่อน ซึ่งนักวิชาการได้มีการนำเสนอว่าหากในธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและทำลายสิทธิมนุษยชนขอให้ตัดออก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของที่มาของสภานิติบัญญัติที่จะเกิดขึ้นนั้นมีจำนวน 200 คน ประกอบด้วยภาคราชการในสัดส่วน 40-50% ภาคเอกชน ภาคสังคมประกอบด้วยเอ็นจีโอและปราชญ์ชาวบ้านและนักวิชาการ โดยตัวแทนจากภาคสังคมเป็นการเข้ามาเพื่อเตรียมให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว

ย้ำสื่อรายงานตามความจริง

ที่ห้องประชุมสโมสรบันเทิงทัพ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ได้เรียกประชาสัมพันธ์ จังหวัดและสื่อมวลชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือรวม 27 คน เข้ารายงานตัวและร่วมประชุมเพื่อชี้แจงนโยบายและคำสั่งการของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนใน พื้นที่ภาคเหนือ

พล.ท.สพรั่งกล่าวว่า เพื่อให้เกิดความสามัคคีภายในชาติอันเป็นรากฐานในการแก้ไขวิกฤติและฟื้นฟูประเทศชาติให้ลุล่วงโดยเร็ว จึงขอความร่วมมือจากสื่อ มวลชนทุกแขนง ตลอดจนผู้ประกอบการสื่อมวลชนทุกรายได้ร่วมกันเสนอข่าวตามความเป็นจริง และเป็นไปในทางสร้างสรรค์ เพื่อฟื้นฟูความสามัคคีภายในชาติ หากมีการละเมิดหรือฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินการตามประกาศที่ได้ กำหนดไว้ ภายใต้อำนาจของกฎอัยการศึกอย่างสูงสุดทันที

เปิดใจส่งสัญญาณเตือนแล้ว

แม่ทัพภาคที่ 3 ยังเปิดใจถึงการเข้าร่วมในคณะ ปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า ที่ผ่านมา ตนได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังข้าราชการและนักการเมืองผ่านทางสื่อมวลชนมาแล้ว 2-3 เดือน เพื่อให้กลับตัวกลับใจบริหารประเทศ ชาติให้มีความสงบสุข แต่ไม่มีใครสำนึกหรือคิดทำ แถมยิ่งกลับทำให้ประเทศชาติเสียหายมากยิ่งขึ้นไปอีก นับวันประชาชนในชาติยิ่งเกิดความแตกแยก แบ่งเป็นกลุ่มเป็นพวก เกิดการทะเลาะเบาะแว้งจนทำให้เกิดปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมืองขึ้น แม้แต่ทหารที่ถูกนักการเมืองเลวบางคนยุยงจนเกิดการแตกแยกกันออกเป็นกลุ่ม ยุยงให้ บ้ารุ่นบ้าเหล่า จึงจำเป็นต้องออกมาทำการปฏิรูปการปกครองใหม่

ลั่นวางแผนปฏิวัติมา 8 เดือน

พล.ท.สพรั่ง ได้กล่าวถึงการวางแผนก่อนยึดอำนาจรัฐบาลว่า ได้มีการวางแผนมาแล้ว 7-8 เดือน ไม่ใช่เพิ่งคิดจะทำกันแค่วันหรือสองวัน โดยมีการกำหนดไว้หลังจากเห็นว่าสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในประเทศเริ่มสั่นคลอน ประเทศชาติขาดคนที่มีภาวะผู้นำ มีแต่คนเก่งที่ขี้โกง แต่งตั้งข้าราชการที่เป็นพวกพ้องขึ้นมาบริหารงาน รักษาประโยชน์และอำนาจให้แก่ตนเอง ปรับและโยกย้ายคนที่ไม่ใช่พวกพ้องออกไป ทางกองทัพภาคที่ 3 จึงได้เตรียมความพร้อมมาตลอดเพื่อการปฏิรูปในวันนี้ และขอยืนยันว่า กองทัพจำเป็นต้องทำการปฏิรูปเพื่อชาติ เนื่องจากบ้านเมืองหรือแม้แต่กองทัพได้รับความบอบช้ำมานานแล้ว ทหารทุกคนไม่ต้องการอำนาจหรืออยากเป็นใหญ่ แต่ต้องการให้บ้านเมืองได้สงบสุข เมื่อเก็บกวาดบ้านเรือนสะอาดแล้วทหารจะรีบคืนอำนาจกลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็วที่สุด

ถูกสันติบาลดักฟังโทรศัพท์


แม่ทัพภาคที่ 3 เผยต่อว่า ในช่วงที่ตนออกมาแสดงความเคลื่อนไหวและประกาศเจตนารมณ์ว่า ทหารทุกเหล่าทัพโดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 3 ขอทำหน้าที่เพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศชาติและประชาชนจะไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยเฉพาะนักการเมือง ทำให้ถูกแท็ปหรือดักฟังทางโทรศัพท์จากตำรวจสันติบาลมาโดยตลอด เพื่อรายงานให้รัฐบาลรักษาการทราบว่า ตนกำลังทำอะไร อยู่ที่ไหนหรือกระทั่งกำลังติดต่อหรือ พูดคุยอยู่กับใคร เคยไปสอบถามเจ้าหน้าที่ของสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติว่า หน้าที่หลักของสำนักงานข่าวกรองฯคืออะไร คำตอบที่ได้คือ ติดตามตรวจสอบบุคคลที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล ทั้งที่ภารกิจหลักคือ การตรวจสอบหาข่าวการก่อการร้าย การค้ายาเสพติด ต่อไปต้องดำเนินการการยกเครื่องการทำงานของหน่วยงานดังกล่าวใหม่ทั้งหมด

สั่งงดออกอากาศวิทยุชุมชน

สำหรับปัญหาของการออกอากาศกระจายเสียงของวิทยุชุมชนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พล.ท.สพรั่ง กล่าวว่า นับตั้งแต่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดอำนาจการปกครองไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ยังปรากฏว่ามีวิทยุชุมชนหลายแห่งออกอากาศโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะปฏิรูปฯ ยุยงประชาชนให้เกลียดทหารและเสนอข่าวที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง ขอให้วิทยุชุมชนทุกแห่งในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 ยุติการกระจายเสียงเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจะดีขึ้น โดยให้ทางประชาสัมพันธ์จังหวัดทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ ตรวจสอบให้เป็นไปตามที่ร้องขอด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่ามีสถานีวิทยุชุมชนอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นของนายทุนและนักการเมืองที่เสียผลประโยชน์ได้ใช้เป็นช่องทางในการโฆษณาชวน เชื่อและปล่อยข่าวลือ ทางทหารจะได้ติดต่อประสานงานเพื่อดำเนินการปิดสถานีดังกล่าวต่อไป

พลังมวลชนแห่ให้กำลังใจ

ต่อมาได้มีกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ อาทิ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.พิษณุโลก กลุ่มสหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิต-ภูมิภาค กลุ่มสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดน กลุ่มแม่บ้านชุมชนคนรอบค่าย กลุ่มชุมชนเทศบาลนครพิษณุโลก คณบดีและตัวแทนนิสิตปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งกลุ่มพลังมวลชนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ กว่า 1,000 คน ได้นำของฝากประจำจังหวัด กระเช้าดอกไม้ และดอกกุหลาบมามอบให้กับแม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อเป็นกำลังใจและขอบคุณที่เสียสละทำเพื่อชาติบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 3 ได้กล่าวกับผู้ที่มาให้กำลังใจว่า หากจะต้องกำจัดรากเหง้าของคนชั่ว คนเลว จะใช้วิธีการแบบตัดหญ้าอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องเทคอนกรีตทับเพื่อขจัดให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดิน

กองทัพภาคที่ 2 ยันไม่มีปฏิวัติซ้อน

วันเดียวกัน ที่ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จ.นครราชสีมา พล.ท.สุเจตน์ วัฒนสุข แม่ทัพภาคที่ 2 ได้มอบ หมายให้ พล.ต.ธีระศักดิ์ ฤทธิวงศ์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 และคณะแถลงข่าวชี้แจงสื่อมวลชนเรื่องการยึดอำนาจจากรัฐบาล โดย พล.ต.ธีระศักดิ์กล่าวว่า ขอความร่วมมือสื่อมวลชนเสนอข่าวสารตามความเป็นจริง ขณะนี้เหตุการณ์ ในทุกจังหวัดยังเป็นปกติ ไม่มีแกนนำ หรือนักการเมืองหรือ อดีต ส.ส.ออกมาเคลื่อนไหวแต่อย่างใด การรายงานตัวก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ไม่ ได้มีปัญหาแต่อย่างใด รวมทั้งการปฏิบัติเรื่องการเรียกอาวุธปืนคืนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการปฏิบัติเช่นนั้น ยังคงปล่อยให้เป็นไปตามปกติ ส่วนที่มีข่าวว่ากองทัพภาคที่ 2 แบ่งเป็น 2 ฝ่ายนั้นไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน เพราะกองทัพภาคที่ 2 เรามีเกียรติ สง่างามเป็นหนึ่งเดียวมาโดยตลอด และยืนยันว่าไม่มีการปฏิวัติซ้อนอย่างเด็ดขาด

ทหารเพิ่มกำลังตั้งด่านสกัด


ขณะที่บนถนนสายอินทร์บุรี-เขาทราย ตรงสี่แยกหนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ กับถนนสายหนองบัว-ชุมแสง มีกำลังทหารจากค่ายพ่อขุนผาเมือง จ.เพชรบูรณ์ นำโดย ร.ท.พรรษา หงส์ถวาย เป็นหัวหน้าชุด ตั้งจุดสกัดเพื่อตรวจสอบและป้องกันการรวมตัวของกลุ่มผู้ประท้วงจากทั่วประเทศที่มีข่าวว่านัดหมายไปรวมตัวกันที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับที่ริมถนนสายคลองห้า-คลองหลวง ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีกำลังทหารร่วม 30 นาย รถถัง 2 คัน และรถยีเอ็มซีตั้งด่านตรวจ ขณะเดียวกันมีเจ้าหน้าที่ อบต.คลองสาม และชาวบ้านนำอาหาร น้ำดื่ม ผลไม้ และดอกไม้มอบให้เจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมาก

วางกำลังเพื่อป้องกันเหตุยืดเยื้อ

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลา 13.45 น. ที่กองทัพอากาศ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ.ในฐานะกรรมการ คปค. กล่าวว่า เท่าที่ได้คุยกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคปค.เห็นว่าจะพยายามให้กำลังทหารคงอยู่ใน กทม.ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ขณะนี้ในเขตพระนครก็ได้เริ่มทยอยถอนกำลังกลับไปบ้าง เพื่อให้ต่างชาติเห็นว่าเราไม่ต้องการใช้กำลังข่มขู่หรือทำอะไรต่างๆ ทั้งนี้ ที่ต้องใช้กำลังทหารประจำจุดต่างๆทั่ว กทม. ก็เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจสั้นที่สุดและไม่ยืดเยื้อในการที่จะเข้าที่ตั้ง เมื่อถามว่าเหตุหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แทรกซ้อน หรือเกิดการปฏิวัติซ้อนด้วยหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า ขณะนี้ข่าวลือน่าจะค่อยๆเบาลง เพราะมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ แต่สิ่งที่ คปค.ในนามกองทัพไทยทำนั้น จะพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุด

คปค.ยังไม่สรุปยึดทรัพย์หรือไม่

เมื่อถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบและอายัดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีที่พัวพันการทุจริต พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันแต่ยังไม่ได้รายละเอียด ส่วนกระแสข่าวที่ว่าจะตรวจสอบและยึดทรัพย์อดีต 17 รัฐมนตรีนั้น ตนคิดว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น ขณะนี้เพิ่งคุยกันว่าเราควรจะดำเนินการอย่างไรเท่านั้น เมื่อถามอีกว่า หากไม่มีการตรวจสอบทรัพย์สินจะทำให้ดูเลื่อนลอยหรือไม่ เนื่องจากได้นำเป็นเหตุผลการยึดอำนาจครั้งนี้ด้วย พล.อ.อ.ชลิต กล่าวย้ำเพียงว่า กำลังพูดคุยกันอยู่อ.จุฬาฯแจงเหตุค้าน คปค.ฉีก รธน.ส่วนความเคลื่อนไหวของประชาชนต่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขนั้น บ่ายวันเดียวกัน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงที่มาของเครือข่าย 19 กันยาว่า เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาววัย 20-30 ปี ที่เคยเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และตนก็ไม่ใช่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้ เพียงแต่มีแนวคิดที่เหมือนกัน แต่เมื่อมีการประชุมกันแล้วตกลงจะเคลื่อนไหวคัดค้านด้วยการแต่งชุดดำ ก็จึงดูเหมือนว่าตนเป็นหัวหน้ากลุ่มนี้ ยืนยันแนวคิดกลุ่ม 19 กันยา ไม่ได้สนับสนุนระบอบทักษิณ แต่มองว่าการทำรัฐประหารไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา ควรมีพรรคการเมืองอื่นที่ได้รับความไว้วางใจขึ้นมาทำหน้าที่แทนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ก็ช็อกกับเหตุที่เกิด ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งรับข่าวสารข้อมูลจากสื่อซึ่งถูกปิดกั้นจากทหาร เกรงว่าสัญญาที่ คปค.ให้ไว้ในครั้งนี้ จะเหมือนกับสัญญาที่ให้ ไว้สมัยรัฐบาลทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือสมัยรสช. จึงอยากให้คณะปฏิรูปฯพิสูจน์ว่าข้อสันนิษฐานนั้นไม่จริง เราเคยต่อต้านระบอบทักษิณด้วยเหตุผลของการควบคุมสื่อ แต่ คปค.นั้นควบคุมสื่อมากกว่าเสียอีก

ชี้ลิดรอนสิทธิมากกว่าระบอบทักษิณ

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปการเมืองและสังคมต้องเป็นไปด้วยวิธีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย และไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้แน่ถ้าอยู่ภายใต้ของเผด็จการทหาร ทั้งยังมองว่าทางแกนนำพันธมิตรเอง ก็มีท่าทีเหมือนสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ ทั้งที่การรัฐประหารนั้นลิดรอนสิทธิของประชาชนมากกว่าระบอบทักษิณเสียอีก อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของกลุ่ม 19 กันยา ที่หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอนนั้นไม่มีอาจารย์หรือผู้บริหารของจุฬาฯคัดค้าน แต่ได้มีตำรวจผู้ใหญ่โทร.มาแสดงความห่วงใย และมีสำนักข่าวต่างประเทศสนใจมาสัมภาษณ์ ยอมรับว่าการตัดสินใจชุมนุมในช่วงนี้เป็นเรื่องที่เสี่ยง และเป็นห่วงตัวเองอยู่ เหมือนกัน แต่ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะแสดงความเห็น หากมีการจับกุมพวกตนก็จะไม่ขัดขืนแน่

ยึดบันไดสยามเซ็นเตอร์ชุมนุม


ต่อมาเวลา 18.00 น. นายใจ พร้อมกลุ่มเครือข่าย 19 กันยา ราว 20 คน ซึ่งสวมเสื้อสีดำเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณบันได หน้าศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ เนื่องจากสถานที่นัดชุมนุมเดิม คือลานน้ำพุสยามพารากอนปิด ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศูนย์การค้า ชี้แจงว่า ต้องการทำความสะอาดบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากย้ายสถานที่การชุมนุม ทางกลุ่มได้ใช้บันไดหน้าสยามเซ็นเตอร์ ปักหลักนั่งประท้วงด้วยการชูป้ายคัดค้านระบอบทักษิณ และคัดค้านการรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯ นอกจากนี้ ยังแจกใบปลิวแถลงการณ์ของทางกลุ่ม ซึ่งมีเนื้อหาเชิญชวนให้ประชาชนสวมเสื้อสีดำ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน

ทหารไม่กีดกันและควบคุมตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้ ได้รับความสนจากสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศนับร้อยคน ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวเนืองแน่นไปด้วยประชาชน สื่อมวลชน ตลอดจนตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากำลังทหาร ม.พัน. 3 ซึ่งตั้งกองรักษาการณ์อยู่ ที่สี่แยกปทุมวัน ที่อยู่ใกล้ๆกันกลับไม่ได้ส่งกำลังทหารมาห้ามปรามการชุมนุมของกลุ่มคัดค้านแต่อย่างใด มีเพียงตำรวจในเครื่องแบบไม่กี่นายที่รักษาการณ์อยู่ห่างๆ

ยันเดินหน้าเปิดเวทีประชาชนต่อ

นายใจแถลงอีกครั้งว่า เครือข่าย 19 กันยา เป็นกลุ่มประชาชนที่รักประชาธิปไตย และต้องการรัฐธรรมนูญกลับคืนมา โดยมองว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอเรียกร้องให้ทหารเลิกแทรกแซงการเมือง รื้อรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ฉีกทิ้งไปกลับมาใช้ใหม่ และเลิกการลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งเลิกการปิดกั้นสื่อด้วย การออกมาค้านในครั้งนี้มองว่าการปฏิรูปการเมืองต้องทำในบรรยากาศของประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการทหาร และในวันที่ 21 ต.ค.นี้ ทางกลุ่มจะจัดเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อแลกเปลี่ยนและแจกแจงเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง ขอวอนให้รัฐบาลทหารอย่าเข้ามา แทรกแซงและเปิดโอกาสในการแสดงความคิดในครั้งนี้ด้วย

ปูดข่าวถูกขัดขวาง-ข่มขู่

นายใจกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าจะชุมนุมครั้งนี้ ยอมรับว่าได้รับการขัดขวาง และข่มขู่จากทหาร แต่ยังคาดหวังว่าการเรียกร้องครั้งนี้จะได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา และขอเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารร่วมกันออกมาแสดงความไม่พอใจด้วยการแต่งชุดดำ และทางกลุ่มจะเดินหน้าขับเคลื่อนในการคัดค้านต่อ อยากถามคณะปฏิรูปฯว่า หลังจากนี้จะทำอย่างไรกับเรื่องการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทำอย่างไรกับกรณี 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดระหว่างการประกาศสงครามยาเสพติด

พระภิกษุมอบซีดีธรรมะ คปค.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกองบัญชาการกองทัพบกว่า ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ได้มีตัวแทนเครือข่ายครูช่างอุตสาหกรรมพร้อมด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มาอ่านแถลงการณ์คัดค้านกรณี มีอาจารย์ และนิสิต นักศึกษาจากธรรมศาสตร์และจุฬาฯ เคลื่อนไหวต่อต้าน คปค. โดยตัวแทนเครือข่ายฯเรียกร้องให้หยุดการเคลื่อนไหว เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ตามด้วยพระภิกษุสงฆ์จาก จ.นนทบุรี นำซีดีธรรมะของหลวงพ่อสมภพ โชติปัญโญ จากสกลนคร มามอบให้ คปค. พร้อมกล่าวว่า ผู้จะเป็นใหญ่ในแผ่นดินต้องมีธรรมะ การกระทำในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้ ยังมีครูจากโรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ นำผักและอาหารกระป๋อง 1 คันรถปิกอัพมามอบให้ทหารภายในกองบัญชาการกองทัพบกปรุงอาหาร ท่ามกลางการตรวจอย่างเข้มงวดของทหาร

กลุ่มต้าน ทักษิณ ยุติบทบาท

ทางด้านกลุ่มเครือข่ายประชาสังคมหยุดระบอบทักษิณ นำโดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ออกแถลง-การณ์ขอยุติบทบาทของกลุ่มว่า จากการที่คณะปฏิรูปการปกครองฯได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชิน-วัตร ถึงแม้โดยหลักการทางกลุ่มจะไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่าการรัฐประหารครั้งนี้สอดคล้องกับความต้องการของภาคประชาชนและของกลุ่ม ถือว่าภารกิจของกลุ่มได้เสร็จสิ้นแล้วจึงขอยุติบทบาทตรงนี้ แล้วเปลี่ยนบทบาทไปเป็นเครือข่ายประชาสังคมเพื่อปฏิรูปการเมือง โดยทางกลุ่มมีข้อเสนอดังนี้คือ 1. แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจ สอบการได้มาซึ่งรายได้และทรัพย์สินทั้งในและต่างประ-เทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว รวมทั้งบริวารใกล้ชิดทั้งในคณะรัฐมนตรีในพรรคไทยรักไทย และองค์การอื่นและให้ยึดทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบตกเป็นของแผ่นดิน 2. ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ว่ามีกลุ่มบุคคลใดได้ผลประโยชน์ไป และให้ยึดคืนเป็นของแผ่นดิน 3. ขอให้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนอย่างจริงจัง 4. เร่งหามาตรการดำเนินการกอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจพอเพียงให้ ประชาชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน และ 5. ให้คืนประชา-ธิปไตยแก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด

ไล่บี้ยึดทรัพย์ ทักษิณ และพวก


นายสังศิตกล่าวว่า ทางกลุ่มพร้อมจะเป็นผู้สนับ-สนุนข้อมูลในการติดตามยึดทรัพย์คืนจากบรรดารัฐมนตรีที่ทำทุจริต ซึ่งนอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ขอให้ตรวจสอบทรัพย์สินของนายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมต.ประจำสำนัก-นายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว. เกษตรและสหกรณ์ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.คมนาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.แรงงาน นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง และบรรดารัฐมนตรีคนอื่นอีกกว่า 10 คน รวมถึงนักธุรกิจในกลุ่มเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย

ปลัด มท.ย้ำเตือนคำสั่ง คปค.

วันเดียวกัน ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุจริต ปัจฉิมนันท์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงมหาดไทย ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยนายสุจริตได้ย้ำเตือนกับ ผวจ. ทั่วประเทศถึงรายละเอียดที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ให้ข้อมูลตอนประชุมปลัดกระ-ทรวงและหัวหน้าหน่วยราชการเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ว่า 1. คปค.จะเร่งร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด 2. ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจเพื่อให้เกิดความสามัคคีกับคนในชาติ 3. ให้ข้าราชการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เร่งหาความรู้ความสามารถเพิ่มเติม 4. ในภาวะเช่นนี้ ผวจ.ต้องมีอำนาจเต็ม นายอำเภอต้องมีประสิทธิภาพ

ห้ามชุมนุม-เดินขบวนเด็ดขาด

นายสุจริตกล่าวว่า ขอให้ ผวจ.ทั่วประเทศดำเนินการตามประกาศของ คปค.อย่างเคร่งครัด และขออย่าเดินทางไปต่างประเทศ หากไม่มีความจำเป็นเพียงพอ และห้ามมีการชุมนุม เดินขบวน หรือนำประชาชนออกนอกพื้นที่เป็นอันขาด อาจเข้าข่ายละเมิดประกาศของ คปค. ขอให้ดูแลเรื่องงานประจำที่ทำอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย เช่น ในเรื่องอาชญากรรม ห้ามปล่อยปละละเลยเป็นอันขาด นอกจากนี้ ขอให้ดูแลสถานที่ราชการ โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ขอให้ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ดีที่สุด และขอให้ดูเรื่องการเบิกจ่ายใช้งบประมาณในช่วงนี้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเกี่ยวกับงบปี 50 ที่ยังไม่ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี อาจต้องเป็นงบผูกพัน จึงขอให้ทำเท่าที่จำเป็น ส่วนโครงการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนให้ดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง

บช.น.ยันทำตามคำสั่งปราบม็อบ

ด้าน พ.ต.อ.พินิต มณีรัตน์ รอง ผบก.น.4 ในฐานะโฆษกตำรวจนครบาล กล่าวถึงกรณีที่ม็อบต่อต้านคณะปฏิรูปฯที่จะชุมนุมที่ห้างสยามพารากอน ว่า ในส่วนของตำรวจนครบาลก็คงดำเนินการตามคำสั่งของคณะปฏิรูปฯ ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย ต้องดำเนินการไปตามความเหมาะสม แต่ในฐานะเป็นคนไทยด้วยกันก็ ขอให้ใช้วิจารณญาณเพราะขณะนี้บ้านเมืองกำลังคลี่คลายอยากให้ทุกอย่างอยู่ในภาวะปกติโดยเร็วที่สุด อยากขอความร่วมมืออย่าไปเชื่อคำที่ทำให้เกิดความขัดแย้งแตก แยกกันภายในบ้านเมืองทางตำรวจจะดูและทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

คณบดี รศ.โดดหย่าศึก อจ.

ด้านนายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีความเห็นต่างเกี่ยวกับการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯ ว่า ทางคณะรัฐศาสตร์มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างเข้มข้น อาจมีอาจารย์บางคนเห็นด้วยบางคนก็ไม่เห็นด้วย แต่ก็เข้าใจยอมรับได้ เพราะมองว่าบ้านเมืองถึงทางตัน ส่วนใครที่จะแสดงความเห็นทางการเมือง ทางคณะรัฐศาสตร์มีจุดยืนว่าในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการเราจะเปิดโอกาสให้ทุกคน โดยไม่มีการปิดกั้น เพราะถือว่าแตกต่างทางความคิดได้แต่ไม่ใช่การแตกแยก และไม่มีการขัดแย้งกัน ถือว่าต่างคนต่างทำเพราะคิดกันคนละแบบ เป็นดุลพินิจของอาจารย์แต่ละคนที่จะรับผิด ชอบในสิ่งที่เขาทำ ดังนั้น การที่อาจารย์คนใดจะไปประท้วงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ทางคณะจึงไม่ห้าม เพราะไม่มีนโยบายที่จะปิดกั้นอยู่แล้ว แต่โดยหลักการควรให้เวลาคณะปฏิรูปฯ ได้เข้ามาจัดระเบียบล้างบ้าน เวลา 2 สัปดาห์ไม่ได้มากมายอะไร ทุกคนยอมรับได้

ประทิน ต้าน วิษณุ-บวรศักดิ์

ขณะที่ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีต ส.ว.กทม. กล่าวว่า กรณีที่มีข่าวว่าคณะปฏิรูปฯ ดึงนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เห็นว่านักกฎหมายมหาชนในประเทศจำนวนมากที่ควรดึงมาทำงาน โดยเฉพาะจากศาลฎีกา อย่างนายจรัญ ภักดีธนากุล เลขานุการศาลฎีกา ที่มีความแม่นยำสมเหตุสมผลในเรื่องข้อกฎหมายและได้รับการยอมรับ ไม่ควรเอานักกฎหมายที่ประจบสอพลอ เอนเอียงเข้าหาผู้มีอำนาจ คปค. มีทิศทางที่ดีที่จะแก้ปัญหาของชาติ จึงไม่ควรเอาคนอย่างนี้มาทำงาน เพราะมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีคนโทร.มาหาตนบอกว่าหากใช้งานนายวิษณุ และนายบวรศักดิ์ ซึ่งเป็นคนสงขลาอาจจะทำให้เสียชื่อเสียงของ พล.อ.เปรม ที่เป็นคนสงขลาเหมือนกัน วันนี้บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนรูปร่างไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง จึงไม่ควรนำคนเหล่านี้เข้ามาให้เป็นที่ครหาของสังคม

ป.ป.ช.ยุคใหม่ใกล้ชิดชาวบ้าน


วันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจาก คปค.เข้ายึดอำนาจ ก็ได้ รับการติดต่อจาก คปค.ทันที เพื่อให้เข้ามาทำงานใน ป.ป.ช. และตนเป็น 1 ใน 18 คน ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. ด้วย โดยส่วนตัวรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รับความไว้ วางใจให้เข้ามาทำงานเพื่อช่วยแก้ปัญหาของประเทศชาติ โดยตนตั้งใจที่จะเข้ามาเป็น ป.ป.ช.ตั้งแต่แรกแล้วจึงได้เข้ามาสมัคร เมื่อได้รับเลือกจาก คปค.ก็จะทำงานเต็มหน้าที่และเต็มความสามารถ เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ป.ป.ช.ยุคใหม่จะต้องใกล้ชิดกับประชาชน โดยจะมีการทำงานและประสานความร่วมมือกับประชนอย่างใกล้ชิด และโปร่งใส ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานของ ป.ป.ช.ชุดใหม่ เพราะเท่าที่ทราบผู้ที่ ได้รับการแต่งตั้งแม้บางคนจะยังไม่เห็นหน้า แต่จากประวัติ แล้ว ทุกคนล้วนมีความรู้ความสามารถ

นัดประชุมทันที 25 ก.ย.นี้

เมื่อถามว่า ขณะนี้งานของ ป.ป.ช.มีจำนวนมาก จะพิจารณาเรื่องใดเป็นประเด็นแรก นายปานเทพกล่าวว่า ขณะนี้เพิ่งจะได้รับการแต่งตั้ง โดยได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้า ป.ป.ช.ให้กรรมการทุกคนไปหารือกันนัดแรกในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ที่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อหารือรูปแบบ การทำงานและเรียนรู้งานทั้งหมด ขณะนี้เจ้าหน้าของ ป.ป.ช. ได้จัดเตรียมข้อมูลและเอกสารไว้แล้ว ส่วนจะหยิบยกประเด็นใดขึ้นมาสอบสวนก่อนนั้น ต้องรอการหารือกับกรรมการคนอื่นก่อน อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ป.ป.ช.ชุดนี้จะทำงานโดยยึดผลประโยชน์ของประ-เทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

ยันยึดหลักซื่อสัตย์สุจริต

นายเมธี ครองแก้ว ป.ป.ช. กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับความไว้วางใจจาก คปค. เพราะได้ประกาศมาโดยตลอดว่าอยากจะเข้ามาทำงานเพื่อช่วยเหลือบ้านเมืองโดยตนได้รับเลือกเป็น 1 ใน 18 ของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. และเชื่อว่าตนจะใช้ความรู้ความสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์เข้าช่วยแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชันที่เกิดขึ้นและเป็นปัญหาในขณะนี้ได้ แต่สิ่งที่หนักใจมากที่สุดคือ ขณะนี้งานของ ป.ป.ช.มีเป็นจำนวนมาก จึงไม่ รู้ว่าจะสะสางงานได้หมดตามความคาดหวังของสังคมหรือไม่ ซึ่งตนมีความตั้งใจเต็มที่ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา เพราะตนเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อยากใช้ความรู้ความสามารถตามแนวทางและปรัชญาของอาจารย์มาช่วยแก้ไขวิกฤติ โดยยึดหลักความสื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง เพื่อให้การทำงานของ ป.ป.ช.ชุดนี้เกิดความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้กับสังคม เมื่อถามว่าหนักใจหรือไม่เพราะ ป.ป.ช.ชุดนี้ได้รับการคาดหวังจากสังคมว่าจะเข้ามาสอบสวนคดีทุจริตของรัฐบาลทักษิณ นายเมธีตอบว่า ไม่หนักใจ เพราะหากตรวจสอบพบว่ามีความผิดจริงก็ต้องดำเนินการ ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด เพื่อจะได้คลายความสงสัยของสังคม ซึ่ง เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาต่อการทำงานของ ป.ป.ช.ชุดนี้เพราะขณะนี้ก็มีข้อมูลต่างๆร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แม้จะมีเพียง 1 คนที่เห็นว่าเข้าข่ายการกระทำที่ทุจริต ป.ป.ช.จะต้องหยิบหยกขึ้นมาพิจารณา

ป.ป.ช.ชุดใหม่พร้อมช่วยชาติ

ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่าได้รับการทาบทามจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ขอร้องให้เข้าไปช่วยเหลือบ้านเมือง เห็นว่าประเทศชาติยุ่งเหยิงมามากพอสมควร ถึงเวลาที่ได้ช่วยเหลือให้ประเทศชาติกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น จึงไม่ขัดข้อง และขณะนี้อยู่ระหว่างปฏิบัติงานยังต่างจังหวัด ยังไม่ได้ติดต่อว่าที่กรรมการ ป.ป.ช.ท่านอื่น

น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ป.ป.ช.กล่าวว่า เมื่อเย็นวันที่ 21 ก.ย. มีผู้ใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ คปค. ได้ถามว่า สนใจจะทำหน้าที่ในองค์กรอิสระหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าขณะนี้ประเทศชาติยังไม่พ้นวิกฤติ คิดว่าการเข้าไปทำงาน ป.ป.ช.น่าจะช่วยประเทศชาติในระดับหนึ่ง

สตง.เดินหน้าสางคดีหุ้นชินคอร์ป

อีกด้านหนึ่ง วันเดียวกัน นายพิสิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผอ.สำนักงานตรวจสอบกิจการพิเศษ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า สตง.จะสามารถสรุปผลการทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด CTX 9000 เพื่อจัดส่งให้กับ คปค.ได้เป็นคดีแรก ภายในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งผลการสรุปเชื่อว่าจะไม่ทำให้สังคมผิดหวัง และจากนั้น สตง.จะเร่งตรวจสอบกรณีที่กรมสรรพากรคิดภาษีการซื้อขายหุ้น บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของบุตรชาย และบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากบริษัทแอมเพิลริช อินเวสเมนท์ ซึ่งในวันนี้ นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ได้เข้าชี้แจงต่อฝ่ายสอบสวนของ สตง. ทั้งนี้ หากการตรวจสอบมีส่วนเกี่ยวพันถึงบุคคลใด ทาง สตง.ก็จะเรียกมาชี้แจงตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งของ คปค.

แจงให้ข้อมูลตามขั้นตอนทั่วไป

นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังให้ข้อมูลต่อ สตง.เป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงว่า เป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับการยื่นหนังสือถามกรมสรรพากร ของ น.ส.ปราณีเกี่ยวกับการเสียภาษีในการซื้อขายหุ้น ซึ่งได้ตอบคำถามไปเหมือนกับบุคคลทั่วไปที่ทำหนังสือมาถามกรมสรรพากร ที่ดำเนินตามขั้นตอน ตามแนวปฏิบัติที่ทำมา โดยไม่ได้หนักใจในการทำงานแต่อย่างใด เพราะทำตามกฎหมายที่กำหนด

ดีเอสไอ ออกตัวรับทำคดีใหญ่

ขณะที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า เชื่อว่าเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สตง. หรือสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ถ้าตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดแล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นคดีของการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป หรือเรื่องของนอมินีก็ตาม เชื่อว่าจะนำส่งให้ดีเอสไอสืบสวนสอบสวนในรายละเอียดต่อไป โดยขณะนี้ดีเอสไอได้ติดตามรายละเอียดของเรื่องต่างๆอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ส่วนกรณีของซีทีเอ็กซ์นั้น ขอยืนยันว่าที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยนั้น เพราะไม่มีผู้ร้องเรียน หรือร้องทุกข์เพื่อให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบโดยตรง มีแต่ร้องผ่านอัยการสูงสุด หรือ สตง. แต่ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ชี้ช่อง และขอยืนยันว่าการทำงานของดีเอสไอไม่ได้เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองทั้งสิ้น

เสน่ห์ เตือนต้องทันเกม รบ.

ด้านนายเสน่ห์ จามริก อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการทำหน้าที่ของ คปค.ว่า โดยหลักการแล้ว ถือเป็นเรื่องผิดรัฐธรรมนูญ ตนก็พูดเสมอว่า การทำรัฐประหารครั้งนี้ มีสถานการณ์ การเมืองทั้งหมดก่อนหน้านี้บีบบังคับ จนทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก ที่พูดเช่นนี้อย่าคิดว่าเชียร์ คปค. เพราะเป็นเพียงคนที่ติดตามการทำงานของ คปค. ดังนั้นสื่อมวลชนและประชาชนก็ต้องติดตามเช่นกัน อย่าปล่อยให้คณะปฏิรูปฯใช้อำนาจตามอำเภอใจ การเมืองทุกระบบในโลก นี้หากไม่รู้เท่าทันเกม หรือไม่มีการควบคุมตรวจสอบ ผู้อยู่ในอำนาจก็เป็นเผด็จการได้ทั้งนั้น ดังนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันควบคุมรัฐบาล

เหน็บ รธน.ถูกฉีกมานานแล้ว

นายเสน่ห์กล่าวอีกว่า ความจริงรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกรัฐประหารและถูกฉีกมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาบริหารประเทศ ตามวัฒนธรรมการเมือง ผู้นำไทยไม่เคยให้ความเคารพรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลชุดที่แล้วเลวร้ายกว่าชุดอื่นๆ เพราะแม้จะบอกว่าได้ทำตามกติกาทุกอย่าง แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซ้ำร้ายกลับทำลายกติกาเพื่อตักตวงผลประโยชน์เข้าหาตัวเองจนไม่เหลือกติกาดีๆ ให้ใช้ ทำให้ประชาชนตกอยู่ในหลุมพรางของประชาธิปไตย มาเป็นเวลายาวนาน

ผลโพลเชื่อการเมืองสงบนิ่ง

วันเดียวกัน นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นและความต้องการของสาธารณชนต่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : กรณีศึกษาประชาชน 16 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,250 ตัวอย่าง ในช่วงวันที่ 20-22 ก.ย.2549 พบว่าความรู้สึกของประชาชน หลังจาก คปค.มีปฏิบัติการทางการทหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดก่อนได้สำเร็จ โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.7 คิดว่าการเมืองจะสงบนิ่ง ขณะที่ร้อยละ 66.5 ระบุเศรษฐกิจจะฟื้นตัว สำหรับความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์การเมืองในปัจจุบัน พบว่าร้อยละ 36.8 รู้สึกวิตกกังวล ซึ่งมีสัดส่วนที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจก่อนหน้าที่ คปค.จะยึดอำนาจ ซึ่งครั้งนั้นประชาชนร้อยละ 62.5 ที่รู้สึกวิตกกังวลต่อเหตุการณ์การเมือง นอกจากนี้ ยังพบว่าสัดส่วนของความรู้สึกเครียดต่อเรื่องการเมืองลดลงกว่าครั้งที่ยังไม่มีการยึดอำนาจ

ชี้ชัดอยากให้เดินหน้าดับไฟใต้

สำหรับความต้องการในประเด็นสำคัญต่างๆ ต่อ คปค.พบว่าส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 มีความต้องการในประเด็นสำคัญกว่า 10 ประเด็น อันดับแรกคือแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปพร้อมกับการสร้างความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ รองลงมาคือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 87.8 เห็นด้วยที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติบทบาท มีเพียงร้อยละ 3.9 ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจระบุว่าหากพิสูจน์พบผู้มีความผิดจริงนั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.5 เห็นว่าควรลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด

2 คณบดี มธ.ร่วมร่าง รธน.ชั่วคราว


นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คปค.ได้ขอให้มหาวิทยาลัยส่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ ไปหารือร่วมกับ คปค. เพื่อไปทำรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ร่วมกับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งทางคณบดีทั้งสองได้รายงานให้ตนทราบว่าอีก 1-2 วันจะหารือกันอีก เนื่องจากมีความจำเป็นจะต้องมีรัฐบาลและผู้ปกครอง

นักวิชาการเข้าใจเหตุผล

อย่างไรก็ตาม นายสุรพลยังกล่าวถึงการทำรัฐประหารครั้งนี้ว่า ยังช็อกและตกใจไม่หายกับเหตุการณ์นี้ โดยหลักการและในฐานะนักกฎหมาย ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารทุกรูปแบบ และทุกครั้ง แต่เข้าใจได้ว่าแม้กระทั่งคนที่ทำรัฐประหารเอง ก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่คงมีเหตุผลและความจำเป็นบางอย่างที่เราไม่อาจทราบได้ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว สังคมไทยจะต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด และเรียกร้องให้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ปฏิรูประบบการเมืองและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ เดิมคิดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บัดนี้ข้อเรียกร้องเดิมของเราก็ยังคงอยู่และเราขอเรียกร้องต่อ คปค.ว่าจะต้องคืนอำนาจให้ ประชาชนโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เช่นเดียวกับที่ คปค.แสดงเจตนาไว้ ซึ่งเราจะติดตามใกล้ชิดที่สุดเพื่อให้สิ่งที่ยืนยันเป็นจริง

สหรัฐฯอยากเห็นเลือกตั้งเร็วขึ้น

สำหรับมุมมองของนานาประเทศต่อสถานการณ์ บ้านเมืองของไทยนั้น วันเดียวกัน สำนักข่าวเอพีรายงานอ้างถึงคำกล่าวของนายทอม เคซีย์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ทุกๆความเคลื่อนไหวของคณะปฏิรูปฯของไทย เพื่อห้ามกิจกรรมทางการเมือง ถือ เป็นความล้มเหลวของประชาธิปไตย นายเคซีย์ยังยืนยันว่าสหรัฐฯต้องการเห็นการเลือกตั้งถูกจัดขึ้นเร็วกว่าระยะเวลา 1 ปีตามที่คณะปฏิรูปฯกำหนดไว้

ส่วนนายคริส ฮิลล์ รมช.กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวที่สหประชาชาติ ระบุรัฐบาลสหรัฐฯอยู่ ระหว่างทบทวนระงับความช่วยเหลือด้านต่างๆแก่ไทย ภายหลังการก่อรัฐประหาร ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯเสียใจอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ซึ่งเสมือนการเดินถอยหลัง

องค์การนิรโทษฯให้ยึดสิทธิมนุษยชน

ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานคำแถลงการณ์ ขององค์การนิรโทษกรรมสากล ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ซึ่งระบุว่าคณะปฏิรูปฯต้องยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน เพราะไม่ควรมีใครถูกลงโทษเพียงเพราะการแสดงออกหรือการชุมนุมอย่างสันติ ทั้งนี้คณะปฏิรูปฯได้ประกาศมาตรการหลายอย่างออกมา รวมทั้งการห้ามการชุมนุมทางการเมือง และตรวจสอบการรายงานข่าวของสื่อ

ญี่ปุ่นลดระดับเตือนแค่ ระวังภัย

นอกจากนี้ สำนักข่าวเอเอฟพียังรายงานโดยอ้างแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ที่ได้ลดระดับคำเตือนนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น จากที่เคยประกาศเตือนให้เลื่อนการเดินทางเข้าไทยทุกกรณีที่ไม่จำเป็น เมื่อคืนวันอังคารที่ 19 ก.ย. หลังเกิดการปฏิวัติ เป็น ให้ระวังภัย แทน เพราะเห็นว่าสถานการณ์ในไทยกำลัง เข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ยังคงเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้เดินทางไปยัง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

โกวิท ตั้ง ก.ตร.ชุดใหม่ทันที

หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ออกประกาศมอบอำนาจให้ ผบ.ตร.เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี ดูแลการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ (ก.ตร.) วันเดียวกัน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. ในฐานะผู้ได้รับอำนาจเต็มในการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งหมด ได้เริ่มภารกิจแรกคือเสนอแต่งตั้ง ก.ตร.ชุดใหม่ ประกอบด้วย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. เป็น ประธาน ก.ตร. พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รอง ผบ.ตร. เป็น ก.ตร. โดยตำแหน่ง พล.ต.ท.ชัยยันต์ มะกล่ำทอง พล.ต.ท.ภิรมย์ บุญรอดพานิช พล.ต.ท. สมศักดิ์ บุปผาสุวรรณ พล.ต.ท.สมศักดิ์ แขวงโสภา พล.ต.ท.นุกูล เจียมอนุกูลกิจ และ พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบช.ภ.9 เป็น ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ

เตรียมรื้อโผย้ายนายตำรวจ

จากนั้น พล.ต.อ.โกวิทได้เรียก ก.ตร.ชุดใหม่บางนายที่สามารถติดต่อได้ เข้าพบที่ห้องทำงานชั้น 5 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นย้ำนโยบายชัดเจนในการทำงานของ ก.ตร.ว่าจะดำรงความเชื่อมั่นให้แก่ข้าราชการตำรวจ โดยเฉพาะการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ พล.ต.ต.ขึ้นไป พร้อมนัดประชุม ก.ตร.ชุดใหม่นัดแรก เวลา 16.00 น.

เรียกประชุมจัดโผนายตำรวจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.โกวิทเรียกประชุม ก.ตร.ครั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบ.ตร.-ผบช. ครั้งที่ผ่านมา โดยหยิบยกรายชื่อตำรวจที่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งจาก ก.ตร.ชุดที่แล้ว นำมาปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะผู้ที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคไทยรักไทย ทั้งนี้จะนำรายชื่อทั้งหมดเข้าพิจารณาในบอร์ดกลั่นกรอง ก.ตร. ที่มี พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร. เป็นประธาน เวลา 13.00 น. วันอาทิตย์ที่ 24 ก.ย.นี้ จากนั้นเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน พล.ต.อ.โกวิทจะเป็นประธานประชุม ก.ตร. พิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ รอง ผบ.ตร.-ผช.ผบ.ตร. ต่อทันที

น้องชาย สุวัจน์ ร่วง

ตำแหน่งที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง น่าจะมี พล.ต.ต.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบช.ก. น้องชายนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ซึ่งเดิมได้ขึ้นเป็น ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. คาดว่าน่าจะไม่ได้รับการแต่งตั้ง รวมทั้ง พล.ต.ต.ญ.พจนีย์ สุนทรเกตุ รอง พตร. น้องสาว พล.ต.อ.สมชาย วาณิชเสนี อดีต ก.ตร.ชุดที่แล้ว จะไม่ได้เป็น พตร.(แพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ) ตามโผเดิม โดยมี พล.ต.ต.วรพจน์ เลิศลักขณา รอง ผบช. ประจำ สง.ผบ.ตร. ซึ่งใกล้ชิด พล.ต.ท.นุกูล เจียมอนุกูลกิจ พตร. ที่มาเป็น ก.ตร.ชุดใหม่ โดยจะได้รับการเสนอชื่อเป็น พตร.แทน นอกจากนี้ ในโผเดิมก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายคนแหล่งข่าวระบุ


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์