ตั้งฉายารธน.ฉบับจตุคาม ดีแต่แขวนคอไม่แก้ปัญหา


"นักวิชาการ" รุมชำแหละร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "จตุคามรามเทพ" มั่นใจเลือกตั้งรอบหน้า ได้รัฐบาลผสมแน่ ระบุแม้ใช้แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ "ไทยรักไทย" ก็กวาดเหมือนเดิม ติง กมธ.ยกร่างแยกตุลาการออกจากการเมือง




ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาควิชากฎหมายมหาชน ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสถาบันอิศราฯ จัดอภิปรายโครงการวิพากษ์รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ครั้งที่ 3 เรื่อง "ปัญหาสถาบันการเมืองและระบบเลือกตั้ง"

นายสุจิต บุญบงการ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า

หากจะให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคไทยรักไทย ก็ยังจะกวาด ส.ส.เข้ามาอีก และเดาว่า ไม่ว่าจะออกแบบอย่างไร

โอกาสที่จะมีพรรคการเมืองหลายพรรค และเป็นรัฐบาลผสมจะเกิดขึ้นแน่นอน หากมีการยุบพรรคเกิดขึ้นก็จะเกิดผลกระทบในเรื่องของการรณรงค์หาเสียงของพรรคใหม่ ตรงนี้ก็จะทำให้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ปัจจัยจะอยู่ที่ผู้นำ

ถ้าผู้นำอ่อนแอ รัฐบาลก็จะขาดเสถียรภาพ และเห็นว่า

หากจะมีการยุบพรรคก็จะต้องนำปัจจัยทางการเมืองมาพิจารณา ซึ่งตรงนี้ตนไม่ได้ชี้นำตุลาการรัฐธรรมนูญ


นายสุจิต กล่าวว่า ประเด็นของการนำตุลาการหรือศาล


เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากไปนั้น ตรงนี้ทำให้คนเกิดความไม่สบายใจ การดึงศาลเข้ามาเกี่ยวข้องประเด็นอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรระบบจะถูกต้อง ศาลกับการเมืองจะอยู่คนละฝ่าย เขาก็กลัวว่าทำให้พวกนี้มาล็อบบี้ศาล เช่น กรณีของการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นต้น

ด้าน นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องที่น่าวิตกคือ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้ศาลเข้ามาแก้ไขปัญหาการเมือง

โดยมายืนแถลงข่าวในเรื่องต่างๆ ไม่สมควร เพราะดูว่าเป็นนักการเมือง "ตุลาการภิวัตน์"

ของจริงคือ ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ควรกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง กลับเข้ากรมกองเดิมจะดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะถูกแทรกแซงแน่นอน


ส่วน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า


ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่กำหนดให้มีองค์คณะแก้ไขวิกฤติ ตาม มาตรา 68 วรรคสองนั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้วิกฤติแล้ว ยังสร้างวิกฤติให้แก่ชาติบ้านเมืองมากขึ้น

ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยืนยันที่จะบัญญัติมาตราดังกล่าวไว้ ก็เรียกได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับจตุคามรามเทพ ที่ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไร ดีแต่ห้อยคอไว้เท่านั้น

ทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ ก็คือ

สภาร่างรัฐธรรมนูญควรจะพิจารณาให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวตกไป และไม่ต้องทำประชามติ โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับแก้ไขเพิ่มเติม และสภาร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรที่จะนำเรื่องของประชาธิปไตยมาเป็นตัวประกัน



ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ จาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์