ตั้งกรรมการสอบบิ๊กยาสูบพันสินบน64ล้าน อัยการสหรัฐฯให้ข้อมูล เหตุเกิดยุค2รมช.ดัง

ผู้สื่อข่าว "มติชนออนไลน์" รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหง่ชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา 


มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง นายสุชน  วัฒนพงษ์วานิช  ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กรณีพัวพันรับสินบนสั่งซื้อใบยาสูบจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่าง  ปี ค.ศ.2000 - 2004 

   
ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553  เกี่ยวกับกรณีที่นายเมธี ครองแก้ว  กรรมการ ป.ป.ช.  เดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างวันที่ 10 - 19  สิงหาคม 2553  เพื่อติดตามผลการพิจารณาตัดสินคดีการให้สินบนผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย   และติดต่อประสานงานกับอัยการของ Washington DC.  เพื่อขอทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตในการซื้อขายใบยาสูบของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง  อาทิ พฤติการณ์ของการให้สินบน  รายชื่อและตำแหน่งของผู้เกี่ยวข้อง  นั้น
  
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมแล้ว  ปรากฏข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา (SEC)  ได้สอบสวนพฤติการณ์การทุจริตของบริษัทผู้ผลิตยาสูบรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา  แล้วพบว่า มีข้อมูลการให้สินบนเป็นเงินจำนวนมากกับเจ้าหน้าที่โรงงานยาสูบของประเทศไทยในการสั่งซื้อใบยาสูบจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่าง ปี ค.ศ.2000 - 2004  
  
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในเบื้องต้นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า  นายสุชน  วัฒนพงษ์วานิช  ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ในช่วงเวลานั้น  มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่  จึงมีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง  นายสุชน  วัฒนพงษ์วานิช  กับพวก  โดยมีนายภักดี  โพธิศิริ  กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ  และนายเมธี  ครองแก้ว  กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย
  
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐ และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ได้จับกุมและดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจแก่บริษัท ยูนิเวอร์แซล คอร์ป เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย และบริษัท อลิอันซ์ วัน อินเตอร์เนชั่นแนล เมืองมอร์ริสวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ยูนิเวอร์แซล คอร์ปฯ ถูกกล่าวหาว่าในช่วง พ.ศ. 2543-2547 ได้ร่วมกับบริษัท ไดมอน อิงก์ และ สแตนดาร์ด คอมเมอร์เชียล ติดสินบนเจ้าหน้าที่โรงงานยาสูบของไทยมูลค่าสูงถึง 8 แสนดอลลาร์ หรือราว 25.7 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายยาสูบมูลค่าราว 11.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 369 ล้านบาท
  
ในช่วงเวลาเดียวกัน อลิอันซ์ วันฯ ก็ได้ร่วมกับ 3 บริษัทดังกล่าวติดสินบนพนักงานโรงงานยาสูบของไทยด้วยเงินมูลค่ากว่า 1.2 ล้านดอลลาร์ หรือ 38 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายมูลค่า 18.3   ล้านดอลลาร์ หรือ 587 ล้านบาท รวมรับสินบน 64 ล้านบาท ซึ่งภายหลังบริษัท ไดมอน อิงก์ และสแตนดาร์ด คอมเมอร์เชียล ก็ได้รวมกิจการเข้ากับอลิอันซ์ วันฯ
 
 ก.ล.ต.สหรัฐและกระทรวงยุติธรรมยังระบุถึงความผิดของยูนิเวอร์แซล คอร์ปฯ ถึงการให้สินบนในไทย ยังมีความผิดในข้อหาเดียวกันนี้กับเจ้าหน้าที่ของประเทศมาลาวี และโมซัมบิก ส่วนอลิอันซ์ วันฯ ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันกับเจ้าหน้าที่จีน กรีซ อินโดนีเซีย และคีร์กีซสถาน
  
ยูนิเวอร์แซล คอร์ป ได้ยินยอมจ่ายค่าปรับในเรื่องดังกล่าว โดยมีมูลค่า 4.4 ล้านดอลลาร์ หรือ 141   ล้านบาท และจ่ายเงินคืนจากผลกำไรที่ได้อีก 4.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 144 ล้านบาท และยังได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยจะไม่ถูกดำเนินคดีถ้าปฏิบัติตามกฎและเงื่อนไขที่ได้มีการตกลงไว้กับกระทรวงยุติธรรมในช่วง 3 ปีนับจากนี้ ส่วนอลิอันซ์ วันฯ ก็จ่ายค่าปรับ 9.45 ล้านดอลลาร์ หรือ 303 ล้านบาท และจ่ายเงินคืนรายได้จากผลกำไรเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์ หรือ 321 ล้านบาท        

 สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นช่วงรัฐบาลนายชวน หลีกภัย   ปี 2543 รมช.คลังที่ดูแลรับผิดชอบโรงงานยาสูบคือ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ในขณะที่ปี 2544-2547 แม้ รมว.คลังจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่รมช.คลังที่ดูแลโรงงานยาสูบอย่างต่อเนื่องคือ นายวราเทพ รัตนากร


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์