ด้วยความเคารพ... ในสิทธิของผู้ไม่ประท้วง

ใครก็ตามที่ประกาศว่าจะต้องต่อสู้ เพื่อให้ประเทศชาติได้ "ประชาธิปไตยอย่างเต็มที่" จะต้องรับรู้เสียตั้งแต่ต้น

 คนไทยต่อต้านเผด็จการ คนไทยต้องการประชาธิปไตย...ไม่มีใครเถียง ไม่มีใครค้าน


 พูดต่อไปก็ได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่คัดค้านการรัฐประหาร และยึดอำนาจโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น ใครก็ตามที่รวมตัวกันชุมนุม เพื่อเรียกร้อง
ประชาธิปไตย ต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจเสียก่อน ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องการสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย"


 ใครจะใช้ "สีเสื้อ" อะไรมารณรงค์เพื่อ
ประชาธิปไตยก็ไม่ได้มีความแตกต่าง และไม่สมควรจะเป็นศัตรูกับคนอีกกลุ่มหนึ่งเพียงเพราะเขาใส่เสื้อคนละสีเท่านั้น


 ดังนั้น คนที่รวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องให้เกิด
ประชาธิปไตย นั้น จะต้องสำนึกว่าคนที่ไม่ได้เข้าร่วมประท้วง หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ว่าด้วยวิธีการประท้วงหรือทิศทางแห่งการประท้วงนั้น หาใช่คนไม่รักประชาธิปไตยไม่

 คนไม่ประท้วงอาจจะมีคำถามหรือข้อสงสัย ที่ต้องการให้คนประท้วงตอบก่อนว่าวิธีการ และวาทกรรมที่ใช้ในการประท้วงนั้นแท้จริงแล้วเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า "ประชาธิปไตย" มากน้อยเพียงใด


 และคนที่โดนตั้งคำถามก็จะต้องเคารพในสิทธิของคนที่อยากจะรู้ เพราะเขาก็ต้องการ "ประชาธิปไตย"ไม่น้อยไปกว่าคนที่ออกมาประท้วงเช่นกัน


 หากทุกฝ่ายต้องการ
ประชาธิปไตย ก็ควรจะต้องเคารพในความแตกต่างทางความคิดและการนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย"ที่ไม่เหมือนกัน


 คนบางกลุ่มเรียกร้อง
ประชาธิปไตยโดยมี "ธง" อยู่ว่าจะต้องให้ใครบางคนมีบทบาทอย่างไร ในกระบวนการประชาธิปไตยของพวกเขา


 


คนอีกบางกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้มีการผูกติดกับการ "บูชาตัวบุคคล" แต่ต้องการจะสร้างความเสมอภาคระหว่างประชาชนอย่างแท้จริง


 การตั้งหน้าตั้งตาทำงานเป็นพลเมืองดี เสียภาษีตามกฎหมาย และสั่งสอนลูกหลานของตนเองให้เคารพใน "นิติรัฐ" ไม่เคารพยกย่องคนโกงคนฉ้อฉล ก็เป็นวิธีการผลักดันให้เกิด "ประชาธิปไตย" ในประเทศได้เหมือนกัน


 คนที่พูดถึง
ประชาธิปไตยบ่อยๆ แต่ในชีวิตความเป็นจริงไม่ดำรงความเป็นคนที่เคารพ ในความเห็นแตกต่างของคนอื่นหรือมุ่งแต่จะสร้างอำนาจทางการเมือง เฉพาะตนเฉพาะกลุ่ม ก็มิอาจจะเรียกว่าเป็นคนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแต่อย่างไร


 การ "ประท้วง" เป็นหนทางหนึ่งของการเรียกร้อง และต่อสู้เพื่อ
ประชาธิปไตย โดยเฉพาะหากกระบวนการปกติทางการเมืองและสังคม ไม่เอื้อให้เสียงของประชาชนมีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะให้ผู้มีอำนาจยอมรับฟังได้


 แต่ขณะเดียวกันการประท้วงก็อาจจะไม่ได้สะท้อนถึง "ความต้องการที่แท้จริง" ของประชาชนคนส่วนใหญ่ได้ โดยเฉพาะถ้าหากการชุมนุมนั้นๆ มีที่มาที่ไปที่เกี่ยวโยงไปถึงกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง ที่เพียงต้องการใช้การประท้วง เพื่อเอาชนะคะคานทางการเมืองของตนเท่านั้น


 และเมื่อคนบางส่วนที่เรียกร้อง
ประชาธิปไตยในความหมายของตนออกมาประท้วง สิ่งแรกที่จะต้องสำนึกก็คือว่าคนที่ไม่ได้ประท้วงไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่พร้อมจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย


 ด้วยเหตุผลนี้ คนที่ประท้วงก็จะต้องเคารพในสิทธิของคนที่ไม่ประท้วง


 เพราะการไม่ประท้วงก็คือการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เหมือนคนที่ประท้วงเช่นกัน


 สิทธิของคนประท้วงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญอย่างไร สิทธิของคนที่ไม่ประท้วงก็ย่อมจะได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่ากันเช่นกัน


 แปลว่าคนประท้วงจะต้องไม่ทำอะไรที่ล่วงเกินสิทธิของคนที่ไม่ประท้วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนไม่ประท้วงขอใช้สิทธิที่จะแสดงความเห็น ซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือคัดค้านคนที่ประท้วงอยู่ในขณะนั้นก็ได้


 เพราะบางครั้งการไม่ประท้วงเพราะไม่ต้องการก่อให้เกิดกระแสไปในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือต้องการจะสื่อสารอะไรบางอย่างไปถึงส่วนอื่นๆ ของสังคมนั้น อาจจะเป็นการส่งเสียง "ดัง" กว่าที่คนประท้วงกระทำอยู่ก็ได้


 สิทธิของคนไม่ประท้วงคือ การได้รับการเคารพในสิทธินั้นจากคนอื่นๆ ของสังคม...เหมือนที่คนประท้วงอ้างสิทธิ ที่จะแสดงความคิดเห็นตรงกันข้าม กับผู้มีอำนาจอย่างสันติปราศจากอาวุธเช่นกัน


 เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว
คนประท้วงกับคนไม่ประท้วงจึงต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ควรที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะล่วงล้ำสิทธิของกันและกัน จนเกิดกลายเป็นความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น


 เพราะรัฐธรรมนูญ ก็รับรองเสรีภาพของคนในสังคมที่จะตีความคำว่า "ประชาธิปไตย"ตามความหมายที่แต่ละคนจะเข้าใจ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ในสังคมเช่นกัน


 และนี่คือความหมายแท้ๆ ของการเอ่ยประโยค "ด้วยความเคารพ" (With due respect) ต่อคนที่ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกับเราในการเคลื่อนไหวเรื่อง "ประชาธิปไตย"


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์