ดีเบตรธน.50 ยกแรกฝ่ายหนุน-ฝ่ายค้านโต้กันเดือด

“ดีเบตรธน. 50” ยกแรกเดือด

ฝ่ายหนุนiรับ“จรัล” ชี้ให้รับรธน.เพื่อทางออกประเทศ ไม่ไว้ใจรธน.ฉบับ คมช. “สมคิด” ฉะ หากรับรธน. คมช.สูญพันธุ์/ ฝ่ายค้านล้ม- “นิธิ-จาตุรนต์-วรเจตน์” ชี้ รธน. 50 สืบทอดอำมาตยธิปไตย หวั่นการเมืองไทยอยู่ใต้ฝ่าเท้าระบบข้าราชการ ขณะที่บรรยากาศผู้เข้าฟัง โห่ไล่คณะหนุน ปรบมือชื่นชมฝ่ายค้าน


(3สค.) ที่มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย

(พีเน็ต) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร อาทิ เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) จัดเวทีสาธารณะเพื่อการประชันทางความคิด (ดีเบต) จุดเด่น จุดด้อยของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยมีนายจรัล ภักดีธนากุล รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กมธ. ยกร่างฯ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นฝ่ายสนับสนุนที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ควรลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นดีเบตกับฝ่ายค้านที่มี นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย และ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความเห็นถึงเหตุใดที่ไม่ควรลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550

โดยมีประชาชนทั้งที่เป็นกลุ่มนักวิชาการ นักการเมือง อาทิ

นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แกนนำกลุ่มไทยรักไทย นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา นายอดิศร เพียงเกษ อดีต ส.ส. พรรคไทยรักไทย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ (ปนก.) ประชาชนที่ให้การสนับสนุนกลุ่ม นปก. เข้าร่วมฟังกว่า 300 คน


โดยนายจรัล เป็นผู้ที่เปิดเวที และกล่าวว่า
 
ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ถึงแม้ว่าจะมีที่มาจากการรัฐประหาร แต่จะเห็นได้ว่ากระบวนการจัดทำนั้นมีข้อดีหลายประการ ได้แก่ มีกระบวนการที่เข้าหาประชาชน เข้ารับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยจะเห็นได้จากการตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ เพื่อเข้าไปรับฟังความเห็นของประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอง ไม่ได้เป็นผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญทางการเมือง จึงต้องมีกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีฐานการทำงานที่อิงกับประชาชน และสิ่งที่สำคัญนั้น กระบวนการทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น คณะผู้ร่างฯ ไม่ได้มีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝง ซ่อนเร้น


นายจรัล กล่าวต่อว่า

จะเห็นได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้ยึดฐานในรัฐธรรมนูญ 2540 ในสิ่งที่ดี ก็คงไว้ แต่สิ่งที่เป็นข้อบกพร่อง ก็แก้ไข ซึ่งยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีจุดอ่อนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การให้อำนาจรัฐบาลให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มากไป จนทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ หรือ เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ การสรรหาคณะกรรมการเพื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ถูกอำนาจของนักการเมืองเข้ามาแทรกแซงในการสรรหา จนทำให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนั้นไม่สามารถทำหน้าที่ได้ รวมไปถึงเรืองความไม่มีจริยธรรมของผู้ที่มีอำนาจในการปกครอง ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ทำการแก้ไขในสิ่งที่บกพร่อง อาทิ ให้โอกาสฝ่ายนิติบัญญัติในการตรวจสอบรัฐบาลได้ง่ายขึ้น อุดช่องว่างไม่ให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงในองค์กรอิสระ รวมไปถึงควบคุมอำนาจของผู้ที่มีอำนาจใช้อำนาจตามอำเภอใจ

“ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2550 แม้ไม่ใช่ฉบับที่ดีที่สุด แต่การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้เป็นการยุติ ระบบรัฐประหาร หรือ คมช. ในทันที ซึ่งในส่วนที่ดี ทางออกย่อมต้องแก้ไขด้วยการใช้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาดำเนินการ ส่วนการคาดหวังว่าเมื่อไม่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 จะทำให้ คมช. จะนำเอารัฐธรรมนูญ ฉบับที่ดีที่สุดมาแก้ไข ต้องเรียนว่าเราไม่มีทางไปบังคับ คมช. ในกรณีนี้ได้เลย” นายจรัล กล่าว


ด้านนายนิธิ กล่าวว่า

การร่างรัฐธรรมนูญต้องตอบโจทย์ของสังคม แต่ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญทั้ง ปี 2540 และ ปี 2550 มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การปฏิรูปการเมือง แต่วิธีการอธิบายโจทย์ ปี 2540 ทำได้กว้างกว่า
 
อย่างน้อยก็พยายามแก้ปัญหาระบบเลือกตั้งที่มีปัญหา 3 ด้าน ได้แก่

1. ปัญหารัฐบาล อ่อนแอ จนกระทั่งไม่สามารถบริหารได้อย่างเสถียรภาพ นำเสนอนโยบายใหม่ๆ ของตนเองไม่ได้

2. รัฐบาลที่มาจากการเลือกละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจจะไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพดังกล่าว
 
3. ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก รัฐบาลที่อ่อนแอ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ตอบปัญหาว่า ให้สร้างรัฐบาลที่มีคุณภาพ ให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง สร้างกลไก ตรวจสอบระบบการเมือง ดังนั้นจึงมีการให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพหลายอย่าง


นายนิธิ กล่าวต่อว่า

รัฐธรรมนูญ 2540 มีความระมัดระวัง สิ่งที่เป็นอันตรายในปัจจุบัน คือ ทุน ที่เข้าครอบงำการเมือง และประชาชนได้ จุดนี้เป็นเรื่องอันตราย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้พิจารณาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาบรรจุในร่างใหม่ เท่าที่ควร ทั้งนี้ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นทำให้การเมืองเข้าไปสู่ระบบฮั้วกัน พรรคการเมืองมีการควบรวมทำให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ รวมไปถึงต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากฝ่าย ทุน ประชาชน และรัฐ อย่างไรก็ตามตนหวังว่าถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน อยากให้นำประสบการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น และผิดพลาดมาแก้ไขก่อน แต่เมื่อมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ทิ้งโจทย์เหล่านี้ไปหมด คงทำแค่ในส่วนของต้องการให้รัฐบาลถูกตรวจสอบได้เท่านั้น

ผมคิดว่าบ้านเมืองจะสงบได้การโหวตผ่านรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทุกคน ต้องไม่โหวตรับ เพราะมีข้อบกพร่องเยอะมาก รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถือว่าเป็นการตั้งโจทย์ที่แคบเกินไป มองปัญหาเล็กน้อย และได้ตอบโจทย์ปัญหา ว่าต้องทำให้รัฐบาลอ่อนแอทางการเมือง ที่สุดแล้วจะทำให้ระบบราชการเข้มแข็ง ระบอบอำมาตยธิปไตยกลับมาควบคุมรัฐบาล รวมไปถึงด่วนสรุปว่าคนชั้นล่างขายเสียง ทั้งที่น่าจะเอาประสบการณ์ของประชาชนมาเป็นประโยชน์ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” นายนิธิ กล่าว


ขณะที่นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า

ผมยืนยันว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 นั้นดีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2450 มาก ทั้งในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน จะเห็นได้จากการที่ให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ได้ รวมไปถึงโครงการใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชน ได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จะไม่ถูกใจประชาชนในทุกมาตรา แต่ขอให้ดูองค์รวมทั้งหมด และผมเห็นว่าควรที่จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


ด้านนายจาตุรนต์ กล่าวว่า

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าพิจารณาในเนื้อหาเห็นได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมเผด็จการ และ ข้าราชการ ที่เป็นอำมาตยธิปไตย ให้มีความเข้มแข็งมากกว่าส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังมีปัญหาที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสม ที่มีความอ่อนแอ ลดทอนอำนาจคณะรัฐมนตรี และ ส.ส. ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้ผู้มีอำนาจ เช่น คณะมนตรีความมั่งคงแห่งชาติ (คมช.) ส.ว. ที่มาจากการสรรหา และ องค์กรอิสระ มีความเข้มแข็ง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน เมื่อพิจารณาเหตุผลทั้งหมดก็ไม่ควรโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการลงประชามติครั้งนี้ หากให้การเห็นชอบ ก็แสดงได้ว่าให้การยอมรับการทำรัฐประหาร


เราควรต้องใช้โอกาสในการลงประชามติให้เป็นประโยชน์ ประชาชนควรโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อบอกให้ผู้ยึดอำนาจทราบว่า ทีหลังอย่าทำ ประชามติสำคัญตรงที่ จะบอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ กับสิ่งที่ผู้ยึดอำนาจทำ ทั้งนี้ที่หลายฝ่ายตั้งคำถามให้โหวตผ่านไปก่อนเพื่อให้มีการแก้ไขภายหลัง
 
ผมเห็นว่าเป็นความคิดที่ผิด

เพราะเชื่อตามคำสั่งของผู้ที่มีอำนาจ การเห็นชอบโดยเข้าใจผิดว่าต้องรับเท่านั้น จะนำไปสู่การปกครองล้าหลัง และหากรัฐธรรมนูญนำรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็จะมีการแก้ไขเพียงบทเฉพาะการแก้ไขไม่กี่มาตรา ทุกอย่างก็จะแล้วเสร็จ เพราะมีทั้งเนติบริกร และนักกฎหมายดีๆ มาช่วยกันร่างก็เสร็จทำให้เกิดการเลือกตั้ง นอกจากนี้เป็นการประกาศให้ผู้ทำรัฐประหารรู้ว่าประชาชนตั้งการในสิ่งใด ซึ่งภายหลังการเลือกตั้ง ประชาชนต้องการแก้ไขในสิ่งที่เห็นว่าไม่ดี ก็ย่อมทำได้” นายจาตุรนต์ กล่าว


ด้าน นายสมคิด กล่าวว่า

โดยหลักการแล้วรัฐธรรมนูญปี 50 มีความเป็นประชาธิปไตย แก้ไขวิกฤติจากปี 2549 และย้ำว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้ให้อำนาจ คมช.หรือต่อท่ออำนาจ รวมทั้งไม่มีการนิรโทษกรรม อีกทั้งถ้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้ คมช.ก็จะพ้นจากตำแหน่ง ส่วนที่มา ของส.ว.นั้น จะเห็นได้ว่าประเทศที่เป็ฯประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ แคนาดา เบลเยี่ยม และอินเดีย ส.ว. ก็มาจากการสรรหาทั้งสิ้น และที่สำคัญ รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้ลดอำนาจรัฐบาล นักการเมืองยังมีอำนาจเช่นเดิม และให้ศาลถูกตรวจสอบจากผู้ตรวจการรัฐสภา และประชาชนสามารถเข้าชื่อตรวจสอบได้


ขณะที่ นายวรเจตน์ กล่าวว่า

การจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต้องพิจารณา 3 เรื่อง ประกอบด้วย

1. ที่มา เมื่อที่มาไม่ถูกต้องมักจะมีปัญหาเรื่องเนื้อหาเสมอ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีหมวดที่อ้างถึงจริยธรรมไว้มาก แต่ไม่ได้กำหนดให้มีการป้องกันเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ร่วมร่าง เพราะไม่ได้บัญญัติห้ามส.ส.ร. ไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งปัญหาในกระบวนการยกร่างควรบัญญัติให้ครอบคลุมด้วย,

2. กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เนื้อหาการร่างยังขาดหลักวิชา และฐานคิดในการออกแบบโครงสร้างสถาบันการเมืองยังมีปัญหา กล่าวคือให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจมากเกินไป ทั้งนี้ต้องดูลักษณะการใช้อำนาจของศาล ซึ่งเป็นคนกลางในการตัดสินคดี ศาลไม่ควรมีบทบาททางการเมือง เช่น การสรรหาบุคคล เพราะการเกี่ยวพันทางการเมืองจะกระทบต่อการใช้อำนาจของตุลาการ

3. เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคารพต่อความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ เพราะมีการรับรองการกระทำหลังการรัฐประหารเอาไว้


“การโหวตรับ เท่ากับยอมรับทุกมาตราในร่างรัฐธรรมนูญ 50 ซึ่งจะส่งผลให้มีการผูกมัดตลอดไป ส่วนการโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทางออกก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ หากนำรัฐธรรมนูญที่แย่กว่ามา อาจจะเกิดเหตุการณ์ แนวโน้มต่อต้านมากกว่านี้ก็ได้ แต่จากการพิจารณาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า หลายฝ่ายต้องการให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ กำหนดให้มีการเลือกตั้ง หากมีมาตราใด ผิดพลาด ให้มีตัวแทนของภาคประชาชนมาแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การโหวตไม่รับจะเป็นทางออกให้กับสังคมไทย และแสดงว่าในอนาคตเราไม่ต้องเผชิญกับรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรม” นายวรเจตน์ กล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานในระหว่างที่มีการดีเบต ประชาชนที่เข้ารับฟังที่คาดว่า

จะเป็นกลุ่มประชาชนที่เคยเข้าร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวงได้ชูป้ายต่อต้าน คมช. และให้ล้มร่างรัฐธรรมนูญ และในระหว่างที่ฝ่ายสนับสนุนขึ้นพูดนั้น มีประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้โห่ไล่เป็นระยะ พร้อมกันนี้ได้มีตะโกนด่า นายเจิมศักดิ์ ในระหว่างที่ขึ้นเวที ตอบคำถาม ทำให้การดีเบตหยุดไปนานกว่า 5 นาที ตรงกันข้ามกับฝ่ายค้าน ที่ประชาชนจะปรบมือชื่นชมทุกครั้งที่วิทยากรฝ่ายค้านพูดได้ถูกใจ


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์